ฎีกา ป.วิ.อาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4604/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 43 ที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนในคดียักยอกทรัพย์นั้น
หมายรวมทั้งคดีเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 147 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2558
เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นที่เกิดเหตุโดยมีหมายค้น แต่คนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจประตูรั้วบ้าน และเค้าไปดำเนินการตรวจค้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6295/2558
แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง กำหนดว่า
การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหลังจากสืบพยานประเด็นโจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ว่า ทนายผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นขอยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ เนื่องจากทนายผู้ร้องยังไม่ทำคำร้องดังกล่าว เท่ากับทนายผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลาให้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับศาลชั้นต้นได้กำหนดเวลาให้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า
"ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว
ต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2558
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับ อ. ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแต่ข้อเท็จจริง ตามทางพิจารณาได้ความว่า อ. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย หลังจากนั้น อ. จึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย
ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายก่อนที่จะส่งมอบ
ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2558
ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 943,606 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย
เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2558
เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า กระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงร่วมกับอาวุธปืนที่มีกลไกบรรจุกระสุนปืนเองและสามารถยิงซ้ำได้ และยิงเป็นชุดหรือยิงกล และมีขนาดความยาวของลำกล้องเกิน 160 มม. ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองแล้ว โดยไม่จำต้องบรรยายให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิตเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10816/2558
ผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำร้องของผู้ร้องเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้ร้องอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้ร้องย่อมไม่มีฐานะเป็นคู่ความอันจะมีสิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10073/2558
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า
เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ต้องสอบถามจำเลยด้วยว่าจะให้การรับสารภาพในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรถยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของยังมิได้เสียภาษี การที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดแจ้ง กลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว
จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไปตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ชอบไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8420 - 8421/2558
แม้ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 กรณีผู้ร้องที่ 2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม
แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1 ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่ 1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2558
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 336 ทวิ และมีคำขอให้จำเลยคืนโครงหลังคาเหล็กของโรงงานและอุปกรณ์ส่วนควบของอาคารโรงงานหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและราคาทรัพย์ใช้แทนย่อมรับฟังเป็นยุติตามฟ้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้รับว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตและโรงเรือนมีสภาพเก่ามีราคาเพียง 50,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอส่วนแพ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2558
ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และ
คดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว
ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558
โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าศาลผ่านล่ามโดยมีทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมฟังการเบิกความและถามค้านโจทก์
ต่อมาเมื่อโจทก์ไม่สามารถเบิกความในชั้นพิจารณาได้ เนื่องจากถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร ดังนั้น
บันทึกคำเบิกความโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 กรณีหาจำต้องให้คู่ความตกลงกัน จึงจะนำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังได้ตามมาตรา 237 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2558
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 167 บัญญัติว่า
"ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง" และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
"คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลและให้ประทับฟ้องสำหรับข้อหาดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนในชั้นพิจารณา
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่มีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในข้อหาที่ศาลชั้นต้นสั่งว่ามีมูลแล้วขึ้นมาทบทวนและวินิจฉัยยกฟ้องข้อหาดังกล่าวในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้อีก