แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาอาญา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาอาญา แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2558

คำพิพากษาศาลฎีกา กฎหมายอาญา 5ดาว ปี 2558


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2558
ตาม ป.อ. มาตรา 276 (เดิม) ผู้ที่จะมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราต้องเป็นชายข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาตน แต่ตาม ป.อ. มาตรา 276 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ทั้งชายและหญิงอาจจะมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแม้จะกระทำต่อภริยาหรือสามีของตนเอง หากมีการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ดังที่บัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 276


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558
จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2558
ความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกเพิงขายอาหารชั่วคราวในที่ดินโจทก์ร่วมเมื่อปี 2547 การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินโจทก์ร่วมต่อมาหลังจากนั้นด้วยการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตชั้นเดียวจนถึงช่วงเกิดเหตุตามฟ้องคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องในอันที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานบุกรุกขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2558
จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2558
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 โดยมิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 392 แม้การที่จำเลยใช้มีดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือตกใจเป็นความผิดตาม มาตรา 392 ก็ตาม แต่ความผิดฐานนี้ไม่ใช่การกระทำอันรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 392 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2558
แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้บัตรเครดิตปลอมทั้ง 5 ใบ ในคราวเดียวกัน แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์บัตรเครดิตของกลางว่า บัตรเครดิตปลอมแต่ละใบมีข้อมูลในบัตรของผู้ถือบัตรต่างรายกัน ต่างหมายเลขกันและมีข้อมูลของสมาชิกผู้ถือบัตรต่างธนาคารกัน บัตรทุกใบมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสดได้ ทั้งโดยสภาพของการใช้บัตรดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาให้มีการนำไปใช้แต่ละใบแยกต่างหากจากกัน ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรตามเนื้อความของบัตรเครดิตปลอมแต่ละใบ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวม 5 กระทง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปกอด จูบ ดูดหัวนมและจูบอวัยวะเพศ อันเป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม โดยไม่ได้บรรยายว่า มีการขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อุบายหลอกลวง ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก ที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2558
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ลงมือยิงผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วก่อนที่จำเลยจะลงมือใช้ดาบฟัน ต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้เจตนาว่า จำเลยก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายเช่นกัน จำเลยเองก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะ ว. ใช้ปืนยิง ซึ่งจำเลยสามารถช่วยเหลือได้ทันที เมื่อจำเลยมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ชักนำในการก่อเหตุ จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการด้วยกันกับ ว. จำเลยจึงต้องรับเอาผลที่ ว. ยิงผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บไม่มีเจตนาฆ่า เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่า จำเลยฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จำเลยไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ ทั้งคำแก้ฎีกาดังกล่าวมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกา จะขอมาในรูปคำแก้ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558
จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2558
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ทำให้ปราศจากเสรีภาพเพื่อให้ผู้อื่นทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 3 ผู้กระทำผิดเป็นคนไทยและผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 3 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรและศาลไทยจะลงโทษได้เฉพาะความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และมาตรา 310 ประกอบมาตรา 8 ตาม ป.อ. เท่านั้น ศาลฎีกาต้องตีความกฎหมายทางอาญา โดยเคร่งครัด จะขยายความมาตรา 8 ไปไกลว่า กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอันมีโทษหนักขึ้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 หาได้ไม่ และมาตรา 12 นั้นเองไม่ได้บัญญัติว่า หากกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าภายในหรือนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558
ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12079/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์โดยลักกุญแจรถจักรยานยนต์ 1 ดอก ของผู้เสียหายไป ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ จำเลยใช้มีดทำร้ายผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถแต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี จากนั้นจำเลยใช้กุญแจรถดังกล่าวไขเบาะรถแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถดังกล่าวไป พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายเป็นอันดับแรก เมื่อไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ได้จึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์อีกชิ้นหนึ่งไป เมื่อจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพาย แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปย่อมเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10488/2558
ป.อ. มาตรา 38 บัญญัติว่า "โทษให้เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด" เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โทษตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นอันระงับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายยื่นคำร้องขอคืนค่าปรับที่จำเลยชำระต่อศาลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องคืนเงินค่าปรับให้แก่ผู้ร้อง




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2558
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์สวนทางกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล่นมา 6 คัน จากนั้นพวกของจำเลยขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งมาด่าผู้เสียหายแล้วกลับไปรวมตัวกับกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาพวกของจำเลยและจำเลยขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มายังบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วพวกของจำเลยใช้ขวดสุราขว้างปาใส่ผู้เสียหาย พฤติการณ์การเชื่อได้ว่า กลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการดังกล่าวเป็นกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มเดียวกันโดยมีจำเลยอยู่ร่วมกลุ่มด้วยมาโดยตลอด แสดงว่าจำเลยรับรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับขณะเกิดเหตุพวกของจำเลยที่ใช้ขวดขว้างปาใส่ผู้เสียหายยังใช้ผ้าปิดบังอำพรางใบหน้า ส่อแสดงว่าจะก่อเหตุร้ายขึ้นโดยไม่ให้มีผู้ใดจดจำได้ ซึ่งจำเลยย่อมตระหนักได้เป็นอย่างดี หากจำเลยไม่มีเจตนาร่วมกับพวกในการกระทำความผิด จำเลยก็ชอบจะแยกตัวไปโดยไม่เกี่ยวข้องด้วย พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่าจำเลยกับพวกคบคิดกันมาก่อนในการทำร้ายผู้เสียหาย และอยู่ในภาวะที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งยังหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558
การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน" ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6736/2558
รถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและขับรถหลบหนีด้วยความเร็วสูงโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ถือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงอันพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม. ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วยมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558

ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2555



 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18982/2555
จำเลยนั่งรถยนต์ที่มี ร. เป็นผู้ขับเพื่อส่งเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ เมื่อถึงจุดนัดหมาย ร. จอดรถสายลับเดินไปทางด้านซ้ายของรถที่จำเลยนั่งอยู่แล้วกระจกประตูรถด้านซ้ายลดลงสายลับคุยกับบุคคลภายในรถแล้วคนในรถส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับและสายลับส่งธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้แก่คนในรถ หากจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องสายลับก็ต้องเดินไปหา ร. ซึ่งเป็นคนขับ ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยรู้เห็นในการจำหน่ายและได้ช่วยเหลือในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจนทำให้การซื้อขายเป็นผลสำเร็จ อันถือได้ว่าจำเลยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18641/2555
ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์จะต้องเป็นความผิดที่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดและศาลพิพากษาลงโทษเป็นความผิดแล้ ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด จึงจะมีความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น แม้ความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357 จะไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดเลยก็ตาม ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยประการใด ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจรได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19980/2555
ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องและเบิกความเป็นเท็จด้วย ที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์เพียงบรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ซึ่งเป็นลูกความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องจะเป็นความเท็จหรือความจริงโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏว่า คำฟ้องเป็นความเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ว. ไม่ใช่โจทก์นั้น เป็นเพียงการอ้างผลของคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 หมายเลขแดงที่ 895/2549 ของศาลชั้นต้น ว่าศาลในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าอย่างไรเท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวยืนยันข้อความใดที่อ้างว่าเป็นความเท็จ โดยความจริงมีว่าอย่างไรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า โจทก์ทำหน้าที่เพียงเป็นทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ตัวความซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดี แต่การเป็นทนายความผู้เรียงคำฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทำไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงด้วยว่า ความจริงจำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่า โจทก์มิได้รู้เห็นหรือทราบมาก่อนว่าเรื่องราวตามที่โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น เป็นความเท็จ ลำพังการอ้างว่า โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความ จึงมิใช่เป็นการกล่าวถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จนั้นเช่นไร โดยมีความจริงเป็นอย่างไรและจำเลยทั้งสองทราบดีเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) คดีไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555
จำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก แสดงว่าจำเลยมิได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพา และแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19958/2555
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19715/2555
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำอนาจารโจทก์ร่วมใช้มือดึงเสื้อและเสื้อชั้นในของโจทก์ร่วมขึ้นแล้วจับหน้าอกของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมดึงเสื้อดังกล่าวลงมา จำเลยยังเอามือสอดเข้าไปใต้เสื้อของโจทก์ร่วม แล้วใช้มือกดที่หน้าอกของโจทก์ร่วมหลายครั้งและจำเลยเอามือสอดเข้าไปใต้กางเกงของโจทก์ร่วมและกดตรงหัวเหน่าของโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยตรวจรักษาโรคให้โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่นนี้ ถือว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19513 - 19514/2555
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกระเตรียมอาวุธปืนมาแก้แค้นทำร้าย บ. พวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบ บ. ก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหา บ. โดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ - ขนอม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบ บ. จึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วร่วมกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหา บ. ได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19406/2555
ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย พฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เพียงเพื่อให้ผู้เสียหายเกรงกลัวและยอมให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงย่อมมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกายระงับไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19287/2555
จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19280/2555
การที่จำเลยรับสัญญากู้เงินไว้จากโจทก์ แต่จำเลยไม่นำสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวฟ้อง ว. ต่อศาล เมื่อโจทก์ขอคืนแต่จำเลยไม่ให้ จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แต่โจทก์ยังมีสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน โจทก์ย่อมนำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบได้ โดยอ้างว่าต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทำลายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) โจทก์จึงไม่เสียสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้ ว. ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ การที่จำเลยไม่คืนสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินตามสัญญากู้เงิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19246/2555
โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้กับคดีอาญาอื่นอีกสี่สำนวนของศาลชั้นต้นในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้กับในคดีอื่นอีกสามสำนวนติดต่อกันไป ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอื่นอีกสามสำนวนนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอื่นอีกสามสำนวนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้นับโทษจำเลยติดต่อกันได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19016/2555
จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555
จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22725 - 22726/2555
วันเวลากระทำความผิดในสำนวนคดีแรกและในสำนวนคดีที่สองที่โจทก์บรรยายฟ้องทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรนั้นต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองคนละคดีเป็นรายกระทงความผิดจึงกระทำได้ ประกอบกับวันที่จำเลยถูกจับกุมมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกัน นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่บ้านพวกของจำเลยและที่ห้องพักของจำเลยคนละวันกัน แสดงว่าทรัพย์ของกลางที่ถูกตรวจค้นพบทั้งสองครั้งจำเลยมิได้รับไว้ในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้นแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22039/2555
แม้จำเลยจะกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จย้ายชื่อบุคคลทั้งแปดเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่น และแจ้งย้ายชื่อ พ. และ น. วันเดียวกัน แจ้งย้ายชื่อ ก. ต. ย. และ ม. กับ ส. วันเดียวกัน กับแจ้งย้ายชื่อ ธ. อีกวันก็ตาม แต่จำเลยก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลต่างรายกันและเข้าไปในทะเบียนบ้านคนละฉบับกัน จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยแจ้งย้ายบุคคลเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่นแต่ละฉบับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658/2555
ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20388/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจ ว. แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ ว. ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20377/2555
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเก็บกวาดเศษกระจก และเศษชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเฉี่ยวชนกับรถไถนาที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับซึ่งล้มอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน เป็นการกระทำด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษ และเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20375/2555
จำเลยที่ 1 ใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงยิงผู้เสียหาย ขณะที่ผู้เสียหายกอดรัดอยู่กับจำเลยที่ 2 แม้กระสุนปืนจะเฉี่ยวศีรษะของผู้เสียหายไปเป็นเหตุให้มีเพียงบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บเท่านั้นก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการยิงโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและจำเลยได้กระทำไปตลอดครบองค์ประกอบของความผิดฐานพยายามฆ่าแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า เมื่อผู้เสียหายหนีไปอยู่หลังกระต๊อบ จำเลยที่ 2 ไปลากผู้เสียหายออกมาแล้ว จำเลยที่ 1 จะยับยั้งไม่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายต่อไปจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องรับโทษสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ได้กระทำไปแล้ว กรณีหาใช่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำให้ตลอดหรือจำเลยที่ 1 กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 82



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20075/2555
จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสองนำเงินที่จะซื้อหวยมาทำพิธีทาน้ำมันตาทิพย์ก่อนจึงจะแทงหวยถูก เมื่อผู้เสียหายทั้งสองนำเงินใส่บาตรเพื่อให้จำเลยทำพิธี จำเลยไม่คืนเงินให้โดยแจ้งว่าขอให้นำเงินดังกล่าวร่วมทุนกับทางวัดเพื่อไปซื้อหวย ความจริงผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม แต่กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนและบุตรชาย แสดงว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะมอบเงินให้จำเลยไปซื้อหวยให้ เพราะสามารถซื้อเองได้อยู่แล้ว ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2557



 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2557
ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีที่ความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ บทบัญญัติของมาตรานี้มิใช่เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่จะต้องระบุในคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา186 (7) การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 20 ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7) ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2557

ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่ศาลจะต้องระบุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2557
ป.อ. มาตรา 1 (11) คำว่า "กลางคืน" หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายเมื่อระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ดังนั้น เวลาเกิดเหตุตามฟ้องของโจทก์คือ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกของวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ถึงเวลา 24 นาฬิกา ของวันเดียวกัน และเวลา 0.01 นาฬิกา ของวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไปแล้ว จนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นของวันเดียวกัน จึงเป็นเวลากลางคืนของวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2555 ติดต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557
แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2557
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยต่างวันเวลากัน ฟ้องของโจทก์จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละช่วงเวลา เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดฐานดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง แม้จำเลยจะกระทำความผิดดังกล่าวโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนแต่ละครั้ง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งที่จัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จในวันเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีเจตนากระทำความผิดต่างวันเวลากัน ก็ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5653/2557
พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มิใช่บทความผิดแต่เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นฟ้องร้องกรรมการบริษัท เรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือระงับการกระทำดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง และความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311 ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 311 อันเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 อีก



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8412/2557
พวกของจำเลยได้ร่วมกับจำเลยหามผู้เสียหายขึ้นไปในห้องบนชั้นสองเพื่อที่จะข่มขืนกระทำชำเรามาตั้งแต่แรก ครั้นจำเลยข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและออกจากห้องลงไปชั้นล่าง พวกของจำเลยเดินขึ้นมาและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อทันทีในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยกับพวกรู้กันโดยให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนแรก พวกของจำเลยเป็นคนที่สอง ถือได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8159/2557
การใช้เอกสารปลอมเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ฐานหนึ่ง แม้มาตรา 268 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 ... ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ก็ตาม แต่มิใช่จะถือว่าเป็นความผิดฐานเดียวกันกับความผิดนั้น ๆ เมื่อโจทก์บรรยายการกระทำความผิดในฐานนี้มาในคำฟ้อง แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. เฉพาะมาตรา 264 มิได้ระบุมาตรา 268 ด้วย จะถือว่าความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามที่พิจารณาได้ความหาได้ไม่ คำฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้ บ. เคยทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของตนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หลังจากที่พี่สาวของโจทก์ปลดจำนองแล้ว แต่เมื่อขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของ บ. ความเสียหายเกิดจากการร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงเกิดขึ้นแก่ บ. เท่านั้น โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10895/2557
สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุกาณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช. ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้ ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557
การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15450/2557
คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กรณีฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในครั้งหลังจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่อย่างไรเพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษต่อได้ จึงนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11898/2557
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557
การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18297/2557
คดีอาญาที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และจำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97