แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ล้มละลาย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ล้มละลาย แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ อ.วรนันยา (ภาคค่ำ) 28 พ.ย 62 สมัยที่72





สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ สมัยที่72
อ.วรนันยา (ภาคค่ำ) 28 พ.ย 62 


เงื่อนไขการร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6858/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/3, 90/10, 90/17, 90/20

     การที่จะพิจารณาว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของลูกหนี้ว่า มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ ในการพิจารณาดังกล่าวจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกัน อาจเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 หรืออาจจะเป็นข้อเท็จจริงใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ในการพิจารณาถึงสถานะที่แท้จริงของลูกหนี้ บัญชีงบดุลของลูกหนี้ เป็นพยานหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าหากว่าการจัดทำบัญชีงบดุลนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนดหรือมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพนั้น ย่อมมีน้ำหนักในการรับฟัง
     เมื่อธุรกิจของลูกหนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สาเหตุที่ลูกหนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อันถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งสามารถจะรักษาการจ้างงานจำนวนมากไว้ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และได้ความว่ากิจการของลูกหนี้ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยการปรับโครงสร้างทางการเงินทั้งในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีจึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
     ในการตั้งผู้ทำแผน เมื่อผู้ร้องขอเสนอให้ตั้งบริษัท บ. เป็นผู้ทำแผน ส่วนลูกหนี้เสนอให้ตั้งบริษัท ป. จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านได้เสนอให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนมาด้วย ศาลจึงไม่อาจพิจารณาและมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทำแผนในชั้นนี้ได้ จะต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17
     เมื่อผู้ร้องขอมิได้เสนอบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้บริหารชั่วคราว ประกอบกับผู้บริหารของลูกหนี้ได้บริหารกิจการของลูกหนี้มาตั้งแต่ต้นย่อมเป็นบุคคลที่ทราบข้อเท็จจริง ปัญหา ตลอดจนระบบการทำงานของลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่ไม่สมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวประกอบกับการตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวในระหว่างดำเนินการเพื่อตั้งผู้ทำแผนจะทำให้การบริหารงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงสมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ตามมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง


    คำพิพากษาฎีกาที่ 8271/2559 ลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แล้วหยุดดำเนินการมาก่อนยื่นคำร้องขอฟื้นฟูประมาณ 6 ปี ขณะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้คงมีเครื่องจักรในสภาพที่ไม่ได้มีการใช้งานไม่มีพนักงานที่จะดำเนินการ การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษากิจการที่ดำเนินการอยู่ให้ดำเนินการต่อไป เพราะกิจการหยุดมาแล้ว 6 ปี นอกจากนั้น เจ้าหนี้รายใหญ่มีหนี้ประมาณ ร้อยละ 80 คัดค้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8428/2544 ในการฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการ หรือปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนิน กิจการตามปกติต่อไปได้ เมื่อลูกหนี้มีกิจการเฉพาะโรงงานผลิตกระดาษและผลิตกล่องกระดาษแต่โรงงานดังกล่าว อยู่ระหว่างสัญญาเช่ากับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในโรงงานดังกล่าวในขณะที่ยื่น คำร้องขอ ลูกหนี้ยังไม่อาจปรับปรุงฟื้นฟูกิจการในการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวได้ ทั้งการให้เช่าโรงงานของลูกหนี้ ก็มีสัญญาเช่าเพียงรายเดียวคือสัญญาเช่าระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 2 เท่านั้นซึ่งกำหนดค่าเช่าแน่นอน หาใช่กรณีลูกหนี้ประกอบกิจการทำเป็นธุรกิจในการเช่าทรัพย์สินอันจะต้องมีการจัดการบริหารดำเนินงานในทางธุรกิจการค้าไม่ กรณีจึง ไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/10
       พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/9 วรรคสาม บัญญัติว่า "ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านวันนัด ไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็น ผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้…" และในบทนิยามมาตรา 90/1" "เจ้าหนี้" หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน" จึงเห็นได้ว่ากฎหมายล้มละลายส่วนการฟื้นฟูกิจการให้สิทธิเจ้าหนี้ทุกประเภทยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟู กิจการเพื่อปกป้องสิทธิของตน ส่วนคำว่า "เจ้าหนี้" นั้น คือผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
       ผู้ร้องขอ (ลูกหนี้) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อนำโรงงานในขณะที่ตกอยู่ในภาระการเช่าแก่ผู้คัดค้านที่ 2 มาดำเนินกิจการ แต่ตามสัญญาเช่าโรงงานดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้เช่าชอบที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ใน โรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาการเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้เช่า จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/9 วรรคสาม

