แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ข้อ1 วิ.อาญา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ข้อ1 วิ.อาญา แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ข้อสอบเนติฯ ข้อ1 วิ.อาญา สมัยที่ 57

 
สรุปประเด็น เจาะประเด้น เก็งเนติ เน้นย้ำหลักสำคัญ กลุ่ม วิ.อาญา รายข้อ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ข้อ1 วิ.อาญา

ป.วิ.อาญา ภาค 1 - 2

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


ข้อสอบเนติฯ สมัย ๕๗

          
ข้อ ๑. นายหนึ่งยักยอกเงินของนายสองไปจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท วันรุ่งขึ้นนายสองทราบเรื่อง จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีแก่นายหนึ่งในวันนั้นเอง ต่อมาอีก ๒ เดือน นายสองถึงแก่ความตาย นายสามซึ่งเป็นบุตรของนายสองได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนายสอง กรณีดังกล่าว
ก. นายสามยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในอายุความเพื่อขอให้ลงโทษนายหนึ่งฐานยักยอกเงินของนายสอง
ข. พนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลตามคำร้องทุกข์ของนายสองภายใน อายุความเพื่อขอให้ลงโทษนายหนึ่งฐานยักยอกแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายสามขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาล
ให้วินิจฉัยว่า นายสามมีอำนาจฟ้องนายหนึ่งตามข้อ ก. และมีอำนาจถอน คำร้องทุกข์ตามข้อ ข. หรือไม่

ธงคำตอบ
ก. กรณีนายสองถูกนายหนึ่งยักยอกเงิน นายสองย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) มี อำนาจที่จะฟ้องนายหนึ่งได้ตามมาตรา ๒๘ (๒) แต่ก็ไม่ได้ฟ้องเป็นคดีไว้ ส่วนนายสาม แม้จะเป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกก็มิใช่ผู้เสียหายโดยตรงที่จะมีอำนาจฟ้องนายหนึ่ง ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงได้ทั้งมิใช่กรณีนายสองถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา ๕ (๒) ที่นายสามซึ่งเป็นผู้สืบสันดานจะมีอำนาจจัดการฟ้องคดีแทนนายสองได้ ดังนั้นนายสาม จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ลงโทษนายหนึ่ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๖๒/๒๕๔๗)
ข. กรณีพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ลงโทษนายหนึ่งฐานยักยอก ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวตามคำร้องทุกข์ของนายสอง สิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ในคดี ความผิดฐานยักยอกเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินเมื่อผู้ร้องทุกข์ตายย่อมตกทอดแก่นายสาม ซึ่งเป็นทายาท นายสามย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ได้ (เทียบคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ๗๕๑/๒๕๔๑)

ประเด็น คดียักยอกผู้เสียหายไปร้องทุกข์ไว้แล้วตาย มีทายาทเป็นผู้รับมรดก ถามว่า ทายาทฟ้องคดีอาญาฐานยักยอกเองเลยได้หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะไม่เข้ามาตรา ๕ (๒)

ส่วนคดีที่อัยการเป็นโจทก์ นายสามซึ่งเป็นทายาทจะถอนคำร้องทุกข์ได้หรือไม่
คำตอบ คือ คดีความผิดต่อส่วนตัว ถ้าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์คดีก็จบ เพราะฉะนั้น ศาลฎีกาจึงตีความว่าสิทธิการร้องทุกข์เป็นสิทธิต่อส่วนตัวของผู้เสียหาย แต่เฉพาะเรื่อง ทรัพย์สิน ยักยอก ลักทรัพย์ ตกทอดเป็นมรดก
เพราะฉะนั้นสิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ เป็นสิทธิในทางทรัพย์สินทายาทจึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้





อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ วิอาญา ภาค 1-2 อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์




-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate