วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม13


---------------------------------


                       คำถาม    เจ้าของบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน หากมีบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องหลบหนีผู้กระทำความผิดก่อนหรือไม่ และจะมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  7940/2551  บ้านและบริเวณบ้านของจำเลยถือว่าเป็นเคหสถานที่ประชาชนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัยไม่ควรถูกบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำเป็นต้องหลบหนีและมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนเพราะจำเลยเป็นผู้สุจริตหาต้องถูกบังคับให้ไปเสียจากเคหสถานของจำเลยซึ่งมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและเคลื่อนไหวโดยอิสระ หากจำเลยจำต้องหนีแล้วเสรีภาพของจำเลยก็จะถูกกระทบกระเทือน
                      ผู้ตายขับรถเข้ามาในบริเวณบ้านของจำเลยเพื่อจะบังคับ ผ. ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยและเคยเป็นภริยาของผู้ตายให้ไปอยู่กินด้วยกันเช่นเดิมแล้วเกิดโต้เถียงกัน จำเลยพูดจาห้ามปราม ผู้ตายไม่ฟังและได้ลงจากรถพร้อมกับถืออาวุธมีดยาว 12 นิ้ว เดินไปหาจำเลย จำเลยวิ่งขึ้นไปบนบ้านหยิบเอาอาวุธปืนยาวกึ่งอัตโนมัติขนาด .22 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งเป็นอาวุธปืนที่ปกติใช้ยิงนกหรือสัตว์ขนาดเล็กและมีแรงปะทะน้อยลงจากบ้าน เพื่อปรามมิให้ผู้ตายทำร้ายจำเลยหรือทำลายทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับให้ ผ. ไปอยู่กับผู้ตาย โดยไม่มีกิริยาอาการที่จะยิงทำร้ายผู้ตายซึ่งถูก ผ. โอบกอดไว้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยมีเจตนาสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับผู้ตายหาได้ไม่ หลังจากนั้นสักครู่ผู้ตายสะบัดตัวหลุดและเดินเข้าหาจำเลยเพื่อทำร้ายจนห่างประมาณ 1 วา โดยมีอาวุธมีดยาว เช่นนี้นับว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิจะป้องกันเนื่องจากหากปล่อยให้ผู้ตายเข้ามาใกล้กว่านั้น โอกาสที่จะใช้อาวุธปืนยาวยิงเพื่อป้องกันตัวย่อมจะขัดข้อง การที่จำเลยใช้อาวุธดังกล่าวยิงไปที่ผู้ตายไป 1 นัด แต่ผู้ตายยังเดินเข้ามาหาจำเลยอีก จำเลยจึงยิงผู้ตายอีก 2 นัด ติดต่อกันผู้ตายจึงล้มลง นับว่าเป็นการพอสมควรแก่เหตุในภาวะและวิสัยเช่นนั้น แต่หลังจากผู้ตายล้มลงนอนหงายจำเลยยังเดินเข้าไปยิงผู้ตายอีก 2 นัด จึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
                        คำพิพากษาฎีกาที่  169/2504  ผู้ตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กัน จำเลยไม่สู้ ผู้ตายก็ถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลองจะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อนและอาจหลบหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานของตนโดยชอบจะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย ดังนี้การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย 1 นัด ขณะผู้ตายอยู่ห่างจากจำเลย 6 ศอกถึง 2 วา นั้น ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุ

                        คำถาม   ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่นถือครอบครองและใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ครอบครองผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทน หากผู้ครอบครองนำรถที่เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ หรือนำไปขายต่อ เป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   9532/2554 โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจากบริษัท ร. โดยเป็นผู้ชำระเงินค่ามัดจำและค่าประกันภัย แม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อจะยังเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ผู้เช่าซื้อมีสิทธิตามสัญญาที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ แม้โจทก์จะส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทนโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีผลถึงหน้าที่และความรับผิดที่โจทก์มีต่อผู้ให้เช่าซื้อและโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีที่มีเหตุต้องคืน ทั้งยังต้องรับผิดชดใช้ราคารถกับค่าเสียหายกรณีที่ไม่สามารถติดตามรถคืนมาได้ การที่จำเลยเบียดบังนำรถยนต์บรรทุกที่โจทก์เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ก็ดี หรือนำไปขายต่อก็ดี ทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อในทางแพ่ง แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

                         คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยมีมีดถืออยู่ในมือถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน เมื่อผู้เสียวิ่งหนี ผู้ร่วมกระทำผิดดังกล่าววิ่งไล่ตามจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่ ขู่เข็ญ แสดงท่าทีหรือแทงประทุษร้าย จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  11865/2554  การกระทำที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะนั้นผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟัน หรือแทงประทุษร้าย หากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ หากแต่เป็นเพียงการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าที่โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ. มาตรา 83

                            คำถาม   วางเพลิงเผาร้านซึ่งมีลักษณะเป็นเพิงไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงเป็นห้องโล่งปลูกอยู่ริมถนนเหนือคูน้ำ ไม่มีผู้ใดพักอาศัย รอบ ๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ รวมราคาทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้หมื่นบาทเศษ จะเป็นความผิดฐานใด
                            คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                            คำพิพากษาฎีกาที่  10647/2554  จำเลยจุดไฟเผาร้านของผู้เสียหายทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เป็นเหตุให้โต๊ะ เก้าอี้อุปกรณ์เคลือบบัตร ไม้และกระเบื้องของร้านเสียหายรวมราคาทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ทั้งสิ้นประมาณ 15,500 บาท ร้านของผู้เสียหายดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพิงไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง เป็นห้องโล่ง ปลูกอยู่ริมถนนเหนือคูน้ำไม่มีผู้ใดพักอาศัย รอบ ๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ ดังนี้ จึงต้องถือว่าร้านของผู้เสียหายและทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้มีราคาน้อย ทั้งขณะเกิดเหตุไม่มีบุคคลอยู่อาศัยย่อมไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 223


                           คำถาม  ผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ให้กระทำความผิดโดยเตรียมเงินค่าจ้างให้หรือช่วยพูดเกลี้ยกล่อมจนผู้ถูกใช้ยอมตกลงไปกระทำความผิด จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดหรือไม่
                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาไว้ ดังนี้
                          คำพิพากษาฎีกาที่  11834/2554 จำเลยที่ 4 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 และเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เขียนจดหมายถึงจำเลยที่ 4 เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องจ้างคนมายิงผู้ตายส่วนจำเลยที่ 3 ได้เตรียมเงินค่าจ้างมามอบให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ช่วยพูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 จนยอมตกลงไปยิงผู้ตาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2

                           คำถาม   การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว หากผู้โอนไปรับชำระหนี้จากลูกหนี้ จะถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อเจ้าหนี้ผู้รับโอนหรือไม่
                          คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                          คำพิพากษาฎีกาที่   11632/2554  ภายหลังจากทำสัญญาขายผ้าให้แก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อโจทก์ให้แก่บริษัท ส. โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในช่องผู้โอน โดยสัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 ก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้างวดที่ 1 ให้แก่โจทก์และ อ. หัวหน้างานบัญชีของบริษัท ส. นำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปส่งให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เดินทางไปด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมรู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัท ส. มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัท ส. และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่ 1 แล้วเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่1มอบอำนาจให้ ส. พนักงานของจำเลยที่1ไปรับเงินจากโจทก์แทนจำเลยที่1โดยจำเลยที่1ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่2ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริต อันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1  นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น