แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา เนติ วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา เนติ วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สรุปฎีกา เนติฯ วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ภาคปกติ) อ.ปัญญา 22 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่70

 ฎีกาเด่น* วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ภาคปกติ) สมัยที่70
 อ. ปัญญา  วันที่ 22 พฤษภาคม. 2560 ครั้งที่1
--------------------------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4778/2531 จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง เมื่อบริษัทจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้า และเพื่อทำการกู้ยืมเงินค้ำประกันและรับรองทั้งบุคคลหรือนิติบุคคลเพื่อกิจการค้าของบริษัท ดังนั้นการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้กระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัท เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด
แม้ตามสัญญาชักสวนลดเช็คข้อ 1 จะระบุว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 เสนอให้โจทก์ชักส่วนลดต้องเป็นเช็คของธนาคารในประเทศไทย สั่งจ่ายให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้สินค้าที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่ผู้สั่งจ่ายก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 7 ให้สิทธิโจทก์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญา และไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 หลุดพ้นหรือลดน้อยลงเมื่อจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและตามสัญญาค้ำประกันยินยอมให้โจทก์มีสิทธิ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดใด ๆ ของสัญญาชักส่วนลดเช็ค โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ทราบ และให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ตกลงยินยอมด้วย ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากข้อผูกพันและความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ดังนั้นแม้โจทก์จะรับเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายนำมาชักส่วนลดก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตกลงยินยอมด้วย จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาชักส่วนลดเช็คกับโจทก์รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือชักส่วนลดเช็คท้ายฟ้องและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้กับโจทก์รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง ดังนั้นสัญญาชักส่วนลดเช็คและสัญญาค้ำประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง การที่ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว จึงหาเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2554 ขณะที่กรรมการบริษัทจำเลยทำบันทึกจ่ายค่าตอบแทนการทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์นั้น โจทก์สมัครใจทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนแล้ว โดยมิได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว และเหตุที่ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เห็นได้ว่าทำขึ้นจากการขอร้องของฝ่ายโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำการใดเพื่อเป็นการตอบแทน มีแต่จะขอปลดเปลื้องภาระที่ตนทำขึ้นเท่านั้น มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือโจทก์ให้มีรายได้ดังที่นาย ส. กรรมการจำเลยเบิกความ บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัท เป็นการกระทำนอกขอบ วัตถุประสงค์ของจำเลย และในเรื่องการชำระเงินนี้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านาย ส. เป็นผู้จ่ายเงินตามบันทึกข้อตกลงเอง ซึ่งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยเช่นกัน ไม่อาจถือว่าจำเลยให้สัตยาบัน บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2528 นิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยแต่ได้รับประกันวินาศภัยไว้เมื่อได้รับเบี้ยประกันภัยอันเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้เอาประกันภัย นิติบุคคลนั้นจะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของตนเพื่อให้พ้นความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ การที่ผู้รับประกันภัยได้รับประกันวินาศภัยไว้จากผู้เอาประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบกิจการประกันวินาศภัยสัญญาประกันภัยจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ทราบถึงการไม่ได้รับอนุญาตนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยได้ทราบความดังกล่าว ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2530 แม้ขณะที่บริษัทโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับจำเลยวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทโจทก์ยังมิได้ระบุให้ประกอบกิจการเป็นผู้ให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ได้แต่เมื่อจำเลยให้การและนำสืบรับว่าบริษัทโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กันจริงจำเลยจะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการให้เช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกขอบวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทโจทก์ไม่ได้
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า การทำสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขอบวัตถุที่ประสงค์ของโจทก์ และมีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าการทำสัญญาให้เช่าซื้ออยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ดังนี้ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยไม่อาจยกข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อขึ้นต่อสู้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5718/2552 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีจุดประสงค์ให้จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปใช้ในการวิ่งเต้นกับคณะกรรมการคุมสอบเพื่อให้ช่วยเหลือบุตรสาวโจทก์ให้ผ่านการสอบคัดเลือกด้วยวิธีการอันมิชอบ ซึ่งจะทำให้บุตรสาวโจทก์ได้เปรียบผู้สมัครสอบรายอื่น และทำให้การวัดผลไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมา ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการ วัตถุประสงค์ของการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินได้

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558 (ฎีกาใหม่) โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้