แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฟ้องซ้อน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฟ้องซ้อน แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักฟ้องซ้อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๓)

ฟ้องซ้อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๓)
               เมื่อได้ยื่นฟ้องและศาลรับฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแล้ว ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นซึ่งอาจเป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ (มาตรา ๑๗๓(๑)) แม้ว่าภายหลังคดีเดิมจะหมดไป ก็ไม่ทำให้คดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อน (ฎีกาที่ ๓๓๔๖/๒๕๓๕) ศาลจะพิพากษายกฟ้องสำหรับคำฟ้องที่ยื่นครั้งหลังนี้

                หลักเกณฑ์ฟ้องซ้อน มีดังนี้
                                ๑.๑ ห้ามเฉพาะโจทก์เท่านั้น – ถ้ามีผู้อื่นใช้สิทธิของโจทก์ในการฟ้องคดีอยู่แล้ว โจทก์ก็จะมาฟ้องอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน เช่น กรณีเจ้าของร่วม อัยการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๗๙/๒๕๒๕ – จำเลยสามารถฟ้องคดีใหม่ได้ แม้คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการฟ้องซ้อน เพราะมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม และมิใช่การฟ้องซ้ำ เพราะคดียังไม่สิ้นสุด
                                ๑.๒ คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีก่อนและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน – หากคู่ความต่างกันหรือผลัดกันเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๙๙/๒๕๓๐ - ถ้าเป็นคู่ความเดียวกัน แม้จะถอนฟ้องคดีเดิมหลังจากฟ้องคดีใหม่ก็ไม่ทำให้มีสิทธิฟ้องใหม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๖/๒๕๑๘ – การฟ้องของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ถือเป็นการฟ้องคดีแทนเจ้าของรวมทั้งหมด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๘/๒๕๒๓ – ผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนทายาทฟ้องคดีไว้แล้ว ทายาทจะฟ้องอีกไม่ได้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๒๔/๒๕๔๓ – ถ้าผู้จัดการมรดกยังไม่ฟ้องคดี ทายาทย่อมฟ้องคดีได้เอง
                                ๑.๓ การฟ้องคดีทั้งสองนั้นจะต้องเป็นการฟ้องเกี่ยวกับประเด็นอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกัน
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๖/๒๕๑๑ – โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุผิดสัญญาเช่า ต่อมาสัญญาเช่าหมดอายุ โจทก์จึงฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุสัญญาเช่าระงับ เช่นนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะไม่ใช่เกิดจากมูลคดีเดียวกัน

    กรณีโจทก์เรียกทรัพย์คนละอย่างกันซึ่งสามารถเรียกได้ในฟ้องเดิมเนื่องจากเป็นเรื่องสืบเนื่องจากคดีเดิม หากมาฟ้องใหม่ถือเป็นฟ้องซ้อน
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖-๕๗/๒๕๑๙ – การฟ้องเรียกคืนค่ารถยนต์เพราะถูกบุคคลอื่นยึดรถไป สามารถเรียกรวมไปในฟ้องผิดสัญญาแลกเปลี่ยนรถยนต์ได้อยู่แล้ว โจทก์นำมาฟ้องใหม่จึงเป็นฟ้องซ้อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๘๖/๒๕๔๖ – จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ในคดีก่อน ต่อมาโจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยในคดีนี้ จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรส ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะฟ้องหย่าและฟ้องขอแบ่งสินสมรสจำต้องทำพร้อมกัน
                ๑.๔ คดีแรกต้องอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นไหน – อาจเป็นศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกันก็ได้ หรือคดีอาจอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๗๓/๒๕๓๙ – กรณีการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของศาลชั้นต้น และการฟ้องคดีใหม่เป็นเรื่องเดียวกับฟ้องแย้ง ถือเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้ง