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2548 การฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ แต่ปรากฏว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ถึง 413,308,151.60 บาท มีผลขาดทุนสุทธิ 163,655,768.74 บาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิเกินทุนจำนวน 313,166,361.28 บาท โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแสดงความเห็นว่า บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงินสูง เป็นเหตุให้สงสัยว่าบริษัทอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้ แม้ลูกหนี้จะดำเนินธุรกิจมานานโดยทำสัญญาร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อ เอเอ็ม/พีเอ็มกับวิสาหกิจ 2 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมัน ป.ต.ท. ทั่วประเทศ โดยก่อตั้งบริษัทมาบริหารกิจการและลูกหนี้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวน 3,999,999 หุ้น แต่หุ้นดังกล่าวลูกหนี้ได้จำนำไว้กับผู้คัดค้าน และในปัจจุบันสิทธิในการใช้เครื่องหมาย เอเอ็ม/พีเอ็มก็ตกเป็นของผู้คัดค้านโดยได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านได้บอกเลิกสัญญาให้ใช้สิทธิแล้วอันเนื่องมาจากผลประกอบการที่ขาดทุนและการค้างค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ นอกจากนี้หลังจากปี 2541 เป็นต้นมาไม่ปรากฏว่าลูกหนี้จัดทำงบการเงินยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แล้ว และไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้รับทุนหมุนเวียนมาจากสถาบันการเงินใด ดังนั้น จึงฟังได้ว่า ลูกหนี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจแล้ว ลูกหนี้ไม่มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/10

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2552 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 และมาตรา 90/24 วรรคสอง เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วกฎหมายได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการแจ้งคำสั่งให้เจ้าหนี้ทราบก็เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ได้มีโอกาสทราบถึงคำสั่งและยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งการที่จะตัดสิทธิของเจ้าหนี้เพราะเหตุที่เจ้าหนี้มิได้ยื่นขอรับชำระหนี้นั้นก็ต้องปรากฎด้วยว่าได้มีการประกาศและแจ้งคำสั่งให้เจ้าหนี้ทราบตามที่กฎหมายได้บัญญัติรับรองไว้แล้ว คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงอ้างเฉพาะในคำแถลงคัดค้านว่าได้ดำเนินการส่งสำเนาประกาศแจ้งคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนให้เจ้าหนี้แล้วตามที่อยู่ที่ปรากฏในบัญชีเจ้าหนี้เท่านั้น แต่มิได้ปรากฏหลักฐานใดเลยที่แสดงว่าได้มีการนำหนังสือไปส่งยังภูมิลำเนาของเจ้าหนี้แล้วแต่อย่างใด เช่นนี้ กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนให้เจ้าหนี้ทราบโดยชอบแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผนก่อนหน้านั้นแล้วทั้งคดีฟื้นฟูกิจการก็ยังมิได้เสร็จสิ้นลง กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาต่อไป

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11397/2557*** การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ด้วยผลของคำสั่งดังกล่าวเป็นผลให้คำพิพากษาให้จำเลยชำระแก่ค่าเสียหายโจทก์นั้นถูกยกเลิกเพิกถอนไปเสมือนมิได้มีคำพิพากษา ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 9(3)


การคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8428/2544
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/1, 90/9

     พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/9 วรรคสาม บัญญัติว่า"ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้..." และในบทนิยามมาตรา 90/1"เจ้าหนี้" หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติสองมาตรานี้ประกอบกันแล้ว จึงเห็นได้ว่ากฎหมายล้มละลายส่วนการฟื้นฟูกิจการให้สิทธิเจ้าหนี้ทุกประเภทยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อปกป้องสิทธิของตน ส่วนคำว่า"เจ้าหนี้" นั้น คือ ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อนำโรงงานในขณะที่ตกอยู่ในภาระการเช่าแก่ผู้คัดค้านที่ 2 มาดำเนินกิจการตามสัญญาเช่าโรงงานดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้เช่าชอบที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในโรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาการเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้เช่า จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอดังกล่าวตามมาตรา 90/9 วรรคสาม

-----------------


แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดททุกวัน.... รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate