แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม ธงคำตอบ เนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 64 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม ธงคำตอบ เนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 64 แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิแพ่ง ภาคสอง สมัยที่ 64

 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ในการสอบภาคสอง  สมัยที่  64  ปีการศึกษา  2554
วันอาทิตย์ที่  25  มีนาคม  2555
     
--------------------------

ข้อ  1.  โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง  ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท  ศาลแพ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องหมายเรียก  ให้ส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยภายใน  7  วัน  ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน  7  วัน  นับแต่วันส่งไม่ได้  หากไม่แถลงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง  วันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่  24  ธันวาคม  2554  เจ้าพนักงานศาลนำส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยโดยภริยาของจำเลยอายุ  21  ปี  และอยู่บ้านเดียวกันเป็นผู้รับ  ต่อมาวันที่  26  มกราคม  2555  จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลแพ่งสั่งรับคำให้การของจำเลย  นัดชี้สองสถาน  วันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องว่า  ศาลสั่งรับคำให้การของจำเลยไม่ชอบ  ทำให้เพิกถอนคำสั่ง  ถัดมาอีก  2  วัน  จำเลยจึงยื่นคำร้องว่าการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยในวันหยุดราชการไม่ชอบ  ขอให้ส่งใหม่

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งวินิจฉัยตามคำร้องของโจทก์และจำเลยอย่างไร

ธงคำตอบ
                การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด  โดยเจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  74  นั้น  มิได้กำหนดห้ามส่งในวันหยุดราชการ  ดังนั้น  การส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยในวันเสาร์  ซึ่งเป็นวันหยุดราชการจึงชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  3501/2545)  และตามมาตรา  76  วรรคหนึ่ง  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้คู่ความ  เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความ  หากได้ส่งให้แก่บุคคลใดๆ  ที่มีอายุเกินยี่สิบปี  ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือน  หรือสำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความ  ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ตามข้อเท็จจริงการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยโดยภริยาของจำเลยซึ่งอายุเกินยี่สิบปี  และอยู่ในบ้านเดียวกันเป็นผู้รับจึงชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  4293/2547)
                ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำให้การได้ภายใน  15  วัน  นับแต่วันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง  ปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่  24  ธันวาคม  2554  แต่ยื่นคำให้การเมื่อวันที่  26  มกราคม  2555  พ้นกำหนดระยะเวลา  15  วันแล้ว  ศาลแพ่งสั่งรับคำให้การของจำเลยไว้จึงไม่ชอบเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม  มาตรา  27
                ศาลแพ่งต้องสั่งตามคำร้องของโจทก์ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยและสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องใหม่

ข้อ  2.  นายศุกร์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์เป็นจำเลยที่  1  นายอาทิตย์เป็นจำเลยที่  2  อ้างว่า  จำเลยที่  1  ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่  2  ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่  2  โดยประมาทเลินเล่อ  ชนรถยนต์โจทก์เสียหาย  ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน  400,000  บาท  จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า  เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่  1  พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์  คดีถึงที่สุด  นายอาทิตย์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว  ต่อมานายอาทิตย์ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์เป็นจำเลยขอให้ชดใช้เงินที่นายอาทิตย์ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่นายศุกร์  นายเสาร์ให้การว่า  ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ  คำพิพากษาคดีก่อนไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยคดีนี้  และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ยกฟ้อง

                ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ทั้งสองข้อฟังขึ้นหรือไม่
             
ธงคำตอบ
                กรณีฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  148  นั้น  เป็นเรื่องที่ห้ามมิให้คู่ความซึ่งฟ้องร้องกัน  และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วกลับมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  เมื่อนายเสาร์และนายอาทิตย์ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน  เป็นแต่เคยถูกนายศุกร์ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนเท่านั้น  ดังนั้น  การที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์ในคดีหลังกรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจักต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ฟังไม่ขึ้น
                ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ที่ว่า  ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้น  คดีก่อนที่นายศุกร์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์และนายอาทิตย์เป็นจำเลย  แม้นายเสาร์และนายอาทิตย์จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม  ก็ต้องถือว่านายเสาร์และนายอาทิตย์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย  คำพิพากษาคดีก่อนจึงมีผลผูกพันนายเสาร์และนายอาทิตย์ในคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  145  วรรคหนึ่ง  เมื่อศาลในคดีก่อนวินิจฉัยว่า  เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายเสาร์  ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่านายเสาร์กระทำละเมิดโดยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ  (คำพิพากษาฎีกาที่  3954/2536, 9035/2538)  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ข้อ  3.  โจทก์ฟ้องว่า  โจทก์เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนางแดงมารดาตามคำสั่งศาล  นางแดงมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  จำเลยที่  1  บุตรอีกคนหนึ่งของนางแดงได้แจ้งความเท็จว่า  น.ส.3  เลขที่  305  สูญหายไปและจำเลยที่  1  ได้รับมอบอำนาจจากนางแดงให้ไปดำเนินการขอออกใบแทน  เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงได้ออกใบแทนให้  แล้วจำเลยที่  1  จดทะเบียนโอนขายที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  ดังกล่าวแก่จำเลยที่  2  โดยอ้างว่า  ได้รับมอบอำนาจให้ขายจากนางแดงซึ่งเป็นความเท็จ  ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายดังกล่าวออกจากรายการจดทะเบียนใน  น.ส.3  และให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวยังเป็นทรัพย์มรดกของนางแดงเพื่อโจทก์จะได้นำไปแบ่งปันกันในระหว่างทายาท  จำเลยทั้งสองให้การว่า  นางแดงได้มอบอำนาจให้จำเลยที่  1  ไปดำเนินการขอออกใบแทนและให้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่  2  จำเลยที่  2  จึงรับโอนมาโดยชอบที่ดินพิพาทย่อมมิใช่ทรัพย์มรดกของนางแดงอีกต่อไป  ก่อนตายนางแดงมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  อันเป็นทรัพย์มรดก  แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งให้จำเลยที่  1  ข้อให้ยกฟ้อง  และฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งปันที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  ให้แก่จำเลยที่  1  จำนวนหนึ่งในสองส่วน  ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา

                ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาชอบหรือไม่
             
ธงคำตอบ
                จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของนางแดงซึ่งตกทอดแก่ทายาทอันได้แก่โจทก์และจำเลยที่  1  แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งให้จำเลยที่  1  ขอให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางแดงแบ่งปันที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่  1  จำนวนหนึ่งในสองส่วน  ดังนี้  เป็นกรณีจำเลยที่  1  โต้แย้งสิทธิกับโจทก์  จำเลยที่  2  มิได้มีสิทธิทางแพ่งโต้แย้งกับโจทก์แต่อย่างใด  จำเลยที่  2  จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง  ฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  2  จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม  ไม่อาจพิจารณารวมไปกับฟ้องเดิมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคสาม  และมาตรา  179  วรรคสาม  (คำพิพากษาฎีกาที่  1644/2549)  ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  2  ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ
                สำหรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  นั้น  แม้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางแดงผู้ตายจะฟ้องเรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  ที่โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของนางแดงคืนจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท  โดยมิได้ฟ้องเรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  มาด้วยก็ตาม  แต่ฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  ที่เรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  จากโจทก์จำนวนหนึ่งในสองส่วนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางแดงเช่นเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องนั่นเอง  ฟ้องแย้งของจำเลยที่  1  ในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมและเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคสาม  และ  มาตรา  179  วรรคสาม  (คำพิพากษาฎีกาที่  1644/2549)  ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

ข้อ  4.  คดีแพ่งสามัญเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้  จำเลยที่  1  และที่  2  ให้การต่อสู้คดี  ส่วนจำเลยที่  3  ต้องยื่นคำให้การภายในวันที่  8  กุมภาพันธ์  2555  แต่ไม่ยื่น  ต่อมาวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  อันเป็นวันสืบพยาน  โจทก์และจำเลยทั้งสามมาศาล  จำเลยทั้งสามแถลงรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  คู่ความแถลงขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจากัน  ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาวันที่  20  มีนาคม  2555  ถึงวันนัด  โจทก์แถลงว่าไม่สามารถตกลงกันได้  ขอให้ศาลพิพากษาคดี  จำเลยที่  3  แถลงประสงค์จะต่อสู้คดี  ขออนุญาตยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่  3  ยื่นคำให้การ  และมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในเวลา  15  วัน  นับแต่ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้สิ้นสุดลง  จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่  3  ออกจากสารบบความ  และมีคำพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันชำระเงินตามฟ้อง

                โจทก์อุทธรณ์ว่า  ในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  จำเลยที่  3  มาศาลและแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้ตามฟ้องจริง  ศาลชั้นต้นจดคำแถลงของจำเลยที่  3  ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่  3  ได้ลงชื่อไว้ด้วย  ถือว่าจำเลยที่  3  ยื่นคำให้การแล้ว  ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีได้  โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด  การที่ศาลชั้นต้นเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาวันอื่นย่อมไม่ทำให้โจทก์ต้องมีหน้าที่ยื่นคำขออีก  หรือมิฉะนั้น  ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ก่อนว่าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่  3  ยื่นคำให้การโดยมิได้ไต่สวน  และมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่  3  จึงไม่ชอบ
                ให้วินิจฉัยว่า  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
                คำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  67  ว่าให้ทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลและมีรายการต่างๆ  ตามที่ระบุไว้  แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกคำแถลงของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่  3  ได้ลงชื่อไว้ก็ไม่ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่  3  เมื่อจำเลยที่  3  ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด  ถือว่าจำเลยที่  3  ขาดนัดยื่นคำให้การและโจทก์ต้องมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในเวลา  15  วันนับแต่ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้สิ้นสุดลง  แม้จำเลยที่  3  มาศาลก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง  แต่เมื่อศาลมิได้พิพากษาคดีในวันนั้น  ย่อมไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องยื่นคำขอดังกล่าว  เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือตามมาตรา  198  วรรคสอง  (คำพิพากษาฎีกาที่  911/2548)
                กรณีที่จำเลยที่  3  ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หากประสงค์จะต่อสู้คดีต้องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกที่มาศาล  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  วรรคหนึ่ง  แต่จำเลยที่  3  มาศาลครั้งแรกเมื่อวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  จำเลยที่  3  แถลงต่อศาลยอมรับว่าเป็นหนี้ตามฟ้อง  และมาศาลครั้งที่สองวันที่  20  มีนาคม  2555  จึงแถลงต่อศาลว่าประสงค์จะต่อสู้คดี  เห็นได้ว่าจำเลยที่  3  มิได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกที่มาศาลจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา  199  วรรคหนึ่ง  ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวนก่อนว่าจงใจขาดยื่นคำให้การหรือไม่  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ข้อ  5.  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยออกเช็คจำนวนเงิน  190,000  บาท  ชำระหนี้ค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่โจทก์  แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย  จำเลยให้การว่า  โจทก์หลอกลวงทำบิลรับของมาให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้  โดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าดังกล่าวจากโจทก์  เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้  และโจทก์เคยฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ศาลพิพากษายกฟ้อง  ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ  ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ  แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าจากโจทก์  เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  จำเลยฎีกาว่า  โจทก์จัดส่งอุปกรณ์ก่อสร้างไม่ครบถ้วนและมีความชำรุดบกพร่อง  โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง  กับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า  ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำโดยบรรยายรายละเอียดแห่งการเป็นฟ้องซ้ำมาด้วย

                ให้วินิจฉัยว่า  จำเลยจะฎีกาปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์  โจทก์หลอกลวงทำบิลรับของมาให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าตามฟ้องจากโจทก์  มิได้ให้การต่อสู้ว่า  โจทก์ส่งสินค้าให้จำเลยไม่ครบถ้วนและสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2628/2545)  แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม  ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาให้ได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  755/2545)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาดังกล่าวไม่ได้
                ฎีกาของจำเลยที่ว่า  ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำนั้น  จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว  แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ  จำเลยกลับมิได้อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้  เท่ากับจำเลยไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์โต้แย้งปัญหาดังกล่าวอีกต่อไป  ศาลอุทธรณ์จึงมิได้วินิจฉัย  การที่จำเลยหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาต่อมา  จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบให้ศาลอุทธรณ์  ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (คำพิพากษาฎีกาที่  8491/2553,  8414/2552)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้เช่นกัน

ข้อ  6.  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  ขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง  จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วเงินสัญญาใช้เงินที่โจทก์แอบถอนไปจำนวน  1,000,000  บาท  ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  เพราะเป็นเงินที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา  ต่อมาในระหว่างพิจารณา  จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์โดยขอให้ศาลสั่งโจทก์นำเงินจำนวน  500,000  บาท  มาวางศาล  โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า  เงินจำนวน  1,000,000  บาท  เป็นเงินของบุคคลภายนอกที่ฝากโจทก์ไว้  และโจทก์เบิกถอนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว  ขอให้ยกคำร้อง  ศาลทำการไต่สวน  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เงินจำนวน  1,000,000 บาท  ที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น  มีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินในนามของจำเลย  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ได้ถอนเงินจำนวน  1,000,000  บาท  ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไป

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร

ธงคำตอบ
                การขอคุ้มครองประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  ต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับการคุ้มครองในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  กรณีตามปัญหา  จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000,000  บาท  ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  โดยอ้างว่าเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา  จึงถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันตามฟ้องแย้งของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาได้  และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนว่าโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และเงินจำนวน  1,000,000  บาท  นั้น  ได้มีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ในนามของจำเลย  ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อโจทก์  และโจทก์ได้เบิกถอนเงินจำนวน  1,000,000 บาท  ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไป  ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว  และหากที่สุดศาลพิพากษาให้โจทก์แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  ตามฟ้องแย้ง  จำเลยก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ตามคำร้องของจำเลย  กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตามมาตรา  264  ดังนั้น  ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินจำนวน  500,000  บาท  มาวางศาลตามคำร้องของจำเลย  (คำพิพากษาฎีกาที่  5982/2549)

ข้อ  7.  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันใช้เงิน  500,000  บาทแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน  1  แปลงของจำเลยที่  1  เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้  ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทอดตลาด  เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดแก่จำเลยที่  1  โดยชอบ  แต่ไม่ส่งประกาศการขายทอดตลาดแก่จำเลยที่  2  โดยประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่  1  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  เวลา  9  นาฬิกา  และครั้งที่  2  วันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  เวลา  9  นาฬิกา  ในการขายทอดตลาดครั้งที่  1  ไม่มีผู้เสนอราคา  เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดไป  ต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่  2  จำเลยที่  2  ทราบประกาศขายทอดตลาดจากจำเลยที่  1  จึงไปร่วมการขายทอดตลาดครั้งนี้  มีผู้เสนอราคาสูงสุด  400,000บาท  ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้  จำเลยที่  2  คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี  โดยอ้างเหตุ  2  กรณี  คือ

                กรณีที่หนึ่ง  การขายทอดตลาดไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ตนทราบ  และกรณีที่สอง  ราคาที่ผู้เสนอราคาดังกล่าวต่ำเกินสมควร  ขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดไป  เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่า  จำเลยที่  2  ไม่มีสิทธิคัดค้านทั้งสองกรณีดังกล่าวและเคาะไม้ขายทอดตลาดแก่ผู้เสนอราคาสูงสุด  จำเลยที่  2  ยื่นคำคัดค้านต่อศาลชั้นต้น  ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้  อ้างว่า  เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                ให้วินิจฉัยว่า  คำคัดค้านของจำเลยที่  2  ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  306  บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งของศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่นนั้น  เมื่อที่ดินที่ขายทอดตลาดเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่  1  ไม่มีชื่อจำเลยที่  2  ในทะเบียน  จำเลยที่  2  จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดตามบทบัญญัติดังกล่าว  เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำต้องแจ้งการขายทอดตลาดในจำเลยที่  2  ทราบ  ข้อคัดค้านข้อนี้ของจำเลยที่  2  ฟังไม่ขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3798/2551)
                ส่วนการขายทอดตลาดครั้งที่  2  ที่เลื่อนมา  ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา  400,000  บาท  ได้เสนอราคาสูงสุด  ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์  จำเลยที่  2  คัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร  แม้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่  1  แต่จำเลยที่  2  เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งต้องร่วมรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิคัดค้านได้  ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  309  ทวิ  วรรคหนึ่ง  การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายไปโดยอนุมัติให้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยที่  2  จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา  296  วรรคสอง  ข้อคัดค้านข้อนี้ของจำเลยที่  2  ฟังขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  5321/2552)

ข้อ  8.  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์  3,000,000  บาท  ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  12  ต่อปี  และจำเลยที่  2  จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่  1  ต่อโจทก์  โดยมีข้อตกลงว่า  หากบังคับจำนองแล้วยังไม่พอชำระหนี้  จำเลยที่  2  ยอมให้โจทก์บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่  2  ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน  จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนตามสัญญา  จำเลยทั้งสองมีหนี้สินพ้นตัว  และเป็นหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน  3,500,000  บาท  ขอศาลมีคำสังพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย  ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำให้การ  ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การเมื่อสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จและจำเลยทั้งสองไม่มีพยานมาสืบ  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง  จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด

                ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่สั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การก็ดีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดก็ดี  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
                พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  13  บัญญัติให้ศาลออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้หรือจำเลยเพื่อทราบวันนั่งพิจารณาเท่านั้น  ไม่ได้บัญญัติว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การด้วย  ดังนั้น  ในคดีล้มละลายจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้  หากจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก็ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่สั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3026/2551)
                คดีสำหรับจำเลยที่  1  นั้น  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า  1,000,000  บาท  และหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน  ครบหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  9  ที่โจทก์อาจฟ้องล้มละลายได้  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่  1  เด็ดขาด  จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  14  แล้ว
                ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่  2  เนื่องจากโจทก์เป็นผู้รับจำนองจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.  2483  มาตรา  6  แต่ตามคำฟ้องมิได้กล่าวในฟ้องว่า  ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า  1,000,000  บาท  ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  10  (2)  ศาลชอบที่จะไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  ไว้พิจารณาตั้งแต่แรก  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2193/2550)  และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แม้จำเลยที่  2  ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้  ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  142  (5)  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย  พ.ศ.  2542  มาตรา  14  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่  2  เด็ดขาด  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ  9.  คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง  บริษัท  อังคาร  จำกัด  ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางให้มีการฟื้นฟูกิจการ  และให้ตั้งบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  และตั้งบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว  ปรากฏว่านายพุธเจ้าหนี้รายหนึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลา  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธ  นายพุธโต้แย้งต่อศาลล้มละลายกลางโดยอ้างว่า  การที่ตนยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลา  สืบเนื่องจากลูกหนี้มิได้ระบุชื่อและที่อยู่ของตนไว้ในบัญชีเจ้าหนี้  จึงเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้นายพุธเสนอคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย  ดังนั้น  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงควรรับคำขอรับชำระหนี้ของตนไว้พิจารณาต่อไป

                ให้วินิจฉัยว่า  หากกรณีเป็นดังที่นายพุธกล่าวอ้าง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธไว้พิจารณา  หรือไม่
             
ธงคำตอบ
                นายพุธต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  90/26  หากยื่นเกินกำหนดย่อมหมดสิทธิได้รับชำระหนี้  อย่างไรก็คดีนี้ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ  จึงต้องดำเนินการตามมาตรา  90/6  กล่าวคือต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่  และที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายพร้อมกับคำร้องขอ  เพราะหากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่ง  ตามมาตรา  90/20  วรรสี่และแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  90/24  วรรคสองและวรรคสาม  กับมาตรา  90/26  วรรคหนึ่ง  หากกรณีเป็นดังที่นายพุธกล่าวอ้างย่อมเป็นเหตุให้นายพุธไม่อาจทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ได้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธไว้พิจารณาได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  4636/2546,  1683/2552)

ข้อ  10.  พนักงานอัยการฟ้องนายดำเกิงต่อศาลแขวงดุสิต  ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับเกินหกพันบาท)  กับให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  ที่ลักไปแก่ผู้เสียหาย  และกำหนดโทษความผิดฐานยักยอกในคดีก่อนที่ศาลรอการกำหนดโทษนายดำเกิงไว้  นายแมนผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งประทับฟ้อง  ต่อมานายแมนได้รับการจ่ายสำนวนจากนายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตให้เป็นองค์คณะรับผิดชอบคดีนี้  นายแมนพิจารณาคดีเสร็จแล้วแต่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุก่อนทำคำพิพากษา  ถ้าปรากฏว่า

(ก)         นายมิตรตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาลงโทษนายดำเกิง  โดยกำหนดโทษในคดีหลังฐานลักทรัพย์  จำคุก  6  เดือน  กำหนดโทษคดีก่อนฐานยักยอก  จำคุก  5  เดือน  รวมเป็นจำคุก  11  เดือน  และให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000บาท  แก่ผู้เสียหาย  หรือ
(ข)        นายมิตรมีภารกิจสำคัญจนไม่อาจปฏิบัตราชการได้  จึงมอบหมายให้นายสมชายผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแขวงดุสิตทำคำพิพากษาแทน  นายสมชายจึงทำคำพิพากษาเหมือนข้อ  (ก)
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งและการพิจารณาคดีของนายแมน  กับกรณีตามข้อ  (ก)  และข้อ  (ข)  ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  หรือไม่

ธงคำตอบ
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  มีระวางโทษไม่เกินกำหนดตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (5)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำเกิงต่อศาลแขวงดุสิตได้  และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  43  พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดแทนผู้เสียหายได้  พนักงานอัยการจึงมีคำขอให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  ที่ถูกลักแก่ผู้เสียหายได้  แม้ทุนทรัพย์พิพาทเกิน  300,000  บาท  ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (4)  ดังนั้น  คำสั่งของนายแมนที่ให้ประทับฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์  ซึ่งไม่ใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี  ตามมาตรา  17  ประกอบมาตรา  24  (2)  ย่อมชอบด้วยกฎหมาย  และเมื่อนายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตจ่ายสำนวนให้นายแมนเป็นองค์คณะรับผิดชอบคดี  นายแมนย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา  17  การพิจารณาคดีของนายแมนจึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีตามข้อ  (ก)  เมื่อนายแมนซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่  เนื่องจากเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุหลังเสร็จการพิจารณาคดี  แต่ก่อนทำคำพิพากษา  ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  30  จำต้องแก้ปัญหาตามวิถีทางใน  มาตรา  29  (3)  กล่าวคือ  นายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต  หรือ  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  1  หรือผู้ทำการแทนต้องตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาด้วยตนเอง  จะมอบหมายให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลเดียวกันทำคำพิพากษาแทนไม่ได้เพราะมาตรา  29  (3)  ไม่ได้ให้อำนาจไว้  ซึ่งนายมิตรได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว  โดยนายมิตรตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาลงโทษความผิดฐานลักทรัพย์ในคดีหลังให้จำคุก  6  เดือน  และกำหนดโทษความผิดฐานยักยอกในคดีก่อนให้จำคุก  5  เดือน  รวมเป็นจำคุก  11  เดือน  เท่ากับศาลแขวงดุสิตลงโทษจำคุกคดีละไม่เกิน  6  เดือน  กับให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  แก่ผู้เสียหายอันเป็นการพิพากษาคดีที่ชอบด้วยมาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (4)  และ  (5)  แล้ว
กรณีตามข้อ  (ข)  การที่นายมิตรมีภารกิจสำคัญจนไม่อาจปฏิบัติราชการได้เป็นเหตุให้ทำคำพิพากษาด้วยตนเองไม่ได้  นายมิตรก็จะมอบหมายให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลเดียวกันทำคำพิพากษาแทนไม่ได้  ตามเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น  ดังนั้น  การที่นายมิตรมอบหมายให้นายสมชายผู้พิพากษาอาวุโสของศาลแขวงดุสิตทำคำพิพากษาแทน  จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  แม้นายสมชายจะทำคำพิพากษาเหมือนนายมิตรตามข้อ  (ก)  ทุกประการก็ตาม