แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปพพ หนี้ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปพพ หนี้ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ๒๕๖๐ - บรรพ ๒ หนี้ (มาตรา ๑๙๔ - ๔๕๒)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ๒๕๖๐

บรรพ ๒ หนี้ (มาตรา ๑๙๔ - ๔๕๒)


ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๑๙๔ - ๓๕๓)



หมวด ๑ วัตถุแห่งหนี้ (มาตรา ๑๙๔ - ๒๐๒)


หมวด ๑
วัตถุแห่งหนี้
-------------------------
               มาตรา ๑๙๔  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้
               มาตรา ๑๙๕  เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตามสภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณีไม่อาจจะกำหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง
               ถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป
               มาตรา ๑๙๖  ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้
               การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน
               มาตรา ๑๙๗  ถ้าหนี้เงินจะพึงส่งใช้ด้วยเงินตราชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ อันเป็นชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้วในเวลาที่จะต้องส่งเงินใช้หนี้นั้นไซร้ การส่งใช้เงินท่านให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดนั้น
               มาตรา ๑๙๘  ถ้าการอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง แต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดนั้นตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๑๙๙  การเลือกนั้นท่านให้ทำด้วยแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
               การชำระหนี้ได้เลือกทำเป็นอย่างใดแล้ว ท่านให้ถือว่าอย่างนั้นอย่างเดียว เป็นการชำระหนี้อันกำหนดให้กระทำแต่ต้นมา
               มาตรา ๒๐๐  ถ้าจะต้องเลือกภายในระยะเวลาอันมีกำหนด และฝ่ายที่มีสิทธิจะเลือกมิได้เลือกภายในระยะเวลานั้นไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกนั้นย่อมตกไปอยู่แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
               ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาให้เลือกไซร้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระฝ่ายที่ไม่มีสิทธิจะเลือกอาจกำหนดเวลาพอสมควรแก่เหตุ แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายโน้นใช้สิทธิเลือกภายในเวลาอันนั้น
               มาตรา ๒๐๑  ถ้าบุคคลภายนอกจะพึงเป็นผู้เลือก ท่านให้กระทำด้วยแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ และลูกหนี้จะต้องแจ้งความนั้นแก่เจ้าหนี้
               ถ้าบุคคลภายนอกนั้นไม่อาจจะเลือกได้ก็ดี หรือไม่เต็มใจจะเลือกก็ดี ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกตกไปอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้
               มาตรา ๒๐๒  ถ้าการอันจะพึงต้องทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง และอย่างใดอย่างหนึ่งตกเป็นอันพ้นวิสัยจะทำได้มาแต่ต้นก็ดี หรือกลายเป็นพ้นวิสัยในภายหลังก็ดี ท่านให้จำกัดหนี้นั้นไว้เพียงการชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่พ้นวิสัย อนึ่งการจำกัดอันนี้ย่อมไม่เกิดมีขึ้น หากว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายที่ไม่มีสิทธิจะเลือกนั้นต้องรับผิดชอบ


หมวด ๒ ผลแห่งหนี้ (มาตรา ๒๐๓ - ๒๘๙)


ส่วนที่ ๑ การไม่ชำระหนี้ (มาตรา ๒๐๓ - ๒๒๕)


ส่วนที่ ๑
การไม่ชำระหนี้
-------------------------
               มาตรา ๒๐๓  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
               ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
               มาตรา ๒๐๔  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
               ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
               มาตรา ๒๐๕  ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่
               มาตรา ๒๐๖  ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด
               มาตรา ๒๐๗  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
               มาตรา ๒๐๘  การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง
               แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชำระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชำระหนี้จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่าได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ท่านว่าคำบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้
               มาตรา ๒๐๙  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด
               มาตรา ๒๑๐  ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัตินั้นแล้วก็ดี หากไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงต้องทำ เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด
               มาตรา ๒๑๑  ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นก็ดี หรือในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าหนี้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๙ นั้นก็ดี ถ้าลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ยังหาผิดนัดไม่
               มาตรา ๒๑๒  ถ้ามิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ก็ดี หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร
               มาตรา ๒๑๓  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
               เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
               ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
               อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่
               มาตรา ๒๑๔  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๗๓๓ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย
               มาตรา ๒๑๕  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้
               มาตรา ๒๑๖  ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้
               มาตรา ๒๑๗  ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้นถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง
               มาตรา ๒๑๘  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
               ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นจะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นแล้ว และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้
               มาตรา ๒๑๙  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
               ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น
               มาตรา ๒๒๐  ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๗๓ หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่
               มาตรา ๒๒๑  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่
               มาตรา ๒๒๒  การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
               เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว
               มาตรา ๒๒๓  ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
               วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๐ นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               มาตรา ๒๒๔  หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
               ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
               การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้
               มาตรา ๒๒๕  ถ้าลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้ วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่ลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำเพราะวัตถุนั้นเสื่อมเสียลงในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย

                มาตรา ๒๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๘


ส่วนที่ ๒ รับช่วงสิทธิ (มาตรา ๒๒๖ - ๒๓๒)


ส่วนที่ ๒
รับช่วงสิทธิ
-------------------------
               มาตรา ๒๒๖  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
               ช่วงทรัพย์ ได้แก่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่ง ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน
               มาตรา ๒๒๗  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย
               มาตรา ๒๒๘  ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้
               ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ และถ้าใช้สิทธินั้นดังได้ระบุไว้ในวรรคต้นไซร้ ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมลดจำนวนลงเพียงเสมอราคาแห่งของแทนซึ่งลูกหนี้ได้รับไว้ หรือเสมอจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ลูกหนี้จะเรียกร้องได้นั้น
               มาตรา ๒๒๙  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง
               (๒) บุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป
               (๓) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น
               มาตรา ๒๓๐  ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้น บุคคลผู้ใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่งผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น
               ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่
               มาตรา ๒๓๑  ถ้าทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรืออยู่ในบังคับบุริมสิทธิประการอื่นนั้น เป็นทรัพย์อันได้เอาประกันภัยไว้ไซร้ ท่านว่าสิทธิจำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิอย่างอื่นนั้นย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัยด้วย
               ในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ หรือควรจะได้รู้ว่ามีจำนองหรือบุริมสิทธิอย่างอื่น ท่านยังมิให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัย จนกว่าจะได้บอกกล่าวเจตนาเช่นนั้นไปยังผู้รับจำนองหรือเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิคนอื่นแล้ว และมิได้รับคำคัดค้านการที่จะใช้เงินนั้นมาภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันบอกกล่าว แต่สิทธิอย่างใด ๆ ที่ได้ไปจดทะเบียน ณ หอทะเบียนที่ดินนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นอันรู้ถึงผู้รับประกันภัย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการจำนองสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้นด้วย
               ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าทรัพย์นั้นตกอยู่ในบังคับจำนำหรือบุริมสิทธิอย่างอื่น
               ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา หรือได้จัดของแทนให้
               วิธีเดียวกันนี้ท่านให้อนุโลมใช้บังคับแก่กรณีบังคับซื้อกับทั้งกรณีที่ต้องใช้ค่าเสียหายอันควรจะได้แก่เจ้าของทรัพย์สิน เพราะเหตุทรัพย์สินทำลายหรือบุบสลายนั้นด้วย
               มาตรา ๒๓๒  ถ้าตามความในมาตราก่อนนี้เป็นอันว่าจะเอาเงินจำนวนหนึ่งให้แทนทรัพย์สินที่ทำลายหรือบุบสลายไซร้ เงินจำนวนนี้ท่านยังมิให้ส่งมอบแก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ หรือเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิคนอื่น ก่อนที่หนี้ซึ่งได้เอาทรัพย์นี้เป็นประกันไว้นั้นจะถึงกำหนด และถ้าคู่กรณีไม่สามารถจะตกลงกับลูกหนี้ได้ไซร้ท่านว่าต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน เว้นแต่ลูกหนี้จะหาประกันให้ไว้ตามสมควร


ส่วนที่ ๓ การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (มาตรา ๒๓๓ - ๒๓๖)


ส่วนที่ ๓
การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
-------------------------
               มาตรา ๒๓๓  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้
               มาตรา ๒๓๔  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย
               มาตรา ๒๓๕  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
               แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย
               มาตรา ๒๓๖  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว


ส่วนที่ ๔ เพิกถอนการฉ้อฉล (มาตรา ๒๓๗ - ๒๔๐)


ส่วนที่ ๔
เพิกถอนการฉ้อฉล
-------------------------
               มาตรา ๒๓๗  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
               บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
               มาตรา ๒๓๘  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน
               อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา
               มาตรา ๒๓๙  การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน
               มาตรา ๒๔๐  การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น


ส่วนที่ ๕ สิทธิยึดหน่วง (มาตรา ๒๔๑ - ๒๕๐)

ส่วนที่ ๕
สิทธิยึดหน่วง
-------------------------
               มาตรา ๒๔๑  ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
               อนึ่งบทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               มาตรา ๒๔๒  สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อน หรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย
               มาตรา ๒๔๓  ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิจะยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ได้ แม้ทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกร้อง ถ้าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถใช้หนี้นั้นได้เกิดเป็นขึ้นหรือรู้ถึงเจ้าหนี้ต่อภายหลังเวลาที่ได้ส่งมอบทรัพย์สินไซร้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ไว้เดิม หรือไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก็ดี เจ้าหนี้ก็อาจจะใช้สิทธิยึดหน่วงได้
               มาตรา ๒๔๔  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจะใช้สิทธิของตนแก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่ยึดหน่วงไว้นั้นจนกว่าจะชำระหนี้สิ้นเชิงก็ได้
               มาตรา ๒๔๕  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจะเก็บดอกผลแห่งทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้ และจัดสรรเอาไว้เพื่อการชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้คนอื่นก็ได้
               ดอกผลเช่นว่านี้จะต้องจัดสรรเอาชำระดอกเบี้ยแห่งหนี้นั้นก่อน ถ้ายังมีเหลือจึงให้จัดสรรใช้ต้นเงิน
               มาตรา ๒๔๖  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจำต้องจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้นั้นตามสมควร เช่นจะพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะเช่นนั้น
               อนึ่งทรัพย์สินซึ่งยึดหน่วงไว้นั้น ถ้ามิได้รับความยินยอมของลูกหนี้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหาอาจจะใช้สอยหรือให้เช่า หรือเอาไปทำเป็นหลักประกันได้ไม่ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับไปถึงการใช้สอยเช่นที่จำเป็นเพื่อจะรักษาทรัพย์สินนั้นเอง
               ถ้าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติใดที่กล่าวมานี้ ท่านว่าลูกหนี้จะเรียกร้องให้ระงับสิทธินั้นเสียก็ได้
               มาตรา ๒๔๗  ถ้าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงต้องเสียค่าใช้จ่ายไปตามที่จำเป็นเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันตนยึดหน่วงไว้นั้นเพียงใด จะเรียกให้เจ้าทรัพย์ชดใช้ให้ก็ได้
               มาตรา ๒๔๘  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๙๓/๒๗ การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่
               มาตรา ๒๔๙  ลูกหนี้จะเรียกร้องให้ระงับสิทธิยึดหน่วงด้วยหาประกันให้ไว้ตามสมควรก็ได้
               มาตรา ๒๕๐  การครองทรัพย์สินสูญสิ้นไป สิทธิยึดหน่วงก็เป็นอันระงับสิ้นไปด้วย แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ทรัพย์สินอันยึดหน่วงไว้นั้นได้ให้เช่าไปหรือจำนำไว้ด้วยความยินยอมของลูกหนี้

                มาตรา ๒๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕



ส่วนที่ ๖ บุริมสิทธิ (มาตรา ๒๕๑ - ๒๘๙)

ส่วนที่ ๖
บุริมสิทธิ
-------------------------
               มาตรา ๒๕๑  ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตน จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น
               มาตรา ๒๕๒  บทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๔๔ นั้น ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงบุริมสิทธิด้วยตามแต่กรณี


๑. บุริมสิทธิสามัญ (มาตรา ๒๕๓ - ๒๕๘)

๑. บุริมสิทธิสามัญ
-------------------------
               มาตรา ๒๕๓  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ คือ
               (๑) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
               (๒) ค่าปลงศพ
               (๓) ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้าง
               (๔) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน
               มาตรา ๒๕๔  บุริมสิทธิในมูลค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันนั้นใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายอันได้เสียไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้หมดทุกคนร่วมกัน เกี่ยวด้วยการรักษา การชำระบัญชี หรือการเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้
               ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียไป เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้หมดทุกคนไซร้ บุริมสิทธิย่อมจะใช้ได้แต่เฉพาะต่อเจ้าหนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนั้น
               มาตรา ๒๕๕  บุริมสิทธิในมูลค่าปลงศพนั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายในการปลงศพตามควรแก่ฐานานุรูปของลูกหนี้
               มาตรา ๒๕๖  บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรนั้น ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง
               มาตรา ๒๕๗  บุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ให้ใช้สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง
               มาตรา ๒๕๘  บุริมสิทธิในมูลค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันนั้นใช้สำหรับเอาค่าเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งยังค้างชำระอยู่นับถอยหลังขึ้นไปหกเดือน เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โคมไฟ ฟืน ถ่าน อันจำเป็นเพื่อการทรงชีพของลูกหนี้ และบุคคลในสกุลซึ่งอยู่กับลูกหนี้และซึ่งลูกหนี้จำต้องอุปการะกับทั้งคนใช้ของลูกหนี้ด้วย

                มาตรา ๒๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๑
                มาตรา ๒๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๑



๒. บุริมสิทธิพิเศษ (มาตรา ๒๕๙ - ๒๗๖)

(ก) บุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๒๕๙ - ๒๗๒)


(ก) บุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์
-------------------------
               มาตรา ๒๕๙  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์เฉพาะอย่างของลูกหนี้ คือ
               (๑) เช่าอสังหาริมทรัพย์
               (๒) พักอาศัยในโรงแรม
               (๓) รับขนคนโดยสาร หรือของ
               (๔) รักษาสังหาริมทรัพย์
               (๕) ซื้อขายสังหาริมทรัพย์
               (๖) ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย
               (๗) ค่าแรงงานกสิกรรม หรืออุตสาหกรรม
               มาตรา ๒๖๐  บุริมสิทธิในมูลเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และหนี้อย่างอื่นของผู้เช่าอันเกิดจากความเกี่ยวพันในเรื่องเช่า และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่าซึ่งอยู่ในหรือบนอสังหาริมทรัพย์นั้น
               มาตรา ๒๖๑  บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าที่ดินนั้นมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายอันผู้เช่าได้นำเข้ามาไว้บนที่ดินที่ให้เช่า หรือนำเข้ามาไว้ในเรือนโรงอันใช้ประกอบกับที่ดินนั้น และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์เช่นสำหรับที่ใช้ในที่ดินนั้น กับทั้งเหนือดอกผลอันเกิดจากที่ดินซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้เช่านั้นด้วย
               บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าเรือนโรงย่อมมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้เช่านำเข้ามาไว้ในเรือนโรงนั้นด้วย
               มาตรา ๒๖๒  ถ้าการเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้โอนไปก็ดี หรือได้ให้เช่าช่วงก็ดี บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าเดิมย่อมครอบไปถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้รับโอน หรือผู้เช่าช่วงได้นำเข้ามาไว้ในทรัพย์สินนั้นด้วย ความที่กล่าวนี้ท่านให้ใช้ได้ตลอดถึงเงินอันผู้โอน หรือผู้ให้เช่าช่วงจะพึงได้รับจากผู้รับโอนหรือผู้เช่าช่วงนั้นด้วย
               มาตรา ๒๖๓  ในกรณีที่ผู้เช่าต้องชำระบัญชีเฉลี่ยทรัพย์สินทั่วไปนั้น บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าย่อมมีอยู่แต่เฉพาะสำหรับเอาใช้ค่าเช่า และหนี้อย่างอื่นเท่าที่มีในระยะกำหนดส่งค่าเช่าเพียงสามระยะ คือปัจจุบันระยะหนึ่ง ก่อนนั้นขึ้นไประยะหนึ่ง และต่อไปภายหน้าอีกระยะหนึ่งเท่านั้น และใช้สำหรับเอาค่าเสียหายซึ่งเกิดขึ้นในระยะกำหนดส่งค่าเช่าปัจจุบัน และก่อนนั้นขึ้นไปอีกระยะหนึ่งด้วย
               มาตรา ๒๖๔  ในการเรียกร้องของผู้ให้เช่า ถ้าผู้ให้เช่าได้รับเงินประกันไว้ ผู้ให้เช่าย่อมมีบุริมสิทธิแต่เพียงในส่วนที่ไม่มีเงินประกัน
               มาตรา ๒๖๕  บุริมสิทธิในมูลพักอาศัยในโรงแรมนั้น ใช้สำหรับเอาเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่เจ้าสำนักเพื่อการพักอาศัยและการอื่น ๆ อันได้จัดให้สำเร็จความปรารถนาแก่คนเดินทางหรือแขกอาศัย รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปและมีอยู่เหนือเครื่องเดินทาง หรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทาง หรือแขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น
               มาตรา ๒๖๖  ผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือเจ้าสำนักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น จะใช้บุริมสิทธิของตนบังคับทำนองเดียวกับผู้รับจำนำก็ได้ บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับจำนำนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               มาตรา ๒๖๗  บุริมสิทธิในมูลรับขนนั้น ใช้สำหรับเอาค่าระวางพาหนะในการรับขนคนโดยสารหรือของ กับทั้งค่าใช้จ่ายอันเป็นอุปกรณ์ และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือของและเครื่องเดินทางทั้งหมดอันอยู่ในมือของผู้ขนส่ง
               มาตรา ๒๖๘  ในกรณีดังได้ปรารภไว้ในความแปดมาตราก่อนนี้นั้น ผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ดี เจ้าสำนักโรงแรมก็ดี หรือผู้ขนส่งก็ดี จะใช้บุริมสิทธิของตนเหนือสังหาริมทรัพย์อันเป็นของบุคคลภายนอกก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้ในเวลาอันควรรู้ได้ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของบุคคลภายนอก
               ถ้าสังหาริมทรัพย์นั้นถูกลักหรือสูญหาย ท่านให้บังคับตามบทกฎหมายว่าด้วยการแสวงคืนครองทรัพย์
               มาตรา ๒๖๙  บุริมสิทธิในมูลรักษาสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสังหาริมทรัพย์ และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์อันนั้น
               อนึ่งบุริมสิทธินี้ยังใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอันได้เสียไปเพื่อที่จะสงวนสิทธิ หรือรับสภาพสิทธิ หรือบังคับสิทธิ อันเกี่ยวด้วยสังหาริมทรัพย์นั้นอีกด้วย
               มาตรา ๒๗๐  บุริมสิทธิในมูลซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาราคาซื้อขายและดอกเบี้ยในราคานั้น และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์อันนั้น
               มาตรา ๒๗๑  บุริมสิทธิในมูลค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ยนั้น ใช้สำหรับเอาราคาค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย และดอกเบี้ยในราคานั้น และมีอยู่เหนือดอกผลอันเกิดงอกในที่ดินเพราะใช้สิ่งเหล่านั้นภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ใช้
               มาตรา ๒๗๒  บุริมสิทธิในมูลค่าแรงงานเพื่อกสิกรรมและอุตสาหกรรมนั้น ในส่วนบุคคลที่ได้ทำการงานกสิกรรม ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปปีหนึ่ง และในส่วนบุคคลที่ได้ทำการงานอุตสาหกรรม ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสามเดือน และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือดอกผลหรือสิ่งของที่ประดิษฐ์ขึ้นอันเกิดแต่แรงงานของบุคคลนั้น ๆ


(ข) บุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๒๗๓ - ๒๗๖)

(ข) บุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์
-------------------------
               มาตรา ๒๗๓  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์เฉพาะอย่างของลูกหนี้ คือ
               (๑) รักษาอสังหาริมทรัพย์
               (๒) จ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์
               (๓) ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
               มาตรา ๒๗๔  บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์นั้นใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอสังหาริมทรัพย์ และมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้น
               อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๖๙ วรรคสองนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ด้วย
               มาตรา ๒๗๕  บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาสินจ้าง ค่าทำของเป็นการงานอันผู้ก่อสร้าง สถาปนิก หรือผู้รับจ้างได้ทำลงบนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ และมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้น
               อนึ่ง บุริมสิทธินี้ย่อมเกิดมีขึ้นต่อเมื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเพราะการที่ได้ทำขึ้นนั้น และมีอยู่เพียงเหนือราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
               มาตรา ๒๗๖  บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นใช้สำหรับเอาราคาอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยในราคานั้น และมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้น



๓. ลำดับแห่งบุริมสิทธิ (มาตรา ๒๗๗ - ๒๘๐)

๓. ลำดับแห่งบุริมสิทธิ
-------------------------
               มาตรา ๒๗๗  เมื่อมีบุริมสิทธิสามัญหลายรายแย้งกัน ท่านให้ถือว่าบุริมสิทธิทั้งหลายนั้นมีลำดับที่จะให้ผลก่อนหลัง ดังที่ได้เรียงลำดับไว้ในมาตรา ๒๕๓
               เมื่อมีบุริมสิทธิสามัญแย้งกับบุริมสิทธิพิเศษ ท่านว่าบุริมสิทธิพิเศษย่อมอยู่ในลำดับก่อน แต่บุริมสิทธิในมูลค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันนั้นย่อมอยู่ในลำดับก่อนในฐานที่จะใช้สิทธินั้นต่อเจ้าหนี้ผู้ได้รับประโยชน์จากการนั้นหมดทุกคนด้วยกัน
               มาตรา ๒๗๘  เมื่อมีบุริมสิทธิแย้งกันหลายรายเหนือสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านให้ถือลำดับก่อนหลังดังที่เรียงไว้ต่อไปนี้ คือ
               (๑) บุริมสิทธิในมูลเช่าอสังหาริมทรัพย์ พักอาศัยในโรงแรมและรับขน
               (๒) บุริมสิทธิในมูลรักษาสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้ามีบุคคลหลายคนเป็นผู้รักษา ท่านว่าผู้ที่รักษาภายหลังอยู่ในลำดับก่อนผู้ที่ได้รักษามาก่อน
               (๓) บุริมสิทธิในมูลซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย และค่าแรงงานกสิกรรมและอุตสาหกรรม
               ถ้าบุคคลผู้ใดมีบุริมสิทธิอยู่ในลำดับเป็นที่หนึ่ง และรู้อยู่ในขณะที่ตนได้ประโยชน์แห่งหนี้มานั้น ว่ายังมีบุคคลอื่นซึ่งมีบุริมสิทธิอยู่ในลำดับที่สองหรือที่สามไซร้ ท่านห้ามมิให้บุคคลผู้นั้นใช้สิทธิในการที่ตนอยู่ในลำดับก่อนนั้นต่อบุคคลอื่นเช่นว่ามา และท่านห้ามมิให้ใช้สิทธินี้ต่อผู้ที่ได้รักษาทรัพย์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้มีบุริมสิทธิในลำดับที่หนึ่งนั้นเองด้วย
               ในส่วนดอกผล ท่านให้บุคคลผู้ได้ทำการงานกสิกรรมอยู่ในลำดับที่หนึ่ง ผู้ส่งเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย อยู่ในลำดับที่สอง และให้ผู้เช่าที่ดินอยู่ในลำดับที่สาม
               มาตรา ๒๗๙  เมื่อมีบุริมสิทธิพิเศษแย้งกันหลายรายเหนืออสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านให้ถือลำดับก่อนหลังดังที่ได้เรียงลำดับไว้ในมาตรา ๒๗๓
               ถ้าได้ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นสืบต่อกันไปอีกไซร้ ลำดับก่อนหลังในระหว่างผู้ขายด้วยกันนั้น ท่านให้เป็นไปตามลำดับที่ได้ซื้อขายก่อนและหลัง
               มาตรา ๒๘๐  เมื่อบุคคลหลายคนมีบุริมสิทธิในลำดับเสมอกันเหนือทรัพย์อันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านให้ต่างคนต่างได้รับชำระหนี้เฉลี่ยตามส่วนมากน้อยแห่งจำนวนที่ตนเป็นเจ้าหนี้


๔. ผลแห่งบุริมสิทธิ (มาตรา ๒๘๑ - ๒๘๙)


๔. ผลแห่งบุริมสิทธิ
-------------------------
               มาตรา ๒๘๑  บุริมสิทธิอันมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์นั้น ท่านห้ามมิให้ใช้ เมื่อบุคคลภายนอกได้ทรัพย์นั้นจากลูกหนี้และได้ส่งมอบทรัพย์ให้กันไปเสร็จแล้ว
               มาตรา ๒๘๒  เมื่อมีบุริมสิทธิแย้งกับสิทธิจำนำสังหาริมทรัพย์ ท่านว่าผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิในลำดับที่หนึ่งดังที่เรียงไว้ในมาตรา ๒๗๘ นั้น
               มาตรา ๒๘๓  บุคคลผู้มีบุริมสิทธิสามัญต้องรับชำระหนี้เอาจากสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ก่อน ต่อเมื่อยังไม่พอจึงให้เอาชำระหนี้จากอสังหาริมทรัพย์ได้
               ในส่วนอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องรับชำระหนี้เอาจากอสังหาริมทรัพย์ อันมิได้ตกอยู่ในฐานเป็นหลักประกันพิเศษเสียก่อน
               ถ้าบุคคลใดมีบุริมสิทธิสามัญและละเลยด้วยความประมาทเลินเล่อไม่สอดเข้าแย้งขัดในการแบ่งเฉลี่ยทรัพย์ ตามความที่กล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างบนนี้ไซร้ อันบุคคลนั้นจะใช้บุริมสิทธิของตนต่อบุคคลภายนอกผู้ได้จดทะเบียนสิทธิไว้แล้วเพื่อจะเอาใช้จนถึงขนาดเช่นที่ตนจะหากได้รับเพราะได้สอดเข้าแย้งขัดนั้น ท่านว่าหาอาจจะใช้ได้ไม่
               อนึ่ง บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคทั้งสามข้างต้นนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากว่าเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์ได้นั้น จะพึงต้องเอามาแบ่งเฉลี่ยก่อนเงินที่ขายทรัพย์สินอย่างอื่นก็ดี หรือหากว่าเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์อันตกอยู่ในฐานเป็นหลักประกันพิเศษนั้น จะพึงต้องเอามาแบ่งเฉลี่ยก่อนเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นก็ดุจกัน
               มาตรา ๒๘๔  บุริมสิทธิสามัญนั้น ถึงแม้จะมิได้ไปลงทะเบียนเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ก็ดี ย่อมจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใด ๆ ที่ไม่มีหลักประกันพิเศษนั้นได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้ไปลงทะเบียนสิทธิไว้
               มาตรา ๒๘๕  บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าหากว่าเมื่อทำการเพื่อบำรุงรักษานั้นสำเร็จแล้ว ไปบอกลงทะเบียนไว้โดยพลันไซร้ บุริมสิทธิก็คงให้ผลต่อไป
               มาตรา ๒๘๖  บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น หากทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือการทำไซร้ บุริมสิทธิก็คงให้ผลต่อไป แต่ถ้าราคาที่ทำจริงนั้นล้ำราคาที่ได้ประมาณไว้ชั่วคราว ท่านว่าบุริมสิทธิในส่วนจำนวนที่ล้ำอยู่นั้นหามีไม่
               ส่วนการที่จะวินิจฉัยว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพราะการอันได้ทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์มากน้อยเพียงใดนั้น ท่านให้ศาลตั้งแต่งผู้เชี่ยวชาญขึ้นเป็นผู้กะประมาณ ในเวลาที่มีแย้งขัดในการแบ่งเฉลี่ย
               มาตรา ๒๘๗  บุริมสิทธิใดได้ไปจดลงทะเบียนแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองข้างบนนี้ บุริมสิทธินั้นท่านว่าอาจจะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนอง
               มาตรา ๒๘๘  บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าเมื่อไปลงทะเบียนสัญญาซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคาหรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้ บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป
               มาตรา ๒๘๙  ว่าถึงผลแห่งบุริมสิทธิ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๑ ถึง ๒๘๘ นี้แล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะจำนองมาใช้บังคับด้วยตามแต่กรณี


หมวด ๓ ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน (มาตรา ๒๙๐ - ๓๐๒)


หมวด ๓
ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน
-------------------------
               มาตรา ๒๙๐  ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระได้และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ก็ดี มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านว่าลูกหนี้แต่ละคนจะต้องรับผิดเพียงเป็นส่วนเท่า ๆ กันและเจ้าหนี้แต่ละคนก็ชอบที่จะได้รับแต่เพียงเป็นส่วนเท่า ๆ กัน
               มาตรา ๒๙๑  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
               มาตรา ๒๙๒  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย
               ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้หาได้ไม่
               มาตรา ๒๙๓  การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดให้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๒๙๔  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย
               มาตรา ๒๙๕  ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙๒ ถึง ๒๙๔ นั้น เมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง
               ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน
               มาตรา ๒๙๖  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป
               มาตรา ๒๙๗  ถ้าในสัญญาอันหนึ่งอันใดมีบุคคลหลายคนร่วมกันผูกพันตนในอันจะทำการชำระหนี้ไซร้ หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องรับผิดเช่นอย่างเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าเป็นการอันจะแบ่งกันชำระหนี้ได้
               มาตรา ๒๙๘  ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือเจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ แม้ทั้งที่เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว
               มาตรา ๒๙๙  การที่เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งผิดนัดนั้น ย่อมเป็นโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วย
               ถ้าสิทธิเรียกร้องและหนี้สินนั้นเป็นอันเกลื่อนกลืนกันไปในเจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง สิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ อันมีต่อลูกหนี้ก็ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป
               นอกจากนี้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๙๒, ๒๙๓ และ ๒๙๕ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วยไม่
               มาตรา ๓๐๐  ในระหว่างเจ้าหนี้ร่วมกันนั้น ท่านว่าต่างคนชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๓๐๑  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
               มาตรา ๓๐๒  ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น อนึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้ หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น
               นอกจากนี้ ข้อความจริงใดที่เท้าถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้นหาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วยไม่


หมวด ๔ โอนสิทธิเรียกร้อง (มาตรา ๓๐๓ - ๓๑๓)


หมวด ๔
โอนสิทธิเรียกร้อง
-------------------------
               มาตรา ๓๐๓  สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้
               ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาเช่นว่านี้ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
               มาตรา ๓๐๔  สิทธิเรียกร้องเช่นใด ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องเช่นนั้น ท่านว่าจะโอนกันหาได้ไม่
               มาตรา ๓๐๕  เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจำนอง จำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย
               อนึ่งผู้รับโอนจะใช้บุริมสิทธิใด ๆ ที่ตนมีอยู่เกี่ยวด้วยสิทธิเรียกร้องในกรณีบังคับยึดทรัพย์หรือล้มละลายนั้นก็ได้
               มาตรา ๓๐๖  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ
               ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้ ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้
               มาตรา ๓๐๗  ถ้าพิพาทอ้างสิทธิในการโอนต่างราย โอนรายใดได้บอกกล่าวหรือตกลงกันก่อน โอนรายนั้นมีสิทธิดีกว่าโอนรายอื่น ๆ
               มาตรา ๓๐๘  ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา ๓๐๖ โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่ แต่ถ้าเพื่อจะระงับหนี้นั้นลูกหนี้ได้ใช้เงินให้แก่ผู้โอนไปไซร้ ลูกหนี้จะเรียกคืนเงินนั้นก็ได้ หรือถ้าเพื่อการเช่นกล่าวมานั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อผู้โอน จะถือเสมือนหนึ่งว่าหนี้นั้นมิได้ก่อขึ้นเลยก็ได้
               ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคำบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น ถ้าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากผู้โอน แต่สิทธินั้นยังไม่ถึงกำหนดในเวลาบอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะเอาสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักกลบลบกันก็ได้ หากว่าสิทธินั้นจะได้ถึงกำหนดไม่ช้ากว่าเวลาถึงกำหนดแห่งสิทธิเรียกร้องอันได้โอนไปนั้น
               มาตรา ๓๐๙  การโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกคนอื่นได้แต่เฉพาะเมื่อการโอนนั้นได้สลักหลังไว้ในตราสาร และตัวตราสารนั้นได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับโอนไปด้วย
               มาตรา ๓๑๐  ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้มีสิทธิที่จะสอบสวนถึงตัวผู้ทรงตราสาร หรือสอบสวนความถูกต้องแท้จริงแห่งลายมือชื่อหรือดวงตราของผู้ทรงได้ แต่ก็หามีความผูกพันที่จะต้องทำถึงเพียงนั้นไม่ แต่ถ้าลูกหนี้ทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไซร้ การชำระหนี้นั้นก็ไม่เป็นอันสมบูรณ์
               มาตรา ๓๑๑  บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่มีกำหนดตัวเจ้าหนี้ระบุไว้ในตราสาร ซึ่งมีข้อความจดไว้ด้วยว่าให้ชำระหนี้แก่ผู้ทรงตราสาร
               มาตรา ๓๑๒  ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ซึ่งมีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนโดยสุจริตนั้นหาได้ไม่ เว้นแต่ที่ปรากฏในตัวตราสารนั้นเอง หรือที่มีขึ้นเป็นธรรมดาสืบจากลักษณะแห่งตราสารนั้น
               มาตรา ๓๑๓  บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงหนี้อันพึงต้องชำระแก่ผู้ถือนั้นด้วย แล้วแต่กรณี

                มาตรา ๓๐๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘



หมวด ๕ ความระงับแห่งหนี้ (มาตรา ๓๑๔ - ๓๕๓)

ส่วนที่ ๑ การชำระหนี้ (มาตรา ๓๑๔ - ๓๓๙)


ส่วนที่ ๑
การชำระหนี้
-------------------------
               มาตรา ๓๑๔  อันการชำระหนี้นั้น ท่านว่าบุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้
               บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่
               มาตรา ๓๑๕  อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์
               มาตรา ๓๑๖  ถ้าการชำระหนี้นั้นได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ ท่านว่าการชำระหนี้นั้นจะสมบูรณ์ก็แต่เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ได้กระทำการโดยสุจริต
               มาตรา ๓๑๗  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตราก่อน การชำระหนี้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับนั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัวเจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น
               มาตรา ๓๑๘  บุคคลผู้ถือใบเสร็จเป็นสำคัญ ท่านนับว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ ถ้าบุคคลผู้ชำระหนี้รู้ว่าสิทธิเช่นนั้นหามีไม่ หรือไม่รู้เท่าถึงสิทธินั้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน
               มาตรา ๓๑๙  ถ้าศาลสั่งให้ลูกหนี้คนที่สามงดเว้นทำการชำระหนี้แล้ว ยังขืนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของตนเองไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ผู้ที่ร้องขอให้ยึดทรัพย์จะเรียกให้ลูกหนี้คนที่สามนั้นทำการชำระหนี้อีกให้คุ้มกับความเสียหายอันตนได้รับก็ได้
               อนึ่งข้อความซึ่งกล่าวมาในวรรคข้างต้นนี้หาเป็นข้อขัดขวางในการที่ลูกหนี้คนที่สามจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหนี้ของตนเองนั้นไม่
               มาตรา ๓๒๐  อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่
               มาตรา ๓๒๑  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
               ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้
               ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว
               มาตรา ๓๒๒  ถ้าเอาทรัพย์ก็ดี สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกก็ดี หรือสิทธิอย่างอื่นก็ดี ให้แทนการชำระหนี้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย
               มาตรา ๓๒๓  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าบุคคลผู้ชำระหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาที่จะพึงส่งมอบ
               ลูกหนี้จำต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้ด้วยความระมัดระวังเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น
               มาตรา ๓๒๔  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้
               มาตรา ๓๒๕  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้ในข้อค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ท่านว่าฝ่ายลูกหนี้พึงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเจ้าหนี้ย้ายภูมิลำเนาก็ดี หรือเพราะการอื่นใดอันเจ้าหนี้ได้กระทำก็ดี ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าใดเจ้าหนี้ต้องเป็นผู้ออก
               มาตรา ๓๒๖  บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้น และถ้าหนี้นั้นได้ชำระสิ้นเชิงแล้ว ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย ถ้าและเอกสารนั้นสูญหาย บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะให้จดแจ้งความข้อระงับหนี้ลงไว้ในใบเสร็จหรือในเอกสารอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ได้
               ถ้าหนี้นั้นได้ชำระแต่บางส่วนก็ดี หรือถ้าเอกสารนั้นยังให้สิทธิอย่างอื่นใดแก่เจ้าหนี้อยู่ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้ชอบแต่ที่จะได้รับใบเสร็จไว้เป็นคู่มือและให้จดแจ้งการชำระหนี้นั้นลงไว้ในเอกสาร
               มาตรา ๓๒๗  ในกรณีชำระดอกเบี้ย หรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้น ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว
               ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อการชำระต้นเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับดอกเบี้ยแล้ว
               ถ้าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ได้เวนคืนแล้วไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว
               มาตรา ๓๒๘  ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป
               ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายไหนถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น รายใดเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ตกหนักแก่ลูกหนี้เท่า ๆ กัน ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน และถ้ามีหนี้สินหลายรายเก่าเท่า ๆ กัน ก็ให้หนี้สินทุกรายเป็นอันได้เปลื้องไปตามส่วนมากและน้อย
               มาตรา ๓๒๙  ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยังจะต้องชำระดอกเบี้ยและเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการชำระหนี้ในครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ย และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน
               ถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้เป็นประการอื่น ท่านว่าเจ้าหนี้จะบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ได้
               มาตรา ๓๓๐  เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น
               มาตรา ๓๓๑  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน
               มาตรา ๓๓๒  ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้จะต้องชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะกำหนดว่าต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนจึงให้มีสิทธิรับเอาทรัพย์ที่วางไว้นั้นก็ได้
               มาตรา ๓๓๓  การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้
               ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงานวางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ ศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น
               ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน
               มาตรา ๓๓๔  ลูกหนี้มีสิทธิจะถอนทรัพย์ที่วางนั้นได้ ถ้าลูกหนี้ถอนทรัพย์นั้น ท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้วางทรัพย์ไว้เลย
               สิทธิถอนทรัพย์นี้เป็นอันขาดในกรณีต่อไปนี้
               (๑) ถ้าลูกหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าตนยอมละสิทธิที่จะถอน
               (๒) ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น
               (๓) ถ้าการวางทรัพย์นั้นได้เป็นไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาลและได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์
               มาตรา ๓๓๕  สิทธิถอนทรัพย์นั้น ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดหาได้ไม่
               เมื่อได้ฟ้องคดีล้มละลายเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิถอนทรัพย์ในระหว่างพิจารณาคดีล้มละลาย
               มาตรา ๓๓๖  ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการชำระหนี้ไม่ควรแก่การจะวางไว้ก็ดี หรือเป็นที่พึงวิตกว่าทรัพย์นั้นเกลือกจะเสื่อมเสีย หรือทำลาย หรือบุบสลายได้ก็ดี เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล บุคคลผู้ชำระหนี้จะเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด แล้วเอาเงินที่ได้แต่การขายวางแทนทรัพย์นั้นก็ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ค่ารักษาทรัพย์จะแพงเกินควรนั้นด้วย
               มาตรา ๓๓๗  ท่านไม่อนุญาตให้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดจนกว่าจะได้บอกให้เจ้าหนี้รู้ตัวก่อน การบอกนี้จะงดเสียก็ได้ถ้าทรัพย์นั้นอาจเสื่อมทรามลง หรือภัยมีอยู่ในการที่จะหน่วงการขายทอดตลาดไว้
               ในการที่จะขายทอดตลาดนั้น ท่านให้ลูกหนี้บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า ถ้าละเลยเสียไม่บอกกล่าว ลูกหนี้จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
               การบอกให้รู้ตัวและบอกกล่าวนี้ ถ้าไม่เป็นอันจะทำได้ จะงดเสียก็ได้
               เวลาและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด กับทั้งคำพรรณนาลักษณะแห่งทรัพย์นั้น ท่านให้ประกาศโฆษณาให้ประชาชนทราบ
               มาตรา ๓๓๘  ค่าฤชาธรรมเนียมในการวางทรัพย์หรือขายทอดตลาดนั้น ให้ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้ออก เว้นแต่ลูกหนี้จะได้ถอนทรัพย์ที่วาง
               มาตรา ๓๓๙  สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อพ้นเวลาสิบปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์
               อนึ่ง เมื่อสิทธิของเจ้าหนี้ระงับสิ้นไปแล้ว ถึงแม้ลูกหนี้จะได้ละสิทธิถอนทรัพย์ก็ยังชอบที่จะถอนทรัพย์นั้นได้



ส่วนที่ ๒ ปลดหนี้ (มาตรา ๓๔๐)


ส่วนที่ ๒
ปลดหนี้
-------------------------
               มาตรา ๓๔๐  ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
               ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย



ส่วนที่ ๓ หักกลบลบหนี้ (มาตรา ๓๔๑ - ๓๔๘)


ส่วนที่ ๓
หักกลบลบหนี้
-------------------------
               มาตรา ๓๔๑  ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้
               บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากเป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
               มาตรา ๓๔๒  หักกลบลบหนี้นั้น ทำได้ด้วยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาเช่นนี้ท่านว่าจะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสิ้นสุดอีกด้วยหาได้ไม่
               การแสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านว่ามีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก
               มาตรา ๓๔๓  การหักกลบลบหนี้นั้น ถึงแม้ว่าสถานที่ซึ่งจะต้องชำระหนี้ทั้งสองจะต่างกัน ก็หักกันได้ แต่ฝ่ายผู้ขอหักหนี้จะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดแต่การนั้น
               มาตรา ๓๔๔  สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่ อนึ่ง อายุความย่อมไม่ตัดรอนการหักกลบลบหนี้ แม้สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว แต่ว่าในเวลาที่อาจจะหักกลบลบกับสิทธิเรียกร้องฝ่ายอื่นได้นั้น สิทธิยังไม่ขาด
               มาตรา ๓๔๕  หนี้รายใดเกิดแต่การอันมิชอบด้วยกฎหมายเป็นมูล ท่านห้ามมิให้ลูกหนี้ถือเอาประโยชน์แห่งหนี้รายนั้น เพื่อหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้
               มาตรา ๓๔๖  สิทธิเรียกร้องรายใดตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดมิได้ สิทธิเรียกร้องรายนั้นหาอาจจะเอาไปหักกลบลบหนี้ได้ไม่
               มาตรา ๓๔๗  ลูกหนี้คนที่สามหากได้รับคำสั่งศาลห้ามมิให้ใช้เงินแล้ว จะยกเอาหนี้ซึ่งตนได้มาภายหลังแต่นั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้ที่ขอให้ยึดทรัพย์นั้น ท่านว่าหาอาจจะยกได้ไม่
               มาตรา ๓๔๘  ถ้าคู่กรณีต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเรียกร้องหลายรายอันควรแก่การที่จะใช้หักกลบลบหนี้ได้ไซร้ ฝ่ายผู้ที่ขอหักหนี้จะระบุก็ได้ว่าพึงเอาสิทธิเรียกร้องรายใดบ้างเข้าหักกลบลบกัน ถ้าการหักกลบลบหนี้ได้แสดงโดยมิได้ระบุเช่นนั้นก็ดี หรือถ้าระบุ แต่อีกฝ่ายหนึ่งท้วงขัดข้องโดยไม่ชักช้าก็ดี ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๒๘ วรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ถ้าฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้ยังเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ นอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธานนั้นด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๒๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ส่วนที่ ๔ แปลงหนี้ใหม่ (มาตรา ๓๔๙ - ๓๕๒)


ส่วนที่ ๔
แปลงหนี้ใหม่
-------------------------
               มาตรา ๓๔๙  เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
               ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
               ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง
               มาตรา ๓๕๐  แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่
               มาตรา ๓๕๑  ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่
               มาตรา ๓๕๒  คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำหรือจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้ เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้


ส่วนที่ ๕ หนี้เกลื่อนกลืนกัน (มาตรา ๓๕๓)

ส่วนที่ ๕
หนี้เกลื่อนกลืนกัน
-------------------------
               มาตรา ๓๕๓  ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป เว้นแต่เมื่อหนี้นั้นตกไปอยู่ในบังคับแห่งสิทธิของบุคคลภายนอก หรือเมื่อสลักหลังตั๋วเงินกลับคืนตามความในมาตรา ๙๑๗ วรรค ๓



ลักษณะ ๒ สัญญา (มาตรา ๓๕๔ - ๓๙๔)

หมวด ๑ ก่อให้เกิดสัญญา (มาตรา ๓๕๔ - ๓๖๘)

หมวด ๑
ก่อให้เกิดสัญญา
-------------------------
               มาตรา ๓๕๔  คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
               มาตรา ๓๕๕  บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง และมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
               มาตรา ๓๕๖  คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย
               มาตรา ๓๕๗  คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป
               มาตรา ๓๕๘  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการ ซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในกำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
               ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา
               มาตรา ๓๕๙  ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ท่านให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่
               คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว
               มาตรา ๓๖๐  บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๙ วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
               มาตรา ๓๖๑  อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
               ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าวสนองไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้น อันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ
               มาตรา ๓๖๒  บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใด ๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น แม้ถึงมิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล
               มาตรา ๓๖๓  ในกรณีที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ เมื่อยังไม่มีใครทำการสำเร็จดังบ่งไว้นั้นอยู่ตราบใด ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นของตนเสียโดยวิธีเดียวกับที่โฆษณานั้นก็ได้ เว้นแต่จะได้แสดงไว้ในโฆษณานั้นว่าจะไม่ถอน
               ถ้าคำมั่นนั้นไม่อาจจะถอนโดยวิธีดังกล่าวมาก่อน จะถอนโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ถ้าเช่นนั้นการถอนจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้เพียงเฉพาะต่อบุคคลที่รู้
               ถ้าผู้ให้คำมั่นได้กำหนดระยะเวลาให้ด้วยเพื่อทำการอันบ่งนั้นไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้สละสิทธิที่จะถอนคำมั่นนั้นเสียแล้ว
               มาตรา ๓๖๔  ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันบ่งไว้ในโฆษณา ท่านว่าเฉพาะแต่คนที่ทำได้ก่อนใครหมดเท่านั้น มีสิทธิจะได้รับรางวัล
               ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันนั้นได้พร้อมกัน ท่านว่าแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับรางวัลเป็นส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน แต่ถ้ารางวัลนั้นมีสภาพแบ่งไม่ได้ก็ดี หรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่นนั้น บุคคลแต่คนเดียวจะพึงรับรางวัลก็ดี ท่านให้วินิจฉัยด้วยวิธีจับสลาก
               บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างต้นนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าในโฆษณานั้นแสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๓๖๕  คำมั่นจะให้รางวัลอันมีความประสงค์เป็นการประกวดชิงรางวัลนั้น จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย
               การที่จะตัดสินว่าผู้ประกวดคนไหนได้กระทำสำเร็จตามเงื่อนไขในคำมั่นภายในเวลากำหนดหรือไม่ก็ดี หรือตัดสินในระหว่างผู้ประกวดหลายคนนั้นว่าคนไหนดีกว่ากันอย่างไรก็ดี ให้ผู้ชี้ขาดซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในโฆษณานั้นเป็นผู้ตัดสิน หรือถ้ามิได้ระบุชื่อผู้ชี้ขาดไว้ ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ตัดสิน คำตัดสินอันนี้ย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทุกฝ่าย
               ถ้าได้คะแนนทำดีเสมอกัน ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๖๔ วรรค ๒ มาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี
               การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นประกวดนั้น ผู้ให้คำมั่นจะเรียกให้โอนแก่ตนได้ต่อเมื่อได้ระบุไว้ในโฆษณาว่าจะพึงโอนเช่นนั้น
               มาตรา ๓๖๖  ข้อความใด ๆ แห่งสัญญาอันคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้น หากคู่สัญญายังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน การที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะได้จดลงไว้ก็หาเป็นการผูกพันไม่
               ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ
               มาตรา ๓๖๗  สัญญาใดคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นอันได้ทำกันขึ้นแล้ว แต่แท้จริงยังมิได้ตกลงกันในข้อหนึ่งข้อใดอันจะต้องทำความตกลงให้สำเร็จ ถ้าจะพึงอนุมานได้ว่า ถึงหากจะไม่
ทำความตกลงกันในข้อนี้ได้ สัญญานั้นก็จะได้ทำขึ้นไซร้ ท่านว่าข้อความส่วนที่ได้ตกลงกันแล้วก็ย่อมเป็นอันสมบูรณ์
               มาตรา ๓๖๘  สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย

                มาตรา ๓๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕



หมวด ๒ ผลแห่งสัญญา (มาตรา ๓๖๙ - ๓๗๖)

หมวด ๒
ผลแห่งสัญญา
-------------------------
               มาตรา ๓๖๙  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
               มาตรา ๓๗๐  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้
               ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๙๕ วรรค ๒ นั้นไป
               มาตรา ๓๗๑  บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ
               ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้มิได้ และเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันตนจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลง หรือเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้แล้วแต่จะเลือก แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่ายลูกหนี้นั้น ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่
               มาตรา ๓๗๒  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
               ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบ ในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้
               มาตรา ๓๗๓  ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ
               มาตรา ๓๗๔  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้
               ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น
               มาตรา ๓๗๕  เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่
               มาตรา ๓๗๖  ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดังกล่าวมาในมาตรา ๓๗๔ นั้น ลูกหนี้อาจจะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้



หมวด ๓ มัดจำและกำหนดเบี้ยปรับ (มาตรา ๓๗๗ - ๓๘๕)


หมวด ๓
มัดจำและกำหนดเบี้ยปรับ
-------------------------
               มาตรา ๓๗๗  เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย
               มาตรา ๓๗๘  มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
               (๒) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
               (๓) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
               มาตรา ๓๗๙  ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น
               มาตรา ๓๘๐  ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
               ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้
               มาตรา ๓๘๑  ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้
               ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๘๐ วรรค ๒
               ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้
               มาตรา ๓๘๒  ถ้าสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับ ไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๗๙ ถึง ๓๘๑ มาใช้บังคับ แต่ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป
               มาตรา ๓๘๓  ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
               นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๗๙ และ ๓๘๒ ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย
               มาตรา ๓๘๔  ถ้าการชำระหนี้ตามที่สัญญาไว้นั้นไม่สมบูรณ์ การที่ตกลงกันด้วยข้อเบี้ยปรับในการไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน แม้ถึงคู่กรณีจะได้รู้ว่าข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์
               มาตรา ๓๘๕  ถ้าลูกหนี้โต้แย้งการริบเบี้ยปรับโดยอ้างเหตุว่าตนได้ชำระหนี้แล้วไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องพิสูจน์การชำระหนี้ เว้นแต่การชำระหนี้อันตนจะต้องทำนั้นเป็นการให้งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง


หมวด ๔ เลิกสัญญา (มาตรา ๓๘๖ - ๓๙๔)


หมวด ๔
เลิกสัญญา
-------------------------
               มาตรา ๓๘๖  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
               แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
               มาตรา ๓๘๗  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา ๓๘๘  ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย
               มาตรา ๓๘๙  ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้
               มาตรา ๓๙๐  ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่น ๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย
               มาตรา ๓๙๑  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
               ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
               ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
               การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
               มาตรา ๓๙๒  การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๖๙
               มาตรา ๓๙๓  ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญานั้นแถลงให้ทราบภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ว่าจะเลิกสัญญาหรือหาไม่ ถ้ามิได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลานั้น สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับสิ้นไป
               มาตรา ๓๙๔  ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นบุบสลายไปในส่วนสำคัญเพราะการกระทำหรือเพราะความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาก็ดี หรือบุคคลนั้นได้ทำให้การคืนทรัพย์กลายเป็นพ้นวิสัยก็ดี เปลี่ยนแปลงทรัพย์นั้นให้ผิดแผกไปเป็นอย่างอื่นด้วยประกอบขึ้นหรือดัดแปลงก็ดี ท่านว่าสิทธิเลิกสัญญานั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
               แต่ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหายหรือบุบสลายไปโดยปราศจากการกระทำหรือความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาไซร้ สิทธิเลิกสัญญานั้นก็หาระงับสิ้นไปไม่


ลักษณะ ๓ จัดการงานนอกสั่ง (มาตรา ๓๙๕ - ๔๐๕)

ลักษณะ ๓
จัดการงานนอกสั่ง
-------------------------
               มาตรา ๓๙๕  บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องจัดการงานไปในทางที่จะให้สมประโยชน์ของตัวการ ตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ
               มาตรา ๓๙๖  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ก็ดี และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ที่ได้เข้าจัดการนั้น แม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น
               มาตรา ๓๙๗  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดซึ่งเป็นหน้าที่บังคับให้ตัวการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ดี หรือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะบำรุงรักษาผู้อื่นก็ดี และหากผู้จัดการมิได้เข้าทำแล้วกิจอันนั้นจะไม่สำเร็จภายในเวลาอันควรไซร้ การที่ได้ทำขัดกับความประสงค์ของตัวการเช่นนั้น ท่านมิให้ยกขึ้นเป็นข้อวินิจฉัย
               มาตรา ๓๙๘  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดเพื่อประสงค์จะปัดป้องอันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ จะเป็นภัยแก่ตัวก็ดี แก่ชื่อเสียงก็ดี หรือแก่ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่าผู้จัดการต้องรับผิดชอบแต่เพียงที่จงใจทำผิด หรือที่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น
               มาตรา ๓๙๙  ผู้จัดการต้องบอกกล่าวแก่ตัวการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ว่าตนได้เข้าจัดการงานแทน และต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตัวการ เว้นแต่ภัยจะมีขึ้นเพราะการที่หน่วงเนิ่นไว้ นอกจากนี้ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๘๐๙ ถึง ๘๑๑ อันบังคับแก่ตัวแทนนั้นมาใช้บังคับแก่หน้าที่ของผู้จัดการด้วยโดยอนุโลม
               มาตรา ๔๐๐  ถ้าผู้จัดการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด และว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้เท่านั้น
               มาตรา ๔๐๑  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการ และต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจะเรียกให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติมาตรา ๘๑๖ วรรค ๒ นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               อนึ่ง ในกรณีที่กล่าวมาในมาตรา ๓๙๗ นั้น แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับความประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่
               มาตรา ๔๐๒  ถ้าเงื่อนไขดังว่ามาในมาตราก่อนนั้นมิได้มี ท่านว่าตัวการจำต้องคืนสิ่งทั้งหลายบรรดาที่ได้มาเพราะเขาเข้าจัดการงานนั้นให้แก่ผู้จัดการ ตามบทบัญญัติว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้
               ถ้าตัวการให้สัตยาบันแก่การที่จัดทำนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๔๐๓  ถ้าผู้จัดการมิได้มีบุรพเจตนาจะเรียกให้ตัวการชดใช้คืน ผู้จัดการก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้น
               การที่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย บำรุงรักษาผู้สืบสันดานเป็นทางอุปการะก็ดี หรือกลับกันเป็นทางปฏิการะก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีเจตนาจะเรียกให้ผู้รับประโยชน์ชดใช้คืน
               มาตรา ๔๐๔  ถ้าผู้จัดการทำแทนผู้หนึ่งโดยสำคัญว่าทำแทนผู้อื่นอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าผู้เป็นตัวการคนก่อนผู้เดียวมีสิทธิและหน้าที่อันเกิดแต่การที่ได้จัดทำไปนั้น
               มาตรา ๔๐๕  บทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวมาในสิบมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งเข้าทำการงานของผู้อื่นโดยสำคัญว่าเป็นการงานของตนเอง
               ถ้าบุคคลใดถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตนเอง ทั้งที่รู้แล้วว่าตนไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าตัวการจะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับโดยมูลดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙๕, ๓๙๖, ๓๙๙ และ ๔๐๐ นั้นก็ได้ แต่เมื่อได้ใช้สิทธิดังว่ามานี้แล้ว ตัวการจะต้องรับผิดต่อผู้จัดการดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๐๒ วรรค ๑


ลักษณะ ๔ ลาภมิควรได้ (มาตรา ๔๐๖ - ๔๑๙)


ลักษณะ ๔
ลาภมิควรได้
-------------------------
               มาตรา ๔๐๖  บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
               บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย
               มาตรา ๔๐๗  บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่
               มาตรา ๔๐๘  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ คือ
               (๑) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น
               (๒) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว
               (๓) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม
               มาตรา ๔๐๙  เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลาย หรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์
               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ไม่ขัดขวางต่อการที่บุคคลผู้ได้ชำระหนี้นั้นจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ถ้าจะพึงมี
               มาตรา ๔๑๐  บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์
               มาตรา ๔๑๑  บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่
               มาตรา ๔๑๒  ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
               มาตรา ๔๑๓  เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย
               ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
               มาตรา ๔๑๔  ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดี หรือเพราะเหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
               ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยทุจริต ท่านว่าต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน
               มาตรา ๔๑๕  บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่
               ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น
               มาตรา ๔๑๖  ค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การเพื่อรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ท่านว่าต้องชดใช้แก่บุคคลผู้คืนทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน
               แต่บุคคลเช่นว่านี้จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามธรรมดาเพื่อบำรุงซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น หรือค่าภาระติดพันที่ต้องเสียไปในระหว่างที่ตนคงเก็บดอกผลอยู่นั้นหาได้ไม่
               มาตรา ๔๑๗  ในส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคต้นแห่งมาตราก่อนนั้น บุคคลผู้คืนทรัพย์สินจะเรียกให้ชดใช้ได้แต่เฉพาะที่เสียไปในระหว่างที่ตนทำการโดยสุจริต และเมื่อทรัพย์สินนั้นได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายนั้นในเวลาที่คืน และจะเรียกได้ก็แต่เพียงเท่าราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
               อนึ่ง บทบัญญัติแห่งมาตรา ๔๑๕ วรรค ๒ นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วย แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๔๑๘  ถ้าบุคคลรับทรัพย์สินอันมิควรได้ไว้โดยทุจริต และได้ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมขึ้นในทรัพย์สินนั้น ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นต้องจัดทำทรัพย์สินนั้นให้คืนคงสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองแล้วจึงส่งคืน เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินจะเลือกให้ส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของจะใช้ราคาค่าทำดัดแปลงหรือต่อเติม หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นราคาทรัพย์สินเท่าที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ได้ แล้วแต่จะเลือก
               ถ้าในเวลาที่จะต้องคืนทรัพย์นั้นเป็นพ้นวิสัยจะทำให้ทรัพย์สินคืนคงสภาพเดิมได้ หรือถ้าทำไปทรัพย์สินนั้นจะบุบสลายไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ได้รับไว้จะต้องส่งคืนทรัพย์สินตามสภาพที่เป็นอยู่ และไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเพราะการดัดแปลงหรือต่อเติมนั้นได้
               มาตรา ๔๑๙  ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น



ลักษณะ ๕ ละเมิด (มาตรา ๔๒๐ - ๔๕๒)

หมวด ๑ ความรับผิดเพื่อละเมิด (มาตรา ๔๒๐ - ๔๓๗)

หมวด ๑
ความรับผิดเพื่อละเมิด
-------------------------
               มาตรา ๔๒๐  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
               มาตรา ๔๒๑  การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
               มาตรา ๔๒๒  ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด
               มาตรา ๔๒๓  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
               ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
               มาตรา ๔๒๔  ในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าศาลไม่จำต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่
               มาตรา ๔๒๕  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
               มาตรา ๔๒๖  นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น
               มาตรา ๔๒๗  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
               มาตรา ๔๒๘  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
               มาตรา ๔๒๙  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
               มาตรา ๔๓๐  ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
               มาตรา ๔๓๑  ในกรณีที่กล่าวมาในสองมาตราก่อนนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๔๒๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               มาตรา ๔๓๒  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
               อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
               ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
               มาตรา ๔๓๓  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
               อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้
               มาตรา ๔๓๔  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
               ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้
               มาตรา ๔๓๕  บุคคลใดจะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น บุคคลผู้นั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้
               มาตรา ๔๓๖  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
               มาตรา ๔๓๗  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
               ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย


หมวด ๒ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด (มาตรา ๔๓๘ - ๔๔๘)

หมวด ๒
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
-------------------------
               มาตรา ๔๓๘  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
               อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
               มาตรา ๔๓๙  บุคคลผู้จำต้องคืนทรัพย์อันผู้อื่นต้องเสียไปเพราะละเมิดแห่งตนนั้น ยังต้องรับผิดชอบตลอดถึงการที่ทรัพย์นั้นทำลายลงโดยอุบัติเหตุ หรือการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างอื่นโดยอุบัติเหตุ หรือทรัพย์นั้นเสื่อมเสียลงโดยอุบัติเหตุนั้นด้วย เว้นแต่เมื่อการที่ทรัพย์สินทำลาย หรือตกเป็นพ้นวิสัยจะคืน หรือเสื่อมเสียนั้น ถึงแม้ว่าจะมิได้มีการทำละเมิด ก็คงจะต้องตกไปเป็นอย่างนั้นอยู่เอง
               มาตรา ๔๔๐  ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันได้เอาของเขาไปก็ดี ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันลดน้อยลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องใช้ คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้
               มาตรา ๔๔๑  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตนหรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน
               มาตรา ๔๔๒  ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๓ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
               มาตรา ๔๔๓  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
               ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
               ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
               มาตรา ๔๔๔  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
               ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดี เป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีก็ได้
               มาตรา ๔๔๕  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
               มาตรา ๔๔๖  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
               อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้
               มาตรา ๔๔๗  บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้
               มาตรา ๔๔๘  สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
               แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ


หมวด ๓ นิรโทษกรรม (มาตรา ๔๔๙ - ๔๕๒)

หมวด ๓
นิรโทษกรรม
-------------------------
               มาตรา ๔๔๙  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
               ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้
               มาตรา ๔๕๐  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย
               ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น
               ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้
               มาตรา ๔๕๑  บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ และถ้ามิได้ทำในทันใด ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดังสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมากหรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
               การใช้กำลังดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าต้องจำกัดครัดเคร่งแต่เฉพาะที่จำเป็นเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายเท่านั้น
               ถ้าบุคคลผู้ใดกระทำการดังกล่าวมาในวรรคต้น เพราะหลงสันนิษฐานพลาดไปว่ามีเหตุอันจำเป็นที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลอื่น แม้ทั้งการที่หลงพลาดไปนั้นจะมิใช่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน
               มาตรา ๔๕๒  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้
               แต่ว่าผู้นั้นต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของสัตว์โดยไม่ชักช้า ถ้าและหาตัวเจ้าของสัตว์ไม่พบ ผู้ที่จับสัตว์ไว้ต้องจัดการตามสมควรเพื่อสืบหาตัวเจ้าของ