เจาะหลัก ฎีกา เตรียมสอบผู้พิพากษา (ปี 2567)
คำถาม ศาลในคดีอาญาพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ดังนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 349/2555 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 793/2549 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเป็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาได้ ในคดีแพ่ง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 11473/2555 คดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องข้อหายักยอก ศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินส่วนที่ขาดจากพนักงานขายมาแล้วไม่ส่งให้ผู้เสียหาย แต่เป็นกรณีที่พนักงานขายยังไม่ส่งเงินส่วนที่ขาดส่งให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้ยักยอก พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว แม้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นจะยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย แต่ผลในทางคดีต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงินดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวให้รับผิดทางแพ่งโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์จำเลยที่ 1 รับเงินค่าสินค้าจากพนักงานขายแล้วส่งมองให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนโดยคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 รับมาจากพนักงานขายไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์จำนวน 150,559 บาท เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับคำขอท้ายฟ้องคดีอาญาเพื่อขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการฟ้องอาศัยเหตุเดียวกันกับคดีอาญา ถือเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากพนักงานขายของโจทก์ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าส่วนที่ขาดส่งสินค้าส่วนที่ขาดส่งจากพนักงานขายของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน
เจาะหลักแนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐⭐⭐⭐⭐
"เขียนคำตอบอย่างไร ให้ใกล้เคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่เราอ่าน ผ่านตาให้มากที่สุด"
1. คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญา
2. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
3. เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเป็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด
4. ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
5. แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาได้
ในคดีแพ่ง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น