แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา วิ.แพ่ง ภาค4 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา วิ.แพ่ง ภาค4 แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.แพ่ง ภาค4 อ.ทวี (ภาคค่ำ) ครั้งที่1 สมัยที่72



สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.แพ่ง ภาค4 บังคับคดี สมัยที่72อ.ทวี ประจวบลาภ (ภาคค่ำ) 27 พ.ย 62  ครั้งที่1

----------------------


หลักกฎหมาย มาตราที่สำคัญ

         มาตรา 271  ศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีซึ่งมีอํานาจกําหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 276 และมีอํานาจทําคําวินิจฉัยชี้ขาดหรือทําคําสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้ส่งคดีไปยังศาลชั้นต้นแห่งอื่นที่มิได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นเพื่อการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา 243 (2) และ (3) ให้ศาลที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่งใหม่นั้นเป็นศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดี เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี จะได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีนอกเขตศาล ให้ศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีมีอํานาจต้ังให้ศาลอื่นบังคับคดีแทนได้ หรือเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาอาจยื่นคําแถลงหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนทราบพร้อมด้วยสําเนาหมายบังคับคดีหรือสําเนาคําสั่งกําหนดวิธีการบังคับคดีในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลดังกล่าวแจ้งให้ศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีทราบโดยไม่ชักช้า และให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือมีคําสั่งอื่นใดเพื่อดําเนินการบังคับคดีต่อไป
ถ้าเป็นการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้อง ให้ศาลที่บังคับคดีแทนส่งทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัดหรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ไปยังศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดี เพื่อดําเนินการไปตามกฎหมาย
ในกรณีที่มีการบังคับคดีนอกเขตศาลโดยบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ศาลที่บังคับคดีแทนมีอํานาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับคดีใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคําสั่งกําหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ผิดพลาดหรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้น รวมถึงดําเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องได้ เว้นแต่เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นและแจ้งผลการบังคับคดีไปยังศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีแล้ว ให้เป็นอํานาจของศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีเท่านั้น

          มาตรา 274  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้ หรือได้ดําเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้
ถ้าคําพิพากษาหรือคําสั่งกําหนดให้ชําระหนี้เป็นงวด เป็นรายเดือน หรือเป็นรายปี หรือกําหนดให้ชําระหนี้อย่างใดในอนาคต ให้นับระยะเวลาสิบปีตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันที่หนี้ตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นอาจบังคับให้ชําระได้

ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นมีอํานาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาในห้องบรรยายเนติฯ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2508 คดีเดิม โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุก ขอให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทำยอม ให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งแยกที่พิพาทนั้นให้โจทก์จึงเป็นคนละประเด็นกันไม่เป็นฟ้องซ้ำ
          จำเลยกล่าวอ้างลอยๆ ว่าประนีประนอมยอมความแล้วจะฟ้องโดยตั้งข้อหาเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ ชอบที่จะบังคับไปตามสัญญายอม โดยมิได้ยกกฎหมายสนับสนุนก็คงหมายถึงว่าเป็นฟ้องซ้ำนั่นเอง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อนี้อีก
          ในคดีที่จำเลยยอมให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ที่พิพาทก็ตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโดยไม่จำต้องบังคับอะไรอีกฉะนั้น การที่โจทก์มิได้ขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงหาทำให้สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่พิพาทดังกล่าวแล้วต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่

      โจทก์ร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้แบ่งแยกที่ดินตามยอมให้โจทก์ โดยที่คำขอท้ายฟ้องมิได้ขอให้แบ่งแยกไว้ด้วยเช่นนี้เป็นเรื่องเกินคำขอ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2535 โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน ต่อมาโจทก์ได้ทำร้ายจำเลยทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะเป็นสามีภริยากันต่อไป จึงไปทำความตกลงกันที่สถานีตำรวจ โดยให้เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกว่า โจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันและจะแบ่งทรัพย์สินกันตามบันทึก ซึ่งมีร้อยตำรวจโทส. และจ่าสิบตำรวจ จ. เป็นพยาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหย่าและเพื่อให้จำเลยไม่ติดใจเอาความโจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เป็นการตอบแทน เมื่อมิได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลใช้เป็นหลักฐานแห่งการหย่าได้ตามมาตรา 1514 วรรคสอง และยังใช้บังคับในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกนั้นได้ด้วย ข้อตกลงเรื่องการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นข้อตกลงที่แบ่งแยกจากกันมิได้ จึงมิได้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างเดียวโดยตรง อันจะมีผลทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินที่ว่าโจทก์ตกลงขายรถยนต์ที่โจทก์ใช้อยู่โดยจะแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่โจทก์ 20,000 บาทจำเลยจะจ่ายให้ทันที่ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะจ่ายเป็นเช็คให้อีก 10,000 บาท มีกำหนด 1 เดือน นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังใช้รถยนต์อยู่มิได้ขายตามข้อตกลง ส่วนจำเลยก็ชำระเงินให้โจทก์ไปเพียง 10,000 บาท ดังนั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดถึงกรณีที่มิได้ขายรถไว้ว่าคู่กรณีตกลงกันอย่างไร จึงต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะได้เงินจากการขายรถเพียง 20,000 บาท เงินส่วนที่เหลือจากการขายเป็นของจำเลยทั้งหมด เมื่อไม่มีการขายรถ จำเลยจึงควรจะเป็นผู้มีสิทธิจัดการเกี่ยวกับรถนั้นโดยชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อตกลงจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบรถให้แก่จำเลย บันทึกข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจะใช้บังคับทรัพย์สินอื่นที่มีอยู่ก่อนหรือได้มาหลังข้อตกลงนอกจากที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงนั้นไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างนั้นจึงต้องเป็นสินสมรสที่จะต้องนำมาแบ่งครึ่งกั สร้อยคอทองคำและพระเครื่องที่จำเลยซื้อให้แก่โจทก์ระหว่างสมรสเป็นทรัพย์ที่เป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของโจทก์โดยเฉพาะ จึงเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากมีการตกลงจะหย่ากัน เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาตามคำขอท้ายฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2550 การบังคับคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะเท่านั้นที่จะต้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งไม่ใช่กรณีที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ซึ่งหมายถึง การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้ รวมทั้งเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าวมาแล้ว


         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558  ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี
        ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การบังคับคดีเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีของผู้เอาประกันภัยได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6676/2550 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลที่ดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้

-----------------


แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate