แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย67 เล่ม1

---------------------------------

                       คำถาม   บุคคลที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อครอบครองต่อมา ดังนี้ ผู้ซื้อจะนับระยะเวลาที่ผู้ขายครอบครองที่ดินติดต่อกับระยะเวลาที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินเข้าด้วยกันอันจะทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ได้หรือไม่
                      การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ครอบครองจะต้องมีเจตนาสุจริตหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1981/2556  ท. ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบางส่วนของที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  ท. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อ ท. ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในปี 2547 และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาโดยตลอดมิได้ขาดตอนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แสดงว่า ท. เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง และย่อมนับระยะเวลาที่ ท.ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกับระยะเวลาที่โจทก์ครองครองที่ดินพิพาทเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 เมื่อนับเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทของ ท. รวมเข้าด้วยแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
                       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ได้บัญญัติว่าการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองจะต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาที่สุจริต คงบังคับไว้แต่เพียงว่าให้ผู้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นก็ตาม

                       คำถาม  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนขณะทำพินัยกรม ผู้ทำพินัยกรรมกับผู้รับพินัยกรรมมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินให้ผู้รับพินัยกรรมว่า ให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่น ดังนี้ ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่นจะฟ้องบังคับให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่   5791/2556  การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นั้น เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ และหาจำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง
                      ท. ผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และขณะ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตาย และจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรม ทั้งรับทราบเจตนาของ ท. ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินแปลงหนึ่งตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาท อันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงนั้นแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้นอันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ทำให้เป็นโมฆะหรือเสียเปล่ายังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ไม่ แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้

                       คำถาม  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจดทะเบียนให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าหรือมีอำนาจฟ้องขับไล่หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  15033/2555   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 68160 และจดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยมีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 นางบุญช่วยให้นางชอุ่มมารดาจำเลยเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 3 ปี เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย นางชอุ่มก่อสร้างบ้านพิพาทเสร็จแล้วขอเลขที่บ้าน หลังจากนั้นนางชอุ่มและจำเลยย้ายชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านพิพาท นางชอุ่มทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับนางบุญช่วยต่อมาอีกหลายครั้ง ต่อมานางชอุ่มยกบ้านพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับนางบุญช่วยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 มีกำหนด 1 ปี ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท ก่อนครบกำหนดตามสัญญานางบุญช่วยแจ้งจำเลยว่าจะให้อยู่อีก 2 เดือน แล้วให้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยยังอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาท ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

                       คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียวนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความยุติว่า โจทก์จดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นได้แต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่  การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาท จึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัยที่66 เล่มที่ 1

       ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัยที่66 เล่มที่ 1
--------------------------------


         คำถาม  สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจาก
ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น หากหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่ และจะเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องได้หรือไม่
         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
         คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๕๗/๒๕๕๔ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความ
 โดยหนี้ดังกล่าวมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ ๒ จำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๒๗ และมาตรา ๗๔๕ กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไปไม่ได้  ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้สิทธิผู้รับจำนองบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบก็ตาม โจทก์ก็จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๒ เพื่อเอาชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น บทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติห้ามผู้รับจำนองมิให้ใช้สิทธิบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไป มิได้ห้ามผู้รับจำนองมิให้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องขอให้บังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปได้
                         

         คำถาม ข้อความในสัญญาเช่าว่า ผู้เช่ามีสิทธิต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก แต่ต้องตกลงเรื่องค่าเช่ากันใหม่ หรือต้องมาทำสัญญากันใหม่ เป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
          คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
           คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๐๑/๒๕๕๕ ข้อความในสัญญาเช่าที่ว่า ก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไปเพื่อขอขยายอายุสัญญาเช่าใหม่  ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยมาทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
           คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑-๖๖๒/๒๕๑๑ สัญญาเช่ามีข้อความว่า “เมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิต่ออายุในสัญญาเช่าได้อีก ส่วนค่าเช่านั้นตกลงกันใหม่” ย่อมเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสผู้เช่าจะต่อสัญญาได้เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการต่ออายุสัญญาเช่าต่อไป
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๙/๒๕๑๒ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าต่อกันมีข้อความว่า “ผู้ให้เช่าจะยอมให้ผู้เช่าเช่าสถานที่ต่อไปอีกคราวหนึ่งมีกำหนด ๑๐ ปี ในอัตราค่าเช่าอย่างเดิม หรืออัตราค่าเช่าอื่นใดสุดแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน” นั้น หมายความว่าอัตราค่าเช่าจะเป็นอย่างเดิมก็ดี หรืออย่างอื่นก็ดี โจทก์จำเลยจะต้องตกลงซึ่งกันและกันเสียก่อน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการเช่าตามกฎหมายหากตกลงกันไม่ได้ก็ย่อมจะต่อสัญญาเช่ากันไม่ได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๙๔/๒๕๑๕  สัญญาเช่าซึ่งระบุว่า เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าแล้ว หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก และค่าเช่าจะได้ตกลงกันภายหลังนั้น เป็นเพียงผู้ให้เช่าให้โอกาสผู้เช่าที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีก ในเมื่อตกลงค่าเช่ากันเรียบร้อยแล้ว และไม่มีพันธะผูกพันผู้ให้เช่าว่าจะเรียกร้องค่าเช่ากันได้มากน้อยเพียงใด  เมื่อผู้ให้เช่ากำหนดอัตราค่าเช่า  ผู้เช่าไม่สนองรับก็เป็นอันตกลงค่าเช่ากันไม่ได้ สัญญาเช่าต่อไปย่อมไม่เกิด
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๑๖๐/๒๕๑๘  ข้อสัญญาว่า ถ้าครบกำหนดเช่าผู้เช่าต้องมาทำสัญญาใหม่ใน ๗ วัน  มิฉะนั้น ยอมให้เก็บค่าเช่าเป็นเดือนละ  ๑,๐๐๐ บาทได้ ดังนี้ เป็นแต่ให้โอกาสทำสัญญาใหม่ แม้ผู้เช่าขอทำสัญญาใหม่ใน ๗ วัน ก็ยังไม่เป็นสัญญาผูกพันผู้ให้เช่า
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๕/๒๕๒๕  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างตึกแถวและอาคารบ้านเรือน (ตลาดสด) ซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ ๗ ตึกแถวฯ ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นใหม่โจทก์มีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ตามสัญญาข้อ  ๒ โดยข้อ ๒ มีความว่า ยอมให้โจทก์เช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี เมื่อหมดสัญญา  ๑๕ ปีแล้ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อให้มาทำสัญญาใหม่ ถ้าไม่ทำสัญญาต่อ โจทก์จะต้องส่งมอบสถานที่เช่าพร้อมตึกแถวฯ ให้แก้ผู้ให้เช่าจนครบถ้วนทุกอย่าง ดังนี้ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า จำเลยหาจำต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทต่อไปไม่
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๒๖๓/๒๕๓๕  หนังสือสัญญาเช่าสถานที่ระบุว่า ถ้าผู้รับมอบหรือผู้เช่ามิได้ประพฤติผิดสัญญา  ผู้มอบหรือผู้ให้เช่าจะได้พิจารณาต่ออายุสัญญาให้อีกคราวหนึ่ง เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าจะใช้ดุลพินิจต่อสัญญาให้แก่ผู้เช่าอีกคราวหนึ่ง ในเมื่อผู้เช่าไม่ได้กระทำผิดสัญญา อย่างไรก็ดีแม้ผู้เช่าจะไม่ได้กระทำผิดสัญญาก็ตาม  การจะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของผู้ให้เช่า สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คำมั่นจะให้เช่า
           

           คำถาม  คำมั่นจะให้เช่า  มีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
            คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๗๒/๒๕๓๗  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ด.  ด.ให้จำเลยเช่า  ต่อมา ด.โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ.โอนขายให้โจทก์ แม้ ด. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ด.จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก ๓ ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๔๙๑/๒๕๓๙  สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าต่อระยะเวลาการเช่าไปอีกหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่เป็นทรัพย์สิทธิที่จะได้เช่าต่อไปคงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือผู้ให้เช่าห้องพิพาทเดิมกับจำเลยเท่านั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทซึ่งมิได้ตกลงกับจำเลยในข้อตกลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีกเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปจากห้องพิพาทนั้น

                  คำถาม   การร่วมกันไปทำร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสเป็นการชุลมุนต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๓๘  - ๗๓๙/๒๕๕๕  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๒๙๙ ต้องเป็นกรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัส  ซึ่งหมายถึงกรณีไม่ทราบว่าผู้ใดหรือบุคคลใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยที่  3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่  2 กับพวกใช้มีดและเหล็กแป็บฟันและตีผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่ใช่เป็นการชุลมุนต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  299
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๒๓๕/๒๕๕๓  กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา  ๒๙๙ นั้นต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส  แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้  ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ  เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม