แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งฎีกา เนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งฎีกา เนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกา ห้องบรรยายเนติ สัปดาห์ที่4 วิ.แพ่ง ภาค 2 (อ.สมชาย) 12 ธ.ค.60 ภาคปกติ สมัยที่ 70

ฎีกา ห้องบรรยายเนติ สัปดาห์ที่4 วิ.แพ่ง ภาค 2 (อ.สมชาย)
วันที่ 12 ธ.ค.60 ภาคปกติ สมัยที่ 70
-----------------

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2539 ระยะเวลา10ปีที่เจ้าของสามยทรัพย์มิได้ใช้ทางภารจำยอมจนทำให้ทางภารจำยอมส่วนพิพาทสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1399เป็นสาระสำคัญของสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ต้องบรรยายไว้ในฟ้องโดยแจ้งชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองเมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า พ. และจำเลยมิได้ใช้ทางภารจำยอมส่วนพิพาท10ปีจนทำให้ทางภารจำยอมส่วนพิพาทสิ้นไปแม้ได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2545 โจทก์ฟ้องอ้างว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะเนื่องจากพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อโดยไม่เห็นผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าโดยโจทก์มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายตลอดจนลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรม ตามคำฟ้องจึงไม่มีประเด็นว่าลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรมบางคนเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่การที่โจทก์นำสืบว่าลายมือชื่อของพยานสองในสามคนในพินัยกรรม เป็นลายมือชื่อปลอมย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็นตามคำฟ้องรับฟังไม่ได้ ที่ศาลวินิจฉัยปัญหาที่ว่าลายมือชื่อพยานปลอมหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3239/2549 โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องต้องแสดงให้เห็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์เป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องกล่าวเพียงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวว่าโจทก์ไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน

ทยอยอัพเดท.... ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา อัพเดท ที่ LawSiam.com

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เก็งฎีกา เนติ กฎหมายสัมมนาวิธีพิจารณาความอาญา (ภาคปกติ) อ.อรรถพล ใหญ่สว่าง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 (ครั้งที่ 2)

 กฎหมายสัมมนาวิธีพิจารณาความอาญา (ภาคปกติ)
 อ.อรรถพล ใหญ่สว่าง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 (ครั้งที่ 2)

ในส่วนของการร้องทุกข์โดยมีเจตนาที่จะกล่าวหาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560 โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท


วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เจาะฎีกา* ถอดไฟล์เสียง กฏหมายอาญา มาตรา59-106 สมัยที่70 อ.เกียรติขจร (ภาคปกติ) 26 พ.ค 60 ครั้งที่1

เจาะฎีกา* ถอดไฟล์เสียง กฏหมายอาญา มาตรา59-106 สมัยที่70  
 อ.เกียรติขจร (ภาคปกติ) 26  พฤษภาคม 2560 ครั้งที่1  
------------------------------------

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2555 จำเลยใช้ลิ้นเลียที่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วม ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมมีอาการเจ็บ มีอาการอักเสบเป็นรอยแดงบริเวณแคมทั้งสองข้างรอบปากช่องคลอด สื่อให้เห็นว่า จำเลยประสงค์จะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วม มิใช่เพียงการใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูไถเฉพาะภายนอกอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมโดยไม่ประสงค์จะสอดใส่ การกระทำของจำเลยจึงบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม หาใช่มีเจตนาเพียงแค่กระทำอนาจารไม่
           ป.อ. มาตรา 276 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 ต้องการขยายความหมายของการกระทำชำเราว่า นอกจากหมายถึงการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้ถูกกระทำแล้ว ยังรวมถึงการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับทวารหนักหรือช่องปากของผู้ถูกกระทำด้วย เท่ากับเป็นการเพิ่มอวัยวะที่ถูกกระทำขึ้นใหม่ เพิ่มสิ่งที่ใช้ในการกระทำนอกจากจะกระทำชำเราโดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนักหรือช่องปากของผู้ถูกกระทำแล้ว ยังรวมถึงการใช้สิ่งอื่นใด เช่น การใช้อวัยวะเพศเทียมกระทำกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้ถูกกระทำด้วย เป็นกรณีที่ขยายความหมายของคำว่ากระทำชำเรา ในแง่เพิ่มสิ่งที่ใช้ในการกระทำและอวัยวะที่ถูกกระทำขึ้นใหม่เท่านั้น ส่วนกรณีอย่างไรจึงจะเป็นการกระทำชำเราสำเร็จนั้นก็คงยังคงมีความหมายอยู่ว่า จะเป็นการกระทำชำเราสำเร็จได้ต้องถึงขั้นอวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้ถูกกระทำ หรือล่วงล้ำเข้าไปในทวารหนักของผู้ถูกกระทำ หรือล่วงล้ำเข้าไปในช่องปากของผู้ถูกกระทำ หากมีการใช้สิ่งของอย่างอื่น เช่น อวัยวะเพศเทียม สิ่งของอย่างนั้นก็ต้องมีการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้ถูกกระทำเช่นกัน
           จำเลยมีเจตนากระทำชำเราโจทก์ร่วม จำเลยใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูไถอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมแต่อวัยวะเพศของจำเลยไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมได้ เพราะอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมมีขนาดเล็ก ส่วนการใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมก็ไม่ปรากฏว่าลิ้นได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยถือได้ว่าจำเลยลงมือกระทำชำเราแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกระทำชำเราโจทก์ร่วม


           ปัจจุบันมีคำพิพากษาฎีกาออกมาเมื่อปี 2558 ว่าการใช้นิ้วสอดใส่อวัยวะเพศคนอื่น ถือได้ว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้สำเร็จแล้ว

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5828/2558 การใช้อวัยวะเพศของจำเลยกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยจ่อและดัน ข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและใช้นิ้วมือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราสำเร็จแล้ว อวัยวะเพศของจำเลยจะสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายหรือไม่ ไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด.

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2557 ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ให้ความหมายของการกระทำชำเราว่า หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
           กรณีที่ผู้กระทำใช้อวัยวะเพศของตนกระทำชำเรา จะเป็นความผิดสำเร็จได้ต่อเมื่อหากเป็นกรณีชายกระทำต่อหญิง ต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของชายล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของหญิง
           หากเป็นกรณีชายกระทำต่อชายด้วยกัน ต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของชายผู้กระทำล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในทวารหนักหรือช่องปากของชายผู้ถูกกระทำ
หากเป็นกรณีหญิงกระทำต่อชาย ต้องเป็นกรณีให้อวัยวะเพศชายผู้ถูกกระทำล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิงผู้กระทำ
           ส่วนกรณีที่ผู้กระทำใช้สิ่งอื่นใดกระทำชำเรา จะเป็นความผิดสำเร็จได้ต่อเมื่อหากเป็นกรณีชายกระทำต่อหญิง ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอด หรือทวารหนักของหญิง
หากเป็นกรณีชายกระทำต่อชายด้วยกัน ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในทวารหนักของผู้ถูกกระทำ หรือให้อวัยวะเพศชายของชายผู้ถูกกระทำล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องปากหรือทวารหนักของผู้กระทำ
           หากเป็นกรณีหญิงกระทำต่อชาย ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในทวารหนักของชาย หรือให้อวัยวะเพศของชายล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องปากหรือทวารหนักของหญิง
หากเป็นกรณีหญิงกระทำต่อหญิงด้วยกัน ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดหรือทวารหนักของหญิงผู้ถูกกระทำ
           ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชายใช้ปากอมอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กชายอายุ 11 ปีเศษ จึงถือได้ว่าช่องปากของจำเลยที่ 1 เป็นสิ่งอื่นใดที่ใช้กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 277 วรรคสาม


           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7146/2552 การที่จำเลยยังคงติดตามให้ จ. กลับไปอยู่กับจำเลยและบุตรเมื่อจำเลยไปพบเห็น จ. กับผู้เสียหายอยู่กันตามลำพังในห้องน้ำในคืนเกิดเหตุ นับได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ผู้เสียหายได้กระทำการอันเป็นการข่มเหงในทางจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยย่อมเกิดอารมณ์หึงหวงในฐานะที่ตนเองเป็นสามีของ จ. อยู่และบันดาลโทสะขึ้นในขณะนั้นจึงได้ใช้มีดแทงผู้เสียหาย ซึ่งแม้จำเลยแทงผู้เสียหายครั้งแรกในห้องน้ำ และแทงผู้เสียหายครั้งต่อๆ มาที่ประตูหน้าบ้าน แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องติดพันกันอยู่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลอาญา มาตรา 72
จ. ยังเป็นภริยาจำเลย แต่การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อตามหา จ. โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์กันในทางใด ทั้งจำเลยก็ไม่เคยพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหาย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุก
           จำเลยมิได้มีเจตนาแต่แรกที่จะเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งมิได้วางแผนเตรียมมีดของกลางเพื่อที่จะไปแทงผู้เสียหายมาก่อนเกิดเหตุ แต่เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วจำเลยไปพบว่าผู้เสียหายอยู่ในห้องน้ำกับ จ. เพียงสองต่อสอง จึงหยิบมีดที่พบวางอยู่ไปแทงผู้เสียหาย การบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายกับการแทงผู้เสียหายจึงเป็นเจตนาที่มิได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เกิดขึ้นเป็นสองครั้งแยกจากกันได้ จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน โดยเป็นความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนกรรมหนึ่งและพยายามฆ่าอีกกรรมหนึ่ง

เจาะฎีกา ถอดเทป เนติ 1/70 กฏหมายอาญา มาตรา209-287,367-398 (ภาคปกติ) อ.วีระวัฒน์ 26 พ.ค 60 ครั้งที่1

เจาะฎีกา ถอดเทป เนติบัณฑิต ภาค1 สมัยที่ 70
กฏหมายอาญา มาตรา209-287,367-398 (ภาคปกติ) อ.วีระวัฒน์ 26 พ.ค 60 ครั้งที่1 

.................................

        มาตรา ๒๐๙ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น อั้งยี่  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี  และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
        ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะ บุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี  และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
        วรรคหนึ่ง องค์ประกอบภายนอก คือ
        (๑) ผู้ใด
        (๒) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล
        (๓) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
        องค์ประกอบภายใน

        เจตนา

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗๖/๒๕๔๓ จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธ โจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตี เจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึงปกปิดวิธีดำเนินการและมิความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  จึงมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ วรรคหนึ่ง
       
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๗๙/๒๕๕๔ จำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะ ประกอบกิจการบริษัท อ. ในอาคารที่เกิดเหตุอย่างแท้จริง การนำชื่อของบริษัทที่ เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งไว้ที่อาคารด้านหน้าโดยต่อมามีการเช่าอาคารส่วนกลาง และด้านหลังเพื่อการเล่นพนันไพ่บาการา จึงมีเหตุผลที่ เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่บาการาในอาคาร ที่เกิดเหตุ โดยนำชื่อบริษัทซึ่งเป็นสำนักงานทนายความและชมรมมาบังหน้าเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันมาแต่ต้น ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่


        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๒/๒๕๕๖ ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้าย จำเลยกระทำความผิดด้วย การให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐาน แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกัน และต่างกรรมต่าง วาระกันทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่และสนับสนุนการก่อการร้าย เป็นคนละอย่างต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียว   เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

               คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๘๔/๒๕๕๗ ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา ๒๑๐ เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกัน หรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม 

เจาะสรุปฎีกาคำบรรยายเนติฯ สมัยที่ 70 ภาคค่ำ** วิชากฎหมายปกครอง อ.ฤทัย 24 พค 60 ครั้งที่1

เจาะคำบรรยายเนติฯ ภาคค่ำ
 วิชากฎหมายปกครอง อ.ฤทัย  24 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่1 สมัยที่ 70
.........................


                    คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 102/2550 มหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจ ทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองทางด้านการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการโครงการจัดการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดผลการศึกษา มหาวิทยาลัยคริสเตียนจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ดังนั้น การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวัดผลการศึกษาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยคริสเตียนและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน จึงเป็นการกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ


                    คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าหน้าที่ระหว่างศาลที่ 42/2555 การที่สมาคม วูซู แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทสมาคมที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งจากการกีฬาแห่งประเทศำทย (กกท.) และได้รับจัดสรรงบประมาณจาก กกท. ในการเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ทำหน้าที่คัดนักกีฬา จ้างผู้ฝึกสอนจัดหาสถานที่เก็บตัวและฝึกซ้อม และขอเบิกจ่ายจาก กกท. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่ กกท. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการของการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 53 มาตรา 48 และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 สมาคมวูซูจึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองอันมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ


คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจ

คดีหมายเลขแดงที่ อ.29/2557 
                ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนการรับภาระอันเกิดจากการก่อสร้างด่านชั่งน้ำหนักถาวรหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดี จำนวน 795,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก เนื่องจากการก่อสร้างด่านชั่งน้ำหนักของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นการก่อสร้างบนที่ดิน ซึ่งเป็นเขตทางเลือกมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี สิทธิของความเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่เดิมเช่นใดก็คงมีอยู่เช่นนั้น มิได้ถูกกระทบหรือถูกจำกัดลงแต่อย่างใด ไม่ว่าสิทธิใช้สอย ทรัพยสิทธิหรือสิทธิเหนือพื้นดิน การก่อสร้างด่านชั่งน้ำหนักของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงมิได้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ฟ้องคดี และเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างผลกระทบที่ผู้ฟ้องคดีได้รับกับประโยชน์สาธารณะแล้ว เห็นว่า การก่อสร้างด่านชั่งน้ำหนักถาวรในบริเวณดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบเพียงไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าออกที่ดิน เมื่อฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกำหนดจุดก่อสร้างและก่อสร้างด่านชั่งน้ำหนักถาวรในบริเวณดังกล่าวโดยมิได้ผิดกฎหมายและมิได้เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี อย่างไรก็ตาม การตั้งด่านเพื่อควบคุมรถมิให้บรรทุกน้ำมันเกิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายกับถนน เป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อการกระทำดังกล่าวแม้มิได้เป็นการละเมิด หากแต่ก่อให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับภาระความผิดไม่สะดวกในการเข้าออกสู่ที่ดินของตน ในขณะที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินอื่นในบริเวณใกล้เคียงไม่ต้องรับภาระดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานอื่นที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชดเชยความไม่สะดวกดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีบริเวณด้านหลังอาคารและขอบกำแพงคอนกรีต รวมความยาวประมาณ 53 เมตร เป็นจุดที่ไม่สามารถออกสู่ถนนได้เลย และจากศูนย์ข้อมูลกรมที่ดิน ราคาประเมินปัจจุบันของที่ดินบริเวณดังกล่าวส่วนที่ติดถนนเพชรเกษมในระยะ 40 เมตร ตารางวาละ 1,500 บาท ดังนั้น จึงอาจถือได้ว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ติดถนนเพชรเกษมในระยะ 40 เมตร ตลอดความยาว 5ภ เมตร ถูกจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์จากการจัดทำประโยชน์สาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดี คำนวณเนื้อที่ได้ 530 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงควรชดเชยการรับภาระดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตารางวาละ 1,500 บาท เป็นเงิน 795,000 บาท การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันดำเนินการรื้อถอนย้ายด่านชั่งน้ำหนักถาวรที่ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ซึ่งตั้งอยู่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6096 และเลขที่ 21943 ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาคราม อำเภอกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย


วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สรุปฎีกาเนติ ทรัพย์สินทางปัญญา - ลิขสิทธิ์ อ.ปริญญาฯ (ภาคปกติ) 25 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่70

เจาะฎีกา* ทรัพย์สินทางปัญญา - ลิขสิทธิ์ 
อ.ปริญญาฯ (ภาคปกติ) 25 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่70
.................................

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2534 ปรากฏตามเอกสารที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาทำขึ้นพร้อมคำแปลและอ้างเป็นพยานว่า พ. รองประธานกรรมการอาวุโสของโจทก์ยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาท ด. ที่ปรึกษาสมาคมลงชื่อรับรองลายมือชื่อของพ.ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาลงนามของโจทก์ร.โนตารีปับลิกมลรัฐนิวยอร์ก รับรองว่า พ.และด. ทำการปฏิญาณต่อหน้าตนน. เสมียนเคาน์ตี้และจ่าศาลของศาลซูพรีมคอร์ต แห่งมลรัฐนิวยอร์กประจำเคาน์ตี้ออฟนิวยอร์กรับรองว่าร.เป็นโนตารีปับลิกประจำมลรัฐนิวยอร์กและเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย.กงศุล ใหญ่ ไทย ณ มลรัฐนิวยอร์กรับรองลายมือชื่อของน. ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวมีการรับรองกันมาตามลำดับเนื้อความแห่งเอกสารนั้นย่อมมีอยู่จริง จึงนำมาฟังประกอบคำเบิกความของ ล. กรรมการบริษัท ซ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ว่า ภาพยนตร์พิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งบริษัท ซ. ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำภาพยนตร์ของโจทก์มาทำวีดีโอเทปซ้ำเพื่อออกจำหน่ายแก่สมาชิกในประเทศไทยติดต่อกันมาได้ 3 ปีแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทซ. ปกป้องลิขสิทธิ์และฟ้องร้องตามหนังสือมอบอำนาจ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทขึ้นเอง ภาพยนตร์พิพาทจึงเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของโจทก์ได้ ขณะเกิดเหตุประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 โดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวฉบับที่ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1908และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ก็มิได้มีบทบัญญัติกีดกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศที่มิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเบอร์น เพื่อไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่งานดังกล่าวไว้ในมาตรา 4 ว่า"งานอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1)... ในกรณีที่ได้โฆษณาแล้ว การโฆษณาต้องกระทำเป็นครั้งแรกในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา..." ด้วยเหตุนี้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศนอกภาคีอนุสัญญาเบอร์น อย่างเช่นงานของประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ หากได้กระทำการโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์น เมื่อปรากฏว่าประเทศแคนาดาเป็นประเทศภาคีประเทศหนึ่งในอนุสัญญาดังกล่าว งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้มีการโฆษณางานนั้นตามความหมายของเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ฉะนั้น การทำให้ปรากฏซึ่งภาพยนตร์โดยการนำออกฉายเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาแม้จะถือเป็นการโฆษณา แต่ก็มิใช่การโฆษณางานในความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯและมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงการโฆษณาในความหมายของคำว่า "โฆษณา" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการทราบความหมายของการนำออกโฆษณาอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวประการหนึ่งของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฆษณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า โจทก์นำภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องไปฉายโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาเท่านั้น หาได้ปรากฏว่าโจทก์ได้นำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอันเป็นสำเนาจำลองออกจำหน่ายโดยให้ก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์นั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรแต่อย่างใดไม่ งานภาพยนตร์ของโจทก์จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้


                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530 ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายบางตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง
วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยไม่ริบวีดีโอเทปดังกล่าวได้.

วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สรุปฏีกาเนติ* กฎหมายตั๋วเงิน (ภาคค่ำ) อ.ประเสริฐฯ 25 พ.ค60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70

เจาะฏีกา* กฎหมายตั๋วเงิน (ภาคค่ำ)   สมัยที่ 70
อ.ประเสริฐฯ  วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่ 1 
.................................


                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548 เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงินตามมาตรา 899 การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม มาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น


                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547 ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน…" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไปเช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คดีครอบครัว ฎีกาเนติ* กฎหมายครอบครัว อ.ประสพสุข (ภาคปกติ) 23 พ.ค 60 สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 70

 คดีครอบครัว ฎีกาคำบรรยายเนติบัณฑิต สมัยที่ 70
 กฎหมายครอบครัว อ.ประสพสุข (ภาคปกติ) 23 พ.ค 60 สัปดาห์ที่1  

******************

คดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ๑/๒๕๔๐ คดีฟ้องเรียกบุตรคืน เป็นคดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช. ๑๘/๒๕๔๗ คำร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของนางรัฐญามารดาเด็กชายเชษฐาเพื่อให้มีการรับเด็กชายเชษฐาเป็นบุตรบุญธรรมนั้น เป็นกรณีที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๑ ซึ่งเป็นกรณีคำร้องขอต่อศาลที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จึงเป็นคดีครอบครัว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑ (๓) อยู่ในอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช. ๓๑/๒๕๕๐ ฟ้องเกี่ยวกับมรดกของภริยา เป็นคดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช. ๖/๒๕๕๓ สัญญาท้ายทะเบียนการหย่าไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว แม้คู่หย่าตายก็ตกเป็นมรดก เมื่อสัญญาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างสามีภริยา จึงเป็นคดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช. ๑/๒๕๕๔ อัยการฟ้องบิดามารดา แทนบุตรขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งที่บุตรโอนที่ดินคืนให้บิดามารดา เป็นคดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ๒๒/๒๕๕๖ ฟ้องภายหลังการหย่าสิ้นสุด แล้ว เพื่อขอให้ชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งตกลงว่าจะให้เพื่อไปจดทะเบียนหย่าและไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ อีก เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการสิ้นสุด แห่งการสมรส เป็นคดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช. ๔/๒๕๕๗ ฟ้องเรียกค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตรและค่าเลี้ยงชีพ รวมทั้งให้ใส่ชื่อรวมในที่ดินสินสมรสเป็นคดีครอบครัว ส่วนฟ้องให้บุคคลภายนอกส่งโฉนดที่ดินสินสมรสด้วยเป็นมูลคดีเกี่ยวเนื่องกัน ฟ้องรวมกัน ในศาลเยาวชนและครอบครัวได้

คดีที่มิใช่คดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ๑๕/๒๕๔๓ ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินของชายหญิงที่มาอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ไม่ใช่คดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช.๑๗/๒๕๕๐ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้เยาว์กระทำละเมิด ไม่ใช่คดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช.๒๒/๒๕๕๐ ฟ้องเรียกให้คืนเงิน และทรัพย์สินที่มอบให้ในวันทำพิธีแต่งงานในฐานลาภมิอันควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ ไม่ใช่ ในฐานสินสอดและของหมั้น ไม่ใช่คดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช.๒/๒๕๕๔ บุตรฟ้องบิดาที่ไม่ชอบด้วย กฎหมายและบุคคลภายนอกให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแล้วโอนที่ดินให้แก่บุตรตามสัญญา เมื่อบิดาและบุตรไม่มีความสัมพันธ์กันตามกฎหมายและเป็นการบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นนิติกรรมทั่วไป จึงไม่เป็นคดีครอบครัว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช.๑/๒๕๕๗ ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน ที่จำเลยอ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เป็นเรื่องละเมิด ไม่เป็นคดีครอบครัว

สรุปฎีกาเนติ กฎหมายครอบครัว อ.ประสพสุข (ภาคปกติ) 23 พ.ค 60 สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 70

สรุปฎีกาเนติ* กฎหมายครอบครัว  สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 70
อ.ประสพสุข (ภาคปกติ) 23 พ.ค 60  
..................

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2551 คดีเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกเริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาทโดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายซึ่งเป็นอิสลามศาสนิก การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านมีผลให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยมิไช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล จึงต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 บังคับแก่คดี

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2545 โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอิสลามศาสนิกอยู่ในจังหวัดนราธิวาส โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ จ. บิดาโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของ จ. แต่เป็นของ ต. มารดาจำเลยทั้งสอง ซึ่งในการที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่จะนำกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับไม่ได้ต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหลักวินิจฉัยก่อน ต่อเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นมรดกแล้วจึงจะใช้กฎหมายอิสลามในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทต่อไป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและที่มิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปะปนกันอยู่ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจะไม่เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลฯ มาตรา 4 วรรคแรก ก็แต่เฉพาะข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับเท่านั้น การพิจารณาคดีในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ต. มารดาของจำเลยทั้งสอง หรือเป็นมรดกของ จ. บิดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง และประเด็นข้อพิพาทที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ทั้งสองข้อนี้หาใช่ข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดไม่แม้ดะโต๊ะยุติธรรมจะมิได้ร่วมนั่งพิจารณาด้วย ก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องเสียไปแต่อย่างใดการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
         จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องขอส่วนแบ่งมรดกแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยทั้งสองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและโจทก์ก็ทราบวันเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่าหากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของ จ. ก็จะยอมแบ่งให้แก่โจทก์นั้นเป็นเพียงการแสดงความบริสุทธิ์ใจของจำเลยทั้งสองที่ไม่ประสงค์จะฉ้อโกงโจทก์หาใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 ที่ต้องแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งก่อนการฟ้องคดีไม่ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในคดีนี้ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เจาะฏีกาเด่น* อาญา มาตรา 209-287,367-398 อ.เดชา หงส์ทอง (ภาคค่ำ) 23 พ.ค 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70

ฏีกาเด่น* อาญา มาตรา 209-287,367-398 
อ.เดชา หงส์ทอง (ภาคค่ำ) 23 พ.ค 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70
.............................

อั้งยี่
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543 แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นขณะจำเลยกระทำความผิดมาเป็นพยานแต่โจทก์มีสิบเอก อ. ผู้ซึ่งสืบสวนทราบว่า จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายบีอาร์เอ็น พันตำรวจตรี ส. ผู้จับกุม จ่าสิบโท พ. ผู้ซักถามจำเลยหลังถูกจับและพันตำรวจโท ช. พนักงานสอบสวนพยานแวดล้อมเข้าเบิกความประกอบเอกสารและภาพถ่ายสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ก่อนจับกุมจำเลยที่สิบเอก อ. สืบทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย บีอาร์เอ็น ที่มีนาย อ. เป็นหัวหน้า ซึ่งในช่วงปี 2540 นาย อ. กับพวกปะทะกับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยึดอาวุธปืน วิทยุสื่อสาร เอกสารเรียกค่าคุ้มครองและภาพถ่ายสมาชิกกลุ่มโจรก่อการร้าย รวมทั้งภาพถ่ายที่มีภาพจำเลยอยู่ด้วย จนกระทั่งหลังจำเลยถูกจับกุมได้ให้การรับสารภาพต่อพันตำรวจตรี ส. พันตำรวจโท ช. กับพันตำรวจตรี ป. ในข้อหาอั้งยี่ ตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การผู้ต้องหาทั้งจำเลยรับต่อพันตำรวจตรี ส. และจ่าสิบโท พ. ว่าก่อนถูกจับกุมจำเลยได้เข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็น และมีภาพถ่ายของจำเลยอยู่ในภาพที่พันตำรวจตรี ส. ได้มาก่อนจำเลยถูกจับและได้ลงลายมือไว้ในภาพนั้นด้วย แม้พันตำรวจตรี ส. กับสิบเอก อ. จะเบิกความแตกต่างถึงแหล่งที่มาก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่บุคคลตามภาพถ่ายเป็นจำเลยหรือไม่ ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยก็รับว่าเป็นบุคคลตามภาพถ่าย เพียงแต่นำสืบปฏิเสธว่า ถูกกลุ่มขบวนการก่อการร้ายขู่บังคับให้เข้าร่วมขบวนการ มิฉะนั้นจะถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและบังคับให้แต่งชุดเดินป่าและถือปืนแล้วถ่ายภาพไว้ซึ่งขัดต่อเหตุผลเพราะหากเป็นการขู่บังคับน่าจะใช้อาวุธข่มขู่จะได้ผลดีกว่า และที่จำเลยนำสืบว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับ แต่ไม่ทราบข้อความเนื่องจากอ่านเขียนและพูดภาษาไทยไม่ได้และไม่มีล่ามแปลให้จำเลยฟังนั้น ในชั้นสอบสวนพันตำรวจโท ช. เบิกความว่าการสอบปากคำจำเลยได้ให้นายดาบตำรวจ ว. เป็นล่ามแปลและจำเลยได้ให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่จริงสอดคล้องกับบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าพนักงานคงไม่สามารถบันทึกขึ้นเองได้ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้นไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
            จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301-303/2470 สำหรับความมุ่งหมายของคณะบุคคลเพื่อการอันมิชอบ ด้วยกฎหมาย ต้องเป็นความประสงค์ “ร่วมกัน” ของสมาชิกที่เข้ามารวมกัน และคำว่าเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้ ไม่จำเป็นจะต้องมิชอบตามกฎหมายอาญาเท่านั้น อาจเป็นละเมิดในทางแพ่งหรือผิดสัญญาก็ได้ แต่ถ้าเพียงแต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ แต่ไม่ถึงขั้นขัดต่อกฎหมายก็อาจจะยังไม่พอ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น การแข่งขันอันมิชอบด้วยกฎหมาย อย่างเช่นแท็กซี่รวมตัวกันในสนามบินคิดราคาแพงกว่ารายอื่น แท็กซี่รายอื่นจะเข้าไปก็ไม่ได้ โดนไล่โดนข่มขู่ อย่างนี้พอจะถือได้แล้วว่าเป็นความมุ่งหมายที่มิชอบด้วยกฎหมาย


ซ่องโจร
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2534 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปคบคิดประชุมหารือร่วมกัน และตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ. และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้โดยการประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไรเป็นข้อสาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร ได้ความเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้เล่ห์เพทุบายในการเล่นการพนันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นแพ้และเสียทรัพย์พนัน แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหนเมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใดหรือไม่ จึงจะลงโทษจำเลยฐานเป็นซ่องโจรมิได้