แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา ลิขสิทธิ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา ลิขสิทธิ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฏีกา กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558

คำพิพากษาฏีกา กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5446/2558
        น้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 จึงต้องริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115
      เครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ชอบที่จะริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ขวดพลาสติกเปล่าสำหรับบรรจุน้ำมันหล่อลื่น กล่องกระดาษเปล่า ฝาครอบขวดน้ำมัน กระดาษฟอยล์ปิดปากขวด ม้วนเศษกระดาษฟอยล์สำหรับปิดปากขวดบรรจุน้ำมันซึ่งบรรจุอยู่ในถุง กล่องกระดาษที่ใช้สำหรับบรรจุแกลลอนน้ำมัน สติกเกอร์ติดขวด และแกลลอนเปล่าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรดังกล่าวนั้น แม้ไม่อาจถือว่าเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค่าน้ำมันหล่อลื่น โดยยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการทำความผิด แต่ของกลางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ชอบที่ศาลจะสั่งให้ริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

        เมื่อน้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 และเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและทรัพย์สินที่ต้องส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไปตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 61


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8472/2558
องค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 28 (3) คือ การกระทำแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ด้วยการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวอันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 28 (3) จะต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่การกระทำต่อสำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อมตามมาตรา 31 (1) เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่บันทึกภาพและเสียงงานภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 2 แผ่น อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่า เสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แม้ไม่ได้ระบุว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ก็พอถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแล้ว
สำหรับที่โจทก์มีคำขอให้แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ปรากฏว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย มิใช่สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจสั่งให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และแผ่นของกลางดังกล่าวเป็นงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) จึงมิใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันต้องริบตามมาตรา 75


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2558
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย โดยนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายซึ่งมีผู้ทำซ้ำดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกลงในหน่วยความจำถาวร (Hard Disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว โดยใช้วิธีบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ และบรรยายฟ้องในข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานพบเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวซึ่งมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยทั้งสองทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย เมื่อหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำการละเมิดงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดประกอบกันจึงจะสามารถทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ กรณีจึงต้องริบเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง