แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม-ธงคำตอบ วิแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม-ธงคำตอบ วิแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ1. วิแพ่ง ภาค1 สมัยที่ 71

คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ1. วิแพ่ง ภาค1 สมัยที่ 71



คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ2. วิแพ่ง ภาค1 สมัยที่ 71

คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ2. วิแพ่ง ภาค1 สมัยที่ 71


คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ3. วิแพ่ง ภาค2 (วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น) สมัยที่ 71

คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ3. วิแพ่ง ภาค2 สมัยที่ 71
 (วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น)  


คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ4. วิแพ่ง ภาค2 (วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น) สมัยที่ 71

คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ4. วิแพ่ง ภาค2 (วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น) สมัยที่ 71


คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ5. วิแพ่ง ภาค3 (อุทธรณ์-ฎีกา) สมัยที่ 71

คำถาม ธงคำตอบเนติฯ วิ.แพ่ง ข้อ5. วิแพ่ง ภาค3 (อุทธรณ์-ฎีกา) สมัยที่ 71



วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม-ธงคำตอบ วิแพ่ง เนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 65

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  ภาคสอง  สมัยที่  65  ปีการศึกษา  2556
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย
ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 
วันอาทิตย์ที่  31  มีนาคม  2556
------------------------------------



            ข้อ  1. (ก) นายเอกว่าจ้างนายโทให้สร้างถนนและรางระบายน้ำ  เป็นเงิน  800,000  บาท  สัญญาว่าจ้างทำที่ภูมิลำเนาของนายเอกที่จังหวัดลำปาง  ต่อมานายโทได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวให้แก่นายตรี  โดยมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้นายเอกทราบแล้ว  สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทำที่บ้านของนายตรีที่จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อนายโทสร้างถนนและรางระบายน้ำแล้วเสร็จ  นายตรีได้มีหนังสือถึงนายเอกขอรับเงินค่าก่อสร้าง  นายเอกปฏิเสธอ้างว่าได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่นายโทไปแล้ว  นายตรีจึงยื่นคำฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย  ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้อง

             (ข)  นายตรียื่นฟ้องนายจัตวาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ให้ชำระเงินตามเช็คที่นายจัตวาสั่งจ่าย  จำนวนเงิน  500,000  บาท  ในชั้นตรวจคำฟ้อง  ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า  คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์  ลายมือชื่อทนายโจทก์ผู้เรียง  และลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์  จึงไม่รับคำฟ้อง

              ให้วินิจฉัยว่า  ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องตาม  (ก)  และไม่รับคำฟ้องตาม  (ข)  ชอบหรือไม่

ธงคำตอบ

(ก)สัญญาว่าจ้างสร้างถนนและรางระบายน้ำระหว่างนายเอกกับนายโททำ  ณ  ภูมิลำเนาของนายเอกที่จังหวัดลำปาง  แม้นายโททำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างให้แก่นายตรี  แต่นายตรีก็เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของนายโทในอันที่จะบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจากนายเอกแทนนายโท  เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้น  ณ  ภูมิลำเนาของนายเอก  และนายเอกปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่นายตรี  จึงถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้นายตรีมีอำนาจฟ้องนายเอกเกิดขึ้น  ณ  ภูมิลำเนาของนายเอกซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดลำปาง  นายตรีจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  4  (1)(คำพิพากษาฎีกาที่  9430/2554)  ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องจึงไม่ชอบ

(ข) คำฟ้องคดีแพ่งไม่มีลายมือชื่อโจทก์  ไม่มีลายมือชื่อทนายโจทก์ผู้เรียง  และไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์  เป็นเพียงคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  67 (5) ศาลจังหวัดเชียงใหม่ชอบที่จะสั่งให้นายตรีแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อนโดยให้คืนหรือให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้บริบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนด  หากไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นได้  ตามมาตรา  18  วรรคสอง  การที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่รับคำฟ้องของนายตรีโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องดังกล่าวเสียก่อนจึงไม่ชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  5556/2543)




            ข้อ  2. โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย  จำนวนเงิน  3,000,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  จำเลยให้การว่า  เช็คพิพาทออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้พนัน  มูลหนี้ตามเช็คเป็นโมฆะ  ขอให้ยกฟ้อง  ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน  โดยจำเลยยอมชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน  2,400,000  บาท  โดยผ่อนชำระเป็น  24  งวด  งวดละเดือน  เดือนละ  100,000  บาท  หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด  ยอมให้โจทก์บังคับคดีชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบต่อปีนับแต่วันผิดนัดได้ทันที  ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) จำเลยอุทธรณ์ว่า  ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(ข) จำเลยยื่นคำร้องว่า  โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทมาแล้ว  ศาลพิพากษายกฟ้อง  ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมและพิพากษายกฟ้องโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า  อุทธรณ์ของจำเลยตาม  (ก)  ฟังขึ้นหรือไม่  และศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยตาม  (ข)  ได้หรือไม่

                                                                                      ธงคำตอบ

(ก) โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงชี้ขาดข้อพิพาท  ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมความยอมดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้  ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  เพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน  จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  142  ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง  การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  แม้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบต่อปี  เกินกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามคำขอของโจทก์  ก็หาเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่  (คำพิพากษาฎีกาที่  3191/2547  และ  1222/2549)  อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

(ข) จำเลยยื่นคำร้องว่า  ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมนั้น  เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  138  วรรคสอง  ที่ให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้  จำเลยจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลนั้น  ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลนั้นเองได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  5581/2549  และ  6915/2554)  ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย




            ข้อ  3. นายขาวฟ้องนายเขียวว่า  นายเขียวผิดสัญญาก่อสร้างบ้านพักที่ทำไว้กับนายเหลือง  ขอให้นายเขียวชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเหลือง  1,000,000  บาท  โดยนายขาวบรรยายฟ้องว่าได้รับมอบอำนาจจากนายเหลืองให้มาฟ้องคดีแทน  ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง  นายเขียวให้การว่า  นายเหลืองเป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา  ทำให้นายเขียวได้รับความเสียหาย  2,000,000  บาท  ขอให้ยกฟ้อง  และฟ้องแย้งขอให้นายเหลืองชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายขาวนำสืบก่อน  ก่อนวันสืบพยาน  10  วัน  นายขาวยื่นคำร้องว่า  ขณะยื่นคำฟ้องต่อศาลนั้น  นายเหลืองยังไม่ตัดสินใจว่าจะฟ้องนายเขียวหรือไม่  แต่นางแดงภริยานายเหลืองเกรงว่าคดีจะขาดอายุความจึงปลอมลายมือชื่อนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจที่ให้นายขาวฟ้องคดีนี้ไว้ก่อน  บัดนี้นายเหลืองได้ทราบเรื่องและเห็นด้วยกับการกระทำของนางแดง  และได้ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ให้ฟ้องนายเขียวแล้ว  จึงขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า  นายเหลืองได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่  นายเขียวรับสำเนาคำร้องแล้วไม่ค้าน  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้เป็นกรณีที่  1  แต่หากนายขาวไม่ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว  และต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว  พิพากษายกฟ้อง  เพราะเหตุลายมือชื่อนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม  พร้อมกันนั้นก็พิพากษาให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาให้แก่นายเขียว  ตามฟ้องแย้งตามที่ได้ความจากการนำสืบของนายเขียว  เป็นกรณีที่  2

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องในกรณีที่  1  และคำพิพากษาที่ให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งในกรณีที่  2  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                                                                              ธงคำตอบ

กรณีที่  1  ลายมือชื่อของนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจให้นายขาวฟ้องนายเขียวเป็นลายมือชื่อปลอม  การฟ้องคดีของนายขาวจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรก  การที่นายขาวขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า  ต่อมานายเหลืองได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่แล้ว  หาทำให้คำฟ้องที่เสียไปใช้ไม่ได้แล้วนั้นกลับคืนมาเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายได้ไม่  คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของนายขาวไม่ใช่เป็นการขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมให้บริบูรณ์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  179  วรรคสอง  (2)คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายขาวแก้ไขคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คำพิพากษาฎีกาที่  4181/2533)

กรณีที่  2  ลายมือชื่อของนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อปลอม  ย่อมถือได้ว่านายเหลืองไม่ได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดี  นายขาวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายเขียวแทนนายเหลือง  ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาเป็นคู่ความที่ฟ้องคดี  กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของนายเขียวย่อมตกไป  เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งด้วย  คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของนายเขียวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คำพิพากษาฎีกาที่  8387-8391/2553)




            ข้อ  4. คดีสามัญเรื่องหนึ่ง  จำเลยที่  1  และที่  2  ขาดนัดยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์  ศาลส่งคำบังคับให้จำเลยที่  1  และที่  2  โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลเมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  2550  ต่อมาวันที่  5  มกราคม  2551  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่  1  เพื่อขายทอดตลาด  วันที่  6  กันยายน  2551  จำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างเหตุว่า  ขณะโจทก์ฟ้องและส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่  2  จำเลยที่  2  ไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ  เพิ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่  20  สิงหาคม  2551  จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง  จำเลยที่  2  ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่  2  ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์  ลายมือชื่อจำเลยที่  2  ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอม  ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอ  ในวันนัดไต่สวนศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันยึดทรัพย์  ต้องห้ามไม่ให้ยื่นคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  จัตวา  ให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่  2  ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                                                                                   ธงคำตอบ

การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  จัตวา  กำหนดให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย  หรือนับจากกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง  หรือหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือมีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น  ซึ่งกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หมายถึงการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่  คดีนี้มีการยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  เพื่อบังคับตามคำพิพากษามิได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ดังนั้น  กำหนดเวลาหกเดือนจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยที่  2  ได้  การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับวันที่ได้ยึดทรัพย์ต้องห้ามตามมาตรา  199  จัตวา  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่  2  อ้างในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ว่า  ขณะโจทก์ฟ้องและส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยที่  2  นั้น  จำเลยที่  2  ไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ  เพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่  20  สิงหาคม  2551  จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง  อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่  2  ไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยที่  2  เพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้  จำเลยที่  2  จึงชอบที่จะยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง  คือ  นับแต่วันที่  20  สิงหาคม  2551  แต่จำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่  6  กันยายน  2551  จึงมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว  ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่  2  จึงชอบแล้ว  (คำพิพากษาฎีกาที่  3153/2533  และ  2152/2536)




            ข้อ  5.  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแก่โจทก์จำนวน  350,000  บาท  จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม  จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้อง  และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า  ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม  และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าและเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  แต่คดีโจทก์ขาดอายุความ  พิพากษายกฟ้อง  โจทก์อุทธรณ์ว่า  ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ  จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า  คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ  พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  จำเลยฎีกาว่า

(ก)ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องโดยกล่าวเหตุผลไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาปัญหาดังกล่าว

(ข)ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ  โดยจำเลยขอถือเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาในข้อนี้

ให้วินิจฉัยว่า  จำเลยจะฎีกาในปัญหาตาม  (ก)  และ  (ข)  ได้หรือไม่

                                                                                   ธงคำตอบ

(ก) คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยฎีกาว่า  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้แล้ว  แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์  เนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความ  โดยจำเลยไม่จำต้องอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม  แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่า  คดีไม่ขาดอายุความ  หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อใด  อย่างไร  จำเลยก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ด้วย  แต่ปรากฏว่าคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยคงกล่าวแก้แต่เฉพาะประเด็นเรื่องอายุความที่โจทก์อุทธรณ์เท่านั้น  เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้  เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์  ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (คำพิพากษาฎีกาที่  7693/2550)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาตาม  (ก)  ไม่ได้

(ข) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น  จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  ที่จำเลยฎีกาว่า  คดีโจทก์ขาดอายุความ  โดยขอถือเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาในข้อนี้นั้น  ฎีกาของจำเลยข้อนี้มิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา  จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง  ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  6446/2552)  จำเลยจึงฎีกาปัญหาตาม  (ข)  ไม่ได้เช่นกัน




            ข้อ  6.  โจทก์ฟ้องจำเลยให้ส่งคืนสร้อยเพชร  1  เส้น  ราคา  10,000,000  บาท  โดยอ้างว่าจำเลยขอยืมไปแล้วไม่คืน  จำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดและฟ้องแย้งว่า  โจทก์ขายสร้อยเพชรเส้นดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา  10,000,000  บาท  โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนส่วนลดร้อยละ  3  เป็นจำนวน  300,000  บาท  ให้แก่จำเลยภายใน  3  เดือน  นับแต่วันซื้อขาย จำเลยชำระราคาทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้ว  แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่คืนเงินส่วนลด  ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน  300,000  บาท  ตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย  โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธความรับผิด  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า  โจทก์ขายสร้อยเพชรให้แก่จำเลยโดยไม่มีส่วนลด  พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย  โจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับ  ขณะคดีอยู่ระหว่างส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์และจำเลยเพื่อแก้  สำนวนความยังอยู่ที่ศาลชั้นต้น  ปรากฏว่า

(ก)โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า  จำเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาสร้อยเพชร  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยนำสร้อยเพชรมาวางศาลเพื่อป้องกันความเสียหาย

(ข)จำเลยยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในส่วนฟ้องแย้งว่า  โจทก์มีหนี้สินมากเพราะธุรกิจของโจทก์ล้มเหลว  โจทก์เหลือทรัพย์สินเพียงรถยนต์  1  คัน  ราคาประมาณ  300,000  บาท  และกำลังจะขาย  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้ก่อนพิพากษา

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว  มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์และจำเลย

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                                                                                    ธงคำตอบ

(ก) คำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยนำสร้อยเพชรมาวางศาลเพื่อป้องกันความเสียหาย  เป็นคำขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  และเป็นคำขอหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว  คดีจึงอยู่ในชั้นอุทธรณ์  อำนาจสั่งอยู่ที่ศาลอุทธรณ์  ศาลชั้นต้นต้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง  คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) คำขอของจำเลยที่ขอให้ยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้ก่อนพิพากษา  เป็นคำขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  254  (1)แม้จะเป็นคำขอในขณะที่คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  254  วรรคสุดท้าย  ประกอบมาตรา  144  (3)  ที่ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ก็ตาม  แต่เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์  300,000  บาท  ซึ่งเป็นคดีมโนสาเร่  กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งจะขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามมาตรา  254  ได้  คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน




            ข้อ  7.นายเช้าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน  1,000,000  บาท  ของนายบ่าย  และนายเช้ายังเป็นลูกหนี้เงินกู้ยืมจำนวน  1,000,000  บาท  ของนายเที่ยง  โดยนายเช้าและนายสายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง  ได้ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ให้ไว้ต่อนายเที่ยง  และหนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้ว  ส่วนนายสายเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน  1,000,000  บาท  ของนายเย็น  นายเย็นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน  1,500,000  บาท  ปรากฏว่า

(ก) นายเที่ยงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจำนวน  1,000,000  บาท  ก่อนเจ้าหนี้อื่น  นายเย็นยื่นคำคัดค้านว่า  นายเที่ยงยังมิได้ฟ้องนายเช้า  และนายเช้าก็มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  ขอให้ยกคำร้อง

(ข) นายบ่ายยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด  เพราะนายเช้าไม่มีทรัพย์สินใดอีก  นายเย็นยื่นคำคัดค้านว่า  นายเช้ามิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  ขอให้ยกคำร้อง

ศาลไต่สวนแล้ว  ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องและคำคัดค้าน

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของนายเที่ยงและนายบ่ายได้หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก) นายเที่ยงเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินกรรมสิทธิ์รวมแปลงดังกล่าว  แม้นายเช้ามิได้ถูกนายเที่ยงฟ้องและมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  นายเที่ยงก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในฐานะเจ้าหนี้จำนองในฐานะเจ้าหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน  ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  289  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  5753/2537  และ  1975/2551)

(ข) แม้นายเช้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว  แต่เมื่อนายเช้ามิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  นายบ่ายจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่นายเย็นนำยึดที่ดินของนายสายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของนายเย็นได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  290  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  487/2552)




            ข้อ  8.  คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองชั่วคราว  และโจทก์นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  ไว้  เมื่อคดีเสร็จการพิจารณา  ศาลพิพากษายกฟ้อง  โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้อง  2  ฉบับ  ฉบับแรกอ้างว่า  หากจำเลยที่  1  ได้รับทรัพย์ที่ยึดคืนไป  จำเลยที่  1  อาจยักย้ายทรัพย์ที่ยึดไปให้พ้นอำนาจศาล  ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดไว้ก่อน  ฉบับที่สองอ้างว่า  จำเลยที่  2  มีพฤติการณ์จะโอนสิทธิทรัพย์สินโดยการฉ้อฉล  เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา  ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ไว้ก่อน

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

คำร้องของโจทก์ที่ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  ไว้ก่อนนั้น  เป็นกรณีที่โจทก์มุ่งหมายขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายยและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย  พ.ศ.2542  มาตรา  14  ศาลฎีกาจึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  ไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาตามคำร้องฉบับแรกได้  (เทียบคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  1766/2531)

พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2483  มีบทบัญญัติเรื่องการขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้โดยเฉพาะตามมาตรา  17  แล้ว  โดยโจทก์อาจขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวได้ก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเท่านั้น  และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  มาตรา  19  วรรคหนึ่ง  บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดบรรดาทรัพย์สินของจำเลยได้  ดังนั้น  แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา  แท้จริงแล้วเป็นการขอศาลให้มีคำสั่งยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ไว้ก่อนพิพากษานั่นเอง  จึงนำบทบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์ของจำเลยก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  254  (1)มาใช้บังคับไม่ได้  ศาลฎีกาต้องมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ตามคำร้องฉบับที่สอง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3721/2535)




            ข้อ  9.บริษัทเอ  จำกัด  ลูกหนี้เป็นหนี้นายรวยในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตลิ่งชันจำนวน  20,000,000  บาทซึ่งศาลจังหวัดตลิ่งชันได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว  นอกจากนี้บริษัทเอ  จำกัด  ยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย  ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทเอ  จำกัด  และตั้งผู้ทำแผน  นายรวยยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน  20,000,000  บาท  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ  ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นายรวย  เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่  16  และได้รับชำระหนี้ร้อยละ  70 โดยให้ได้รับชำระหนี้งวดแรกหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว  1  ปี  เป็นจำนวนร้อยละ  10  และต่อไปทุกๆ  ปี  ปีละร้อยละ  5  จนกว่าจะครบ  ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติพิเศษยอมรับแผน  โดยในวันดังกล่าวนายรวยมิได้เข้าประชุม  ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  หลังจากนั้นนายรวยเห็นว่าการที่ตนจะได้รับชำระหนี้ตามแผนจะต้องใช้เวลานานและแผนกำหนดให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนของหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น  จึงต้องการให้ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งต่อไป

ให้วินิจฉัยว่า  นายรวยจะดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชันเพื่อนำมาชำระหนี้แก่ตนเป็นเงิน  20,000,000  บาท  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา  90/60  วรรคหนึ่ง  กำหนดให้แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว  ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ  ส่วนการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจริงย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

เมื่อมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่นายรวยนำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  นายรวยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว  ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดเงื่อนไขและกำหนดเวลาในการชำระหนี้ให้แก่นายรวยไว้ซึ่งต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว  แม้นายรวยจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้  นายรวยก็ต้องผูกพันในการที่จะได้รับชำระหนี้ตามแผน  นายรวยไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผน  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2125/2548)

อนึ่ง  นายรวยเจ้าหนี้ต้องห้ามมิให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา  90/12  (5)  นายรวยจึงไม่อาจดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชันเพื่อนำมาชำระหนี้แก่ตนได้


            ข้อ  10.  ในการบังคับคดีของศาลแพ่งคดีหนึ่ง  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  2  รายการ  คือ  ที่ดินราคา  400,000  บาท  กับรถยนต์ราคา  200,000  บาท  และอายัดเงิน  300,000  บาท  จากบุคคลภายนอกที่ถึงกำหนดชำระให้แก่จำเลย  ซึ่งต่อมาบุคคลภายนอกได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาไว้ที่ศาลแล้ว  ปรากฏว่านายแดงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์  นายขาวยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดและนายเขียวยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเงิน  300,000  บาท  ที่บุคคลภายนอกส่งมายังศาลตามหมายอายัด

นายสุเทพ  หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้  พิจารณาคำร้องทั้งสามฉบับแล้ว  มีคำสั่งอนุญาตให้นายแดงเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้  และมีคำสั่งให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดตามคำร้องของนายขาว  แต่ยกคำร้องของนายเขียวโดยวินิจฉัยว่า  การขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดจะมีได้ก็แต่เฉพาะการยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดเท่านั้น

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของนายสุเทพชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

ศาลแพ่งเป็นศาลที่ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  การที่นายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวสั่งคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีว่า  นายแดงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้หรือไม่  จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณามีคำสั่งได้  ตามมาตรา  24  (2)  และมาตรา  25  (คำพิพากษาฎีกาที่  3977/2553)

คำร้องขอของนายขาวที่ขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึด  ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อยนั้น  ซึ่งก็คือราคารถยนต์  200,000  บาท  จึงอยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  (4)

คำสั่งยกคำร้องขอของนายสุเทพที่ให้ปล่อยเงินที่ส่งมาตามหมายอายัด  เป็นการวินิจฉัยถึงอำนาจในการยื่นคำร้องว่านายเขียวมีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่  อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี  จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณามีคำสั่งได้  คำสั่งของนายสุเทพจึงไม่ชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  11417/2553)


ดังนั้น  คำสั่งเรื่องขอเฉลี่ยและคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยเงินที่อายัดของนายสุเทพจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  ส่วนคำสั่งเรื่องขอให้ปล่อยรถยนต์แก่นายขาวของนายสุเทพชอบด้วยกฎหมายแล้ว