แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาเด่น แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาเด่น แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น ไฟล์เสียงเนติ ภาคค่ำ วิ.อาญา ภาค 3-4 (อ.จิตฤดี) 9 ธ.ค.60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่ 70

ฎีกา ไฟล์เสียงเนติ ภาคค่ำ วิ.อาญา ภาค 3-4 (อ.จิตฤดี)
วันที่ 9 ธันวาคม 2560 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่ 70
.................

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2519 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้เพียงว่า ฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หาใช่บทมาตราที่ว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดทางอาญาไม่ หากแต่เป็นบทมาตราที่ใช้แก่ความผิดโดยทั่วๆ ไปว่า เมื่อมีความผิดโดยการกระทำร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเกิดขึ้น ศาลจะต้องวางโทษแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างไร ฉะนั้น ฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกันสั่งจ่ายเช็ค เพียงแต่ไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงไว้ด้วย จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 (1) บัญญัติว่า ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นหน้าที่ของศาลเองโดยตรงที่จะจัดการสั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องขึ้นเสียก่อนที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณา ดังนั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา แม้โจทก์มิได้ขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องมาด้วย ศาลก็ย่อมสั่งและดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องไปตามกฎหมายได้ หาใช่เป็นการสั่งเกินคำขอของโจทก์ไม่
.
ทยอยอัพเดท.... ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา อัพเดท ที่ LawSiam.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น เนติฯ 6 ธ.ค 60 สัมมนา วิ.แพ่ง (อ.ประเสริฐ) ภาคปกติ สมัยที่ 70

ฎีกาเด่น เนติฯ  6 ธ.ค 60  สัมมนา วิ.แพ่ง (อ.ประเสริฐ) ภาคปกติ  สมัยที่ 70


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2548 คำให้การของจำเลยไม่มีลายมือชื่อจำเลยหรือทนายจำเลยผู้ยื่นคำให้การ ไม่มีลายมือชื่อทนายจำเลยผู้เรียง และไม่มีลายมือชื่อผู้พิมพ์ เป็นคำคู่ความที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) การที่ทนายจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องหมายเหตุท้ายคำให้การจำเลยแผ่นแรกที่มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว" นั้น มิใช่เป็นการลงลายมือชื่อในคำคู่ความตามความหมายของมาตรา 67 (5) ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลยฉบับดังกล่าวโดยไม่คืนไปให้จำเลยทำมาใหม่ หรือให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปโดยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนจึงไม่ชอบ

ทยอยอัพเดท.... ถอดเทป-เน้นประเด็น คำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ที่ LawSiam.com

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปี 2559

 คำพิพากษาฎีกาเด่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปี 2559
------------------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559 
         ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ ส่วนบ้านไม่มีเลขที่ ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านหลังไม่มีเลขที่บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง

    การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวในที่ดินที่ขายฝากต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้ห้ามปราม จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างย่อมเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกำหนดในสัญญา การปลูกสร้างบ้านไม่มีเลขที่บ้านของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยเด็ดขาด กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะใช้ปรับได้โดยตรง จึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยผู้สร้าง  และการที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างบ้านต่อไปในที่ดินของโจทก์โดยมิได้ห้ามปรามถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2559 
        ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า "การบริหารสินทรัพย์หมายความว่า (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" และกระทรวงการคลังได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ดังนั้น การที่ผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้ขอสวมสิทธิเดิมซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกัน จึงเป็นการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับซื้อหรือรับโอนหนี้สินด้อยคุณภาพจากผู้ขอสวมสิทธิเดิม โดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้โดยชอบ หาตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559 
       ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม คำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559 
    โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2559 
       เดิม ห. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้ขับไล่ ห. ออกจากที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 ให้ ห. และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ในชั้นบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา โดยอ้างว่าครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ โดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษที่ผู้ร้องได้ยื่นไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นการร้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องเป็นร้องซ้อนต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีคำร้องขอและตัวผู้ร้องที่ผู้คัดค้านจะฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องเช่นกัน



