แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม ธงคำตอบ วิอาญา 65 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม ธงคำตอบ วิอาญา 65 แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม ธงคำตอบ วิอาญา เนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 65

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  ภาคสอง  สมัยที่  65  ปีการศึกษา  2555
วันอาทิตย์ที่  7  เมษายน  2556
-------------------------------

ข้อ  1.พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายคงเป็นจำเลยฐานยักยอกเงินจำนวน  300,000  บาท  ของนายมั่นผู้เสียหาย  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  352  ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้  นายคงให้การปฏิเสธ  ระหว่างพิจารณา  นายมั่นยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต  ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  นายคงมีความผิดตามฟ้อง  จำคุก  6  เดือน  นายคงยื่นอุทธรณ์ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์  นายมั่นถึงแก่ความตาย
(ก)นายทองยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมั่นขอเข้าดำเนินคดีต่างนายมั่นโจทก์ร่วมผู้ตาย  กรณีหนึ่ง
(ข)นางนกภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายคงแล้ว  ผู้ร้องและทายาททุกคนไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นายคงต่อไป  ขอถอนคำร้องทุกข์  อีกกรณีหนึ่ง
ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะสั่งคำร้องของนายทองตามข้อ  (ก)  และคำร้องของนางนกตามข้อ  (ข)  กับคดีอย่างไร

ธงคำตอบ
(ก) นายมั่นผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้วตายลง  แม้นายทองผู้ร้องจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมั่นโจทก์ร่วมก็ตาม  แต่นายทองผู้ร้องมิใช่ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาของผู้ตาย  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  29  ที่จะดำเนินคดีต่างนายมั่นโจทก์ร่วมผู้ตายต่อไปได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  2242/2533,  คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  13/2534)  ศาลชอบที่จะสั่งยกคำร้องของนายทองผู้ร้อง
(ข) การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิ  ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  126  วรรคหนึ่ง  บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้  สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน  และในกรณีผู้ร้องทุกข์ตาย  สิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท  เมื่อตามคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของนางนก ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นผู้ตายได้ความว่า  บรรดาทายาททุกคนของนายมั่นไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นายคงอีกต่อไป  และขอถอนคำร้องทุกข์  ดังนั้น  นางนกผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นผู้ตายจึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้  แม้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์  และเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามมาตรา  39  (2)  (คำสั่งศาลฎีกาที่  372/2549)  ศาลชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีนี้เสียจากสารบบความ

ข้อ  2.นายขาวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายดำโดยกล่าวหาว่า  วันเกิดเหตุขณะที่นายขาวยืนอยู่บริเวณหน้าบ้านของนายขาว  นายดำเดินเข้ามาทำร้ายนายขาวและเอาสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ของนายขาวไป  ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายดำได้ตามหมายจับ  และแจ้งข้อหาชิงทรัพย์กับแจ้งสิทธิตามกฎหมายชั้นจับกุมให้นายดำทราบ  นายดำรับสารภาพ  และแจ้งว่าได้เก็บสร้อยคอทองคำของนายขาวไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในบ้านของนายดำ เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกคำให้การของนายดำไว้ในบันทึกการจับกุมและยึดสร้อยคอทองคำเป็นของกลาง  ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาชิงทรัพย์และแจ้งสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ต้องหาพึงมีในชั้นสอบสวนให้นายดำทราบ  จากการสอบสวนได้ความว่า นอกจากนายดำแล้วยังมีนายเขียวและนายเหลืองร่วมกระทำความผิดด้วย  แต่นายเขียวและนายเหลืองหลบหนีไปได้  เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้วมีความเห็นว่า  ควรสั่งฟ้องนายดำฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำในความผิดฐานดังกล่าว
(ก) นายดำให้การปฏิเสธโดยต่อสู้ว่า  ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานมิได้แจ้งข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ให้นายดำทราบมาก่อน  เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนายดำในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  120  ขอให้ยกฟ้อง  ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายดำฟังขึ้นหรือไม่
(ข) ศาลจะรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายดำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

ธงคำตอบ
(ก) การสอบสวนเป็นเพียงการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา  เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ  และการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  134  เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใด  แม้เดิมเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาหนึ่ง  แต่เมื่อการสอบสวนปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานอื่น  ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานนั้นมาแล้วแต่แรก  ดังนั้น  แม้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่นายดำฐานชิงทรัพย์  แต่เมื่อพนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าการกระทำความผิดของนายดำเข้าองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ  โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องนายดำในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ได้  ข้อต่อสู้ของนายดำฟังไม่ขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  256/2553)
(ข) คำให้การในชั้นจับกุมของนายดำที่ว่า  ได้ทำร้ายร่างกายนายขาวและเอาสร้อยคอทองคำของนายขาวไปจริง  เป็นถ้อยคำที่ถือได้ว่าเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับขณะที่ตนถูกจับ  แม้กฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  84  วรรคท้าย  แต่กฎหมายก็มิได้ห้ามศาลนำมาใช้เป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย  ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  78  วรรคสอง  ศาลจึงรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายดำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  7245/2554)

ข้อ  3.  เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุมนายสมบัติได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน  จำนวน  100  เม็ด  นำส่งพันตำรวจโทโชคชัยพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จากการสอบสวนขยายผลนายสมบัติให้การซัดทอดว่าได้ร่วมกับนายสมชายจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน  พันตำรวจโทโชคชัยแจ้งให้ร้อยตำรวจโทบุญส่งทราบ  ร้อยตำรวจโทบุญส่งจึงวางแผนให้นายสมบัติโทรศัพท์จากสถานีตำรวจนครบาลบางเขนสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายสมชายอีก  จำนวน  100  เม็ด  โดยตกลงส่งมอบสิ่งของกันที่หน้าบ้านพักของนายสมชายในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไทในวันเดียวกัน  เมื่อร้อยตำรวจโทบุญส่งกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งแอบซุ่มดูการล่อซื้อเห็นนายสมบัติล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว  จึงร่วมกันเข้าไปจับกุมนายสมชายที่หน้าบ้านพักทันที  พร้อมยึดได้ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและเมทแอมเฟตามีนที่ได้จากการล่อซื้อเป็นของกลาง  ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นบ้านพักของจำเลย  ร้อยตำรวจโทบุญส่งได้บอกกับนายสมชายว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จะได้รับโทษเบาลง นายสมชายจึงนำเมทแอมเฟตามีนที่ตนซุกซ่อนไว้ภายในบ้านมามอบให้ร้อยตำรวจโทบุญส่งยึดไว้เป็นของกลาง  หลังจากนั้นจึงนำตัวนายสมชายพร้อมของกลางทั้งหมดมาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน  ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายสมชายเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท  1
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องนายสมชายจำเลยหรือไม่
(ข) การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งพูดจูงใจให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้ภายในบ้านมามอบให้เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลางในขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
(ก) เจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำผิดของนายสมบัติก่อนแล้วจึงสอบสวนขยายผล  นายสมบัติให้การซัดทอดว่าได้ร่วมกับจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน  การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งวางแผนให้นายสมบัติโทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยอีกจนจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท  จึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่นายสมบัติโทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลพญาไท  ซึ่งเป็นท้องที่ที่ทำการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางและจับกุมจำเลยได้  พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน  ดังนั้น  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนย่อมมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  19  วรรคหนึ่ง  (3)  การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ  พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา  120  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  4337/2554)
(ข) การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมจำเลย  ได้บอกจำเลยว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จะได้รับโทษเบาลงนั้น  เป็นการพูดในขณะที่ปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งของผิดกฎหมายที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย  แม้จะเป็นการพูดจูงใจในทำนองว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลงก็ไม่ถึงขั้นเป็นการให้คำมั่นสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  135  จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คำพิพากษาฎีกาที่  1542/2540)

ข้อ  4.(ก)  นายอาทิตย์ขับรถยนต์ชนรถยนต์ที่นายจันทร์ขับ  เป็นเหตุให้นายอาทิตย์และนายอังคารซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่นายจันทร์ขับได้รับอันตรายสาหัส  พนักงานอัยการเห็นว่านายจันทร์เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียว  จึงเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  300  ศาลชั้นต้นประทับฟ้อง  นายจันทร์ให้การปฏิเสธ  ต่อมานายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ในข้อหาเดียวกันอีก  และนายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์ว่า  นายอาทิตย์กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายอังคารได้รับอันตรายสาหัส  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  300  เช่นกัน  ทั้งสองคดีหลังศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง  แต่นายอาทิตย์และนายอังคารโจทก์ในสองคดีหลังต่างยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์  ศาลชั้นต้นอนุญาต  พร้อมกับมีคำสั่งในสองคดีหลังว่า  กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์  จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องสองคดีหลังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข)  หากกรณีตาม  (ก)  นายอาทิตย์ไม่ได้ฟ้องนายจันทร์  คงมีเพียงคดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์เท่านั้น  ซึ่งปรากฏว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  โจทก์  ทนายโจทก์  และจำเลยมาศาล  ศาลชั้นต้นมิได้ให้นายอังคารโจทก์นำพยานเข้าไต่สวน  เพียงแต่สอบถามข้อเท็จจริงแล้วนายอังคารโจทก์แถลงข้อเท็จจริงให้ทราบ  ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา  ส่วนนายอาทิตย์จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงและแถลงขอให้ลงโทษสถานเบา  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษนายอาทิตย์จำเลยไปทันทีในวันเดียวกัน
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
                (ก) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  162  วรรคหนึ่ง  (1)  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)  คือไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์  แม้พนักงานอัยการจะฟ้องนายจันทร์ไว้แล้ว  นายอาทิตย์เป็นผู้เสียหายก็ยังมีอำนาจฟ้องนายจันทร์เป็นคดีใหม่ได้อีก  และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน  อีกทั้งเป็นการฟ้องนายจันทร์ในข้อหาเดียวกันด้วย  ศาลชั้นต้นจึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตามบทบัญญัติดังกล่าว  แต่คดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์  แม้เป็นการฟ้องในข้อหาเดียวกันกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ก็ตาม  แต่จำเลยทั้งสองคดีไม่ใช่จำเลยคนเดียวกัน  จึงไม่ต้องด้วยมาตรา  162  วรรคหนึ่ง  (1)  ที่ศาลชั้นต้นจะจัดการตามอนุมาตรา  (2)  จึงต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน  ดังนั้น  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องคดีที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์นั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ให้งดไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องคดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้อง  นายอาทิตย์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                (ข) ตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา  มาตรา  162  วรรคสอง  ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้อง  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ  ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา  การที่ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากนายอังคารโจทก์ซึ่งแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบโดยมีการบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  เมื่อนายอาทิตย์จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นต้องสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องนายอาทิตย์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว  ถ้าศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จไปในวันนั้น  ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามมาตรา  173  วรรคสอง  และ  172  วรรคสอง  โดยสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ  อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง  และถามคำให้การจำเลย  หากจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานก็ได้  การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปทันทีในวันเดียวกันโดยมิได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนดังกล่าว  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                ข้อ  5.พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2556  เวลากลางวัน  จำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกบผู้เสียหายไปโดยทุจริต  เหตุเกิดที่แขวงลาดพร้าว  เขตลาดพร้าว  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335  วรรคแรก  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี  และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท  จำเลยให้การปฏิเสธ  ก่อนสืบพยาน  โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุเป็นว่า  เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว  เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร  โดยอ้างว่าเสมียนพิมพ์ผิดพลาด  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง  ยกคำร้อง
                ให้วินิจฉัยว่า
                (ก)โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องทันทีได้หรือไม่
                (ข)หากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 6,000 บาท  แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด   2  ปี  โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน  ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  196  โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องทันทีไม่ได้  และในกรณีเช่นนี้จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  227  และ  228  ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความมาบังคับใช้โดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  15  ไม่ได้  เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2229/2533)
                (ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2556  เวลากลางวัน  จำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกบผู้เสียหายไปโดยทุจริต  แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335  วรรคแรก  ก็ตาม  แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า  เหตุเกิดในเวลากลางคืน  ศาลจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา  335  ดังกล่าวไม่ได้คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  193  ทวิ  เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  1  ปี  และปรับ  6,000  บาท  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้  โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้  เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  10589/2553)

                ข้อ  6.ร้อยตำรวจโทธรรมสืบทราบว่านายแดงซึ่งศาลได้ออกหมายจับในคดีชิงทรัพย์หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านเลขที่  22  ของนายดำน้องชายนายแดง  จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายค้นบ้านหลังดังกล่าว  ศาลออกหมายค้นให้ตามคำร้องขอ  เมื่อร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกไปถึงบ้านนายดำ  พบว่านายแดงหลบหนีเข้าไปในบ้านเลขที่  23  ซึ่งตามทะเบียนบ้านมีนายแดงมีเจ้าบ้าน  ร้อยตำรวจโทธรรมได้แสดงตัวแต่นายแดงได้ปิดประตูไม่ยอมให้เข้าบ้าน  ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกตามเข้าไปจับนายแดง  นายแดงไม่ยอมเปิดประตูอ้างว่าจะมอบตัวในวันหลัง  ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกกระแทกประตูจนเปิดออกแล้วเข้าไปจับกุมนายแดงไว้ได้  ส่วนสิบตำรวจตรีพรเห็นนายเหลืองบุตรนายแดงกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนอยู่ในบ้านดังกล่าว  จึงเข้าจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
                ให้วินิจฉัยว่า  การตรวจค้นและจับกุมนายแดงและนายเหลืองชอบหรือไม่

ธงคำตอบ
                การจับในที่รโหฐานนั้น  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  81  บัญญัติว่า  ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม  ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน  เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอันนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน  ส่วนการค้นในที่รโหฐานนั้นตามมาตรา  92  วรรคหนึ่ง  (5)  หากผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน  และการจับนั้นมีหมายจับเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นและจับได้  การจับนายแดงย่อมกระทำได้ เนื่องจากนายแดงผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และมีหมายจับนายแดงตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว  ในการจับปรากฏว่านายแดงหลบหนีเข้าไปในบ้านแล้วปิดประตูไม่ยอมให้ร้อยตำรวจโทธรรมกับพวกเข้าไปจับ  ร้อยตำรวจโทธรรมกับพวกย่อมมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปในบ้านนั้น  การที่ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกกระแทกประตูบ้านจนเปิดออกแล้วเข้าไปจับนายแดงไว้ได้  นับว่าเป็นกรณีจำเป็นที่ร้อยตำรวจโทธรรมเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นมีอำนาจกระทำได้ตามมาตรา  94  วรรคสอง  เพราะเป็นการใช้กำลังอันเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งเรื่อง  (คำพิพากษาฎีกาที่  1035/2536,  6403/2545)  การตรวจค้นบ้านและจับกุม  นายแดงจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                เมื่อขณะตรวจค้นสิบตำรวจตรีพรเห็นนายเหลืองกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนในบ้านของนายแดงซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า  สิบตำรวจตรีพรย่อมมีอำนาจจับกุมนายเหลืองได้ตามมาตรา  98  (2)  การตรวจค้นและจับกุมนายเหลืองจึงชอบแล้วเช่นกัน

                ข้อ  7.  โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างทำของจำนวน  500,000  บาท  จากจำเลย  ตามภาพถ่ายสัญญาจ้างก่อสร้างท้ายฟ้อง  จำเลยให้การว่า  โจทก์ทำงานผิดพลาดหลายประการ  จำเลยจึงยังจ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้  แต่เมื่อมีการเจรจาประนอมข้อพิพาท  โจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันได้  ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การ  ทำให้หนี้เดิมตามคำฟ้องระงับสิ้นไปแล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  ขอให้ยกฟ้อง
                ให้วินิจฉัยว่า
                (ก) คดีมีประเด็นข้อพิพาท  และภาระการพิสูจน์อย่างไร
                (ข) ถ้าโจทก์ไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การไว้เลย  จำเลยจะนำสืบสำเนาหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแทนต้นฉบับได้หรือไม่
                (ค) โจทก์จะขอนำสืบพยานบุคคลว่าหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                (ก) คดีมีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า  โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่  จำเลยมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  84/1  เพราะจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวส่วนข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องนั้น  จำเลยมิได้ยกขึ้นปฏิเสธในคำให้การตามมาตรา  177  วรรคสอง  ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว  จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท
                (ข) ภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบไปท้ายคำให้การ  มีผลเท่ากับได้ส่งสำเนาเอกสารนั้นให้โจทก์และศาลล่วงหน้าถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  90  วรรคหนึ่ง  แล้ว  โจทก์มีหน้าที่ต้องคัดค้านการมีอยู่และความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารนั้นต่อศาลก่อนการนำสืบเอกสารดังกล่าวเสร็จตามมาตรา  125  วรรคหนึ่ง  เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านไว้  จำเลยจึงนำสืบสำเนาเอกสารนั้นแทนต้นฉบับได้ตามมาตรา  93  (4)
                (ค) การที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ  จึงมีผลห้ามมิให้โจทก์คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  125  วรรคสาม  โจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานทุกชนิดรวมทั้งพยานบุคคลว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับไม่ได้

                ข้อ  8.ร้อยตำรวจตรีเขียวได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสืบสวนหาข่าวที่ร้านอาหารกินด่วน  ซึ่งสืบทราบว่าเป็นแหล่งที่ผู้ค้ายาเสพติดชอบมาชุมนุม  ร้อยตำรวจตรีเขียวแต่งกายนอกเครื่องแบบสังเกตเห็นนายหนึ่งและนายสองมีพฤติการณ์น่าสงสัย  จึงไปนั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะใกล้กับโต๊ะของบุคคลทั้งสอง  ได้ยินนายหนึ่งพูดกับนายสองว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่บ้านนายสอง  ร้อยตำรวจตรีเขียวรายงานต่อพันตำรวจโทเหลือง  ต่อมาร้อยตำรวจตรีเขียวยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ออกหมายค้นบ้านนายสอง  แล้วพันตำรวจโทเหลืองและร้อยตำรวจตรีเขียวนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านนายสอง  พบนายหนึ่งและนายสอง  เมื่อตรวจค้นบ้านพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน  10,000  เม็ด  ซุกซ่อนอยู่  จึงจับกุมนายหนึ่งและนายสองพร้อมกับยึดยาเสพติดเป็นของกลางและดำเนินคดีแก่ทั้งสองคนในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  ชั้นพิจารณา  พันตำรวจโทเหลืองผู้จับกุมเป็นพยานเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบร้อยตำรวจตรีเขียวเนื่องจากร้อยตำรวจตรีเขียวต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นและหลบหนีไปต่างประเทศ  โดยโจทก์เพียงนำสืบอ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวที่ให้การเรื่องที่นายหนึ่งพูดกับนายสองดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพนักงานสอบสวน  นายหนึ่งและนายสองโต้แย้งว่า  เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลจากการลักลอบดักฟังซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ต้องห้ามมิให้รับฟัง  เช่นเดียวกับคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวซึ่งเป็นพยานบอกเล่า  ต้องห้ามมิให้รับฟังเช่นกัน
                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะอาศัยเมทแอมเฟตามีนของกลาง  และคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังลงโทษนายหนึ่งและนายสองได้หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ
                เมื่อการค้นได้เมทแอมเฟตามีนของกลางเกิดจากข้อมูลที่ร้อยตำรวจตรีเขียวได้ยินจากการสนทนาของนายหนึ่งและนายสองในร้านอาหารซึ่งเป็นสถานที่ที่บุคคลทั่วไปย่อมเข้าไปได้  ประกอบกับร้อยตำรวจตรีเขียวปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา  ซึ่งมีมูลกรณีให้สั่งได้โดยชอบ  การที่นายหนึ่งและนายสองสนทนากันโดยไม่ระมัดระวังและร้อยตำรวจตรีเขียวได้ยิน  จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจตรีเขียว  ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางได้มาจากการค้นของเจ้าพนักงานตามหมายค้นของศาล  กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ  ทั้งมิได้อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  226/1  แต่อย่างใด  ศาลย่อมรับฟังเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานได้
                ส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวนั้น  แม้ว่าจะเป็นพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  226/3  วรรคหนึ่ง  แต่เมื่อร้อยตำรวจตรีเขียวหลบหนีไปต่างประเทศไม่อาจมาเบิกความได้  จึงมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถได้ตัวพยานสำคัญมาเบิกความต่อศาล  ทั้งมีเหตุอันสมควรเนื่องจากมีเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้รับฟังได้  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  226/3  วรรคสอง  (2)  ศาลย่อมรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวได้
                อย่างไรก็ตาม  ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่าดังกล่าว  แม้ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง  และไม่ควรเชื่อพยานบอกเล่าโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย  แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวร้อยตำรวจตรีเขียวมาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากหลบหนีคดี  อันเป็นพฤติการณ์พิเศษ  ทั้งโจทก์ยังมีเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานประกอบมาสนับสนุน  ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังลงโทษนายหนึ่งและนายสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  227/1

                ข้อ  9.  ข้อเท็จจริงในสำนวนสอบสวนโดยย่อความว่า  เมื่อคืนวันศุกร์ที่  15  มีนาคม  2556  เวลา  22  นาฬิกาเศษ  ผู้ต้องหาที่  1  ถึงที่  15  และที่หลบหนีไปอีก  5  คน  ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  ได้แต่งตัวอำพรางตนเองโดยสวมชุดสีดำ  มีหมวกไหมพรมปิดหน้าร่วมปรึกษากันเพื่อที่จะเข้าปล้นทรัพย์ในโรงงานผลิตอาหารกระป๋องของบริษัทอิสระอุตสาหกรรม  จำกัด  และเพื่อที่จะไปฆ่านายเกษมเจ้าของโรงงานดังกล่าวเสีย  เหตุเกิดที่แขวงบางขุนนนท์  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร  แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาทั้ง  15  คน  ได้ในขณะที่ประชุมปรึกษาหารือกัน  ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทุกคนรับสารภาพและได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
                ให้ท่านในฐานะพนักงานอัยการร่างคำฟ้องเพื่อฟ้องผู้ต้องหาทุกคนในความผิดฐานซ่องโจร  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  83  และมาตรา  210  (ให้ร่างเฉพาะใจความในคำฟ้องเท่านั้น)

ธงคำตอบ
                ร่างคำฟ้องความผิดฐานซ่องโจร  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  83  และ  มาตรา  210
ตัวอย่างคำฟ้อง
                ข้อ  1.เมื่อวันที่  15  มีนาคม  2556  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  จำเลยที่  1  ถึงที่  15  กับพวกอีก  5  คน  ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันโดยบังอาจสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  ประชุมปรึกษากันเพื่อทำการปล้นทรัพย์และฆ่าผู้อื่น  ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค  2  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  และเป็นความผิดที่มีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป  อันเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจร
                เหตุเกิดที่แขวงบางขุนนนท์  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร
                ข้อ  2.ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง  ข้อ  1.  เจ้าพนักงานจับจำเลยที่  1  ถึงที่  15  ได้ทำการสอบสวนแล้ว  จำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ  ระหว่างสอบสวน  จำเลยที่  1  ถึงที่  15  ไม่ได้ถูกควบคุมตัวโดยได้รับการปล่อยชั่วคราว  ได้ส่งตัวจำเลยที่  1  ถึงที่  15  มาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว
                ขอให้ลงโทษจำเลยที่  1  ถึงที่  15  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  210  และ  83
                                                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                                                ลงชื่อ_________________โจทก์

ข้อ  10.นายเก่ง  กิจการดี  ในฐานะผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทกิจการดี  จำกัด  ออกเงินทดรองจำนวน  10  ล้านบาท  เพื่อวางมัดจำการทำสัญญาจะซื้อที่ดินที่จังหวัดภูเก็ตที่ตกลงซื้อขายกันในราคา  100  ล้านบาท  นายเก่งต้องการให้บริษัทซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อตั้งเพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดสามารถรับโอนที่ดินจากผู้ขายโดยตรงไม่ต้องโอนผ่านตนเอง
ดังนี้  ให้ท่านร่างหนังสือเชิญประชุมตั้งบริษัทกิจการดี  จำกัด  ที่มีวาระการประชุมครบถ้วน  โดยเฉพาะให้ครอบคลุมการซื้อขายที่ดินให้มีการโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ขายไปยังบริษัทโดยตรงไม่ต้องโอนผ่านนายเก่ง

ธงคำตอบ
หนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
บริษัทกิจการดี  จำกัด
วันที่______เดือน___________พ.ศ._____
เรื่อง       ขอเชิญประชุมตั้งบริษัท
เรียน       ท่านผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัทกิจการดี  จำกัด
                ด้วยผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทเรียบร้อยแล้ว  และบัดนี้ได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัทครบตามจำนวนที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงตกลงให้มีการประชุมตั้งบริษัทในวันที่_____เดือน_____________พ.ศ._____เวลา__________ณ_______________ ตามระเบียบวาระการประชุม  ดังต่อไปนี้
1.             พิจารณาตั้งข้อบังคับของบริษัท
2.             พิจารณาให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้  และค่าใช้จ่ายซึ่งจำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัท
3.             พิจารณาเรื่องหุ้น
4.             พิจารณาเลือกตั้งกรรมการชุดแรกของบริษัท  และกำหนดอำนาจกรรมการ
5.             พิจารณาเลือกตั้งผู้สอบบัญชี  และกำหนดค่าสินจ้าง
6.             เรื่องอื่นๆ  (ถ้ามี)

จึงเรียนมาเพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน