วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 16

...........................................


                  คำถาม   ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่า  เมื่อหมดสัญญาแล้ว  ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่า ต่อไปอีก ให้ผู้เช่ามาทำสัญญาเช่าใหม่หรือจะต้องทำความตกลงเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อนเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  8692/2549   ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 10 ระบุว่า ก่อนที่สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน  ส่วนค่าเช่าจะเป็นอย่างใดนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า และตามคำมั่นให้เช่าที่ดิน ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย  แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน  ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว  แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาฉบับใหม่  ดังนั้น  การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ก็หาได้ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 569/2525  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารให้ผู้อื่นเช่าช่วงมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปีถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้มาทำสัญญาใหม่ แต่สัญญาใหม่นี้ยังจะต้องตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าและกำหนดเวลาเช่า ดังนี้ เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้วโจทก์เสนอขอเช่าต่ออีก  แต่จำเลยไม่ตกลงตามที่โจทก์เสนอ  ทั้งได้บอกเลิกสัญญาและให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าจึงไม่มีสัญญาเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย
                 ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้ผู้เช่ามาทำสัญญาใหม่ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า
                   
                  คำถาม  คำมั่นจะให้เช่าระบุไว้ในสัญญาเช่า  เมื่อผู้เช่าสนองรับ  จะต้องมาทำสัญญาเช่ากันใหม่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  748/2533   หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า  ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว  ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี  ทั้งนี้โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่าเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม  ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่  และตามข้อตกลงนี้มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิจะเรียกร้องบังคับเอาได้  ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า  ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 1765/2517   สัญญาเช่ามีข้อความว่า  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว  ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้  ทั้งนี้  ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้  เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลาเท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว  และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม  โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก
                   
                  คำถาม   สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดกว่า 3 ปี มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าไว้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า  หากผู้เช่าสนองรับคำมั่นสัญญาเช่าเกิดขึ้นหรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  563/2540  เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้  จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป  คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ 2 (ก) ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปี ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วย  ดังนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก
                   
                   คำถาม    คำมั่นจะให้เช่ามีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ค.  ค. ให้จำเลยเช่า ต่อมา ค. โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้  ค. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ค. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3 ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
           
                   คำถาม  กรณีที่มีการบังคับจำนอง  โดยเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาดแต่ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 นั้น  หมายความเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3535/2550  ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  733 บัญญัติว่า “......ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น”  ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า  ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น  อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตรา ดังกล่าว  คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
                    ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 733  หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่  ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลอดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้  จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
                     
                    คำถาม   ความผิดฐานฉ้อโกงจะต้องได้ความว่าผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ขอให้ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่าผู้หลอกลวงไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1733/2516   จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่ามีรถยนต์ขนส่งนักร้อง นักดนตรี และเครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องให้ช่างแก้ไข  จึงว่าจ้างรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่ง เมื่อส่งเรียบร้อยแล้วจำเลยจะให้ค่าขนส่งแก่ผู้เสียหาย 1,000 บาท ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงดังกล่าว  ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงจัดการรับจ้างขนส่งให้จำเลยนั้น  การที่จำเลยกล่าวหลอกลวงหรือปกปิดความจริงก็เพื่อให้ผู้เสียหายรับจ้างทำการขนส่งให้จำเลยเท่านั้น จำเลยได้รับผลเพียงการขนส่งจากผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ส่วนเงินค่าขนส่ง 1,000 บาท ที่จำเลยไม่ได้ชำระให้ผู้เสียหายนั้น เป็นทรัพย์สินที่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาจากจำเลยภายหลังเมื่อขนส่งให้จำเลยถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3667/2542  จำเลยทั้งสองร่วมกันนำ ธ. มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โจทก์ร่วม โดยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า ธ. คือ บ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงรับ บ. เป็นสมาชิก ความจริงแล้วขณะนั้น บ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้  การหลอกลวงมีผลเพียงให้โจทก์ร่วมกับ บ. เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมไม่ แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 92,000 บาท แต่ก็เนื่องจาก บ. ถึงแก่กรรมหาใช่เนื่องจากจำเลยทั้งสองหลอกลวงไม่  การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่สั่งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 92,000 บาท แก่โจทก์ร่วมได้

                   คำพิพากษาฎีกาที่  7264/2543  โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14 ต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถ โจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลย  โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ โจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลยหาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่ จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341  และมิได้เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น