วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 11


....................................

                 คำถาม  การใช้สิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกัน หากต่อมามีการโอนที่ดินแปลงหนึ่งไป ผู้รับโอนจะนำสิทธิที่เจ้าของรวมมีอยู่ในที่ดินที่รับโอน มารับต่อเนื่องเพื่อให้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๐๑๕/๒๕๕๓  ขณะที่  ส.  ซื้อที่ดินแปลงแรก  และต่อมา  พ.  ซื้อที่ดินแปลงที่  ๒  นั้น  ส.  และ  พ.  อยู่กินฉันสามีภริยาแล้ว  แม้จะไม่ได้ความว่า  ส.  และ  พ.  ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ทั้งการที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง  และการที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑  จะต้องเป็นการใช้เพื่อตน  มิใช่เป็นการอาศัยเมื่อการใช้สิทธิในที่ดินของ  ส.  ทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับ  พ.  มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอมในช่วงเวลาดังกล่าว  โจทก์จะนำสิทธิที่  ส.  มีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่  เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดิน  มีโฉนดจาก  ส.  ในปี  ๒๕๓๖  นับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง  ๑๐  ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑

                คำถาม  ซื้อขายรถยนต์โดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ  หากผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบถ้วน  ผู้ขายไปเอารถยนต์คืนมา  จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๐๓๑๔/๒๕๕๓  จำเลยขายรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้เสียหายโดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้แก่ผู้เสียหาย  โดยที่สัญญาจะซื้อขายไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ไว้  การซื้อขายรถยนต์ของกลางจึงเสร็จเด็ดขาดและกรรมสิทธิ์โอนขณะทำสัญญาตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๔๕๓  และมาตรา  ๔๕๘  การชำระราคาไม่ครบถ้วนกรณีนี้ไม่เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนแก่ผู้เสียหาย  ผู้เสียหายจึงได้กรรมสิทธิ์นับแต่วันทำสัญญา  เมื่อสัญญาซื้อขายไม่กำหนดเวลาชำระราคาไว้  ผู้เสียหายจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระราคา  การที่จำเลยเอารถยนต์ของกลางไปจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายและที่จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ผู้เสียหายนำรถยนต์ของกลางไปห้างที่เกิดเหตุโดยจำเลยอ้างต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าบัตรจอดรถหายแล้วใช้บัตรจอดรถที่อ้างว่าหายนำรถยนต์ของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย  แสดงว่าได้มีการวางแผนลักทรัพย์รถยนต์ของผู้เสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นขั้นตอน  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                คำถาม  ผู้ขายโอนขายห้องชุดแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนผู้ซื้อบอกเลิกสัญญา  ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่  และจะต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนบอกเลิกสัญญาหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๑๕/๒๕๕๓  เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย  คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา  กล่าวคือ  โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์  แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา  ดังนี้  การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก็ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย  โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๓๘๙  โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา  ๓๘๗  ก่อน  การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว  เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา  คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  กล่าวคือ  จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  ๗.๕ต่อปี  นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้  ทั้งนี้ตามมาตรา  ๓๙๑  วรรคหนึ่งและวรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๗
                คำถาม  กรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  นั้น  หมายถึงที่ดินแปลงเดิมต้องมีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้วในขณะแบ่งแยกหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๓๒๕/๒๕๕๓  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว  ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย  ๑  กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  มาบังคับได้  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  ๓  ทาง  แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ  อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์  ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้  และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให่โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย  ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก  จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้  แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๔๐๘/๒๕๕๑  การที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๕๐  มาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา  ๑๓๔๙  ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
                เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้  ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ  แต่การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม  มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  ๑๓๕๐  แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา  ๑๓๔๙
                โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของบุคคลอื่นที่มิได้หวงห้ามโจทก์  การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์  แต่ทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องเดือดร้อนและเสียหาย  และถ้าหากให้จำเลยที่  ๑  เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็น  จะทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก  อันจะทำให้จำเลยที่  ๑  ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสาม  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๙๓๕/๒๕๔๔  ที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้สัญจรตามปกติจึงเป็นทางสาธารณะ  ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคหนึ่ง
                บ้านบางหลังของฝ่ายโจทก์เป็นบ้านยกพื้น  อยู่สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำประมาณ  ๗๐  เซนติเมตร  แสดงให้เห็นว่า  ระดับน้ำในแม่น้ำกับริมตลิ่งย่อมจะน้อยกว่า   ๗๐  เซนติเมตร  กรณีไม่ถือว่าเป็นที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามความหมายของมาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสอง
                เมื่อที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดกับทางสาธารณะ  แม้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ใช้ทางสาธารณะนี้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว  ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้
                ที่ดินของโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และโจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  แปลงอื่น  ซึ่งไม่ได้ติดทางสาธารณะโดยตรงนั้น  เป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินที่ติดทางสาธารณะ  หากโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และ  โจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  จะเรียกร้องเอาทาง  ก็ต้องเรียกร้องเอาจากที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน  ไม่อาจที่จะเรียกร้องขอใช้ทางพิพาทได้

                คำถาม  รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิด  เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ  จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๖๑๑/๒๕๕๓  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ  โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม  ป.อ.  มาตรา  ๑๓๗,  ๑๗๔  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๑๗๓  นอกจากนี้  จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วม  อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง  จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น