แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม12


----------------------------------


                         คำถาม   ผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดิน แต่มิใช่เจ้าของที่ดิน จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่
              เจ้าของรวมในที่ดินซึ่งมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดและที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม หากที่ดินที่ปิดล้อมดังกล่าวแปลงหนึ่งเป็นที่ดินของเจ้าของรวมคนหนึ่งซึ่งติดถนนสาธารณะจะถือว่าที่ดินกรรมสิทธิ์รวมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  5740/2551 ในเรื่องทางจำเป็น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) เลขที่ 439 เท่านั้น แม้จะฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
                        โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 5 ส. น. และ ม. เป็ฯเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบครองที่ดินทั้งแปลง ดังนั้นเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดิน โฉนดที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 438  ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 439 เพราะจากที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้โดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของ ส. เอง  การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยไว้เพียงประมาณ 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4  และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น

                      คำถาม   ที่ดินก่อนการแบ่งแยกต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ จะถือว่าที่ดินดังกล่าว มีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้วก่อนการแบ่งแยกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1350 หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3408/2551 บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 จะมาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ครั้นเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่คดีนี้เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ เพราะเขายินยอม มิใช่เป็นตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  กรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา 1349
                       ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทาง คือ ทางแรกโจทก์สามารถผ่านที่ของ ส. ผู้ซึ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไปออกทางที่ดิน ค. โดย ส. และ ค. มิได้หวงห้าม ทางที่สองโจทก์สามารถออกทางที่ดินของ ป. และทางที่สาม คือ ทางพิพาทนั้น โจทก์เพิ่งมาใช้ในภายหลัง  ดังนั้น  เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านที่ดินของ ส. ค. และ ป. ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้หวงห้ามโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ.มาตรา 1349 วรรคสาม  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

              คำถาม   ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลสุจริต กับ
                       (ก)  ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์แต่ยังมิได้จดทะเบียน
                       (ข)  ผู้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความใครจะมีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากัน
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       (ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 3239/2549 โจทก์เป็นผู้ซื้อที่และบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่าการกระทำโดยสุจริตคดีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า  “ สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นท่านว่ามีเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย” ดังนั้น การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เป็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าอำนาจหรือสิทธิของโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวซึ่งเป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวบรรยายเพียงว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินและบ้านมาตั้งแต่ปี 2522 และได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวบรรยายมาในคำร้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติมาตรา 6 ดังนั้น แม้ศาลจะทำการไต่สวนและฟังผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำร้องของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องชนะคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนจึงชอบแล้ว

                       การที่มีผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหน้าที่ผู้รับจำนองที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง แม้จะมีผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
                       ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายโดยสุจริต สิทธิของผู้ร้องจึงมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของผู้ล้มละลายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1330 แม้ผู้ร้องจะยังมิได้มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ยังได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ร้องมิได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ผู้ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาด จึงมิได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด
                       แม้มีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแต่ศาลล้มละลายแต่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยังคงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330
                      (ข) คำพิพากษาฎีกาที่ 6459/2551 แม้โจทก์จะซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาด แต่ก่อนเวลาที่โจทก์จะได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวจำเลยได้ใช้ที่ดินตลอดมาโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 มิใช่เพียงรุกล้ำใช้อย่างสภาพทางจำเป็น แม้จำเลยจะยังไม่จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมก็หาทำให้สิทธิดังกล่าวสิ้นไป เพราะทรัพย์วัตถุแห่งสิทธิเป็นประธานภาระจำยอมมีลักษณะเป็นสิทธิประเภทรอนสิทธิมิใช่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ จึงไม่อยู่ในบังคับหลักกฎหมายที่ว่าสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ต่อบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 6


-------------------------------

                 คำถาม     การเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2554   การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสิทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า  ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา  กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่งจากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43, 44  และ 45 เพื่อให้ผู้ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย หากไม่สามารถคืนได้อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายเสียหายไปจนใช้การไม่ได้ ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ดังนั้น ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์ที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย เพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยทุจริต แม้เป็นการเอาไปจากการครองครองของนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง  จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
                มีหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกานี้โดยอาจารย์ สมชัย  ฑีฆาอุตมากรว่า  จำเลยลักเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. ซึ่งลักมาจากผู้เสียหาย แม้ ส. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ ส. ก็เป็นผู้ที่ยึดถือไว้โดยเจตราจะยึดถือเพื่อตน  จึงเป็นผู้ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367  เพียงแต่ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้อาจถูกผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336  จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ์ดีไปกว่า ส.  เมื่อจำเลยลักเอาไปจาก ส.  จำเลยจึงมีความผิดฐานลักรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของ ส. เพราะความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากกฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์แล้ว ยังคุ้มครองถึงสิทธิครอบครองด้วย

                คำถาม   ใช้มีดดาบไล่ฟันทำร้ายผู้อื่น ผู้ถูกไล่ฟันวิ่งหลบหนีกระโดยลงน้ำจนถึงแก่ความตายผู้กระทำจะมีความผิดฐานใด
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ 9413/2552  ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรกเป็นบทบัญญัติให้รับโทษหนักขึ้นแตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น  เมื่อจำเลยที่ 2  ใช้มีดดาบไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย  การกระทำของจำเลยที่ 2  จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายซึ่งเมื่อมิใช่โดยเจตนาฆ่าแต่เป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย  จึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 290  แล้ว  มิใช่เป็นการพยายามกระทำความผิด

                 คำถาม   ผู้เช่าซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่  โดยมีข้อตกลงระหว่างกันว่า  ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่นก็จะต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำ เมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ กรณีดังกล่าว หากมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำกัน เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำจะอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1312  ได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ 9764/2552  ในการซื้อที่ดินจากธนาคาร โจทก์  จำเลย และผู้เช่าอื่นมีข้อตกลงระหว่างกันว่า ผู้เช่าจะซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน  ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่น  ก็จะต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่  ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพไปก่อน  ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย  เมื่อโจทก์และจำเลยได้ซื้อที่ดินโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อแต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์  โจทก์ได้บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์  และเมื่อมีข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเช่นนี้  จึงมิใช่กรณีที่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงยิ่งตามมาตรา 4

                คำถาม   เจ้าหนี้ที่จะฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237  จะต้องเป็นเจ้าหนี้ในขณะใดและจำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                (ก)     ต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนหรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรม
                คำพิพากษาฎีกาที่  533/2535   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่  3  โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชาย โดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  237  แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่า  ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ จึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งจะทำให้โจทก์เสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น  และการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่า ลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อน  หรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3  เพิ่งเป็นหนี้โจทก์หลังจากได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วถึง  3 ปี ขณะที่จำเลยที่  3 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3  ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  8999/2550   จำเลยที่  1  เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่  1 ให้แก่ ค. ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต่อมา ค. ได้โอนการครอบครองให้จำเลยที่  2  ซึ่งเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2523  จำเลยที่  2  จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. จะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2542 จึงเป็นการทำโดยสุจริต  ส่วนการที่จำเลยที่  1  เพิ่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2  ภายหลังก็เพียงเพื่อมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน  นิติกรรมที่จำเลยที่  1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  2  จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉล โจทก์ไม่สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
                (ข)      ไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องยังมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ก็มีสิทธิฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉล
                คำพิพากษาฎีกาที่  3975/2553   การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้  เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214  ดังนั้น  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลง ไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม  แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1   จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องหนี้ให้แก่โจทก์  การที่จำเลยที่ 1  จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  2  โดยเสน่หา  และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก นอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่  1  ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ  โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้
               
                คำถาม     ผู้ให้กู้มอบเงินกู้แก่ผู้กู้ภายหลังจากทำสัญญาจำนอง  สัญญาจำนองสมบูรณ์หรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  1579/2552   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  707  บัญญัติว่า     “ บทบัญญัติมาตรา 681  ว่าด้วยค้ำประกันนั้น  ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร “ กล่าวโดยเฉพาะตามนัยมาตรา 681  ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้  ดังนั้น  เมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่  1  ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์  การจำนองเป็นประกัน การชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้
               คำพิพากษาฎีกาที่    5831/2553   ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองที่ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 707  ประกอบมาตรา  681 วรรคสอง  และใช้บังคับกันได้

วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 7


---------------------

               คำถาม   การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ.มาตรา 67  เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระจริงหรือไม่  และขอดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาในเรื่องนี้
              คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที  9738/2544  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ.มาตรา 67  แบ่งออกเป็น  2  ประการ  ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก  ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเองแต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด  อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำแต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน  แม้อาจทำอย่างอื่นได้  แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น  การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา  67  อันเป็นมูลแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ  แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ  แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
              ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล  และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ  เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น  โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2  ถึง 3 วัน  โดยไม่นำมาส่งคืนศาล  และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล  การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
               คำพิพากษาฎีกาที่   8649/2549  แม้การที่จำเลยที่  2  ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี  และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1  ข่มขืนกระทำชำเราแล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้าน จะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด  และจำเลยที่ 2  กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม   แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาต้าร์ยาวประมาณ 1 ฟุตจี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2  จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2  เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน  การกระทำของจำเลยที่ 2  จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86  และมาตรา 67 (2)  จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ  ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น  แม้จำเลยที่  2 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ  ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
               คำพิพากษาฎีกาที่   1750/2514  จำเลยถูกคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกหลายคนแต่ละคนมีอาวุธปืนครบมือ  ใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้เอาเรือรับส่งข้ามฟากเพื่อช่วยคนร้ายให้พ้นจากการจับกุม  ดังนี้ เป็นการที่จำเลยกระทำไปเพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงขัดขืนได้  จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  จำเลยไม่ต้องรับโทษ
               คำพิพากษาฎีกาที่  1660/2521  มีผู้นำช้างไปล่ามไว้ใกล้กับสวนของจำเลย โดยจำเลยไม่รู้ กลางคืนช้างหลุดจากโซ่พังรั้วลวดหนามเข้าไปในสวนของจำเลย  ซึ่งมีบ้านพักของจำเลยกับคนงานปลูกอยู่  คนงานได้ยินเสียงหักข้าวโพดจึงบอกจำเลย  จำเลยถือปืนเดินไปดูกับคนงาน  จำเลยโผล่จากไร่ข้าวโพดพบช้างอยู่กลางไร่ข้าวโพดห่างประมาณ 4 วา โดยไม่ทันรู้ตัวและกำลังเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นช้างป่าซึ่งมีอยู่ในป่าบริเวณไร่ของจำเลย  จึงผลักคนงานให้หลบแล้วเอาปืนยิงช้างไป  2  นัดแล้ววิ่งหนี  ดังนี้  ถือว่าการที่จำเลยยิงช้างของผู้เสียหาย เป็นการตัดสินใจโดยกระทันหันด้วยความจำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลยกับคนงาน   โดยจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้  การกระทำของจำเลยไม่เกินสมควรแก่เหตุ  จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษฐานทำให้เสียทรัพย์

               คำถาม   ฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินอ้างว่าสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินโดยไม่สุจริต  ไม่มีการชำระราคากันจริง  เป็นเรื่องการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237  หรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  2041/2547  จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่  2  ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง  การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท  จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา  155 วรรคหนึ่ง  และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172  ก็ได้  โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้  ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม  ป.พ.พ. มาตรา 237  ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 240

               คำถาม   หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้น  ความรับผิดระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองจะเป็นอย่างไร
               คำตอบ   ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  5844/2537   โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันประกอบกิจการค้าโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์จำเลยลงหุ้นเป็นเงินสดคนละ 245,000  บาท  ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว จำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ต่อมา โจทก์จำเลยตกลงหยุดกิจการแต่มิได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน โจทก์จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนกันไปแล้ว  ต่อมากรมสรรพากรแจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น  1,729,008 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมสรรพากรไปแล้ว  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวครึ่งหนึ่ง  เป็นเงินจำนวน 864,504  บาท
              จำเลยให้การว่า   จำเลยเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยลงหุ้นคือ 245,000 บาท  หากจะฟังว่าจำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน  จำเลยต้องรับผิดไม่เกินจำนวนที่ลงหุ้น
              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  เห็นว่าการที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดหนี้ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอกได้ ฉะนั้นหากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน  บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก เนื่องจากบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใด  ส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่  ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้  กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน

                คำถาม   ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่มิได้จดทะเบียนการได้มา ซึ่งไม่อาจยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกที่ซื้อที่ดินนั้นมาโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้นั้น  จะมีการครอบครองปรปักษ์โดยผู้ครอบครองคนเดิมได้หรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่   2595/2541   จำเลยเข้าครอบครองและปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทมากว่า  10  ปี  จนจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์มาก่อนที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาจาก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม  แม้จำเลยจะมิได้จดทะเบียนสิทธินั้น  จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ซื้อที่ดินนั้นมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา  1299 วรรคสอง ได้ก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์เองก็มีได้ดำเนินการเพื่อแสดงสิทธิดังกล่าวแก่จำเลย  กับปล่อยปละละเลยให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนกลายเป็นการครอบครอบปรปักษ์ต่อโจทก์ต่อมาอีก  ฉะนั้น เมื่อจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมานับตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า  10  ปี  จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์  และยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม4


-----------------------------------

                   คำถาม   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายจะใช้ถ้อยคำทำกิริยาหรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น ๆ ได้หรือไม่ หรือจะต้องเป็นการขู่ตรง ๆ เท่านั้น
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  7890/2554  ผู้เสียหายไม่รู้จักจำเลยกับพวก การที่พวกจำเลยขับรถแซงและปาดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อให้หยุดรถทันทีและตะคอกด่าพร้อมกับพูดว่ามีอะไรส่งมาให้หมด โดยจำเลยกับพวกแสดงสีหน้าขึงขัง แม้พวกจำเลยจะไม่ได้พูดว่าหากไม่ส่งสิ่งของให้จะทำร้ายผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคามผู้เสียหายให้กลัวว่าจะถูกทำร้ายหากไม่ส่งทรัพย์สินให้ จึงเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งกิริยาและวาจาโดยมีความหมายว่า ถ้าผู้เสียหายไม่ให้สิ่งของใดแล้วผู้เสียหายจะถูกทำร้าย จนผู้เสียหายกลัวต้องรีบส่งกระเป๋าสะพายให้จำเลย หาใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกลัวไปเองไม่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยยังคงนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์คันเดียวกับพวกและแม้จำเลยไม่ได้พูดกับผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายยื่นทรัพย์ให้จำเลยก็รับไว้แล้วก็ขับรถจักรยานยนต์หนีไปด้วยกันทันที ถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554 วินิจฉัยเช่นกัน)
                 
                    คำถาม   ลูกจ้างมีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าของนายจ้างไปส่งให้แก่ลูกค้า หากเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปจะเป็นความผิดฐานใด
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1307/2554  ในขณะเกิดเหตุบริษัท ว. จำกัด และจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ครอบครองสินค้าปุ๋ยเคมีไว้แทนบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) ดังนี้ เมื่อเกิดเหตุบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นผู้เสียหายด้วย และสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นลูกจ้างของบริษัท ว. จำกัด มีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวไปส่งที่สถานีสินค้าของผู้เสียหาย การครอบครองของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการครอบครองแทนไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อำนาจการครอบครองสินค้าที่แท้จริงยังอยู่กับผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพวกเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปโดยทุจริตจึงเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
                   
                     คำถาม  คำว่าทรัพย์ของผู้อื่นในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มีความหมายอย่างไร
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  9270/2554  องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “ ทรัพย์ของผู้อื่น” หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์กระบะคันดังกล่าวเป็นของบิดาผู้เสียหายที่ 1 และเป็นรถยนต์ที่ใช้ในครอบครัวของผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของรถยนต์กระบะสามารถใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้ทุกเวลาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงสิทธิใช้รถยนต์กระบะในฐานะบุตรเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ผู้เสียหายที่  1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และเมื่อปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และพนักงานอัยการไม่มีสิทธิฟ้องในข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ได้
                 
           คำถาม  การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่มีการจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอม จะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทหรือไม่ และการได้ทางจำเป็นตาม    ป.พ.พ. มาตรา 1350 ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจะมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินแปลงใดและต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่   8621/2554  การที่ ก. ท. พ. ร. และจำเลยร่วมตกลงแบ่งที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งโดยแบ่งที่ดิน 2 ส่วนที่อยู่ระหว่างกลางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินภาระจำยอมสำหรับที่ดินส่วนเหนือสุดและใต้สุดเพื่อออกสู่ทางสาธารณะกว้าง  4 เมตร ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นการก่อภาระจำยอมอันเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แต่หลังจากที่มีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ไม่มีการจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่ถูกแบ่งแยก การก่อภาระจำยอมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง คู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงบังคับภาระจำยอมดังกล่าวได้ในระหว่างคู่สัญญาด้วยกันในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น เมื่อ ก. และ ส. ซึ่งเป็นคู่สัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ถูกผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีกำหมายบัญญัติให้จำเลยทั้งสองต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับภาระจำยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความจาก ก. และ ส. โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำเลยทั้งสองให้รับภาระจำยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นภาระจำยอม
                   ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตกลงแบ่งที่ดินมีโฉนดแปลงใหญ่โดยให้แบ่งที่ดิน  2 ส่วนที่อยู่ระหว่างกลางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินภาระจำยอมสำหรับที่ดินส่วนที่อยู่เหนือสุดและใต้สุดเพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แสดงว่าที่ดินแปลงใหญ่นี้มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ภายหลังจากการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ถูกแบ่งแยกมีที่ดินแปลงอื่นล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงย่อยในส่วนนั้นจึงมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งถูกแบ่งแยกจากที่ดินแปลงใหญ่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350
         เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินถูกแบ่งแยกและการแบ่งแยกนั้นเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินที่ถูกแบ่งแยกแปลงอื่นได้ตามกฎหมาย การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
                 
                    คำถาม  เงินดาวน์งวดที่สองที่ผู้ซื้อชำระให้แก่ผู้ขายภายหลังวันทำสัญญา ถ้าสัญญาระบุว่าให้ถือเป็นมัดจำและผู้ขายมีสิทธิริบได้หากผู้ซื้อผิดสัญญา ต่อมามีการเลิกสัญญากัน ผู้ขายมีสิทธิริบเงินดาวน์งวดที่สองหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  7175/2554  โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา  ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกันให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วนเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
                       
                  คำถาม  ผู้สลักหลังเช็คผู้ถือ และผู้สลักหลังเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้ทรงแล้วรับเช็คกลับคืนมา จะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คภายในกำหนดอายุความใด
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3762/2554  โจทก์นำเช็คพิพาทห้าฉบับไปสลักหลังขายลดให้แก่ ส. กับ บ. ต่อมาโจทก์นำเงินตามเช็คไปชำระให้บุคคลทั้งสองและรับเช็คพิพาทกลับคืนมา การที่โจทก์ชำระเงินตามเช็คให้แก่ ส. กับ บ. และรับเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือสี่ฉบับกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 จึงมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา  1002 โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในอายุความ 1 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับเช็คทั้งสี่ฉบับนี้จึงไม่ขาดอายุความ
                      ส่วนเช็คพิพาทอีกหนึ่งฉบับซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ การที่โจทก์สลักหลังเช็คฉบับนี้ขายลดให้แก่ ส. กับ บ. ส. และ บ. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้ ส. กับ บ. และรับเช็คพิพาทฉบับนี้กลับคืนมา โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช้ผู้ทรงเช็คฉบับนั้นไม่ จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายภายในเวลาหกเดือน นับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คและใช้เงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1003 เมื่อ พ. กรรมการของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ผ่อนชำระเงินให้ ส. กับ บ.โดยผ่อนชำระตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2541 โจทก์จึงได้รับเช็คทั้งห้าฉบับกลับคืนมาและโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม  2541 จึงล่วงเลยระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันดังกล่าว ฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทฉบับนี้จึงขาดอายุความ
                     
                      คำถาม  ใช้ทางเดินในที่ดินของผู้อื่นติดต่อกันมาจนครบสิบปีโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตน ผู้ใช้ทางจะได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1203/2554  ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งกฎหมายบัญญัติให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นได้มาโดยนิติกรรมหรือโดยอายุความ สำหรับการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงว่าภารยทรัพย์จะเป็นของผู้ใด หรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น เพราะแม้มีผู้ใช้ทางเดินในที่ดินของผู้อื่นติดต่อกันมาจนครบ 10ปี โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตน ผู้ใช้ทางดังกล่าวย่อมได้ไปซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 143629 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12606 เป็นทางสัญจรไปสู่ทางสาธารณะจนครบ  10ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
                     แม้บริษัท ว. จะทำหนังสือรับรองยินยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองมิได้ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบริษัท ว. ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าในขณะที่โจทก์ที่  2ขายให้แก่บริษัท ว.ในราคาสูงถึง 2,000,000บาทเศษเนื่องจากอยู่ติดกับถนนสายใหญ่ แต่โจทก์ที่ 2 ขายให้แก่บริษัท ว. ในราคาที่ต่ำเกินสมควรเพียง 540,000 บาท เพราะโจทก์ที่ 2 คาดหวังว่าแม้จะขายไปแล้วโจทก์ทั้งสองก็ยังมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ตามที่บริษัท ว. ให้คำรับรองไว้  ฉะนั้นการที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ  จึงเป็นการใช้โดยถือว่าตนมีสิทธิในทางนั้น อันเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโดยตรง หาใช่เป็นการใช้โดยอาศัยสิทธิของบริษัท ว. ไม่
                   
             คำถาม  เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานเป็นเหตุให้พนักงานปลอมลายมือชื่อ จะถือว่าเจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมตราอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกเรื่องลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 หรือไม่

             คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

              คำพิพากษาฎีกาที่  9483/2554  เช็คพิพาทส่วนใหญ่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์เป็นผู้ไปเบิกถอนเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเมื่อตรวจสอบลายมือชื่อของ พ.ในเช็คพิพาทกับตัวอย่างลายมือชื่อของ พ. แล้วจะมีลักษณะคล้ายกัน จำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับก็มิได้สูงจนผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งตราประทับของโจทก์ที่ประทับลงในเช็คก็เป็นตราประทับที่แท้จริงของโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของ พ. ในช่องผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 จ่ายเงินในบัญชีของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์มิใช่เป็นบุคคลภายนอกปลอมลายมือชื่อของ พ.โดยใช้ตราประทับที่แท้จริงสั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเวลานานและจำนวนหลายฉบับดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยมิได้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1 โจทก์จะอ้างว่าได้ว่าจ้างสำนักงานบัญชีตรวจสอบบัญชีของโจทก์หาได้ไม่ โจทก์จึงอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทคืนแก่โจทก์

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค 1 สมัย67 เล่ม3

--------------------


                      คำถาม   สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น กรณีที่หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่ และจะเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3557/2554  เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ โดยหนี้ดังกล่าวมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า5ปีขึ้นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้สิทธิผู้รับจำนองบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น  ดังนั้น แม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบก็ตาม โจทก์ก็จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 เพื่อเอาชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติห้ามผู้รับจำนองมิให้ใช้สิทธิบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป มิได้ห้ามผู้รับจำนองมิให้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องขอให้บังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปได้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  4295/2555  แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้แม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความ แต่คงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น  หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของเจ้ามรดกได้ไม่ แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม เพราะทำให้จำเลยต้องรับผิดมากไปกว่าที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม  ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

                  คำถาม  สัญญากู้ยืมมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยกันได้แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ในสัญญา ผู้ให้กู้จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้หรือไม่ อัตราเท่าใด
                       สัญญากู้ยืมให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไร
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  12738/2555  เนื่องจากสัญญากู้ยืม ข้อ 2 วรรคหนึ่งปรากฏเพียงว่า โจทก์กับจำเลยตกลงให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ในสัญญา แม้ ป.พ.พ. มาตรา 654 จะบัญญัติห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็มีความหมายเพียงว่าในสัญญาที่ตกลงกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ห้ามมิให้ตกลงคิดดอกเบี้ยกันเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อคู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นนี้ จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 7 ที่บัญญัติให้ใช้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
                       คำพิพากษาฎีกาที่  5566/2555  โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 60 ต่อปี  จึงเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150  ดังนั้น โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง คือวันที่ครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้

                       คำถาม  สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่ว่าโดยเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือมีเหตุอื่นใดอันทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนทั้งหมด ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิด และผู้ค้ำประกันตกลงจะชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ทันทีนั้น ผู้ค้ำประกันจะมีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่   1110/2555  คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า บริษัท ต. เช่าซื้อรถยนต์กระบะไปจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม บริษัท  ต. ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ต่อมาโจทก์ประมูลซื้อทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จาก ปรส. ได้ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อ จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ของบริษัท ต. ผู้เช่าซื้อขึ้นต่อสู้โจทก์นั้น ป.พ.พ. มาตรา 694 บัญญัติว่า นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่บริษัท ต. ผู้เช่าซื้อชำระบัญชีเสร็จ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 ระบุห้ามมิให้โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งบริษัทเป็นลูกหนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยจึงสามารถยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ส่วนข้อตกลงที่เป็นการจำกัดสิทธิตามกฎหมายของผู้ค้ำประกันนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องระบุไว้ให้ชัดแจ้งในสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันข้อ 3 มีข้อความระบุว่าในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่บริษัทไม่ว่าโดยเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือมีการชำระบัญชี หรือมีเหตุอื่นใดอันทำให้บริษัทไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ทั้งหมด ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดและผู้ค้ำประกันตกลงจะชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดให้แก่บริษัททันทีนั้น ยังแปลไม่ได้ว่าผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้
                         การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์กลับคืนมา ป.พ.พ.มาตรา 1336 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ติดตามเอาทรัพย์กลับคืนจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่จึงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีกำหนดอายุความ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันครอบครองรถยนต์ของโจทก์ อีกทั้งฟ้องโจทก์ก็เป็นเรื่องบังคับให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยจึงสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ในเรื่องอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

                        คำถาม   เจ้าหนี้เข้าไปในร้านเสริมสวยของลูกหนี้ขณะเปิดให้บริการเพื่อทวงถามลูกหนี้ให้ชำระหนี้โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ยินยอมที่จะให้เงิน การกระทำของเจ้าหนี้เป็นความผิดฐานใด
                        คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่   3874/2555  จำเลยทั้งสองซื้อสลากกินรวบจากผู้เสียหายที่ 1 จำเลยทั้งสองย่อมทราบว่าเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2484 มาตรา 4 วรรคสอง , 12 (1) และไม่ก่อให้เกิดหนี้ในอันที่จะสามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แม้หากเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายและลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ยังหาได้มีสิทธิที่จะทวงถามด้วยการข่มขืนใจให้ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของลูกหนี้ไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 1 เข้าใจหรือเชื่อโดยสุจริตได้เลยว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบังคับและข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ยอมชำระเงินค่าสลากกินรวมให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของผู้เสียหายที่ 1 ได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ยอมที่จะให้เงินแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการพยายามกรรโชก
                          จำเลยที่ 2 รู้เห็นโดยมีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกไม่ขู่เข็ญกับใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อทวงถามเงินค่าสลากกินรวมจากผู้เสียหายที่ 1 มาตั้งแต่แรก มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปเองเพียงลำพัง ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการพยายามกรรโชก และใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 83, 391
                       ขณะเกิดเหตุ ร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1 ยังเปิดให้บริการอยู่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ไม่ถือว่าเป็นเคหสถาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364


                        คำถาม   เจ้าพนักงานผู้ไม่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงิน การกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานเบียดบังเอาเงินที่จะต้องจ่ายแก่ราษฎรไป เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                       คำพิพากษาฎีกาที่   7441/2555  จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ย. จึงมีอำนาจเพียงอนุมัติฎีกาตามที่ ส. หัวหน้าส่วนการคลังเสนอเท่านั้น ส่วนการจ่ายเงินเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการ การที่จำเลยที่ 1 ศ. และ ส. ซึ่งเป็นกรรมการรับส่งเงินไปเบิกถอนและรับเงินจากธนาคารมาเพื่อเบิกจ่ายเงินให้แก่ราษฎรผู้รับจ้างก่อสร้างถนนแล้ว จำเลยที่ 1 ยืนยันขอรับเงินไปจ่ายให้แก่ราษฎรผู้รับจ้างเอง จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินไปแล้วเบียดบังเอาไปโดยทุจริต ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินตาม ป.อ. มาตรา 147 คงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย67 เล่ม1

---------------------------------

                       คำถาม   บุคคลที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อครอบครองต่อมา ดังนี้ ผู้ซื้อจะนับระยะเวลาที่ผู้ขายครอบครองที่ดินติดต่อกับระยะเวลาที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินเข้าด้วยกันอันจะทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ได้หรือไม่
                      การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ครอบครองจะต้องมีเจตนาสุจริตหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1981/2556  ท. ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบางส่วนของที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  ท. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อ ท. ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในปี 2547 และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาโดยตลอดมิได้ขาดตอนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แสดงว่า ท. เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง และย่อมนับระยะเวลาที่ ท.ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกับระยะเวลาที่โจทก์ครองครองที่ดินพิพาทเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 เมื่อนับเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทของ ท. รวมเข้าด้วยแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
                       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ได้บัญญัติว่าการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองจะต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาที่สุจริต คงบังคับไว้แต่เพียงว่าให้ผู้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นก็ตาม

                       คำถาม  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนขณะทำพินัยกรม ผู้ทำพินัยกรรมกับผู้รับพินัยกรรมมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินให้ผู้รับพินัยกรรมว่า ให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่น ดังนี้ ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่นจะฟ้องบังคับให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่   5791/2556  การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นั้น เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ และหาจำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง
                      ท. ผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และขณะ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตาย และจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรม ทั้งรับทราบเจตนาของ ท. ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินแปลงหนึ่งตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาท อันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงนั้นแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้นอันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ทำให้เป็นโมฆะหรือเสียเปล่ายังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ไม่ แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้

                       คำถาม  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจดทะเบียนให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าหรือมีอำนาจฟ้องขับไล่หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  15033/2555   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 68160 และจดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยมีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 นางบุญช่วยให้นางชอุ่มมารดาจำเลยเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 3 ปี เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย นางชอุ่มก่อสร้างบ้านพิพาทเสร็จแล้วขอเลขที่บ้าน หลังจากนั้นนางชอุ่มและจำเลยย้ายชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านพิพาท นางชอุ่มทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับนางบุญช่วยต่อมาอีกหลายครั้ง ต่อมานางชอุ่มยกบ้านพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับนางบุญช่วยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 มีกำหนด 1 ปี ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท ก่อนครบกำหนดตามสัญญานางบุญช่วยแจ้งจำเลยว่าจะให้อยู่อีก 2 เดือน แล้วให้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยยังอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาท ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

                       คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียวนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความยุติว่า โจทก์จดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นได้แต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่  การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาท จึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัยที่66 เล่มที่ 1

       ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัยที่66 เล่มที่ 1
--------------------------------


         คำถาม  สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจาก
ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น หากหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่ และจะเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องได้หรือไม่
         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
         คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๕๗/๒๕๕๔ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความ
 โดยหนี้ดังกล่าวมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ ๒ จำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๒๗ และมาตรา ๗๔๕ กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไปไม่ได้  ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้สิทธิผู้รับจำนองบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบก็ตาม โจทก์ก็จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๒ เพื่อเอาชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น บทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติห้ามผู้รับจำนองมิให้ใช้สิทธิบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไป มิได้ห้ามผู้รับจำนองมิให้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องขอให้บังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปได้
                         

         คำถาม ข้อความในสัญญาเช่าว่า ผู้เช่ามีสิทธิต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก แต่ต้องตกลงเรื่องค่าเช่ากันใหม่ หรือต้องมาทำสัญญากันใหม่ เป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
          คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
           คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๐๑/๒๕๕๕ ข้อความในสัญญาเช่าที่ว่า ก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไปเพื่อขอขยายอายุสัญญาเช่าใหม่  ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยมาทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
           คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑-๖๖๒/๒๕๑๑ สัญญาเช่ามีข้อความว่า “เมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิต่ออายุในสัญญาเช่าได้อีก ส่วนค่าเช่านั้นตกลงกันใหม่” ย่อมเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสผู้เช่าจะต่อสัญญาได้เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการต่ออายุสัญญาเช่าต่อไป
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๙/๒๕๑๒ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าต่อกันมีข้อความว่า “ผู้ให้เช่าจะยอมให้ผู้เช่าเช่าสถานที่ต่อไปอีกคราวหนึ่งมีกำหนด ๑๐ ปี ในอัตราค่าเช่าอย่างเดิม หรืออัตราค่าเช่าอื่นใดสุดแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน” นั้น หมายความว่าอัตราค่าเช่าจะเป็นอย่างเดิมก็ดี หรืออย่างอื่นก็ดี โจทก์จำเลยจะต้องตกลงซึ่งกันและกันเสียก่อน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการเช่าตามกฎหมายหากตกลงกันไม่ได้ก็ย่อมจะต่อสัญญาเช่ากันไม่ได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๙๔/๒๕๑๕  สัญญาเช่าซึ่งระบุว่า เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าแล้ว หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก และค่าเช่าจะได้ตกลงกันภายหลังนั้น เป็นเพียงผู้ให้เช่าให้โอกาสผู้เช่าที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีก ในเมื่อตกลงค่าเช่ากันเรียบร้อยแล้ว และไม่มีพันธะผูกพันผู้ให้เช่าว่าจะเรียกร้องค่าเช่ากันได้มากน้อยเพียงใด  เมื่อผู้ให้เช่ากำหนดอัตราค่าเช่า  ผู้เช่าไม่สนองรับก็เป็นอันตกลงค่าเช่ากันไม่ได้ สัญญาเช่าต่อไปย่อมไม่เกิด
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๑๖๐/๒๕๑๘  ข้อสัญญาว่า ถ้าครบกำหนดเช่าผู้เช่าต้องมาทำสัญญาใหม่ใน ๗ วัน  มิฉะนั้น ยอมให้เก็บค่าเช่าเป็นเดือนละ  ๑,๐๐๐ บาทได้ ดังนี้ เป็นแต่ให้โอกาสทำสัญญาใหม่ แม้ผู้เช่าขอทำสัญญาใหม่ใน ๗ วัน ก็ยังไม่เป็นสัญญาผูกพันผู้ให้เช่า
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๕/๒๕๒๕  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างตึกแถวและอาคารบ้านเรือน (ตลาดสด) ซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ ๗ ตึกแถวฯ ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นใหม่โจทก์มีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ตามสัญญาข้อ  ๒ โดยข้อ ๒ มีความว่า ยอมให้โจทก์เช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี เมื่อหมดสัญญา  ๑๕ ปีแล้ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อให้มาทำสัญญาใหม่ ถ้าไม่ทำสัญญาต่อ โจทก์จะต้องส่งมอบสถานที่เช่าพร้อมตึกแถวฯ ให้แก้ผู้ให้เช่าจนครบถ้วนทุกอย่าง ดังนี้ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า จำเลยหาจำต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทต่อไปไม่
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๒๖๓/๒๕๓๕  หนังสือสัญญาเช่าสถานที่ระบุว่า ถ้าผู้รับมอบหรือผู้เช่ามิได้ประพฤติผิดสัญญา  ผู้มอบหรือผู้ให้เช่าจะได้พิจารณาต่ออายุสัญญาให้อีกคราวหนึ่ง เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าจะใช้ดุลพินิจต่อสัญญาให้แก่ผู้เช่าอีกคราวหนึ่ง ในเมื่อผู้เช่าไม่ได้กระทำผิดสัญญา อย่างไรก็ดีแม้ผู้เช่าจะไม่ได้กระทำผิดสัญญาก็ตาม  การจะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของผู้ให้เช่า สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คำมั่นจะให้เช่า
           

           คำถาม  คำมั่นจะให้เช่า  มีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
            คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๗๒/๒๕๓๗  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ด.  ด.ให้จำเลยเช่า  ต่อมา ด.โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ.โอนขายให้โจทก์ แม้ ด. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ด.จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก ๓ ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๔๙๑/๒๕๓๙  สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าต่อระยะเวลาการเช่าไปอีกหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่เป็นทรัพย์สิทธิที่จะได้เช่าต่อไปคงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือผู้ให้เช่าห้องพิพาทเดิมกับจำเลยเท่านั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทซึ่งมิได้ตกลงกับจำเลยในข้อตกลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีกเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปจากห้องพิพาทนั้น

                  คำถาม   การร่วมกันไปทำร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสเป็นการชุลมุนต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๓๘  - ๗๓๙/๒๕๕๕  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๒๙๙ ต้องเป็นกรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัส  ซึ่งหมายถึงกรณีไม่ทราบว่าผู้ใดหรือบุคคลใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยที่  3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่  2 กับพวกใช้มีดและเหล็กแป็บฟันและตีผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่ใช่เป็นการชุลมุนต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  299
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๒๓๕/๒๕๕๓  กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา  ๒๙๙ นั้นต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส  แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้  ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ  เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม5


---------------------

                        คำถาม   การใช้บุคคลอื่นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด  หากผู้ถูกใช้ไม่รู้จะถือว่าร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1280/2555  จำเลยที่ 2 วางแผนกับพวกหลอกว่าจ้างจำเลยที่ 1 นำรถยกไปยกรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่งให้จำเลยที่  2  เพื่อจำเลยที่ 2 จะยกรถยนต์ต่อไปยังจุดหมาย โดยจำเลยที่ 1ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเครื่องมือของคนร้าย  จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของตน จำเลยที่  1 จึงไม่ได้ร่วมกระทำผิด
                    จำเลยที่ 1 ขับรถยกยกรถยนต์ของผู้เสียหายขยับออกไปจากที่จอดไม่ถึง 1 เมตรโดยส่วนหน้าของรถยนต์ของผู้เสียหายถูกยกขึ้นไปเกยบนคานของรถยกและมีโซ่คล้องรถยนต์ของผู้เสียหายผูกยึดติดกับรถยกของจำเลยที่ 1 พร้อมที่จะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้เป็นเครื่องมือได้เข้ายึดถือครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะเอาไปได้แล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เอาไปซึ่งรถยนต์ของผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แม้จำเลยที่  1จะยังไม่ทันขับรถยกลากจูงรถยนต์ของผู้เสียหายออกไปก็ตาม หาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่

                คำถาม  กระสุนปืนไม่ลั่น เพราะดินปืนที่บรรจุอยู่ในลำกล้องเปียกชื้นจะถือว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่ไม่่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา  81 หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
          คำพิพากษาฎีกาที่  2894/2555 การพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตาม ป.อ. มาตรา 81 นั้น ต้องเกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ เหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดกับเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ สำหรับคดีนี้เหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิด คือ อาวุธปืนแก๊ปยาวแบบประจุปากของกลาง  ปัญหาว่าอาวะปืนแก๊ปยางดังกล่าวเป็นเหตุให้การพยายามกระทำความผิดนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้หรือไม่  ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของพันตำรวจโท ก. เจ้าพนักงานตำรวจประจำวิทยาการเขต  43จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนของกลางว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่สามารถทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ การที่กระสุนปืนไม่ลั่นเมื่อสับนกปืนนั้น สามารถเกิดขึ้นกับอาวุธปืนของกลางได้หากดินปืนมีความชื้นหรือเปียกชื้นเพราะประกายไฟซึ่งเกิดจากนกปืนสับไปที่แก๊ปปืนไม่สามารถลุกลามไปติดเนื้อดินปืนในลำกล้องเพื่อส่งเม็ดตะกั่วที่บรรจุอยู่ออกไปทางปากกระบอกได้  แสดงว่าในวันเกิดเหตุหากดินปืนที่บรรจุอยู่ในลำกล้องอาวุธปืนของกลางแห้งไม่เปียกชื้นกระสุนปืนก็ต้องลั่นส่งเม็ดตะกั่วที่บรรจุอยู่ในลำกล้องออกมาใส่ใบหน้าผู้เสียหายเป็นอันตรายต่อชีวิตได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล อันเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 80 หาใช่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนของกลางอันเป็นปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำตามมาตรา  81 แต่อย่างใดไม่

                       คำถาม  การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นถนนสาธารณะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานงานเจ้าหน้าที่หรือไม่  และหากผู้อุทิศกลับเข้าครอบครองที่ดินจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองกลับมาหรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  264/2555  จำเลยอุทิศที่ดินของตนให้สร้างทางพิพาทเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเป็นการอุทิศด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือและมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1299 ก็ตาม แต่การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นถนนสาธารณะ เช่นนี้ เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) หาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 ไม่ การอุทิศด้วยวาจาก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ แม้จำเลยได้กลับเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นถนนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้วนานเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกไปเป็นของจำเลยได้อีกเพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

               คำถาม  ฝูงกระบือมีจำนวน 43 ตัว มีผู้ควบคุมดูแล  2 คน กระบือวิ่งตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิดจนไม่สามารถห้ามล้อได้ทันจึงชนกระบือ  ส่วนรถยนต์ได้รับความเสียหาย เจ้าของกระบือจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าของรถยนต์  หรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  3451/2555  รอยห้ามล้อของรถยนต์กระบะซึ่งยาวประมาณ  20 เมตร อยู่ในช่องเดินรถของ ล. โดยเฉพาะรอยห้ามล้อรถด้านซ้ายอยู่ห่างจากไล่ถนนพอสมควร แสดงว่ากระบือของจำเลยได้วิ่งตัดหน้ารถของ ล. ในระยะกระชั้นชิดจนไม่สามารถห้ามล้อรถได้ทัน จึงชนกระบือของจำเลย แม้ก่อนถึงที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตร มีป้ายสีเหลืองเตือนระวังสัตว์เลี้ยงก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าขณะเกิดเหตุ ล. ขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างไร  การที่มีป้ายสีเหลืองเตือนให้ระวังสัตว์เลี้ยงมิได้หมายความว่าหากเหตุรถชนสัตว์เลี้ยงแล้ว  ผู้ขับรถชนสัตว์เลี้ยงจะต้องผิดเสมอไป เมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา  111 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ  ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองผู้ขับรถให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ถนน  การที่ฝูงกระบือที่จำเลยเลี้ยงมีมากถึง  43 ตัว แต่มีผู้ควบคุมดูแลเพียง 2คน ถือว่ามีผู้ควบคุมดูแลไม่เพียงพอ  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการควบคุมดูแลเลี้ยงกระบือ  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 วรรคหนึ่ง

                  คำถาม   บุคคลซึ่งเข้ามาเป็นหุ้นส่วน หรือออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไปแล้วจะต้องรับผิดในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่เข้ามาหรืออกจากหุ้นส่วนหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1378/2555  จำเลยที่  1  เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยขณะฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  แม้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนภายหลังก็ต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) , 1080, 1087  ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่  1ได้ก่อขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080,  1087

               คำถาม   ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งมิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างอันเป็นการดำเนินการแทน โดยห้างเชิดออกแสดงเป็นตัวแทน จะมีผลผูกพันหุ้นส่วนจำกัดหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  5009/2555  บทบัญญัติลักษณะ  22 หมวด 3 ว่าด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่ง ป.พ.พ.                  มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า  “ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน ” และมาตรา  1080 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยบทบัญญัติแห่งห้างหุ้นส่วนจำกัด มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญ มาตรา 1043 บัญญัติว่า  “ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี........ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการจัดการงานนอกสั่ง" แสดงว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แม้จะมิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก็อาจเอื้อมไปจัดการงานของห้าง หรือผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดก็อาจสอดเข้าไปจัดการงานของห้างอันเป็นการดำเนินการแทน และผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัดได้  เมื่อปรากฏว่าตามทางปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยต่างทำธุรกรรมต่อกันมาก่อนหลายครั้งด้วยการให้ ป. เอื้อมเข้ามาจัดการติดต่อซื้อรถสามล้อเครื่องแทนโจทก์  และจำเลยให้ ส.ติดต่อขายรถสามล้อเครื่องแทนจำเลยมาตลอด พฤติการณ์ที่ปรากฏแสดงว่าโจทก์และจำเลยได้เชิดและยอมให้ ป. กับ ส. เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว   การลงนามในสัญญาซื้อขายของ ป.แทนโจทก์ และ ส. แทนจำเลย จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 821 โจทก์จึงมีอำนาจรับเอาข้อสัญญาดังกล่าวและฟ้องจำเลยให้รับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าวได้  เมื่อโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้


               คำถาม   เจ้าของรวมในที่ดินซึ่งมีข้อตกลงตามสัญญาว่าให้ที่ดินส่วนพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ใช้ร่วมกัน  ดังนี้  เจ้าของรวมคนหนึ่งจะมีสิทธิเรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้   ดังนี้

                คำพิพากษาฎีกาที่  3414/2555  โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโดยมีข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายว่าให้ที่ดินส่วนพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ใช้ร่วมกัน เมื่อยังไม่มีการตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมจึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์ได้ เนื่องจากมีนิติกรรมขัดอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง