แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาใหม่ ล้มละลาย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาใหม่ ล้มละลาย แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาใหม่ ถอดเทปเนติฯ* กฏหมายล้มละลาย (อ.ชีพ จุลมนต์) 21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาใหม่ ถอดเทปเนติฯ* กฏหมายล้มละลาย (อ.ชีพ จุลมนต์)
21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
คำพิพากษาฎีกาที่ 914/2559 (ฎีกาใหม่) มูลหนี้ตามคำพิพากษาถือเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และกรณีเช่นนี้คู่ความต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุด ดังนั้น แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ก็สามารถนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องให้ล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10781/2558 (ฎีกาใหม่) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 12340/2558 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ โดยตกลงเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 057-1-07973-9 ไว้กับโจทก์ สาขาพระรามที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ( MRR) บวก 1.75 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.2 ต่อปี ของยอดหนี้ในส่วนที่ไม่เกินวงเงิน ส่วนที่อยู่เกินวงเงินจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในวันเดียวกันจำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 4,400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวก 1.75 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.20 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เป็นงวดรายเดือนรวม 60 งวดไม่น้อยกว่างวดละ 89,700 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2553 งวดต่อไปชำระทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไปกำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 นอกจากนี้ในวันดังกล่าวจำเลยยังได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 189,300 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวก 1.79 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.2 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นงวดรายเดือนรวม 60 งวด ไม่น้อยกว่างวดละ 3,900 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2553 งวดต่อไปชำระทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไป กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในเดือน มิถุนายน 2558 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวและหนี้สินอื่น จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 68402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 5,189,300 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 11.45 ต่อปี หากผิดนัดหรือผิดสัญญายอมเสียดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัด หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยได้เบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันหลายครั้ง และเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาแล้วผิดนัด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 จากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น คำนวณยอดหนี้ดังกล่าวถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 6,174,835.69 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับจำเลยผิดนัดชำระ คำนวณยอดหนี้เงินกู้ทั้งสองฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,406,415.01 บาท รวมยอดหนี้ ทั้งสิ้น 11,581,250.70 บาทเมื่อหักกับราคาประเมินทรัพย์จำนองเป็นเงิน 6,409,500 บาท จำเลยยังมีหนี้โจทก์ 5,171,750.70 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้สองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยไม่ชำระหนี้ ทั้งไปเสร็จจากเคหะสถานที่เคยอยู่หรือหลบไปหรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยไม่เคยไปธนาคารโจทก์ สาขาธนาคารถนนพระรามที่ 3 ลายมือชื่อในใบสมัครเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย เป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินต่อหน้าพนักงานของโจทก์ นายณัฐกฤษ สว่างผล เป็นผู้ทำนิติกรรมกับโจทก์ จำเลยไม่เคยได้รับเงิน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หนี้ของโจทก์ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โจทก์ไม่สามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ จำเลยมิได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสมชาย เวศยาสิรินทร์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาทและทำสัญญากู้เงินจากโจทก์สองฉบับ ฉบับแรกเป็นเงิน 4,400,000 บาท ฉบับที่ 2 เป็นเงิน 189,300 บาท โดยได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้ว และจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนด 68402 ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันแก่โจทก์ และนับแต่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยได้เบิกเงินตามสัญญาไปจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันหลายครั้ง ซึ่งบัญชีของจำเลยได้เดินสะพัดเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ณ วันดังกล่าวเป็นเงิน 5,034,770.59 บาท หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นคำนวณหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,174,835.69 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่ สองจำเลยได้ผ่อนชำระให้แก่โจทก์บ้างไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ หลังจากนั้นก็ไม่ชำระ คำนวณหนี้เงินกู้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,406,415.01 บาท รวมยอดหนี้ทุกประเภทแล้วเป็นเงิน 11,581,250.70 บาท เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโจทก์มีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้สินคืนให้แก่โจทก์และดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ของโจทก์เบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่พยานได้ตรวจสอบเอกสารแห่งหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารที่โจทก์อ้างส่ง ประกอบกับโจทก์มีหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือยินยอมให้ธนาคารหักบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ หลักฐานการรับเงินกู้ และรายการบัญชีเอกสารหมาย จ. 4 ถึง จ.6 และ จ.11 ถึง จ. 13 มาแสดงโดยเฉพาะตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เอกสาร จ.4 จ.5 และ จ.6 มีลายมือชื่อจำเลยในฐานะผู้กู้เซ็นชื่อไว้ทุกแผ่น แผ่นแรกลงชื่อไว้ด้านบนและด้านล่าง เมื่อเปรียบเทียบดูลายมือชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายก็มีลีลาการลงคล้ายคลึงกัน ประกอบกับจำเลยเองให้การรับว่าหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 4 จ. 5 และ จ.6 จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของโจทก์แสดงว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวจริง ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ แต่จำเลยกลับเบิกความว่า เอกสารหมาย จ.4 จ.5 และจ.6 เป็นลายมือชื่อจำเลยที่ลงชื่อในกระดาษเปล่ามอบให้นายณัฐกฤษ สว่างผล ไปแตกต่างขัดแย้งกันกับคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือและรับฟังไม่ได้ ทั้งนี้เพราะจำเลยลงชื่อในกระดาษเปล่าจริง ย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะนำไปพิมพ์ปลอมข้อความซึ่งมีรายละเอียดมาก และตำแหน่งลายเซ็นผู้กู้จะตรงกับที่จำเลยลงชื่อไว้ สำหรับการรับเงินกู้และเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญากู้เงินระบุจำนวนเงินกู้และวิธีขอรับเงินกู้ โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันของจำเลยและของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตของจำเลย โดยโจทก์มีหลักฐานการรับเงินกู้เอกสารหมาย จ. 6 และรายการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.11 มาประกอบ นอกจากนี้ในวันทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ด้วยตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 หากจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยต้องไปจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบสามารถรับฟังได้แล้วว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้กับโจทก์ตามฟ้องโดยโจทก์ไม่จำต้องนำบุคคล ที่รู้เห็นในการทำสัญญาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญามาเบิกความยืนยันดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า ถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โจทก์จึงไม่สามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 10 บัญญัติว่า “….เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ…(2)กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาให้มาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งล้านบาทหรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลในจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแยกออกเป็น 2 กรณี คือ การสละหลักประกันกรณีหนึ่ง กับการตีราคาหลักประกันอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบรรยายมาในฟ้องแสดงความไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิบังคับเอาแก่หลักประกันเพื่อประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว โดยยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือประสงค์จะใช้สิทธิของตนบังคับเอาแก่หลักประกันนั้น โดยต้องบรรยายต่อไปว่าราคาหลักประกันที่ตีเมื่อหักกับหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ตามฟ้องโจทก์ใช้สิทธิ์เลือกบรรยายมาในฟ้องด้วยวิธีตีราคาหลักประกันหักกับหนี้ เงินยังขาดอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ไม่จำต้องบรรยายสละหลักประกันมาในฟ้องอีกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ครั้งแรกภริยาจำเลยรับหนังสือทวงถามไว้แทน ครั้งที่สองพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่า “ไม่มารับภายในกำหนด” ทั้งที่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไปยังภูมิลำเนาของจำเลยแห่งเดียวกันกับการส่งครั้งแรกอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการโดยชอบแล้ว แต่ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ เชื่อว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่สองด้วยแล้ว กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากทรัพย์จำนองซึ่งไม่พอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด จึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่สมควร


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com