แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาศาลฎีกา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาศาลฎีกา แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาบรรทุกเกิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
     การที่จำเลยใช้รถบรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 20,750 กิโลกรัม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน ทั้งทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตาม ป.อ. มาตรา 23

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559 แม้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ศาล หมวด 1 เขตอำนาจศาลได้บัญญัติเกี่ยวกับคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลว่าให้ฟ้องหรือร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ตามมาตรา 7 (1) แต่คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ ขอให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล มีผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดต่างขอให้ตั้งตนเป็นผู้อนุบาลด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้บังคับ ศ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรักษาเงินรายได้ของ ซ. ให้ส่งมอบเงินให้ ซ. โดย ศ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้อนุบาลแต่อย่างใดว่าไม่ยอมส่งมอบเงินรายได้ของคนไร้ความสามารถ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ศ. เป็นอีกคดีต่างหาก คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ใช่คำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559


      คำถาม ถ้าผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตายพร้อมกัน ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์นั้นตกแก่ใคร?

       คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้ (ป.พ.พ. ม.4, ม.374, ม.889, ม.1599)

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560 เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม..." ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้ 
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559

        ทนายความของบริษัทไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่แจ้งให้กรรมการทราบก่อน 
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559  ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวหากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ใบแต่งทนายความจำเลยระบุข้อความเกี่ยวกับอำนาจของทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของจำเลย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ โดยมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพร้อมตราประทับของจำเลยถูกต้องตามหนังสือรับรองของจำเลย ทนายความจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทนายความจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559

           คำว่า ผู้อื่น ตาม ปอ.มาตรา 334 จะเป็นใครก็ได้ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง(ในส่วนของเจ้าทรัพย์) ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559  แม้ความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น แต่กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าบริษัท ส. นายจ้างของจำเลยเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่าบริษัท ช. เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป จึงเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการถือกรรมสิทธิ์รวม และเพิกถอนการจดทะเบียนการขายเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถกระทำได้ ให้นำที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนหรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ขอตีมูลค่าที่ดินพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท และคืนเงินทุนให้โจทก์ 680,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
  เห็นว่า
สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012
   เมื่อพิจารณาสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ ข้อ 9 ที่ว่า "เจ้าของที่ดินเมื่อสิ้นสุดสัญญา หรือโครงการสิ้นสุด มีความประสงค์ที่จะขายที่ดินพิพาท ต้องแจ้งให้ผู้ร่วมโครงการทราบก่อนที่จะบอกขายแก่บุคคลภายนอกโครงการ" จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ให้สัญญา และเป็นผู้ออกเงินลงทุนในโครงการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว หากโจทก์ในฐานะผู้รับสัญญาไม่ดำเนินการจัดจำหน่ายดินลูกรัง หรือกีดกันหน่วงเหนี่ยวเมื่อลูกค้ามีใบสั่งซื้อให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหมดสิทธิในการดำเนินการในที่ดินพิพาททุกกรณีตามข้อ 6.1 และหากพบการฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์หรือบุคคลอื่นที่กระทำและโจทก์รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ตามข้อ 6.2.2
  แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว ส่วนโจทก์เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมากกว่าจำเลยที่ 1 ดังนั้น คำว่า "เจ้าของที่ดิน" ตามข้อ 9 จึงหมายถึง จำเลยที่ 1 ส่วนคำว่า "ผู้ร่วมโครงการ" หมายถึง โจทก์
  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทดังฎีกาโจทก์
   การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้นเป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม และมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่ประการใด
  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
    ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุนอีกจำนวน 680,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องให้แก่โจทก์ด้วยนั้น
   เห็นว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์เอกสารหมาย จ. 7 ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2560

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกา กฎหมายพยาน เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558

คำพิพากษาฎีกา กฎหมายพยาน เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2558
บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายและ ป. พยานโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่า การวินิจฉัยพยานหลักฐานต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยเว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ผู้เสียหายให้การว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยืนอยู่บนบ้านพักชั้นสาม ส่วน ป. ให้การว่าเห็นจำเลยอยู่ตรงระเบียงหน้าบ้านชั้นสาม ซึ่งขัดแย้งกับภาพถ่ายบ้านจำเลยที่ไม่มีระเบียงบ้าน ผู้เสียหายให้การว่าได้ยินเสียงจำเลยร้องหลังจากเสียงปืนนัดที่สองว่า "เครียดโว้ย นอนไม่หลับ" แต่ ป. ให้การว่าเมื่อได้ยินเสียงปืนนัดแรกหันไปเห็นจำเลยถืออาวุธปืนพกจ้องมาจากหน้าต่างบ้านชั้นสามแล้วยิงอีกหนึ่งนัด จำเลยพูดว่า "จบ" ผู้เสียหายให้การว่าขณะเกิดเหตุมีแสงไฟนีออนในบ้านจำเลยเปิดสว่างมองเห็นตัว ส่วน ป. ให้การว่าบ้านจำเลยไม่เปิดไฟ และพยานโจทก์ทั้งสองตรวจดูและลงชื่อรับรองความถูกต้องในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผ่านหน้าต่างชั้นสองของบ้าน คำให้การในชั้นสวบสวนของพยานโจทก์ทั้งสองขัดแย้งแตกต่างกันโดยตลอด ส่อให้เห็นถึงความไม่ยึดมั่นต่อความจริง มุ่งจะเสริมแต่งข้อเท็จจริงเพื่อปรักปรำจำเลยมากกว่า จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นในการรับฟัง การที่ศาลจะรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสองยิ่งกว่าคำเบิกความต่อศาลนั้น จะต้องมีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด แต่โจทก์ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นในความไม่น่าเชื่อถือในคำเบิกความของพยานว่าเป็นการบ่ายเบี่ยงข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลย จึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีอันควรแก่การเชื่อถือ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นที่รับฟังได้มาสนับสนุน จึงไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558

ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกา กฎหมายรัฐธรรมนูญ เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558

คำพิพากษาฎีกา กฎหมายรัฐธรรมนูญ เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2558

การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและให้อัยการสูงสุดฟ้องคดียังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน ฉะนั้นความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งทางการเมืองที่กล่าวไว้โดยเฉพาะ มิใช่ข้าราชการการเมืองทั่วไป ทั้งความหมายของคำว่า ข้าราชการการเมืองอื่นตามคำนิยามศัพท์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (5) ก็บัญญัติไว้แยกต่างหากจากคำว่าผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 4 (7) ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่จำเลยดำรงตำแหน่ง มิได้อยู่ในความหมายของคำว่าข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 คดีของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ฎีกา วิ.อาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558

ฎีกา ป.วิ.อาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4604/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 43 ที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนในคดียักยอกทรัพย์นั้น หมายรวมทั้งคดีเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 147 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2558
เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นที่เกิดเหตุโดยมีหมายค้น แต่คนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจประตูรั้วบ้าน และเค้าไปดำเนินการตรวจค้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6295/2558
แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง กำหนดว่า การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหลังจากสืบพยานประเด็นโจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ว่า ทนายผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นขอยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ เนื่องจากทนายผู้ร้องยังไม่ทำคำร้องดังกล่าว เท่ากับทนายผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลาให้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับศาลชั้นต้นได้กำหนดเวลาให้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2558
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับ อ. ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแต่ข้อเท็จจริง ตามทางพิจารณาได้ความว่า อ. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย หลังจากนั้น อ. จึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายก่อนที่จะส่งมอบ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2558
ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 943,606 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2558
เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า กระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงร่วมกับอาวุธปืนที่มีกลไกบรรจุกระสุนปืนเองและสามารถยิงซ้ำได้ และยิงเป็นชุดหรือยิงกล และมีขนาดความยาวของลำกล้องเกิน 160 มม. ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองแล้ว โดยไม่จำต้องบรรยายให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิตเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อีก



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10816/2558
ผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำร้องของผู้ร้องเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้ร้องอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้ร้องย่อมไม่มีฐานะเป็นคู่ความอันจะมีสิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10073/2558
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ต้องสอบถามจำเลยด้วยว่าจะให้การรับสารภาพในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรถยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของยังมิได้เสียภาษี การที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดแจ้ง กลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไปตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ชอบไปด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8420 - 8421/2558
แม้ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 กรณีผู้ร้องที่ 2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1 ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่ 1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2558
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 336 ทวิ และมีคำขอให้จำเลยคืนโครงหลังคาเหล็กของโรงงานและอุปกรณ์ส่วนควบของอาคารโรงงานหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและราคาทรัพย์ใช้แทนย่อมรับฟังเป็นยุติตามฟ้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้รับว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตและโรงเรือนมีสภาพเก่ามีราคาเพียง 50,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอส่วนแพ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2558
ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558

โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าศาลผ่านล่ามโดยมีทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมฟังการเบิกความและถามค้านโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ไม่สามารถเบิกความในชั้นพิจารณาได้ เนื่องจากถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร ดังนั้น บันทึกคำเบิกความโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 กรณีหาจำต้องให้คู่ความตกลงกัน จึงจะนำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังได้ตามมาตรา 237 ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2558
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 167 บัญญัติว่า "ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง" และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลและให้ประทับฟ้องสำหรับข้อหาดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนในชั้นพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่มีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในข้อหาที่ศาลชั้นต้นสั่งว่ามีมูลแล้วขึ้นมาทบทวนและวินิจฉัยยกฟ้องข้อหาดังกล่าวในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้อีก

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558

คำพิพากษาศาลฎีกา กฎหมายอาญา 5ดาว ปี 2558


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2558
ตาม ป.อ. มาตรา 276 (เดิม) ผู้ที่จะมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราต้องเป็นชายข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาตน แต่ตาม ป.อ. มาตรา 276 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ทั้งชายและหญิงอาจจะมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแม้จะกระทำต่อภริยาหรือสามีของตนเอง หากมีการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ดังที่บัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 276


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558
จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2558
ความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกเพิงขายอาหารชั่วคราวในที่ดินโจทก์ร่วมเมื่อปี 2547 การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินโจทก์ร่วมต่อมาหลังจากนั้นด้วยการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตชั้นเดียวจนถึงช่วงเกิดเหตุตามฟ้องคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องในอันที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานบุกรุกขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2558
จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2558
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 โดยมิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 392 แม้การที่จำเลยใช้มีดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือตกใจเป็นความผิดตาม มาตรา 392 ก็ตาม แต่ความผิดฐานนี้ไม่ใช่การกระทำอันรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 392 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2558
แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้บัตรเครดิตปลอมทั้ง 5 ใบ ในคราวเดียวกัน แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์บัตรเครดิตของกลางว่า บัตรเครดิตปลอมแต่ละใบมีข้อมูลในบัตรของผู้ถือบัตรต่างรายกัน ต่างหมายเลขกันและมีข้อมูลของสมาชิกผู้ถือบัตรต่างธนาคารกัน บัตรทุกใบมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสดได้ ทั้งโดยสภาพของการใช้บัตรดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาให้มีการนำไปใช้แต่ละใบแยกต่างหากจากกัน ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรตามเนื้อความของบัตรเครดิตปลอมแต่ละใบ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวม 5 กระทง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปกอด จูบ ดูดหัวนมและจูบอวัยวะเพศ อันเป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม โดยไม่ได้บรรยายว่า มีการขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อุบายหลอกลวง ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก ที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2558
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ลงมือยิงผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วก่อนที่จำเลยจะลงมือใช้ดาบฟัน ต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้เจตนาว่า จำเลยก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายเช่นกัน จำเลยเองก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะ ว. ใช้ปืนยิง ซึ่งจำเลยสามารถช่วยเหลือได้ทันที เมื่อจำเลยมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ชักนำในการก่อเหตุ จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการด้วยกันกับ ว. จำเลยจึงต้องรับเอาผลที่ ว. ยิงผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บไม่มีเจตนาฆ่า เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่า จำเลยฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จำเลยไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ ทั้งคำแก้ฎีกาดังกล่าวมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกา จะขอมาในรูปคำแก้ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558
จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2558
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ทำให้ปราศจากเสรีภาพเพื่อให้ผู้อื่นทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 3 ผู้กระทำผิดเป็นคนไทยและผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 3 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรและศาลไทยจะลงโทษได้เฉพาะความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และมาตรา 310 ประกอบมาตรา 8 ตาม ป.อ. เท่านั้น ศาลฎีกาต้องตีความกฎหมายทางอาญา โดยเคร่งครัด จะขยายความมาตรา 8 ไปไกลว่า กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอันมีโทษหนักขึ้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 หาได้ไม่ และมาตรา 12 นั้นเองไม่ได้บัญญัติว่า หากกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าภายในหรือนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558
ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12079/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์โดยลักกุญแจรถจักรยานยนต์ 1 ดอก ของผู้เสียหายไป ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ จำเลยใช้มีดทำร้ายผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถแต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี จากนั้นจำเลยใช้กุญแจรถดังกล่าวไขเบาะรถแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถดังกล่าวไป พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายเป็นอันดับแรก เมื่อไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ได้จึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์อีกชิ้นหนึ่งไป เมื่อจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพาย แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปย่อมเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10488/2558
ป.อ. มาตรา 38 บัญญัติว่า "โทษให้เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด" เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โทษตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นอันระงับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายยื่นคำร้องขอคืนค่าปรับที่จำเลยชำระต่อศาลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องคืนเงินค่าปรับให้แก่ผู้ร้อง




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2558
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์สวนทางกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล่นมา 6 คัน จากนั้นพวกของจำเลยขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งมาด่าผู้เสียหายแล้วกลับไปรวมตัวกับกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาพวกของจำเลยและจำเลยขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มายังบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วพวกของจำเลยใช้ขวดสุราขว้างปาใส่ผู้เสียหาย พฤติการณ์การเชื่อได้ว่า กลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการดังกล่าวเป็นกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มเดียวกันโดยมีจำเลยอยู่ร่วมกลุ่มด้วยมาโดยตลอด แสดงว่าจำเลยรับรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับขณะเกิดเหตุพวกของจำเลยที่ใช้ขวดขว้างปาใส่ผู้เสียหายยังใช้ผ้าปิดบังอำพรางใบหน้า ส่อแสดงว่าจะก่อเหตุร้ายขึ้นโดยไม่ให้มีผู้ใดจดจำได้ ซึ่งจำเลยย่อมตระหนักได้เป็นอย่างดี หากจำเลยไม่มีเจตนาร่วมกับพวกในการกระทำความผิด จำเลยก็ชอบจะแยกตัวไปโดยไม่เกี่ยวข้องด้วย พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่าจำเลยกับพวกคบคิดกันมาก่อนในการทำร้ายผู้เสียหาย และอยู่ในภาวะที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งยังหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558
การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน" ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6736/2558
รถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและขับรถหลบหนีด้วยความเร็วสูงโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ถือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงอันพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม. ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วยมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558

ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2555



 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18982/2555
จำเลยนั่งรถยนต์ที่มี ร. เป็นผู้ขับเพื่อส่งเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ เมื่อถึงจุดนัดหมาย ร. จอดรถสายลับเดินไปทางด้านซ้ายของรถที่จำเลยนั่งอยู่แล้วกระจกประตูรถด้านซ้ายลดลงสายลับคุยกับบุคคลภายในรถแล้วคนในรถส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับและสายลับส่งธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้แก่คนในรถ หากจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องสายลับก็ต้องเดินไปหา ร. ซึ่งเป็นคนขับ ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยรู้เห็นในการจำหน่ายและได้ช่วยเหลือในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจนทำให้การซื้อขายเป็นผลสำเร็จ อันถือได้ว่าจำเลยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18641/2555
ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์จะต้องเป็นความผิดที่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดและศาลพิพากษาลงโทษเป็นความผิดแล้ ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด จึงจะมีความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น แม้ความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357 จะไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดเลยก็ตาม ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยประการใด ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจรได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19980/2555
ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องและเบิกความเป็นเท็จด้วย ที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์เพียงบรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ซึ่งเป็นลูกความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องจะเป็นความเท็จหรือความจริงโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏว่า คำฟ้องเป็นความเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ว. ไม่ใช่โจทก์นั้น เป็นเพียงการอ้างผลของคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 หมายเลขแดงที่ 895/2549 ของศาลชั้นต้น ว่าศาลในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าอย่างไรเท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวยืนยันข้อความใดที่อ้างว่าเป็นความเท็จ โดยความจริงมีว่าอย่างไรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า โจทก์ทำหน้าที่เพียงเป็นทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ตัวความซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดี แต่การเป็นทนายความผู้เรียงคำฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทำไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงด้วยว่า ความจริงจำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่า โจทก์มิได้รู้เห็นหรือทราบมาก่อนว่าเรื่องราวตามที่โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น เป็นความเท็จ ลำพังการอ้างว่า โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความ จึงมิใช่เป็นการกล่าวถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จนั้นเช่นไร โดยมีความจริงเป็นอย่างไรและจำเลยทั้งสองทราบดีเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) คดีไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555
จำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก แสดงว่าจำเลยมิได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพา และแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19958/2555
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19715/2555
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำอนาจารโจทก์ร่วมใช้มือดึงเสื้อและเสื้อชั้นในของโจทก์ร่วมขึ้นแล้วจับหน้าอกของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมดึงเสื้อดังกล่าวลงมา จำเลยยังเอามือสอดเข้าไปใต้เสื้อของโจทก์ร่วม แล้วใช้มือกดที่หน้าอกของโจทก์ร่วมหลายครั้งและจำเลยเอามือสอดเข้าไปใต้กางเกงของโจทก์ร่วมและกดตรงหัวเหน่าของโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยตรวจรักษาโรคให้โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่นนี้ ถือว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19513 - 19514/2555
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกระเตรียมอาวุธปืนมาแก้แค้นทำร้าย บ. พวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบ บ. ก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหา บ. โดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ - ขนอม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบ บ. จึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วร่วมกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหา บ. ได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19406/2555
ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย พฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เพียงเพื่อให้ผู้เสียหายเกรงกลัวและยอมให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงย่อมมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกายระงับไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19287/2555
จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19280/2555
การที่จำเลยรับสัญญากู้เงินไว้จากโจทก์ แต่จำเลยไม่นำสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวฟ้อง ว. ต่อศาล เมื่อโจทก์ขอคืนแต่จำเลยไม่ให้ จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แต่โจทก์ยังมีสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน โจทก์ย่อมนำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบได้ โดยอ้างว่าต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทำลายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) โจทก์จึงไม่เสียสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้ ว. ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ การที่จำเลยไม่คืนสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินตามสัญญากู้เงิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19246/2555
โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้กับคดีอาญาอื่นอีกสี่สำนวนของศาลชั้นต้นในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้กับในคดีอื่นอีกสามสำนวนติดต่อกันไป ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอื่นอีกสามสำนวนนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอื่นอีกสามสำนวนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้นับโทษจำเลยติดต่อกันได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19016/2555
จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555
จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22725 - 22726/2555
วันเวลากระทำความผิดในสำนวนคดีแรกและในสำนวนคดีที่สองที่โจทก์บรรยายฟ้องทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรนั้นต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองคนละคดีเป็นรายกระทงความผิดจึงกระทำได้ ประกอบกับวันที่จำเลยถูกจับกุมมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกัน นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่บ้านพวกของจำเลยและที่ห้องพักของจำเลยคนละวันกัน แสดงว่าทรัพย์ของกลางที่ถูกตรวจค้นพบทั้งสองครั้งจำเลยมิได้รับไว้ในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้นแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22039/2555
แม้จำเลยจะกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จย้ายชื่อบุคคลทั้งแปดเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่น และแจ้งย้ายชื่อ พ. และ น. วันเดียวกัน แจ้งย้ายชื่อ ก. ต. ย. และ ม. กับ ส. วันเดียวกัน กับแจ้งย้ายชื่อ ธ. อีกวันก็ตาม แต่จำเลยก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลต่างรายกันและเข้าไปในทะเบียนบ้านคนละฉบับกัน จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยแจ้งย้ายบุคคลเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่นแต่ละฉบับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658/2555
ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20388/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจ ว. แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ ว. ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20377/2555
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเก็บกวาดเศษกระจก และเศษชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเฉี่ยวชนกับรถไถนาที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับซึ่งล้มอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน เป็นการกระทำด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษ และเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20375/2555
จำเลยที่ 1 ใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงยิงผู้เสียหาย ขณะที่ผู้เสียหายกอดรัดอยู่กับจำเลยที่ 2 แม้กระสุนปืนจะเฉี่ยวศีรษะของผู้เสียหายไปเป็นเหตุให้มีเพียงบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บเท่านั้นก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการยิงโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและจำเลยได้กระทำไปตลอดครบองค์ประกอบของความผิดฐานพยายามฆ่าแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า เมื่อผู้เสียหายหนีไปอยู่หลังกระต๊อบ จำเลยที่ 2 ไปลากผู้เสียหายออกมาแล้ว จำเลยที่ 1 จะยับยั้งไม่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายต่อไปจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องรับโทษสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ได้กระทำไปแล้ว กรณีหาใช่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำให้ตลอดหรือจำเลยที่ 1 กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 82



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20075/2555
จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสองนำเงินที่จะซื้อหวยมาทำพิธีทาน้ำมันตาทิพย์ก่อนจึงจะแทงหวยถูก เมื่อผู้เสียหายทั้งสองนำเงินใส่บาตรเพื่อให้จำเลยทำพิธี จำเลยไม่คืนเงินให้โดยแจ้งว่าขอให้นำเงินดังกล่าวร่วมทุนกับทางวัดเพื่อไปซื้อหวย ความจริงผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม แต่กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนและบุตรชาย แสดงว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะมอบเงินให้จำเลยไปซื้อหวยให้ เพราะสามารถซื้อเองได้อยู่แล้ว ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2557



 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2557
ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีที่ความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ บทบัญญัติของมาตรานี้มิใช่เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่จะต้องระบุในคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา186 (7) การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 20 ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7) ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2557

ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่ศาลจะต้องระบุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2557
ป.อ. มาตรา 1 (11) คำว่า "กลางคืน" หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายเมื่อระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ดังนั้น เวลาเกิดเหตุตามฟ้องของโจทก์คือ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกของวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ถึงเวลา 24 นาฬิกา ของวันเดียวกัน และเวลา 0.01 นาฬิกา ของวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไปแล้ว จนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นของวันเดียวกัน จึงเป็นเวลากลางคืนของวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2555 ติดต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557
แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2557
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยต่างวันเวลากัน ฟ้องของโจทก์จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละช่วงเวลา เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดฐานดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง แม้จำเลยจะกระทำความผิดดังกล่าวโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนแต่ละครั้ง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งที่จัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จในวันเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีเจตนากระทำความผิดต่างวันเวลากัน ก็ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5653/2557
พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มิใช่บทความผิดแต่เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นฟ้องร้องกรรมการบริษัท เรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือระงับการกระทำดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง และความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311 ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 311 อันเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 อีก



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8412/2557
พวกของจำเลยได้ร่วมกับจำเลยหามผู้เสียหายขึ้นไปในห้องบนชั้นสองเพื่อที่จะข่มขืนกระทำชำเรามาตั้งแต่แรก ครั้นจำเลยข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและออกจากห้องลงไปชั้นล่าง พวกของจำเลยเดินขึ้นมาและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อทันทีในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยกับพวกรู้กันโดยให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนแรก พวกของจำเลยเป็นคนที่สอง ถือได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8159/2557
การใช้เอกสารปลอมเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ฐานหนึ่ง แม้มาตรา 268 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 ... ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ก็ตาม แต่มิใช่จะถือว่าเป็นความผิดฐานเดียวกันกับความผิดนั้น ๆ เมื่อโจทก์บรรยายการกระทำความผิดในฐานนี้มาในคำฟ้อง แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. เฉพาะมาตรา 264 มิได้ระบุมาตรา 268 ด้วย จะถือว่าความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามที่พิจารณาได้ความหาได้ไม่ คำฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้ บ. เคยทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของตนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หลังจากที่พี่สาวของโจทก์ปลดจำนองแล้ว แต่เมื่อขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของ บ. ความเสียหายเกิดจากการร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงเกิดขึ้นแก่ บ. เท่านั้น โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10895/2557
สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุกาณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช. ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้ ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557
การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15450/2557
คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กรณีฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในครั้งหลังจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่อย่างไรเพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษต่อได้ จึงนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11898/2557
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557
การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18297/2557
คดีอาญาที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และจำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2556





คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2556 
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 15 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด แต่การที่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไประหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล และจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลไม่ได้ อายุความจึงยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 มกราคม 2553 นั้นเป็นเวลาเกิน 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ย่อมขาดอายุความ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งสองยังไม่อยู่ในอำนาจของศาลจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา การที่ศาลหมายแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองมีสิทธิไม่มาศาลในวันนัดได้ เพราะหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองมาฟังการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาล ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) และจะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้เพราะ ป.อ. มาตรา 95 บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดี หรือประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด แต่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเองเช่นนี้ ตามมาตรา 97 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อคดีของโจทก์มิใช่คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง กรณีไม่ต้องตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้ แม้ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การพิจารณาว่าความผิดฐานใดขาดอายุความต้องพิจารณาจากอายุความของความผิดฐานนั้นๆ เป็นหลัก มิใช่พิจารณาจากความผิดที่มีโทษหนักที่สุด



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333 - 339/2556 
การที่จำเลยทั้งเจ็ดทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกันต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2556
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้กับในคดีอีกสี่สำนวนของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาในวันเดียวกันและในเวลาใกล้เคียงเกี่ยวเนื่องกันติดต่อกันไป ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีนี้โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอื่นอีกสี่สำนวนนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่อย่างไร ทั้งตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอื่นอีกสี่สำนวนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษจำเลยติดต่อกันจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2556
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรกนั้น ต้องได้ความว่าผู้กระทำได้รับซื้อทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดลักษณะหนึ่งในแปดลักษณะ ซึ่งมีความผิดฐานฉ้อโกงรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่าซิมการ์ดของกลางที่จำเลยที่ 1 ซื้อมานั้น เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่องค์ประกอบความผิดของความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่โจทก์ได้นำสืบส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วนศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265 - 12266/2556
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ขอคืนของกลางตามบัญชีทรัพย์ที่ตรวจพบแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์เป็นของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงให้คืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9) ส่วนการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์อื่น ๆ เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13360/2556
การที่จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อมตีทำร้ายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้ได้ จนได้รับบาดแผลและถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13480/2556
ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายตรงกันเพียงว่า โจทก์ประสงค์จะได้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์เชื่อตามที่จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 สามารถช่วยเหลือได้เพราะจำเลยที่ 2 สนิทสนมกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสนิทสนมกับพลเอก ว. ซึ่งเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในขณะนั้นซึ่งต้องใช้เงินเป็นค่าประสานงาน 10,000,000 บาท โจทก์ต่อรองเหลือ 7,500,000 บาท และโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน 2,500,000 บาท เพื่อให้โจทก์ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรตำแหน่งดังกล่าวให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อจำเลยที่ 1 กับพวก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13193/2556
ความผิดฐานทำวัตถุระเบิดและฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 38 และมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 78 ด้วยกัน เมื่อวัตถุระเบิดที่จำเลยทำกับวัตถุระเบิดที่ครอบครองเป็นระเบิดลูกเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18180/2556
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20936/2556
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วสูงเสียหลักลื่นไถลออกนอกเส้นทางพุ่งชนรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับสวนทางมา โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งโดยสารมาด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยไม่คัดค้านในการที่โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ แต่การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในฟ้องว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าจำเลยจะคัดค้านหรือไม่ดังนี้ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4 (2) หรือมาตรา 5 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้เกี่ยวข้องกับบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลของบุตรโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21553/2556
ป.อ. มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับรายวันแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21554/2556
ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีบรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดหรือบทกำหนดโทษ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ปรับบทดังกล่าวแล้วลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556
การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12031/2556
แม้พฤติการณ์ที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ในเวลากลางคืน 4 ครั้ง ต่างวันกันจะส่อไปในทางที่ผู้เสียหายที่ 3 บุตรผู้เยาว์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 รู้เห็นยินยอม แต่การที่จำเลยเข้าไปในบ้านเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายที่ 3 โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุไม่ยินยอมถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11974/2556
จำเลยเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบหมายให้จำเลยทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาไทย ศิลปะ และการงานอาชีพหรือเกษตรกรรมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้เสียหายเรียนอยู่ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนผู้เสียหายหรือนักเรียนร่วมชั้นให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ ฐานะของผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285 การกระทำชำเราโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่าจำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11817/2556
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ซึ่งความผิดดังกล่าวศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ กรณีจึงไม่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72, 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า "การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส" ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9912/2556
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนผู้ตายเป็นผู้หาข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการดังกล่าวให้แก่ทางราชการ ในวันเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์กลับจากทำละหมาดจะไปยังบ้านพัก จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ตามสะกดรอยไปจนถึงบ้านพักของผู้ตาย แล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย เมื่อภริยาของผู้ตายได้ยินเสียงปืนได้ออกมาดูแลถามจำเลยที่ 2 ว่าเหตุใดจึงยิงผู้ตาย จำเลยที่ 2 ขู่ภริยาของผู้ตายให้อยู่เฉย ๆ พร้อมกับจ้องปืนเล็งไปที่ภริยาของผู้ตาย โดยไม่ได้แสดงพฤติการณ์ให้เห็นว่าเป็นการสร้างความวุ่นวายและความไม่สงบให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตาม ป.อ. มาตรา 135/1 (1) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2556
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า "พราก" มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10908/2556
จำเลยฆ่า ส. ผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ส. จึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. มารดาของ ส. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 รวมทั้งไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กับไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ว. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879/2556
แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556
ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2556
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตรามีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปมีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขดังกล่าวมิใช่การกระทำในขณะจำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไข จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จแต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2556
ผู้เสียหายมีอาชีพทำฟาร์มโค ฟางอัดแท่งที่เก็บอยู่ในโรงเก็บฟาง ไม่ใช่สินค้าที่มีไว้เพื่อการค้าของผู้เสียหาย แต่น่าจะมีไว้เลี้ยงโคผู้เสียหายเองมากกว่า โรงเก็บฟางที่จำเลยวางเพลิงจึงมิใช่โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าตามความหมายของมาตรา 218 (2) แต่เป็นทรัพย์ทั่วไปของผู้อื่นตามมาตรา 217 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8016/2556
จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า "ตำรวจแม่ง...ใช้ไม่ได้" เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 โดยกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับรองว่าที่พิพาทได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงที่พิพาทมีสภาพเป็นภูเขาไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาท ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวประสงค์เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่ว่ากันในชั้นสืบพยานได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เพื่อให้ ส. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอรับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ มีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556
จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556
จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7479/2556
แม้ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดในบริเวณบ้านของผู้เสียหายและสอบถามหาผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายออกจากห้องครัวมา จำเลยสอบถามเรื่องไก่ของจำเลยที่หายไปและให้ผู้เสียหายดูแลคนงานของผู้เสียหายให้ดี ๆ จนเกิดการโต้เถียงกัน ผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้าน จำเลยยังไม่ยอมออก จากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 นาที จำเลยจึงเดินไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลย ขับออกไปจากบ้านผู้เสียหาย แต่เมื่อพิจารณาลักษณะและสภาพที่ตั้งบ้านของผู้เสียหาย เป็นบ้านชั้นเดียว มีเสารั้วปูนปักรั้วล้อมรอบและขึงด้วยลวดหนามเว้นช่องทางเข้าบ้านไว้ ไม่มีประตูกั้น ถนนหน้าบ้านผู้เสียหายไม่ได้หวงกั้น บุคคลใดจะเข้าออกก็ได้และเป็นการสะดวกแสดงว่าผู้เสียหายมิได้หวงห้ามในการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้เสียหาย และที่จำเลยเข้าไปสอบถามเกี่ยวกับเรื่องไก่ที่หายไปนั้น ถือได้ว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปเพื่อสอบถามผู้เสียหาย เมื่อเกิดมีการโต้เถียงกันและผู้เสียหายไล่จำเลยออกไป แม้จำเลยยังไม่ออกไปทันที แต่หลังจากนั้นไม่นานเพียงประมาณ 3 ถึง 4 นาที จำเลยก็เดินไปที่รถจักรยานยนต์แล้วขับออกไปจากบ้านจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิได้เข้าไปได้ไล่ให้ออก อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390/2556
จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2537 จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร 2 กระทงในปี 2549 ดังนั้นจำเลยจึงมีอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 74 แต่ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) ถึง (5) ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของจำเลยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2556
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีเหตุบาดหมางกับจำเลยเกี่ยวกับแย่งผู้หญิงและเคยมีการเจรจาตกลงกัน ในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนและมีดตามผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ เมื่อพบก็เข้าทำร้ายทันที แสดงว่าจำเลยยังขุ่นเคืองผู้เสียหายที่ 2 เกี่ยวกับผู้หญิงและตั้งใจตามหาผู้เสียหายที่ 2 เพื่อทำร้าย มิใช่ว่าพบโดยบังเอิญแล้วเกิดทะเลาะวิวาทและทำร้ายทันทีในขณะนั้น จำเลยจึงมีโอกาสคิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำความผิด แล้วจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านใช้มีดและปืนเป็นอาวุธฟันและยิงผู้เสียหายที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้วางแผนและตระเตรียมการที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนแล้ว จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2556
การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า โฉนดที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ได้สูญหายไป แล้วนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งจะเป็นความเท็จ เพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าพนักงาน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึงโจทก์ อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์หากจะพึงมีพึงเป็นอย่างไรในที่ดินแปลงนั้นในฐานะหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็คงมีอยู่ตามเดิมมิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในฐานะหุ้นส่วนและมีสิทธิว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนได้เช่นเดิม โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยกคำฟ้องของโจทก์ขึ้นกล่าวเพียงว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท หลังจากนั้นก็กล่าวอ้างถึง ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ มาตรา 1363 และทางนำสืบของโจทก์เท่านั้น โดยมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 อย่างไรฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันยักยอกรวมกันมาในข้อเดียวกัน คือ ข้อ ค. โดยมิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานยักยอกเป็นสองกรรมเกินจากที่กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสองกรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6215/2556
จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะขับรถจักรยานยนต์พาไปส่ง แล้วกลับให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ จ. พวกของจำเลยที่ 1 พาไปพักที่โรงแรม เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เดินออกจากโรงแรม จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 1 กลับเข้าไปในห้องพักภายในโรงแรมโดยมี จ. ซึ่งไปด้วยรออยู่แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจกับพวกที่ไปด้วยกัน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกของจำเลยที่ 1 ที่ไปด้วยกันกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แต่ความผิดฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาเดียวคือพาผู้เสียหายที่ 1 ไปให้พวกของตนกระทำชำเรา จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฟ้องไม่ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ต้องเป็นกรณีที่เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นกรณีที่กระทำไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำนั้นเอง หรือร่วมกันกระทำเพื่อผู้ใดในบรรดาผู้ร่วมกระทำด้วยกันแล้ว ก็หาเป็นความผิดตามมาตรานี้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และ จ. กับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อสนองความใคร่ของ จ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 283 แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2556
การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าการจับนมเป็นเพียงวิธีการทำอนาจารผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2556
อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์ที่ก่อสร้างก็เพื่อใช้เป็นที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่สามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทั้งอาคารดังกล่าวได้ขอเลขที่บ้านโดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้ สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ แม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937 - 4938/2556
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างผู้เสียหายทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโส ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ประจำลานจอดเครื่องบินและปล่อยเครื่องบิน ไม่มีหน้าที่ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินแทนลูกค้าด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้น จึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่ความผิดฐานยักยอก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2556
ขณะเกิดเหตุ ร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1 ยังเปิดให้บริการอยู่ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ไม่ถือเป็นเคหสถาน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในร้านดังกล่าวแล้วร่วมกันพยายามกรรโชก และใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2556
การจะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาถึงที่สุดหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนให้จำคุกตลอดชีวิต แล้วลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี การกำหนดโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในเกณฑ์ ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษให้จำเลยทั้งสองใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2556
แม้ผู้ร้องที่ 1 เคยรับจ้างขนแร่ให้แก่บริษัท จ. มาก่อน และไม่เคยถูกจับกุม แต่ก็มิใช่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ร้องที่ 1 กำชับให้จำเลยตรวจสอบใบอนุญาตให้ถูกต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ทราบว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นได้ และการกำชับดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องคอยควบคุมดูแลมิให้จำเลยขนแร่โดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย การที่ผู้ร้องที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 นำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่ โดยเป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่เองทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไร ถือได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นอีกด้วย จึงให้ริบรถพ่วงของกลางและยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2556
ป. ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เมื่อผู้ตายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2 ) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2556 
จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและโจทก์ร่วมมาก่อนเกิดเหตุ เนื่องจากพวกของจำเลยตบหน้าผู้ตาย เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน ผู้ตายและโจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์วนไปมาโดยถือเหล็กแป๊บมาด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยเชื่อว่าผู้ตายและโจทก์ร่วมจะตามมาเอาเรื่องจำเลย เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านจึงบอกบิดาจำเลยแล้วนำอาวุธปืนออกมา การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยและบิดาจำเลยเกิดความโกรธที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมตามมาเอาเรื่องจำเลยโดยมีอาวุธมาเพื่อใช้ทำร้ายจำเลย จำเลยและบิดาจำเลยจึงได้ตอบโต้โดยตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อมายิงต่อสู้กับผู้ตายและโจทกร่วม และเมื่อผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยและบิดาจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ตามไปประมาณ 200 เมตร จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ด้านหลัง โดยที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมมิได้ต่อสู้ด้วย กรณีที่เกิดขึ้นจำเลยและบิดาจำเลยมีโอกาสคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันทันด่วนไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2556
เมื่อจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จะอ้างเหตุดังที่จำเลยนำสืบมาบ่ายเบี่ยงหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมโดยที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำยอมมิได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ยุ่งยากแก่การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม จึงเป็นการเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมของศาลทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ที่จำเลยรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานรับของโจ แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2556
การที่ บ. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้วเรียกจำเลยเข้าไปในห้อง ส่วน บ. ออกจากห้องไปรอที่รถ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จำเลยก็เรียกให้ บ. เข้าไปช่วยจับหัวไหล่ผู้เสียหายที่ 2 ไว้เพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ได้นั้น เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกับ บ. คบคิดหรือนัดแนะกันมาแต่ต้น ถือว่าได้กระทำชำเราโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กนั้นไม่ยินยอมแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556
ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม