วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

ถ้าทรัพย์ที่พิพาทเป็นคนละสิ่งกันไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ


   รวมคำบรรยายเนติบัณฑิต เล่มที่ ๘ ครั้งที่ ๖ อ.อำนาจ พวงชมพู สมัยที่ 70


ถ้าทรัพย์ที่พิพาทเป็นคนละสิ่งกันไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ


         คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๑๕/๒๕๕๔ คดีก่อนจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ ๑ อ้างว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ที่กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ ๑ คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหายที่จำเลย ทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทรัพย์ที่อ้างเพี่อเรียกร้องสิทธิแห่งตนเป็นทรัพย์คนละอย่างต่างกันเพราะคดีก่อนโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน และเรียกค่าเสียหายจากการรบกวนการครอบครองสิ่งปลูกสร้าง ส่วนคดีนี้โจทก์รับว่า สิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยทั้งสอง แต่ที่ดินเป็นของโจทก์ขอให้รื้อถอนออกไปและเรียกค่าเสียหายที่ยังคงอยู่บนที่ดิน คดีทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทไม่เหมือนกัน  ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ



วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

เก็งเนติฯ กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค3 ภาค2 สมัยที่70

      เก็งเนติฯ วิแพ่ง ภาค3 ภาค2 สมัยที่70
----------------------------

   กรณีที่จำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะยกเป็นข้อต่อสู้หรือสละข้อต่อสู้นั้นแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาอีก
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๐๖/๒๕๔๐ จำเลยยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยว ด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว แต่ต่อมาได้แถลงไม่ ติดใจที่จะต่อสู้ต่อไป ประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องจึงยุติไปตามคำแถลงของจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นฎีกาตามมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง เพราะตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ และเมื่อประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องยุติไปตามคำแถลงของจำเลย จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๙ วรรคแรก

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๒ จำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้อง โดยโต้เถียงความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไว้ แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามได้แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว และจำเลยทั้งสามมิได้สืบพยานอีกด้วย คดีในศาลชั้นต้นจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามไม่ติดใจโต้เถียงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้อง คดีของโจทก์ไม่ถูกต้องอีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และต้องฟังว่าโจทก์มอบอำนาจฟ้องถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (นอกจากนี้ขอให้ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๓/๒๕๕๒ เป็นกรณีที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย  จำเลยลงชื่อเพียงให้ความยินยอม)

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๕๔/๒๕๕๐ ผู้รับรองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๙๒๗ ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตามมาตรา ๙๓๗ ธนาคาร น. ย่อมอยู่ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย ตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ ๑ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคาร น. ตาม มาตรา ๙๖๗ วรรคสาม ดังนั้น เมื่อธนาคาร น. ได้จ่ายเงินให้บริษัท ต. ซึ่งเป็นผู้รับเงินไปแล้ว ธนาคาร น. จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะสละประเด็นพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง
        ***คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๔๐ และที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๒   แตกต่างจาก คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๕๔/๒๕๕๐ ที่ว่า คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๔๐ และ ที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๐ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องตามกฎหมายวิธีสบัญญัติเมื่อสละแล้วก็ยุติ
        แต่คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๕๔/๒๕๕๐ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องตามกฎหมายสาระบัญญัติ คือ โจทก์ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ แม้จำเลยจะเคยสละประเด็นพิพาทข้อนี้ไปแล้ว ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ (แม้สละศาลก็หยิบยกได้)

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๙๕/๒๕๕๖ ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบ แม้จำเลยจะแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าขอสละประเด็นดังกล่าว ไม่ติดใจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจยกขึ้นได้


อ้างอิง รวมคำบรรยายเนติฯ วิชา กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค3 (ศอ.อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) เล่มที่8 การบรรยายครั้งที่7 ภาค2 สมัยที่70 .

เก็งกฏหมายล้มละลาย เนติบัณฑิต ภาค2 สมัยที่ 70 ชุดที่ 1

          เก็งข้อ 8. กฏหมายล้มละลาย เนติบัณฑิต ภาค2 สมัยที่ 70
*******************

           กรณีลูกหนี้ไม่ได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือการขอประนอม หนี้ก่อนล้มละลายไม่เป็นผลสำเร็จ
        มาตรา ๖๑ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก หรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติ ประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็น ชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
        ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา
        สรุป มาตรา ๖๑ เป็นบทบัญญัติให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายอันเนื่องมาจากลูกหนี้ไม่ได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หรือลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับจึงมีมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว แต่ศาลไม่เห็นชอบด้วย

        มาตรา ๖๑ เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายทันที เมื่อได้ ดำเนินคดีตามขั้นตอนของมาตราดังกล่าวครบถ้วน
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๐/๒๕๓๑ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๖๑ เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันที เมื่อได้ดำเนินคดีตามขั้นตอนของมาตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีล้มละลายต่อไปตามขั้นตอน เพราะคดีล้มละลายต้องกระทำโดยเร่งด่วนตามมาตรา ๑๓ หากต่อมาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะการล้มละลายเริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๖๒
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๗/๒๕๓๒ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๖๑ เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันที เมื่อได้ดำเนินคดีมาตามชั้นตอนของมาตรานี้ครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของจำเลย แม้จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดย่อมมีผลบังคับได้ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๑๕๓ จึงไม่กระทบกระเทือนในการที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีล้มละลายต่อไปตามขั้นตอน เนื่องจากคดีล้มละลายจะต้องกระทำโดยเร่งด่วนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๑๓ และ ๑๕๓
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๘๒/๒๕๓๖*** การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินเป็นการด่วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓ และ ๑๕๓ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ศาลก็ต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา ๖๑ ทันทีแม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๐/๒๕๔๖ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖๑ บังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายทันทีเมื่อได้ดำเนินคดีมาตามขั้นตอนของมาตรานี้ครบถ้วนแล้ว ศาลจะงดพิพากษาหรือรอการพิพากษาหรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้ เพียงครั้งเดียว หากจำเลยจะขอประนอมหนี้อีกก็ชอบที่จะเสนอคำขอได้ในตอนหลังเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้วตามมาตรา ๖๓ การที่จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี ก่อนล้มละลายเข้ามาอีก จึงเป็นการไม่ชอบ


อ้างอิง รวมคำบรรยายเนติฯ วิชา  กฏหมายล้มละลาย(อ.ชีพ จุลมนต์) เล่มที่8 การบรรยายครั้งที่6  ภาค2 สมัยที่70