แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดไฟล์เสียง เนติ นิติกรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดไฟล์เสียง เนติ นิติกรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น* ถอดไฟล์เสียง ห้องบรรยายเนติฯ 1/70 วิชา นิติกรรม-สัญญา อ.ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุทธยา (ภาคปกติ) 30 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่2

เจาะฎีกา ถอดไฟล์เสียง ห้องบรรยายเนติฯ 1/70 

วิชา นิติกรรม-สัญญา  อ.ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุทธยา  (ภาคปกติ) 30 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่2 
..............................


สัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2554 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14 และมาตรา 16 กฎหมายมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 ไว้ ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจึงไม่สามารถโอนสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับอนุญาตจะเปลี่ยนแปลงฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน เป็นการเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาตหรือการโอนสิทธิตามที่ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นนั่นเอง จึงไม่สามารถกระทำได้ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อตกลงเพิ่มเติมในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่ดำเนินมาภายหลังคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมตกไปด้วย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4391/2551 ตามสัญญาจะซื้อขาย ระบุว่า ผู้จะขาย (โจทก์) และผู้จะซื้อ (จำเลย) ตกลงซื้อสิทธิและอุปกรณ์พร้อมการทำประกันวินาศภัยในสำนักงานของโจทก์ ซึ่งเปิดเป็นสำนักงานที่ทำการประกันวินาศภัยของบริษัท ท. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่ความคือโจทก์และจำเลยว่า ประสงค์จะซื้อขายสิทธิในการทำสัญญาประกันวินาศภัยที่โจทก์มีอยู่กับบริษัท ท. และอุปกรณ์ในสำนักงาน แต่เนื่องจากสิทธิในการทำสัญญาประกันภัยหรือสิทธิในการเป็นตัวแทนประกันภัยเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่สามารถโอนกันได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ที่โจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาว่า เป็นสิทธิการเช่านั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ เนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9072/2547 ธุรกิจการค้าของโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขัน ข้อมูลความรู้ความลับทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ตามสมควร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ ทั้งข้อตกลงตามสัญญาจ้างทำงานก็มีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 2 ปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาจ้างทำงานดังกล่าว จึงหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

ข้อความในสัญญาที่ว่าจำเลยจะไม่ทำงานรับจ้างหรือให้ข้อมูลของโจทก์แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งมีลักษณะธุรกิจแบบเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันเลิกจ้าง หากผิดสัญญายอมให้ปรับ 200,000 บาท นั้น ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้หรือโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงจึงชอบด้วยกฎหมาย