เจาะหลัก วิเคราะห์ประเด็น เตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
(เตรียมสอบผู้ช่วย ปี 2567 ครั้งที่ 2)
คำถาม ถ้อยคำบันทึกการจับกุมที่ว่า มีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง กับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก อ. และดาบตำรวจ ท. ที่ยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาตนเป็นผู้ปลูกจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5375/2555 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “..........มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกถ้อยคำตามบันทึกการจับกุมที่ว่ามีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อกับจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง และคำเพิกความของร้อยตำรวจเอกอนุรักษ์และดาบตำรวจทวีศักดิ์ที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาดังกล่าวตนเป็นผู้ปลูกขึ้นวินิจฉัยรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย หรือไม่
เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “ ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี ” มีความหมายว่าห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้ว ถ้อยคำตามบันทึกการจับกุมที่ว่า มีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ และจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง กับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกอนุรักษ์และดาบตำรวจทวีศักดิ์ที่ยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาตนเป็นผู้ปลูกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เป็นเพียงถ้อยคำอื่นที่จำเลยให้ไว้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมิใช่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลย เมื่อปรากฎตามบันทึกการจับกุมว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งสิทธิแก่จำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กับฐานผลิตกัญชาจึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว
เจาะประเด็นแนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา⭐⭐⭐⭐⭐
1. บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “ ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี ”
2. หลัก คือ ห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้ว
3. หากเป็นเพียงถ้อยคำอื่นที่ให้ไว้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมิใช่คำรับสารภาพในชั้นจับกุม
3.1 เมื่อปรากฎตามบันทึกการจับกุมว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งสิทธิแก่จำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง แล้ว
3.2 การที่ศาลอุทธรณ์ นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว
ประเด็นที่ข้อสอบจะถามซ้อนลงไปอีกชั้น คือ "ศาลอุทธรณ์ นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้หรือไม่ / หรือ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่"
คำตอบ ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว
ข้อสังเกต ปัญหาหลัก ทำให้ผู้เข้าสอบเกิดความสับสน ในระยะเวลาอันสั้น ว่า คำถาม มุ่งถามไปที่ศาลชั้นอุทธรณ์ ไม่ได้ถามศาลชั้นต้น ........ศาลอุทธรณ์จะรับฟังบันทึกนี้ได้หรือไม่ ทำไม แล้วศาลชั้นต้นทำไม่ไม่รับฟังมาแต่ต้น ฯลฯ ทำให้ธงคำตอบผิด ทั้งที่ก็รู้หลักกฎหมายเรื่องนี้เป็นอย่างดี.
https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam