แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 16

...........................................


                  คำถาม   ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่า  เมื่อหมดสัญญาแล้ว  ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่า ต่อไปอีก ให้ผู้เช่ามาทำสัญญาเช่าใหม่หรือจะต้องทำความตกลงเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อนเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  8692/2549   ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 10 ระบุว่า ก่อนที่สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน  ส่วนค่าเช่าจะเป็นอย่างใดนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า และตามคำมั่นให้เช่าที่ดิน ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย  แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน  ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว  แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาฉบับใหม่  ดังนั้น  การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ก็หาได้ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 569/2525  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารให้ผู้อื่นเช่าช่วงมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปีถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้มาทำสัญญาใหม่ แต่สัญญาใหม่นี้ยังจะต้องตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าและกำหนดเวลาเช่า ดังนี้ เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้วโจทก์เสนอขอเช่าต่ออีก  แต่จำเลยไม่ตกลงตามที่โจทก์เสนอ  ทั้งได้บอกเลิกสัญญาและให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าจึงไม่มีสัญญาเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย
                 ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้ผู้เช่ามาทำสัญญาใหม่ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า
                   
                  คำถาม  คำมั่นจะให้เช่าระบุไว้ในสัญญาเช่า  เมื่อผู้เช่าสนองรับ  จะต้องมาทำสัญญาเช่ากันใหม่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  748/2533   หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า  ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว  ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี  ทั้งนี้โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่าเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม  ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่  และตามข้อตกลงนี้มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิจะเรียกร้องบังคับเอาได้  ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า  ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 1765/2517   สัญญาเช่ามีข้อความว่า  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว  ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้  ทั้งนี้  ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้  เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลาเท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว  และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม  โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก
                   
                  คำถาม   สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดกว่า 3 ปี มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าไว้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า  หากผู้เช่าสนองรับคำมั่นสัญญาเช่าเกิดขึ้นหรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  563/2540  เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้  จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป  คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ 2 (ก) ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปี ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วย  ดังนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก
                   
                   คำถาม    คำมั่นจะให้เช่ามีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ค.  ค. ให้จำเลยเช่า ต่อมา ค. โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้  ค. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ค. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3 ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
           
                   คำถาม  กรณีที่มีการบังคับจำนอง  โดยเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาดแต่ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 นั้น  หมายความเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3535/2550  ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  733 บัญญัติว่า “......ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น”  ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า  ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น  อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตรา ดังกล่าว  คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
                    ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 733  หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่  ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลอดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้  จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
                     
                    คำถาม   ความผิดฐานฉ้อโกงจะต้องได้ความว่าผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ขอให้ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่าผู้หลอกลวงไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1733/2516   จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่ามีรถยนต์ขนส่งนักร้อง นักดนตรี และเครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องให้ช่างแก้ไข  จึงว่าจ้างรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่ง เมื่อส่งเรียบร้อยแล้วจำเลยจะให้ค่าขนส่งแก่ผู้เสียหาย 1,000 บาท ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงดังกล่าว  ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงจัดการรับจ้างขนส่งให้จำเลยนั้น  การที่จำเลยกล่าวหลอกลวงหรือปกปิดความจริงก็เพื่อให้ผู้เสียหายรับจ้างทำการขนส่งให้จำเลยเท่านั้น จำเลยได้รับผลเพียงการขนส่งจากผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ส่วนเงินค่าขนส่ง 1,000 บาท ที่จำเลยไม่ได้ชำระให้ผู้เสียหายนั้น เป็นทรัพย์สินที่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาจากจำเลยภายหลังเมื่อขนส่งให้จำเลยถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3667/2542  จำเลยทั้งสองร่วมกันนำ ธ. มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โจทก์ร่วม โดยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า ธ. คือ บ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงรับ บ. เป็นสมาชิก ความจริงแล้วขณะนั้น บ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้  การหลอกลวงมีผลเพียงให้โจทก์ร่วมกับ บ. เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมไม่ แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 92,000 บาท แต่ก็เนื่องจาก บ. ถึงแก่กรรมหาใช่เนื่องจากจำเลยทั้งสองหลอกลวงไม่  การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่สั่งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 92,000 บาท แก่โจทก์ร่วมได้

                   คำพิพากษาฎีกาที่  7264/2543  โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14 ต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถ โจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลย  โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ โจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลยหาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่ จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341  และมิได้เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 15


-----------------------------------



               คำถาม   ใบรับรองเงินฝากในธนาคารเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่  และความผิดฐานปลอมเอกสารจำต้องมีเอกสารแท้จริงอยู่ก่อนหรือไม่
              คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 เปิดดูเอกสารภายในซองเอกสาร ได้เห็นใบรับรองเงินฝากแล้วจึงใส่ซองปิดผนึก  และเขียนชุดใบนำส่งเอกสาร  แม้ใบรัรองเงินฝากจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีข้อความเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่เป็นถ้อยคำในทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีตัวเลขบัญชีของจำเลยที่ 2 มีจำนวนเงินระบุว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มีชื่อของจำเลยที่ 2  จำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานกับธนาคารโจทก์ร่วมมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี  เชื่อว่าสามารถเข้าใจได้ว่าใบรับรองเงินฝากดังกล่าวเป็นใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 รู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยวิสัยของผู้ที่ทำงานกับธนาคารมานานย่อมทราบว่า จำเลยที่ 2 ไม่น่าจะมีเงินฝากธนาคารโจทก์ร่วมมาถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นเอกสารปลอม
               ใบรับรองเงินฝากมีข้อความว่าจำเลยที่ 2  มีเงินฝากในธนาคารโจทก์ร่วมมีกำหนดจ่ายคืนสามารถเปลี่ยนมือได้  แบ่งแยกและซื้อขายได้ จึงเป็นเอกสารที่แสดงให้ผู้อื่นเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเงินฝากตามจำนวนในเอกสารฝากไว้กับโจทก์ร่วมและสามารถรับเงินฝากคืนจากโจทก์ร่วม  สามารถเปลี่ยนมือแบ่งแยกและซื้อขายได้ด้วย จึงเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ใบรับรองเงินฝากดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิ
                การที่จำเลยที่  1  ทราบดีว่าใบรับรองเงินฝากเป็นเอกสารสิทธิปลอมแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมจัดส่งเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวไปต่างประเทศ  โดยผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ในธุรกิจของโจทก์ร่วมด้วยการปิดผนึกซองเขียนชุดใบนำส่งเอกสารการของธนาคารโจทก์ และใบนำส่งไปรษณีย์มอบให้แก่พนักงานโจทก์ร่วมผู้มีหน้าที่จัดส่งเอกสารตามวิธีการจัดส่งเอกสารในธุรกิจโจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว  จึงเป็นการลงมือใช้หรืออ้างเอกสารที่เกิดจากกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ แม้เอกสารสิทธิปลอมจะปิดผนึกอยู่ในซองและพนักงานผู้จัดส่งเอกสารของโจทก์ร่วมตรวจเห็นพิรุธจนพบว่าเอกสารสิทธิที่จัดส่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมก่อนที่เอกสารจะส่งถึงผู้รับในต่างประเทศ ก็เป็นการใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมเป็นความผิดสำเร็จ โดยไม่ต้องรอผลของการใช้หรืออ้างว่าผู้รับหรือผู้ถูกอ้างจะได้รับเอกสารสิทธิปลอมที่จัดส่งไป เพราะจำเลยที่ 1ได้ใช้หรืออ้างเอกสาร การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถือได้ว่ากระทำไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม  ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา  265  แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม
                 ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
                 

                 คำถาม    ผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนหรือสมัครใจวิวาท จะอ้างการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  3238/2554  จำเลยที่ 1 กับพวกได้เข้าร่วมต่อสู้ชกต่อยกับผู้เสียหายด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน  ทั้งยังได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทต่อสู้กับผู้เสียหาย อันเป็นการสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะการป้องกันโดยชอบจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายโดยที่ตนเองและผู้อื่นไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมต่อสู้ทำร้ายกับอีกฝ่าย
                 การที่จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนพกลูกซองเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายชีวิตคนได้เล็งยิงไปยังด้านหลังของผู้เสียหาย  ย่อมส่อเจนาให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย  จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
                   
                คำถาม   การนำบุคคลที่อยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งแม่น้ำถือว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  4091/2554   แม้การเข้าไปทำร้ายผู้ตายในตอนแรก  จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ร่วมรู้เห็นหรือสมคบกับ  ส. บ. ค. หรือจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1  เข้าไปเตะผู้ตายเพียงครั้งเดียว ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้ตายก็ตาม  แต่เหตุการณ์ทำร้ายผู้ตายดังกล่าวได้ยุติลงและขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นไม่ได้สติไปโยนลงแม่น้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่  จำเลยที่  1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการนำผู้ตายซึ่งอยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งน้ำเช่นนั้น  ย่อมไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องจมน้ำตาย จำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย

                 
               คำถาม   ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยหรือไม่ หากครอบครองโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง แต่ความจริงเป็นที่ดินของผู้อื่น ผู้ครอบครองได้สิทธิ์หรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  3866/2554   จำเลยและ ส. เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบุคคลในครอบครัว เพราะได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจาก ม. น้องสาวของจำเลยเจ้าของที่ดินพิพาท  เมื่อจำเลยกับ ส. พร้อมด้วยครอบครัวได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ได้รับยกให้เมื่อปี 2526 ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวของจำเลยเข้าใจมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  การครอบครองของจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่การครอบครองปรปักษ์ เพราะการครองครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1382  หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยไม่  หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน  แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแล้ว แต่ความเป็นจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่  เมื่อจำเลยกับครอบครัวร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว  ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
                 โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินกับบ้านพิพาทจาก ม. มีราคาสูงถึง 2,800,000 บาท และโจทก์ก็ทราบจาก ม. แล้วว่า ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง โจทก์ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าญาติของ ม. เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใคร โดยการไปซักถามจาก พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ พ. ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นทั้งที่โอกาสกระทำได้โดยง่าย  กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง  จำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงย่อมยกสิทธิขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยไม่สุจริตได้  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
                   
                 คำถาม   ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองหรือไม่  หากผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองได้หรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  4436/2545  การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล.  โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน  สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์   โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
                 การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า  การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล.  และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกันแล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง  จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน  จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย  หาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่  จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้

                 คำพิพากษาฎีกาที่   817/2521   การที่จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2  เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1  สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 เป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่าอาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น  ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา  702  ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709 แล้ว  ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า  ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข  จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง  ก็จำนองได้  ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด  เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 14

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 14

                   คำถาม   เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร หากผู้กระทำความผิดมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 5445/2552  จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม  กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าการพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวได้กระทำในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษา

                   คำถาม     ออกเช็คชำระหนี้แทนลูกหนี้หรือทำหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 5112/2552   การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ จำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามเช็ค ก็มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ ๒ เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ  เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 7624/2552    หนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของ บ. ที่ทำไว้ให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ บ. ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แทนต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง

                   คำถาม   การเปลี่ยนมูลหนี้ จากมูลหนี้อย่างหนึ่งไปเป็นมูลหนี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                   คำตอบ   เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เพราะเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้  มีคำพิพากษาฎีกา วินิจฉัยดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 291/2544   จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน  ยังมิได้ชำระหนี้  การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นหนี้ใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3272/2547   จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายสาขาบางนา เมื่อปี 2535  ก. พนักงานขายประจำสาขาบางนาได้ขายรถยนต์ให้แก่ ส. ในราคา 299,000 บาท โดย ส. วางเงินดาวน์ไว้ 60,000 บาท  ส่วนที่เหลือจะนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์   หลังจากส่งมอบรถยนต์ให้แก่ ส. ไปแล้ว ปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่อนุมัติให้ ส. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากเอกสารของ ส. เป็นเอกสารปลอม และ ส. ได้นำรถยนต์หลบหนีไป จำเลยที่ ๑ ยอมรับว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์แก่โจทก์  ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3209/2550   ป. กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้ และผูกพันจำเลย
                   หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนเกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้  จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์

                    คำถาม   การที่เจ้าหนี้ลดยอดหนี้ให้แก่ลูกหนี้  การตกลงกันเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ วิธีชำระหนี้ หรือการที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                    คำตอบ   เป็นการแปลงหนี้ใหม่  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 6525/2542  โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่ โดยโจทก์เพียงลดยอดหนี้ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้เปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2 หากแต่เพิ่มให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดในหนี้เดิมส่วนหนึ่ง  เพื่อให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้เดิมจึงยังไม่ระงับไป
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1938/2540  จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 9221/2544   จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้และ วิธีการชำระหนี้  จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ  หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่  แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพนหนี้ด้วยก็ตาม เพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน และหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1812/2545   การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว แต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม  มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 5303/2545    การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้  ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ.  ระงับไปจึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ  เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2550   หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือ การค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป  เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3847/2548   ตามสัญญาร่วมชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่า การที่ผู้ให้สัญญายอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าบริการโทรศัพท์ ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิมนั้น  ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม  จึงไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง  เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30  แม้จะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ก็มิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมี อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 13


.........................................


                   คำถาม   เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้อื่นและใช้ก้อนหินขว้างผู้อื่นนั้น แต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาแตก จะถือเป็นการกระทำโดยพลาดอันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ และหากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผลจะเป็นอย่างไร
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 2277/2554   จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณบ้านผู้เสียหายทั้งสองและใช้ก้อนหินขว้างผู้เสียหายทั้งสองแต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบี้องหลังคาแตก  การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองและฐานบุกรุกเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
                  คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า ก้อนหินที่ขว้างไปถูกกระเบื้องหลังคาแสดงว่าเป็นเพราะพลาดไปถูกหลังคา มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงถือเอาเจตนาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 ด้วยไม่ได้  แม้อาจกระทำโดยประมาทแต่การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
                 
                  คำถาม    ผู้เช่าทำพินัยกรรมยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่ผู้อื่น โดยสัญญาเช่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ ต่อมาผู้เช่าตาย สิทธิการเช่าจะตกทอดแก่ผู้รับพินัยกรรมหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 9201/2551   สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา ซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน อันเป็นหนี้เหนือบุคคล หาใช่เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินหรือเป็นทรัพยสิทธิไม่ และการเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว  เมื่อผู้เช่าตาย สิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลงและไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาท  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าหรือไม่  เพราะหากมีข้อตกลงก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าแก่บุคคลภายนอกในระหว่างที่ผู้เช่ามีชีวิตอยู่  ซึ่งอาจทำได้ตาม ป.พ.พ. มาครา 544 เท่านั้น  ดังนั้น พินัยกรรมของ ท. ที่ยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่โจทก์เกี่ยวกับที่ดินที่เช่าและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป จำเลยที่ 1 ย่อมพิจารณาให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้เช่าที่ดินแต่ละแปลงต่อไปได้
                 
                  คำถาม    เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่ผู้จำนอง ทำให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้ไม่อาจรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ได้  จะมีผลให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่  และหากสัญญาค้ำประกันระบุว่าผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิดจากการกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าว  ข้อตกลงนั้นบังคับได้หรือไม่
                  คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  8370/2551   การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่ ว. อาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฎว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ข้อ 5  ระบุว่า  “การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ต่อไป และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใด ๆ ไป  เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใด ๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกัน”  อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่ ว. แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว
                   
                    คำถาม   การได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้น  การนับระยะเวลาการใช้ทางหากที่ดินภารยทรัพย์มีการโอนต่อ ๆ กันมา จะต้องเริ่มนับระยะเวลาการใช้ทางใหม่ทุกครั้งหรือไม่
                    คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 10002/2551   โจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยต้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม  แม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม  แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสองต่างก็ทราบดีและไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน  สิทธิในอันที่จะใช้ทางพิพาทและระยะเวลาในการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหรือหยุดลงไม่  ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาท จึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว
                   
                     คำถาม   เจ้าของรวมในที่ดินจะจำหน่าย (ขาย) กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นได้หรือไม่  เจ้าของรวมคนอื่นจะมีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1454/2551   โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 83631 แก่บริษัท ม. โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทดังกล่าว  แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย  ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาะติดพันก็ได้” และความในวรรคสองบัญญัติว่า “แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน”  การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน  ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่สามารถกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสอง
                     ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ” การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. เพื่อให้บริษัทดังกล่าวมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม  จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ที่จะกระได้  ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 6 ก็บัญญัติให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 1 หามีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ไม่
                     
                      คำถาม     กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยอนุมัติขายที่ดินของบริษัทให้แก่กรรมการเองและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน  ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะฟ้องกรรมการและบุคคลภายนอกได้หรือไม่ และจะฟ้องให้โอนที่ดินคืนแก่บริษัทหากโอนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 10878/2551   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทได้  การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินของบริษัทให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย  เป็นการกระทำโดยทุจริตสมคบกันเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัทมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท เมื่อบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการได้ แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัท บ.
                       ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินคืนให้แก่บริษัทหากโอนคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินนั้นเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสองด้วย
                       
                         คำถาม   ผู้จะซื้อนำที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายมาทำสัญญายกให้ผู้อื่นโดยระบุให้ผู้รับต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาที่ผู้จะซื้อมีต่อผู้ขาย โดยไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างผู้ขายกับผู้รับ  ต่อมาผู้ขายบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายโดยไม่ชอบ ผู้รับจะมีอำนาจฟ้องผู้ขายหรือไม่
                         คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                         คำพิพากษาฎีกาที่ 5948/2554   ที่ดินพิพาทเดิม ป. ตกลงทำสัญญาซื้อขายให้ ล. อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ระบุให้ ล. จะต้องชำระราคาให้ครบถ้วนและดำเนินการออกเอกสารสิทธิที่ดินเสียก่อน มีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายมิใช่ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และการส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายถือว่า ล. ผู้จะซื้อครอบครองที่ดินแทน ป. ผู้จะขายเป็นการชั่วคราว  เมื่อ ล. นำที่ดินพิพาทมาทำสัญญายกให้โจทก์โดยระบุให้โจทก์ต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ ล. มีต่อ ป.  อันมีลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้  การที่โจทก์รับมอบการครอบครองมาจาก ล. ย่อมเป็นการครอบครองแทน ป. ชั่วคราวเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่าง ป. กับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 350  โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญาและไม่อาจอ้างได้ว่า ป. บอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครองครองที่ดินพิพาทจึงมิใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้อง
                     
                        คำถาม    เจ้าของที่ดินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาล แต่เจ้าของที่ดินยังคงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินต่อมาจะถือว่าผู้ร้องครอบครองโดยความสงบหรือไม่ และจะมีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 3864/2554   ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องในคดีขอแสดงสิทธิในที่ดินพิพาท  เป็นเพียงโต้เถียงสิทธิกัน ทั้งเมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ฟ้องขับล่าผู้ร้อง  คงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา  สิทธิครอบครอบของผู้ร้องหาได้ถูกกำจัดให้ออกไปไม่  จึงมิใช่เป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของผู้ร้องอันจะถือว่าผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

                        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด  ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อไป ทั้งไม่มีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องด้วย  เมื่อนับแต่ผู้คัดค้านได้สิทธิในที่ดินพิพาทวันที่ 13 สิงหาคม 2533  จนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลชั้นต้นครั้งหลังวันที่ 25 มิถุนายน 2544  เป็นเวลาเกิน 10 ปี  ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 12

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 12

               คำถาม   ใช้เหล้าสาดใส่หน้าผู้อื่น แต่เหล้าไปถูกบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553  จำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจิตใจ เป็นการกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูก พ. เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ พ.โดยพลาดไป จึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้าย พ. โดยพลาดไปด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้
         
              คำถาม   การกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินของผู้อื่น จะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 5817/2545   การที่ชาวบ้านไปขว้างปาบ้านบิดจำเลยเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันทรัพย์สินของบิดาจำเลยได้  แต่ภยันตรายที่เกิดจากการขว้างปาบ้านยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกายผู้ที่ขว้างปาบ้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินที่เกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ  มิใช่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
             
              คำถาม    ภยันตรายอันเกิดจากการทำร้ายยังไม่สิ้นสุด สิทธิที่จะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายยังคงมีอยู่หรือไม่
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 8345/2544   ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะวิวาทจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้านจำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป  ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้  การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลงจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้  จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้  ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่จำเลย  จากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว  เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่  ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่หาเรื่องจำเลยอีก  ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้  แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา  ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68
               คำพิพากษาฎีกาที่  1826/2530  ผู้ตายลากจำเลยเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อจะข่มขืนและขู่ว่าจะฆ่าจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายทีหนึ่ง  แล้วทั้งจำเลยและผู้ตายต่างวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุห่างประมาณ 100 เมตร  แล้วจึงเกิดปลุกปล้ำกัน โดยผู้ตายพยายามแย่งมีดจากจำเลยเพื่อทำร้ายจำเลย  จำเลยจึงแทงผู้ตายอีกหลายที  เช่นนี้ถือว่าภยันตรายยังไม่หมดไป การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงและอยู่ในภาวะเช่นนั้นใช้มีดแทงผู้ตายจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

               คำถาม   เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุม และเรียกรับเงิน จะเป็นความผิดฐานใด ในทางกลับกันหากเป็นการแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงินจะเป็นความผิดฐานใด
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  1524/2551  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาทจาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
               คำพิพากษาฎีกาที่  3309/2541  คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่  โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า “ตามธรรมเนียม” คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1  ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว และหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่ง คือไม่จับกุมตามหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้  เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้ง ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่านั้น และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นทั่วไปอีก
               คำพิพากษาฎีกาที่  5973/2537   จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมิใช่การแกล้งกล่าวหา การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149  อันเป็นบทเฉพาะมาด้วยก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

                คำถาม   กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยอนยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง  คำว่าชื่อมีความหมายอย่างไร  และหากผู้ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างเป็นบุคคลภายนอก มิใช่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด บุคคลนั้นจะมีความผิดในหนี้ของห้างหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีการวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ยินยอมให้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง
                 คำว่า  “ ชื่อ ”  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และมาตรา 1082 ย่อมหมายถึงชื่อสกุลด้วย เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดให้ใช้ชื่อสกุลของตนระคนเป็นชื่อห้าง จำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด (คำพิพากษาฎีกาที่1286/2532)
                 คำว่า "ชื่อ" ในบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021, 1082 หมายถึง ชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล อันเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกว่าเป็นของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และหมายถึงชื่อเต็มของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อหรือพยางค์หนึ่งของชื่อเว้นแต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าชื่อบางส่วนหรือพยางค์หนึ่งของชื่อนั้นเป็นคำที่เรียกขานเป็นชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว
                    จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 มีชื่อเรียกว่า “ วิริยะ” เพียงแต่ยอมให้ห้างจำเลยที่ใช้คำว่า “  วิ ” มาระคนเป็นชื่อห้าง (ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิฑูรย์ทัศน์ ซัพพลาย) โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า คำว่า “ วิ ”  นั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหมายถึงชื่อของจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ต้องด้วยบทบัญญัติจองกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดต่อโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1322/2536)
                    จำเลยที่ 2  และที่ 3 (นางประไพ)  เป็นสามีภริยากันและเป็นห้างหุ้นส่วนเพียง 2 คนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นทุนดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำชื่อของตนไประคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แต่แรกเริ่มจัดตั้งห้างจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1082 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548)
                  กรณีที่บุคคลที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างมิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลทางกฎหมายจะเป็นเช่นใด  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้  

                 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1025  ห้างหุ้นส่วนสามัญคือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด  ดังนั้น บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054 จึงบัญญัติให้รับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญเสมือนเป็นหุ้นส่วนคือต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้ ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077  คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองประเภท  คือผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมีความรับผิดไม่เท่ากัน จึงไม่อาจนำเอามาตรา 1054 มาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ เพราะไม่อาจกำหนดได้ว่าจะต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนประเภทใด จึงได้บัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อบังคับใช้กับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไว้โดยเฉพาะในมาตรา  1082 โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ยินยอม โดยแสดงออกชัดเจนหรือโดยปริยายให้ได้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อจำเลยที่ 4 (นางประหยัด) ไม่ใช่หุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 แม้จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ เสมือนเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548 และดูคำพิพากษาฎีกาที่ 4537/2551)

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 11


....................................

                 คำถาม  การใช้สิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกัน หากต่อมามีการโอนที่ดินแปลงหนึ่งไป ผู้รับโอนจะนำสิทธิที่เจ้าของรวมมีอยู่ในที่ดินที่รับโอน มารับต่อเนื่องเพื่อให้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๐๑๕/๒๕๕๓  ขณะที่  ส.  ซื้อที่ดินแปลงแรก  และต่อมา  พ.  ซื้อที่ดินแปลงที่  ๒  นั้น  ส.  และ  พ.  อยู่กินฉันสามีภริยาแล้ว  แม้จะไม่ได้ความว่า  ส.  และ  พ.  ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ทั้งการที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง  และการที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑  จะต้องเป็นการใช้เพื่อตน  มิใช่เป็นการอาศัยเมื่อการใช้สิทธิในที่ดินของ  ส.  ทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับ  พ.  มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอมในช่วงเวลาดังกล่าว  โจทก์จะนำสิทธิที่  ส.  มีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่  เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดิน  มีโฉนดจาก  ส.  ในปี  ๒๕๓๖  นับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง  ๑๐  ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑

                คำถาม  ซื้อขายรถยนต์โดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ  หากผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบถ้วน  ผู้ขายไปเอารถยนต์คืนมา  จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๐๓๑๔/๒๕๕๓  จำเลยขายรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้เสียหายโดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้แก่ผู้เสียหาย  โดยที่สัญญาจะซื้อขายไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ไว้  การซื้อขายรถยนต์ของกลางจึงเสร็จเด็ดขาดและกรรมสิทธิ์โอนขณะทำสัญญาตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๔๕๓  และมาตรา  ๔๕๘  การชำระราคาไม่ครบถ้วนกรณีนี้ไม่เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนแก่ผู้เสียหาย  ผู้เสียหายจึงได้กรรมสิทธิ์นับแต่วันทำสัญญา  เมื่อสัญญาซื้อขายไม่กำหนดเวลาชำระราคาไว้  ผู้เสียหายจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระราคา  การที่จำเลยเอารถยนต์ของกลางไปจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายและที่จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ผู้เสียหายนำรถยนต์ของกลางไปห้างที่เกิดเหตุโดยจำเลยอ้างต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าบัตรจอดรถหายแล้วใช้บัตรจอดรถที่อ้างว่าหายนำรถยนต์ของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย  แสดงว่าได้มีการวางแผนลักทรัพย์รถยนต์ของผู้เสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นขั้นตอน  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                คำถาม  ผู้ขายโอนขายห้องชุดแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนผู้ซื้อบอกเลิกสัญญา  ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่  และจะต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนบอกเลิกสัญญาหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๑๕/๒๕๕๓  เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย  คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา  กล่าวคือ  โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์  แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา  ดังนี้  การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก็ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย  โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๓๘๙  โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา  ๓๘๗  ก่อน  การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว  เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา  คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  กล่าวคือ  จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  ๗.๕ต่อปี  นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้  ทั้งนี้ตามมาตรา  ๓๙๑  วรรคหนึ่งและวรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๗
                คำถาม  กรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  นั้น  หมายถึงที่ดินแปลงเดิมต้องมีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้วในขณะแบ่งแยกหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๓๒๕/๒๕๕๓  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว  ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย  ๑  กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  มาบังคับได้  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  ๓  ทาง  แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ  อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์  ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้  และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให่โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย  ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก  จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้  แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๔๐๘/๒๕๕๑  การที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๕๐  มาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา  ๑๓๔๙  ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
                เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้  ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ  แต่การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม  มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  ๑๓๕๐  แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา  ๑๓๔๙
                โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของบุคคลอื่นที่มิได้หวงห้ามโจทก์  การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์  แต่ทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องเดือดร้อนและเสียหาย  และถ้าหากให้จำเลยที่  ๑  เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็น  จะทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก  อันจะทำให้จำเลยที่  ๑  ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสาม  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๙๓๕/๒๕๔๔  ที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้สัญจรตามปกติจึงเป็นทางสาธารณะ  ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคหนึ่ง
                บ้านบางหลังของฝ่ายโจทก์เป็นบ้านยกพื้น  อยู่สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำประมาณ  ๗๐  เซนติเมตร  แสดงให้เห็นว่า  ระดับน้ำในแม่น้ำกับริมตลิ่งย่อมจะน้อยกว่า   ๗๐  เซนติเมตร  กรณีไม่ถือว่าเป็นที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามความหมายของมาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสอง
                เมื่อที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดกับทางสาธารณะ  แม้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ใช้ทางสาธารณะนี้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว  ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้
                ที่ดินของโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และโจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  แปลงอื่น  ซึ่งไม่ได้ติดทางสาธารณะโดยตรงนั้น  เป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินที่ติดทางสาธารณะ  หากโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และ  โจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  จะเรียกร้องเอาทาง  ก็ต้องเรียกร้องเอาจากที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน  ไม่อาจที่จะเรียกร้องขอใช้ทางพิพาทได้

                คำถาม  รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิด  เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ  จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๖๑๑/๒๕๕๓  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ  โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม  ป.อ.  มาตรา  ๑๓๗,  ๑๗๔  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๑๗๓  นอกจากนี้  จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วม  อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง  จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 10


------------------------------------

                  คำถาม  ก่อสร้างตอม่อ  ทำคานปูนและปักเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น  จะอ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๒๓๘/๒๕๔๖  ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองสร้างฐานรากของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตตามฟ้องจริง
                ปัญหาข้อต่อมาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า  จำเลยทั้งสองได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินส่วนที่รุกล้ำดังกล่าวโดยอายุความนั้น  เห็นว่า  การที่จำเลยทั้งสองสร้างฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยมีเจตนาเพื่อซ่อนเร้นปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบของตน  จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำของโจทก์โดยเปิดเผยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๘๒  ประกอบมาตรา  ๑๔๐๑  ดังนั้น  แม้จะมีการครอบครองมานานเท่าใด  จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว


                คำถาม  ผู้กู้นำโฉนดที่ดินมอบให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้  ผู้ให้กู้จะมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินหรือไม่  และหากผู้ให้กู้คืนโฉนดที่ดินแก่ผู้กู้ไป  จะเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               ๑.คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๔/๒๕๔๖  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า  ผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาทหรือไม่  เห็นว่า  ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินก็โดยจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายคำร้อง  ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัย  ข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวนั้นเอง  แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้  ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๔๑  หมายถึง  การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น  หนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว  ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาท
               ๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๗๑๘/๒๕๑๕  ในประเด็นที่ว่า  การที่โจทก์ได้คืนโฉนดให้จำเลยที่  ๑  ไปนั้น  จำเลยที่  ๒  ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๖๙๗  นั้น  ต้องเป็นสิทธิที่ให้อำนาจแก่เจ้าหนี้เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้  เช่น  การจำนอง  จำนำ  หรือบุริมสิทธิ  โฉนดเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์  จำเลยที่  ๑  มอบโฉนดให้โจทก์ยึดถือไว้ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใดๆ  ในตัวทรัพย์  คือที่ดินตามโฉนด  การที่โจทก์คืนโฉนดให้จำเลยที่  ๑  ไป  จึงไม่เป็นเหตุทำให้จำเลยที่  ๒  ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดไปได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่  ๖๓๑/๒๔๗๔
               ๓.  เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้เงินโดยลูกหนี้มอบโฉนดให้ยึดไว้เป้นประกันนั้น  ไม่มีสิทธิยึดหน่วงตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๒๔๑  จึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลายฯ  มาตรา  ๖  เมื่อลูกหนี้ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย  เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิน  ๒  เดือนไม่ได้  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  มาตรา  ๙๑  (ฎีกาที่  ๕๔๕/๒๕๐๔)
               ๔.  ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันยอมให้เจ้าหนี้ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ครบถ้วนนั้น  ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  กรณีเช่นนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจำนอง  เพราะเจ้าหนี้มิได้มีสิทธิพิเศษในที่ดินอันเป็นตัวทรัพย์นั้น  (ฎีกาที่  ๕๐๕/๒๕๐๗)  เพียงเอาโฉนดที่ดินมาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ตามสัญญากู้  มิใช่หนี้ที่มีประกันตามกฎหมาย   (ฎีกาที่  ๑๖๑๒/๒๕๑๒)
               ๕. จำเลยให้โจทก์กู้เงินยึดโฉนดไว้เป็นประกัน  หนี้ขาดอายุความ  โจทก์เรียกโฉนดคืนได้  มิใช่จำนำที่จะบังคับตามมาตรา  ๑๘๙  (ฎีกาที่  ๒๒๙/๒๕๒๒  ประชุมใหญ่)
               ๖.   กู้เงินมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดไว้  เมื่อลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ก็เรียกโฉนดคืนไม่ได้  (ฎีกาที่  ๔๑๖/๒๕๒๐)
               โจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลย  โดยจำเลยยึดถือโฉนดรายพิพาทกับใบมอบอำนาจที่โจทก์ให้ไว้ยังมิได้นำไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันตามที่ตกลงกัน  เมื่อโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยมากกว่าที่โจทก์เสนอจะชำระให้แก่จำเลย  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับชำระหนี้  และ  ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นได้  (ฎีกาที่  ๙๔๒/๒๕๒๗)


                คำถาม  กรณีลูกหนี้ทำสัญญาจะขายทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว  กลับเอาทรัพย์นั้นไปโอนขายแก่ผู้อื่น  ผู้ซื้อรายแรกจะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อรายหลังได้หรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๓๙๒/๒๕๔๕  ก่อนที่จำเลยที่  ๑  จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  ๒  จำเลยที่  ๒  ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่  ๑  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันไว้ก่อนแล้วการที่จำเลยที่  ๒  ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่  ๑  จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่  ๑  เสียเปรียบ  ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์  โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๓๘๔/๒๕๔๐  บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย  และเมื่อวัตถุแห่งหนี้คือบ้านพร้อมที่ดินอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้  แม้ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้  ก็ยังทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้
                คดีเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลฎีกาเห็นว่า  จำเลยที่  ๓  เป็นน้องภรรยาของจำเลยที่  ๒  เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการในนามของจำเลยที่  ๑  จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่  ๓  ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ดังกล่าวกับจำเลยที่  ๑  ก่อนแล้ว  โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่  ๒๒๖๐๖๓  เพื่อจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗
                ที่จำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฎีกาว่า  สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  ๑  เป็นเพียงบุคคลสิทธิ  หาใช่ทรัพยสิทธิ  โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่  ๑  กับที่  ๓  ไม่ได้นั้น  เห็นว่า  บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ดังนี้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย  ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฟังไม่ขึ้น
                ที่จำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฎีกาว่า  การเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  แต่จำเลยที่  ๑  มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  ย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น  เห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ในคดีนี้คือบ้านพร้อมที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้  ดังนี้แม้จำเลยที่  ๑  จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก้โจทก์ได้  ก็ยังทำให้โจทก์เสียเปรียบ  ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฟังไม่ขึ้น

                คำถาม  การปลอมเอกสารต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและต้องทำให้เหมือนของจริงหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๕/๒๕๔๖  จำเลยที่  ๒  กับพวกร่วมกันทำปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์  ฉบับลงวันที่  ๒๖  สิงหาคม  ๒๕๔๑  ระหว่างนายยืนยง  ผู้ขาย  กับนายเตือนใจ  ผู้ซื้อโดยจำเลยที่  ๒  กับพวกร่วมกันหลอกลวงนางเตือนใจว่า  จำเลยที่  ๒  เป็นบุคคลคนเดียวกับนายยืนยงซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน  ภ – ๗๘๗๔  นครราชสีมา  และตกลงขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นางเตือนใจ  ซึ่งความจริงแล้ว  จำเลยที่  ๒  กับนายยืนยงเป็นบุคคลคนละคนกัน

                เห็นว่า  การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน  และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้  จำเลยที่  ๒  กับพวกหลอกลวงนางเตือนใจว่า  จำเลยที่  ๒  คือ  นายยืนยงเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว  และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันนั้น  โดยพวกของจำเลยที่  ๒  ลงลายมือชื่อนายยืนยง  ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าวมอบให้นางเตือนใจยึดถือไว้การกระทำของจำเลยที่  ๒  กับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากนางเตือนใจ  และไม่ให้นางเตือนใจใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินคืน  ทำให้นางเตือนใจได้รับความเสียหาย  จำเลยที่  ๒  กับพวก  จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ  เมื่อจำเลยที่  ๒  กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้นางเตือนใจยึดถือไว้  จำเลยที่  ๒  กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง  รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 9

-------------------------------------

                   คำถาม  การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น  จะนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินออกโฉนด  รวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินที่โจทก์แล้วได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2270/2554  การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382  จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่  ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี  2529  ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด  ต่อมาปี  2533ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาทผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด  ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก  ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี  2533  เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่  20  กรกฎาคม  2541  ยังไม่ครบ  10  ปี  ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
                คำพิพากษาฎีกาที่  677/2550  การครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382  นั้น  อสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์จะต้องเป็นของบุคคลอื่น  ซึ่งก็คือบุคคลนั้นจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง  หลักฐานที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นคือโฉนดที่ดินเพราะเป็นหลักฐานทางทะเบียนของทางราชการ  ดังนั้น  การครอบครองที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น  ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย  เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2539  เช่นนี้  การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่  8  พฤษภาคม  2539  เป็นต้นไปเท่านั้น  ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดไม่อาจนำมารับรวมกันได้  เมื่อคิดถึงวันที่  6  พฤศจิกายน  2540  ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงยังไม่ถึงสิบปี  จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382

                คำถาม  ผู้สั่งจ่ายเช็คแก้ไขวันเดือนปีในเช็คโดยผู้ทรงยินยอมจะถือว่าเป็นการขยายกำหนดอายุความฟ้องร้องหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  1385/2554 เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้  ย่อมโอนเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คในกรณีเช็คระบุชื่อ  หรือด้วยการส่งมอบเช็คในกรณีเช็คผู้ถือ  เช็คพิพาททั้ง  5  ฉบับ  เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดโดยมิได้ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือออก  จึงเป็นเช็คผู้ถือ  โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาทไว้ในครอบครอง  โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  904  เมื่อการแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นการแก้ไขโดยจำเลยที่  1  ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงยินยอม  เช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้ต่อจำเลยที่  1  ซึ่งเป็นผู้แก้ไขตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1007  วรรคแรก  โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินตามที่แก้ไขนั้นหาใช่เป็นเรื่องขยายอายุความฟ้องร้องไม่


                คำถาม  สัญญาจ้างทำของ  มีข้อสัญญาทำนองว่า  เมื่อมีการเลิกสัญญา  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องใช้ค่างานแก่ผู้รับจ้าง  ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นเบี้ยปรับหรือไม่  หรือจะต้องบังคับตามข้อสัญญาดังกล่าว
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  4330/2554 โดยปกติเมื่อสัญญาเลิกกัน  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้  ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามสมควรค่าแห่งการนั้นๆ  ตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.พ.พ.  มาตรา  391  วรรคหนึ่งและวรรคสาม  โจทก์ผู้รับจ้างจึงย่อมมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้างไปแล้ว  การที่สัญญาข้อ  9  ดังกล่าวระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ  ไม่ได้เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์  จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ  ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  383  วรรคหนึ่ง  หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาด  เป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค  9  วินิจฉัยเสมอไปไม่  คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ทำงานตามจำนวนค่าจ้างไปเป็นเงิน  504,000  บาท  จำเลยชำระแล้ว  300,000  บาท  เมื่อคำนึงถึงค่าปรับรายวันที่จำเลยมิได้เรียกร้องประกอบกับความเสียหายอย่างอื่นที่จำเลยได้รับแล้วเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีกเพียง  50,000  บาท  ซึ่งแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะใช้ถ้อยคำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้าง  แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเงินตามควรค่าแห่งงานที่กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์เพื่อการกลับคืนสู่ฐานะเดิมและศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงแล้วนั่นเอง  หากจำเลยเห็นว่าตนไม่ต้องรับผิดก็ชอบที่จะอุทธรณ์  แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์  เพียงแต่มีคำขอมาในคำแก้อุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น  ซึ่งไม่อาจกระทำได้  ปัญหาว่าจำเลยจะต้องชำระเงินจำนวน  50,000  บาท  แก่โจทก์หรือไม่  จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค  9  จะต้องยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยอีก


                คำถาม  มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด  หุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าวจะต้องรับผิดหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2778/2552 จำเลยที่  3  เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่  1  ระหว่างวันที่  28  ธันวาคม  2543  ถึงวันที่  27  มกราคม  2545  มูลหนี้ที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่  3  จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่  1  ซึ่งจำเลยที่  3  ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด  2  ปี  นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1068  ประกอบมาตรา  1080  แต่ข้อเท็จจริง  ปรากฏว่าจำเลยที่  3  ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่  28  มกราคม  2545ความรับผิดของจำเลยที่  3  ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่  28  มกราคม  2547การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่  3  เป็นคดีนี้เมื่อวันที่  17  มิถุนายน  2548  จึงเกินกำหนดเวลา  2  ปีแล้ว  จำเลยที่  3  จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1068  ประกอบมาตรา  1080  โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้นี้มาฟ้องจำเลยที่  3  เป็นคดีล้มละลายได้

                คำถาม  ใช้ปืนยิงผู้อื่น  แต่ลูกกระสุนปืนมีกำลังอ่อน  ผู้ถูกยิงจึงไม่ถึงแก่ความตายเป็นความผิดพยายามฆ่าผู้อื่นตาม  ป.อ.  มาตรา  80  หรือ  81
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  77/2555 ลูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงไม่ทะลุผ่านผิวหนังทำอันตรายแก่อวัยวะภายในของผู้เสียหายที่  1  เป็นเพราะมีกำลังอ่อน  มิใช่เพียงแต่ผู้เสียหายที่  1  ถูกยิงในแนวเฉียง  การกระทำของจำเลยย่อมไม่สามารถจะบรรลุผลให้ผู้เสียหายที่  1  ถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้  จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ประกอบมาตรา  81  วรรคแรก  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  195  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  225

                คำถาม  การให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้อื่นโดยให้เปลี่ยนข้อหาให้เบาลง  จะเป็นความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  144  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3096/2552  จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจ  ช.  เพื่อขอให้ช่วยเหลือ  พ.  กับพวก  โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยเสนอให้เงิน  70,000  บาท  ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ  ช.  ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  เพื่อพันตำรวจตรี  ต.  ผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจ  ช.  ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจ  ช.  และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้นำเงินมอบให้และจับกุมได้พร้อมเงินของกลาง  จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ  ช.  และพันตำรวจตรี  ต.  เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  144


                คำถาม  ผู้เริ่มก่อการและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิในนามของบริษัท  บ.  แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท  จะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ที่ตัวแทนของบริษัท  บ.  กระทำไปหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3411/2553 จำเลยที่  8  ซื้อสินค้าจากโจทก์ในฐานะตัวแทนของบริษัท  บ.  เมื่อบริษัท  บ.  ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท  จำเลยที่  1  ถึงที่  4  ที่  6  และที่  7  ในฐานะผู้เริ่มก่อการจึงต้องรับผิดชำระค่าสินค้าต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1113
                บริษัท  บ.  ซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงแรม  อันเป็นกิจการของบริษัท  บ.  อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด  5  ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/33

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 8

.....................................................

                  คำถาม   การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันในอาคารโดยการนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งที่อาคารด้านหน้าเป็นการบังหน้า  เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  3279/2554  จำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการบริษัท อ. ในอาคารที่เกิดเหตุอย่างแท้จริง การนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งไว้ที่อาคารด้านหน้าโดยต่อมามีการเช่าอาคารส่วนกลางและด้านหลังเพื่อการเล่นพนันไพ่บาการา  จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่บาการาในอาคารที่เกิดเหตุ  โดยนำชื่อบริษัทซึ่งเป็นสำนักงานทนายความและชมรมมาบังหน้าเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันมาแต่ต้น  ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209)
                 
                 คำถาม   ปลอมใบรับรองเงินฝากของธนาคาร  โดยที่ธนาคารไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากจึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง จะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ.มาตรา 265 หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า  โจทก์ร่วมไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากตามเอกสารหมาย จ. 4  จึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง  เอกสารหมาย จ. 4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิปลอมนั้น  เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงก่อน  เมื่อจำเลยที่  2 ทำปลอมใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4 ขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4  จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

                 คำถาม   ผู้ครอบครองที่ดินแทนบุคคลอื่น  หากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวม  การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน  จะต้องบอกกล่าวแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 3869/2554   ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า  จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่นาย บ. ด้วยถือเป็นการบอกกล่าวที่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับนาย บ.  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท  โจทก์และนาย บ. คนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์จัดการดูแลที่ดินพิพาททั้งหมด ดังนี้  การที่จำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ ก็ย่อมมีผลเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1381  แล้ว  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ครบทุกคน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

                 คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดขับรถยนต์พาพวกมายังบ้านผู้เสียหาย แต่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยในการติดต่อเจรจาในการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขาย  จะถือว่าเป็นตัวการหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  225/2555   จำเลยที่  1 และที่  2 ร่วมกันกระทำความผิดโดยพูดจาหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมแปลงหมายเลขออกขายให้แก่ผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยติดต่อเจรจากับผู้เสียหาย  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่  3 เป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดฐานใช้สลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอม จากการที่จำเลยที่  3  เป็นผู้ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1  และที่  2  มายังบ้านผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขายเพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่  1  ก่อนการกระทำความผิด จำเลยที่  3 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่  1 ในการกระทำความผิดต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

                คำถาม   ในสัญญาจะซื้อขาย คู่สัญญาจะโอนสิทธิ์ของตนให้แก่บุคคลอื่นตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2618/2549  ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายดินกับโจทก์ จำเลยที่  1  ได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และได้มีการขุดดินไปจนครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าดินอีก  1,232,650 บาท
                ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า  จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์หรือไม่  ข้อตกลงตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่  1 กับจำเลยที่ 2  เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1  โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2  มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น  กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306  มาใช้บังคับได้ แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1  โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว  โจทก์กับจำเลยที่ 2  ได้ทำข้อตกลงกันตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน  ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่  2  ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1  ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และจำเลยที่ 2  ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบตามสัญญาแล้ว  จำเลยที่ 2  ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญา  จำเลยที่ 2  ตกลงจะชำระค่าดินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 2  ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย จึงถือได้ว่าข้อตกลงตามรายงานประจำวัน  เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ เมื่อหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1  กับจำเลยที่ 2  ระบุให้จำเลยที่  2  จะได้แจ้งเรื่องการโอนสิทธิดังกล่าวไปยังโจทก์ให้ทราบเรื่องและปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกันต่อไป  สัญญาที่ทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2  ที่ว่านี้จึงหาได้ทำโดยขืนใจจำเลยที่  1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมไม่  ย่อมมีผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  2  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  1  ตามสัญญาจะซื้อขายดิน  เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา  349 แล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1  รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  6494/2541  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  กล่าวคือ  พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ พ. ในขณะเดียวกัน พ. ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก พ.  แม้ว่า พ.  จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา  306 วรรคแรก ได้ก็ตาม  แต่ พ. ก็ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่าง พ. กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ได้
                 อย่างไรก็ดี หากผู้ขายได้ชำระหนี้ส่วนของตนให้แก่ผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ขายย่อมอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้อย่างเดียวจึงย่อมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   5574/2551   แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส.  กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย  ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระค่าที่ดินที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์ จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้วก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก  จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

                 คำถาม   ก่อสร้างถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1312  หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   2743/2541   จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15  ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน  4  ต้น โดยมี ส. เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนนและโจทก์รู้เห็นการก่อสร้าง  ทั้งโจทก์ และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์  การกระทำของจำเลยที่ 1  และที่  3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลิ่นเล่อไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1  และที่  3  ได้
                  สิ่งที่จำเลยที่ 1  และที่  3  ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน  แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต  กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้  เมื่อเป็นกรณีไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง  จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310  บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย  และเมื่อสิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน  ซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่  3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1310 วรรคสอง