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559 
   แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2559 
       คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนให้ออกจากที่ดินพิพาท คดีทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2559 
       ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสิบสามฉบับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในหนึ่งปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ อ. เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2559 
        การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย..."แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ ๓ รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๖ ประกอบมาตรา ๑๔๒ (๕)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559
       จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้ เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป

         จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559 
        โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5

        จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในวันฟ้องคดี จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบ 1087 เมื่อศาลพิจารณาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2559 
       ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2559 
        เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559 
         พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2559 
         ข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในรายงานเจ้าหน้าที่ที่เสนอต่อผู้พิพากษา ปรากฏว่าคู่ความมิได้ลงลายมือชื่อไว้จึงถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดที่โจทก์จะอ้างมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้บังคับแก่จำเลยทั้งห้าได้ ส่วนรายงานกระบวนพิจารณา แม้โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และทนายจำเลยทั้งห้าลงลายมือชื่อไว้ แต่ความตกลงยังหาได้ยุติไม่ เพราะยังจะต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันอยู่อีก กรณีจึงไม่ใช่เรื่องตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ หรือที่จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จสิ้นไปในทันทีด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน และรายงานเจ้าหน้าที่กับรายงานกระบวนพิจารณาไม่อาจนำมาประกอบกันแล้วถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2559 
        เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวเป็นผู้มีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ดังนั้น การยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวม จึงเป็นอำนาจของผู้คัดค้าน ผู้ร้องเป็นเพียงตัวแทนของผู้คัดค้านในการนำบันทึกข้อความขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดปราจีนบุรี สาขากบินทร์บุรี ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแทน ไปยื่นและดำเนินการแทนผู้คัดค้านเท่านั้น หาใช่ผู้ร้องโดยส่วนตัวเป็นผู้ยึดทรัพย์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด อันส่งผลให้ผู้คัดค้านหมดอำนาจในการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้ดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวเอง ไม่อาจสั่งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของผู้คัดค้านในการนำยึดไปดำเนินการถอนการยึดและชำระค่าธรรมเนียมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2559 
        พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิผู้อื่นจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และมาตรา 90/12 ก็ไม่มีข้อห้ามลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นเมื่อศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยโดยจำเลยเป็นผู้ทำแทนแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งได้ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันในคดีที่จำเลยขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25ไม่ปฏิบัติตามและไม่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งภายในกำหนด คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยอันมีผลเสมือนว่าไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้ และศาลแรงงานกลางสามารถถือตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นที่สุดแล้วได้โดยไม่ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2559 
      การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า "ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง" ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 223/2555 ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะอาศัยมูลหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินคนละสถาบันและคนละมูลหนี้ในการฟ้องแต่ละคดีก็ตาม แต่ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 223/2555 อยู่ในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14





สรุปฎีกาเด่น* วิชาทรัพย์ - ที่ดิน อ.กนก (ภาคปกติ) 23 พ.ค. 60 ครั้งที่1 สมัยที่70

สรุปฎีกาเด่น วิชาทรัพย์ - ที่ดิน
อ.กนก (ภาคปกติ) 23 พ.ค. 2560 ครั้งที่1 สมัยที่70
------------

คำว่า "ทรัพย์"

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒ (ประชุมใหญ่) คำว่าโทรศัพท์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเลียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้า ที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอากระแสสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกันกับลักกระแสไฟฟ้า

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๔/๒๕๓๙ จำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาปรับจูนก๊อปปี้ คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วใช้รับส่งวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเพียงการแย่งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ต้องยกฟ้อง


ศพเป็นทรัพย์หรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗๔/๒๕๐๘ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๖ นอกจากผู้ตายจะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแล้ว ยังแสดงเจตนาในการต่างๆ อันจะเกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ คำว่าการต่างๆ ตามกฎหมายที่บัญญัตินั้นก็สุดแต่ผู้ตายจะแสดงเจตนากำหนดการ เผื่อตายในการต่างๆ ไว้ หากชอบด้วยกฎหมายแล้วแม้จะไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็มีผลบังคับได้ตามพินัยกรรมเมื่อตนตายแล้ว และการต่างๆ นั้นมิใช่จะต้องมีกฎหมายระบุไว้ ว่าเป็นการใดบ้าง นอกจากนั้นศาลฎีกายังวินิจฉัยว่า ผู้ตายได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับศพของผู้ตายโดยอุทิศศพของตนให้แก่กรมมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลโดยทำถูกต้องตามแบบพินัยกรรมตามประมวลผลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ พินัยกรรมของผู้ตายนั้นย่อมสมบูรณ์ มหาวิทยาลัย แพทย์คาสตร์โดยโรงพยาบาลคิริราชก็เอาศพนั้นมาใช้ในการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ได้

สรุป จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗๔/๒๕๐๘ จะเห็นว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกศพของตนเองให้แก่โรงพยาบาลคิริราชเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นักศึกษาได้ศึกษาถึงลักษณะของศพ พอผู้ทำพินับกรรมตายโรงพยาบาลจะเอาศพไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่ทายาทไม่ให้เพราะต้องการจะจัดการศพผู้ตายตามประเพณีโดยนำไปฝัง ตามศาสนา ทายาทก็มาฟ้องโรงพยาบาลโดยตั้งรูปคดีอาศัยหลักตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๐๐ ว่ากองมรดกได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย แต่ศพไม่ใช่ทรัพย์สินจึงทำพินัยกรรมมิได้ ทั้งมาตรา ๑๖๔๙ กำหนดว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำศพของผู้ตาย คือ ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้หรือผู้ตายได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการทำศพผู้ตาย เมื่อผู้ตายไม่ได้กำหนดหรือมอบหมายให้ใครเป็นผู้จัดทำศพ ทายาทจึงมีอำนาจทำศพผู้ตาย แต่ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยตามประเด็นที่ฝ่ายทายาทตั้งไว้ กลับไปออกในข้อกฎหมายตามมาตรา ๑๖๔๖ ว่า การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมมอบร่างกายตนเองให้ โรงพยาบาลศิริราชนั้นเป็นกำหนดการเผื่อตายอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อตนตายได้ ซึ่งการกำหนดการอย่างนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย อันนี้เป็นเหตุผล ถือว่าการให้ร่างกาย ของตนเองแก่โรงพยาบาลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเป็นการกำหนดการเผื่อตายที่ไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โรงพยาบาลคิริราชมีสิทธิที่จะดำเนินการตามที่กำหนดในพินัยกรรม 

ซึ่งคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้มีหลายท่านวิจารณ์ว่า ศาลฎีกาไม่กล้าฟันธงว่าศพเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นที่เป็นปัญหาในคดีนั้นอาจจะมีข้อกฎหมายหลายข้อที่อาจจะเลือกมาปรับใช้ แก่คดีหรือข้อเท็จจริงนั้นได้โดยมีผลไม่ต่างกัน อันนี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะใช้กฎหมาย มาปรับแก่คดีหรือข้อเท็จจริง ผมเห็นว่าการที่ศาลฎีกายกประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๖ เรื่องพินัยกรรมมาใช้แทนที่จะไปวินิจฉัยว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ ใครมีอำนาจทำศพ ศาลฎีกาอาจเห็นว่าถ้าเอามาตรา ๑๖๔๖ ในเรื่องทำพินัยกรรม กำหนดการเผื่อตายมาใช้น่าจะเหมาะสมกว่าที่จะวางบรรทัดฐานโดยอาศัยคดีเพียงเรื่องเดียว เพราะอาจจะไม่เหมาะสมที่จะให้ถือเป็นข้อยุติได้หากวินิจฉัยว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจจะทำให้มีปัญหาในการปรับใช้กฎหมาย ไม่เป็นไปตามแนวเดียวกัน ทั้งนี้เพราะถ้าวินิจฉัยว่าศพเป็นทรัพย์ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของมรดกแล้ว ในหลักการทรัพย์มรดกก็ต้องตกทอดแก่ทายาทหรือผู้รับพินัยกรรม เมื่อ ตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมแล้ว ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมก็จะอ้างสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เขามีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้น ตามที่เขาเห็นสมควร ซึ่งเจ้าของมรดกต้องการที่จะมอบร่างกายของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ในการศึกษา แต่ทายาทว่าเป็นทรัพย์สินของผม ผมมีอำนาจผมจะไม่ให้ ก็ขัดกับความประสงค์ของผู้ตาย นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยโดยตรงเพราะมีช่องทางอื่นที่ออกได้ดีกว่าและสมเจตนารมณ์ของผู้ตาย ทั้งไม่กระทบถึงหลักกฎหมายอื่น

ในเมื่อศาลฎีกายังไม่ได้ตัดสินในประเด็นว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ ก็ต้องพิจารณา ต่อไปว่ามีโอกาสไหมที่ศพจะเป็นทรัพย์ได้ หลายปีมาแล้วผมดูรายการทีวีมีข่าวว่า หน่วยงานทางด้านรักษาความปลอดภัยทางชายแดนจับผู้ลักลอบเข้าประเทศจากประเทศกัมพูชาได้หลายคน แต่ละคนก็แบกกระสอบมาด้วย เปิดกระสอบแล้วปรากฏว่า มีโครงกระดูกของมนุษย์ ถามแล้วได้ความว่าจะเอามาขายกับสุสานที่อำเภอสระแก้ว เพราะมีงานล้างป่าช้า หรือกรณีของอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแพทย์ สมัยก่อนโรงเรียน แพทย์มีไม่กี่แห่ง เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยเอกชนก็มี ความต้องการอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาสรีระร่างกาย กระดูก โครงสร้างต่างๆ ก็มีการสั่งซื้อศพมาจากต่างประเทศ เพราะจะรอให้มีผู้บริจาคศพคงจะไม่พอ การซื้อขายศพมาให้นักเรียนแพทย์ อย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการซื้อขายทรัพย์หรือทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ศพก็เป็นทรัพย์ได้


วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2556





คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2556 
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 15 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด แต่การที่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไประหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล และจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลไม่ได้ อายุความจึงยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 มกราคม 2553 นั้นเป็นเวลาเกิน 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ย่อมขาดอายุความ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งสองยังไม่อยู่ในอำนาจของศาลจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา การที่ศาลหมายแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองมีสิทธิไม่มาศาลในวันนัดได้ เพราะหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองมาฟังการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาล ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) และจะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้เพราะ ป.อ. มาตรา 95 บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดี หรือประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด แต่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเองเช่นนี้ ตามมาตรา 97 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อคดีของโจทก์มิใช่คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง กรณีไม่ต้องตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้ แม้ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การพิจารณาว่าความผิดฐานใดขาดอายุความต้องพิจารณาจากอายุความของความผิดฐานนั้นๆ เป็นหลัก มิใช่พิจารณาจากความผิดที่มีโทษหนักที่สุด



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333 - 339/2556 
การที่จำเลยทั้งเจ็ดทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกันต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2556
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้กับในคดีอีกสี่สำนวนของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาในวันเดียวกันและในเวลาใกล้เคียงเกี่ยวเนื่องกันติดต่อกันไป ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีนี้โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอื่นอีกสี่สำนวนนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่อย่างไร ทั้งตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอื่นอีกสี่สำนวนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษจำเลยติดต่อกันจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2556
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรกนั้น ต้องได้ความว่าผู้กระทำได้รับซื้อทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดลักษณะหนึ่งในแปดลักษณะ ซึ่งมีความผิดฐานฉ้อโกงรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่าซิมการ์ดของกลางที่จำเลยที่ 1 ซื้อมานั้น เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่องค์ประกอบความผิดของความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่โจทก์ได้นำสืบส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วนศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265 - 12266/2556
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ขอคืนของกลางตามบัญชีทรัพย์ที่ตรวจพบแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์เป็นของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงให้คืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9) ส่วนการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์อื่น ๆ เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13360/2556
การที่จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อมตีทำร้ายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้ได้ จนได้รับบาดแผลและถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13480/2556
ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายตรงกันเพียงว่า โจทก์ประสงค์จะได้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์เชื่อตามที่จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 สามารถช่วยเหลือได้เพราะจำเลยที่ 2 สนิทสนมกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสนิทสนมกับพลเอก ว. ซึ่งเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในขณะนั้นซึ่งต้องใช้เงินเป็นค่าประสานงาน 10,000,000 บาท โจทก์ต่อรองเหลือ 7,500,000 บาท และโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน 2,500,000 บาท เพื่อให้โจทก์ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรตำแหน่งดังกล่าวให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อจำเลยที่ 1 กับพวก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13193/2556
ความผิดฐานทำวัตถุระเบิดและฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 38 และมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 78 ด้วยกัน เมื่อวัตถุระเบิดที่จำเลยทำกับวัตถุระเบิดที่ครอบครองเป็นระเบิดลูกเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18180/2556
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20936/2556
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วสูงเสียหลักลื่นไถลออกนอกเส้นทางพุ่งชนรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับสวนทางมา โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งโดยสารมาด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยไม่คัดค้านในการที่โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ แต่การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในฟ้องว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าจำเลยจะคัดค้านหรือไม่ดังนี้ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4 (2) หรือมาตรา 5 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้เกี่ยวข้องกับบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลของบุตรโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21553/2556
ป.อ. มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับรายวันแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21554/2556
ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีบรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดหรือบทกำหนดโทษ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ปรับบทดังกล่าวแล้วลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556
การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12031/2556
แม้พฤติการณ์ที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ในเวลากลางคืน 4 ครั้ง ต่างวันกันจะส่อไปในทางที่ผู้เสียหายที่ 3 บุตรผู้เยาว์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 รู้เห็นยินยอม แต่การที่จำเลยเข้าไปในบ้านเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายที่ 3 โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุไม่ยินยอมถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11974/2556
จำเลยเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบหมายให้จำเลยทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาไทย ศิลปะ และการงานอาชีพหรือเกษตรกรรมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้เสียหายเรียนอยู่ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนผู้เสียหายหรือนักเรียนร่วมชั้นให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ ฐานะของผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285 การกระทำชำเราโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่าจำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11817/2556
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ซึ่งความผิดดังกล่าวศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ กรณีจึงไม่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72, 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า "การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส" ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9912/2556
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนผู้ตายเป็นผู้หาข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการดังกล่าวให้แก่ทางราชการ ในวันเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์กลับจากทำละหมาดจะไปยังบ้านพัก จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ตามสะกดรอยไปจนถึงบ้านพักของผู้ตาย แล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย เมื่อภริยาของผู้ตายได้ยินเสียงปืนได้ออกมาดูแลถามจำเลยที่ 2 ว่าเหตุใดจึงยิงผู้ตาย จำเลยที่ 2 ขู่ภริยาของผู้ตายให้อยู่เฉย ๆ พร้อมกับจ้องปืนเล็งไปที่ภริยาของผู้ตาย โดยไม่ได้แสดงพฤติการณ์ให้เห็นว่าเป็นการสร้างความวุ่นวายและความไม่สงบให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตาม ป.อ. มาตรา 135/1 (1) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2556
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า "พราก" มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10908/2556
จำเลยฆ่า ส. ผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ส. จึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. มารดาของ ส. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 รวมทั้งไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กับไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ว. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879/2556
แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556
ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2556
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตรามีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปมีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขดังกล่าวมิใช่การกระทำในขณะจำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไข จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จแต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2556
ผู้เสียหายมีอาชีพทำฟาร์มโค ฟางอัดแท่งที่เก็บอยู่ในโรงเก็บฟาง ไม่ใช่สินค้าที่มีไว้เพื่อการค้าของผู้เสียหาย แต่น่าจะมีไว้เลี้ยงโคผู้เสียหายเองมากกว่า โรงเก็บฟางที่จำเลยวางเพลิงจึงมิใช่โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าตามความหมายของมาตรา 218 (2) แต่เป็นทรัพย์ทั่วไปของผู้อื่นตามมาตรา 217 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8016/2556
จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า "ตำรวจแม่ง...ใช้ไม่ได้" เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 โดยกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับรองว่าที่พิพาทได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงที่พิพาทมีสภาพเป็นภูเขาไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาท ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวประสงค์เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่ว่ากันในชั้นสืบพยานได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เพื่อให้ ส. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอรับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ มีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556
จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556
จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7479/2556
แม้ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดในบริเวณบ้านของผู้เสียหายและสอบถามหาผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายออกจากห้องครัวมา จำเลยสอบถามเรื่องไก่ของจำเลยที่หายไปและให้ผู้เสียหายดูแลคนงานของผู้เสียหายให้ดี ๆ จนเกิดการโต้เถียงกัน ผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้าน จำเลยยังไม่ยอมออก จากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 นาที จำเลยจึงเดินไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลย ขับออกไปจากบ้านผู้เสียหาย แต่เมื่อพิจารณาลักษณะและสภาพที่ตั้งบ้านของผู้เสียหาย เป็นบ้านชั้นเดียว มีเสารั้วปูนปักรั้วล้อมรอบและขึงด้วยลวดหนามเว้นช่องทางเข้าบ้านไว้ ไม่มีประตูกั้น ถนนหน้าบ้านผู้เสียหายไม่ได้หวงกั้น บุคคลใดจะเข้าออกก็ได้และเป็นการสะดวกแสดงว่าผู้เสียหายมิได้หวงห้ามในการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้เสียหาย และที่จำเลยเข้าไปสอบถามเกี่ยวกับเรื่องไก่ที่หายไปนั้น ถือได้ว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปเพื่อสอบถามผู้เสียหาย เมื่อเกิดมีการโต้เถียงกันและผู้เสียหายไล่จำเลยออกไป แม้จำเลยยังไม่ออกไปทันที แต่หลังจากนั้นไม่นานเพียงประมาณ 3 ถึง 4 นาที จำเลยก็เดินไปที่รถจักรยานยนต์แล้วขับออกไปจากบ้านจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิได้เข้าไปได้ไล่ให้ออก อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390/2556
จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2537 จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร 2 กระทงในปี 2549 ดังนั้นจำเลยจึงมีอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 74 แต่ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) ถึง (5) ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของจำเลยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2556
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีเหตุบาดหมางกับจำเลยเกี่ยวกับแย่งผู้หญิงและเคยมีการเจรจาตกลงกัน ในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนและมีดตามผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ เมื่อพบก็เข้าทำร้ายทันที แสดงว่าจำเลยยังขุ่นเคืองผู้เสียหายที่ 2 เกี่ยวกับผู้หญิงและตั้งใจตามหาผู้เสียหายที่ 2 เพื่อทำร้าย มิใช่ว่าพบโดยบังเอิญแล้วเกิดทะเลาะวิวาทและทำร้ายทันทีในขณะนั้น จำเลยจึงมีโอกาสคิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำความผิด แล้วจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านใช้มีดและปืนเป็นอาวุธฟันและยิงผู้เสียหายที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้วางแผนและตระเตรียมการที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนแล้ว จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2556
การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า โฉนดที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ได้สูญหายไป แล้วนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งจะเป็นความเท็จ เพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าพนักงาน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึงโจทก์ อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์หากจะพึงมีพึงเป็นอย่างไรในที่ดินแปลงนั้นในฐานะหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็คงมีอยู่ตามเดิมมิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในฐานะหุ้นส่วนและมีสิทธิว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนได้เช่นเดิม โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยกคำฟ้องของโจทก์ขึ้นกล่าวเพียงว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท หลังจากนั้นก็กล่าวอ้างถึง ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ มาตรา 1363 และทางนำสืบของโจทก์เท่านั้น โดยมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 อย่างไรฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันยักยอกรวมกันมาในข้อเดียวกัน คือ ข้อ ค. โดยมิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานยักยอกเป็นสองกรรมเกินจากที่กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสองกรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6215/2556
จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะขับรถจักรยานยนต์พาไปส่ง แล้วกลับให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ จ. พวกของจำเลยที่ 1 พาไปพักที่โรงแรม เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เดินออกจากโรงแรม จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 1 กลับเข้าไปในห้องพักภายในโรงแรมโดยมี จ. ซึ่งไปด้วยรออยู่แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจกับพวกที่ไปด้วยกัน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกของจำเลยที่ 1 ที่ไปด้วยกันกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แต่ความผิดฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาเดียวคือพาผู้เสียหายที่ 1 ไปให้พวกของตนกระทำชำเรา จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฟ้องไม่ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ต้องเป็นกรณีที่เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นกรณีที่กระทำไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำนั้นเอง หรือร่วมกันกระทำเพื่อผู้ใดในบรรดาผู้ร่วมกระทำด้วยกันแล้ว ก็หาเป็นความผิดตามมาตรานี้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และ จ. กับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อสนองความใคร่ของ จ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 283 แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2556
การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าการจับนมเป็นเพียงวิธีการทำอนาจารผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2556
อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์ที่ก่อสร้างก็เพื่อใช้เป็นที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่สามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทั้งอาคารดังกล่าวได้ขอเลขที่บ้านโดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้ สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ แม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937 - 4938/2556
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างผู้เสียหายทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโส ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ประจำลานจอดเครื่องบินและปล่อยเครื่องบิน ไม่มีหน้าที่ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินแทนลูกค้าด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้น จึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่ความผิดฐานยักยอก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2556
ขณะเกิดเหตุ ร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1 ยังเปิดให้บริการอยู่ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ไม่ถือเป็นเคหสถาน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในร้านดังกล่าวแล้วร่วมกันพยายามกรรโชก และใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2556
การจะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาถึงที่สุดหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนให้จำคุกตลอดชีวิต แล้วลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี การกำหนดโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในเกณฑ์ ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษให้จำเลยทั้งสองใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2556
แม้ผู้ร้องที่ 1 เคยรับจ้างขนแร่ให้แก่บริษัท จ. มาก่อน และไม่เคยถูกจับกุม แต่ก็มิใช่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ร้องที่ 1 กำชับให้จำเลยตรวจสอบใบอนุญาตให้ถูกต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ทราบว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นได้ และการกำชับดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องคอยควบคุมดูแลมิให้จำเลยขนแร่โดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย การที่ผู้ร้องที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 นำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่ โดยเป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่เองทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไร ถือได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นอีกด้วย จึงให้ริบรถพ่วงของกลางและยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2556
ป. ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เมื่อผู้ตายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2 ) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2556 
จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและโจทก์ร่วมมาก่อนเกิดเหตุ เนื่องจากพวกของจำเลยตบหน้าผู้ตาย เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน ผู้ตายและโจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์วนไปมาโดยถือเหล็กแป๊บมาด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยเชื่อว่าผู้ตายและโจทก์ร่วมจะตามมาเอาเรื่องจำเลย เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านจึงบอกบิดาจำเลยแล้วนำอาวุธปืนออกมา การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยและบิดาจำเลยเกิดความโกรธที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมตามมาเอาเรื่องจำเลยโดยมีอาวุธมาเพื่อใช้ทำร้ายจำเลย จำเลยและบิดาจำเลยจึงได้ตอบโต้โดยตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อมายิงต่อสู้กับผู้ตายและโจทกร่วม และเมื่อผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยและบิดาจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ตามไปประมาณ 200 เมตร จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ด้านหลัง โดยที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมมิได้ต่อสู้ด้วย กรณีที่เกิดขึ้นจำเลยและบิดาจำเลยมีโอกาสคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันทันด่วนไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2556
เมื่อจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จะอ้างเหตุดังที่จำเลยนำสืบมาบ่ายเบี่ยงหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมโดยที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำยอมมิได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ยุ่งยากแก่การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม จึงเป็นการเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมของศาลทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ที่จำเลยรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานรับของโจ แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2556
การที่ บ. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้วเรียกจำเลยเข้าไปในห้อง ส่วน บ. ออกจากห้องไปรอที่รถ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จำเลยก็เรียกให้ บ. เข้าไปช่วยจับหัวไหล่ผู้เสียหายที่ 2 ไว้เพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ได้นั้น เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกับ บ. คบคิดหรือนัดแนะกันมาแต่ต้น ถือว่าได้กระทำชำเราโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กนั้นไม่ยินยอมแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556
ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม