แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สรุปฎีกาเนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สรุปฎีกาเนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สรุปฎีกาเนติ ทรัพย์สินทางปัญญา - ลิขสิทธิ์ อ.ปริญญาฯ (ภาคปกติ) 25 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่70

เจาะฎีกา* ทรัพย์สินทางปัญญา - ลิขสิทธิ์ 
อ.ปริญญาฯ (ภาคปกติ) 25 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่70
.................................

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2534 ปรากฏตามเอกสารที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาทำขึ้นพร้อมคำแปลและอ้างเป็นพยานว่า พ. รองประธานกรรมการอาวุโสของโจทก์ยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาท ด. ที่ปรึกษาสมาคมลงชื่อรับรองลายมือชื่อของพ.ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาลงนามของโจทก์ร.โนตารีปับลิกมลรัฐนิวยอร์ก รับรองว่า พ.และด. ทำการปฏิญาณต่อหน้าตนน. เสมียนเคาน์ตี้และจ่าศาลของศาลซูพรีมคอร์ต แห่งมลรัฐนิวยอร์กประจำเคาน์ตี้ออฟนิวยอร์กรับรองว่าร.เป็นโนตารีปับลิกประจำมลรัฐนิวยอร์กและเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย.กงศุล ใหญ่ ไทย ณ มลรัฐนิวยอร์กรับรองลายมือชื่อของน. ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวมีการรับรองกันมาตามลำดับเนื้อความแห่งเอกสารนั้นย่อมมีอยู่จริง จึงนำมาฟังประกอบคำเบิกความของ ล. กรรมการบริษัท ซ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ว่า ภาพยนตร์พิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งบริษัท ซ. ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำภาพยนตร์ของโจทก์มาทำวีดีโอเทปซ้ำเพื่อออกจำหน่ายแก่สมาชิกในประเทศไทยติดต่อกันมาได้ 3 ปีแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทซ. ปกป้องลิขสิทธิ์และฟ้องร้องตามหนังสือมอบอำนาจ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทขึ้นเอง ภาพยนตร์พิพาทจึงเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของโจทก์ได้ ขณะเกิดเหตุประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 โดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวฉบับที่ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1908และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ก็มิได้มีบทบัญญัติกีดกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศที่มิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเบอร์น เพื่อไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่งานดังกล่าวไว้ในมาตรา 4 ว่า"งานอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1)... ในกรณีที่ได้โฆษณาแล้ว การโฆษณาต้องกระทำเป็นครั้งแรกในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา..." ด้วยเหตุนี้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศนอกภาคีอนุสัญญาเบอร์น อย่างเช่นงานของประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ หากได้กระทำการโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์น เมื่อปรากฏว่าประเทศแคนาดาเป็นประเทศภาคีประเทศหนึ่งในอนุสัญญาดังกล่าว งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้มีการโฆษณางานนั้นตามความหมายของเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ฉะนั้น การทำให้ปรากฏซึ่งภาพยนตร์โดยการนำออกฉายเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาแม้จะถือเป็นการโฆษณา แต่ก็มิใช่การโฆษณางานในความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯและมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงการโฆษณาในความหมายของคำว่า "โฆษณา" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการทราบความหมายของการนำออกโฆษณาอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวประการหนึ่งของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฆษณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า โจทก์นำภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องไปฉายโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาเท่านั้น หาได้ปรากฏว่าโจทก์ได้นำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอันเป็นสำเนาจำลองออกจำหน่ายโดยให้ก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์นั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรแต่อย่างใดไม่ งานภาพยนตร์ของโจทก์จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้


                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530 ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายบางตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง
วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยไม่ริบวีดีโอเทปดังกล่าวได้.

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สรุปฎีกาเนติ กฎหมายครอบครัว อ.ประสพสุข (ภาคปกติ) 23 พ.ค 60 สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 70

สรุปฎีกาเนติ* กฎหมายครอบครัว  สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 70
อ.ประสพสุข (ภาคปกติ) 23 พ.ค 60  
..................

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2551 คดีเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกเริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาทโดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายซึ่งเป็นอิสลามศาสนิก การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านมีผลให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยมิไช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล จึงต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 บังคับแก่คดี

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2545 โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอิสลามศาสนิกอยู่ในจังหวัดนราธิวาส โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ จ. บิดาโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของ จ. แต่เป็นของ ต. มารดาจำเลยทั้งสอง ซึ่งในการที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่จะนำกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับไม่ได้ต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหลักวินิจฉัยก่อน ต่อเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นมรดกแล้วจึงจะใช้กฎหมายอิสลามในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทต่อไป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและที่มิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปะปนกันอยู่ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจะไม่เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลฯ มาตรา 4 วรรคแรก ก็แต่เฉพาะข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับเท่านั้น การพิจารณาคดีในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ต. มารดาของจำเลยทั้งสอง หรือเป็นมรดกของ จ. บิดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง และประเด็นข้อพิพาทที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ทั้งสองข้อนี้หาใช่ข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดไม่แม้ดะโต๊ะยุติธรรมจะมิได้ร่วมนั่งพิจารณาด้วย ก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องเสียไปแต่อย่างใดการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
         จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องขอส่วนแบ่งมรดกแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยทั้งสองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและโจทก์ก็ทราบวันเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่าหากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของ จ. ก็จะยอมแบ่งให้แก่โจทก์นั้นเป็นเพียงการแสดงความบริสุทธิ์ใจของจำเลยทั้งสองที่ไม่ประสงค์จะฉ้อโกงโจทก์หาใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 ที่ต้องแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งก่อนการฟ้องคดีไม่ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในคดีนี้ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง