แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดไฟล์เสียง ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดไฟล์เสียง ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เจาะฎีกา ถอดไฟล์เสียง ห้องบรรยาย เนติ 1/70 วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ อ.ปัญญา 29 พ.ค.60 (ภาคปกติ) สัปดาห์ที่2

เจาะฎีกา ถอดไฟล์เสียง ห้องบรรยาย เนติฯ วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ ภาค 1 สมัยที่ 70

 อ.ปัญญา 29 พฤษภาคม 2560 (ภาคปกติ) สัปดาห์ที่2
-----------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2507 เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าขำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาแล้ว ย่อมแสดงว่าลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งตามบทมาตราดังกล่าวโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น ทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้นคดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาด้วยไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แม้หนังสือกู้ยืมเงินจะระบุข้อความไว้ว่าไม่มีดอกเบี้ยแต่ข้อความตอนต้นก็ระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญา นอกจากนี้ผู้กู้ยังได้บันทึกรับรองไว้ในตอนท้ายของสัญญากู้ยืมเงินว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปียินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา ดังนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน กรณีมิใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2517 โจทก์ฟ้องว่า จ. สามีจำเลยทั้งสองยืมเงินโจทก์ไป 2 ครั้ง ครั้งแรก 110,000 บาท ครั้งที่สอง 90,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จ. ทำหนังสือสัญญากู้ 2 ราย และรับเงินกู้ไป 200,000 บาทจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จ. ไม่ได้รับเงินกู้รายแรก แต่ไม่ได้อุทธรณ์ว่าจ. ไม่ได้ทำสัญญากู้รายแรก ดังนี้ ประเด็นว่า จ. ได้ทำสัญญากู้รายแรกหรือไม่ จึงยุติเพียงศาลชั้นต้นว่า จ.ได้ทำสัญญากู้รายแรกจริงจำเลยที่ 2 จึงฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ให้ ก็เป็นการที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จ. จะได้ยืมเงินจากโจทก์ หรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบไม่รับรอง ลายมือชื่อในสัญญากู้ไม่ใช่ของ จ. จ. ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้ สัญญากู้จึงไม่สมบูรณ์ ดังนี้ ที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จ. ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้นั้นเป็นการประกอบคำให้การที่ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้ไม่ใช่ของ จ.คำให้การดังกล่าวจึงมีความหมายว่าเนื่องด้วยสัญญากู้ปลอมจ. จึงไม่ได้รับเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้ ดังนั้นเมื่อฟังว่า จ.ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้จริง ไม่ใช่สัญญากู้ปลอมแล้ว ข้อต่อสู้ว่า จ. ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เป็นอันตกไปต้องฟังว่า จ.ได้รับเงินตามสัญญากู้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามบัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเสียภายในกำหนด 1 ปี ย่อมเป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ถึงแก่กรรมโดยเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องทวงถามให้ชำระหนี้ก่อน ฉะนั้น แม้สัญญากู้ซึ่ง จ. กู้เงินโจทก์ไปจะมีข้อความว่าหากโจทก์ต้องการเงินคืนเมื่อใดจ. จะคืนให้ทันที แต่ต้องบอกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือนก็ตามเมื่อ จ. ถึงแก่กรรม โจทก์ย่อมฟ้องคดีได้ทันทีโดยไม่จำต้องทวงถามก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5760/2540 ตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือนแต่ถึงอย่างไรก็ดีจำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 และในตอนท้ายของสัญญายังระบุว่าไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร โดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ กับมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอีกว่า ถ้าผู้กู้ผิดไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยตามข้อตกลงแห่งสัญญากู้เงินฉบับพิพาทให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมดยินยอมให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์ จะสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามการแก่กรณี ทั้งนี้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้เสร็จสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลง ต่อท้ายสัญญากู้เงินจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้บางส่วนหลังจากที่ตกเป็นฝ่าย ผิดสัญญาแล้ว ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะรับชำระหนี้ได้ กรณีมิใช่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2551 โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิซึ่งจะทำให้คู่สัญญาต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญา อันถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ในฐานะสถาบันการเงิน แต่ปัญหาดังกล่าวโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 และสัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อความว่า สัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระหนี้ตามที่ผู้ให้กู้เรียกร้องทันที เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของลูกหนี้เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ตามลำดับ