วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท

คำพิพากษาฎีกาที่ 642/2559

            คำพิพากษาฎีกาที่ 642/2559 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556 การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ

ฎีกาประกันภัย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559)

          ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยกรณีความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559 ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

        สมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวันก็เป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสองได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555 การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

ฎีกาเก็ง เนติฯ วิ.อาญาภาค 1-2 (ภาคปกติ) อ.จุลสิงห์ 27 พย 60 ครั้งที่2 สมัยที่70

ฎีกาเก็ง เนติฯ วิ.อาญาภาค 1-2 (ภาคปกติ) 
  อ.จุลสิงห์  วันที่ 27 พย 60 ครั้งที่2 สมัยที่70
--------------------

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2557 ผู้เสียหายถูกคนร้ายทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงเป็นกรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ถ้าผู้เสียหายจะเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเองโดยมีการพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในใบแต่งทนายความ แม้จะมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ก็ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือด้วยตนเอง เนื่องจากผู้เสียหายไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ จึงมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เป็นการไม่ถูกต้อง ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่มีสิทธิฎีกา และแม้กรณีเช่นว่านั้นสามารถที่จะแก้ไขความบกพร่องได้ แต่คดีล่วงเลยมานานมากแล้ว ทั้งการพิจารณาคดีก่อนหน้านั้นของโจทก์ร่วมมิได้เสียไป ประกอบกับพนักงานอัยการก็ว่าคดีต่างโจทก์ร่วมอยู่แล้ว จึงเห็นควรไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งผู้เสียหายแก้ไขข้อบกพร่องในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการให้บริบูรณ์ใหม่เสียก่อน และสมควรพิจารณาคดีต่อไป

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาบรรทุกเกิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
     การที่จำเลยใช้รถบรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 20,750 กิโลกรัม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน ทั้งทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตาม ป.อ. มาตรา 23

เจาะฎีกาเนติฯ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค 1-2 (ภาคค่ำ) (ครั้งที่ 1) สมัยที่ 2/70 อ. สุรสิทธิ์ แสงโรจนพัฒน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560


เจาะฎีกาเนติฯ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค 1-2 (ภาคค่ำ) (ครั้งที่ 1) สมัยที่ 2/70
 อ. สุรสิทธิ์ แสงโรจนพัฒน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560  
-----------------------------

           ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง 
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2555 ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558 สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
           ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา

ฎีกาที่ 3839/2560 - พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 มาตรา 25 (4)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3839/2560 "... คำขอบังคับส่วนนี้ มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขาย รวมราคาซื้อขายเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดี จึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)"


วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุ ป.อ. มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท ดังกล่าวรวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ฎีกาคดีจัดการมรดก กับ คดีมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558)

คดีจัดการมรดก กับ คดีมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558 คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
         ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

ถอดเทปเนติ 2/70 สัมมนาวิ.แพ่ง อ.อดุลฯ 22 พ.ย 60 (ภาคค่ำ) ครั้งที่1

ถอดเทปเนติ+เน้นประเด็นสำคัญ ที่น่าออกสอบ* สัมมนาวิ.แพ่ง อ.อดุลฯ
วันที่ 22 พ.ย 60 (ภาคค่ำ) ครั้งที่1 เนติ ภาค2/70
----------------------



วิธีใช้งาน : เพียงเข้าระบบ + กดดาวน์โหลดตามลิงค์ข้างต้น.

แจก ถอดไฟล์เสียง เนติ วิ.แพ่ง ภาค2 อ.นพพรฯ (ภาคปกติ) ครั้งที่1 เนติ สมัยที่ 70

 ถอดไฟล์เสียง เนติ วิ.แพ่ง ภาค2 อ.นพพรฯ  (ภาคปกติ) ครั้งที่1 เนติ สมัยที่ 70 



วิธีใช้งาน : เพียงเข้าระบบ+กดดาวน์โหลดตามลิงค์ข้างต้น.

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น ถอดไฟล์เสียง สัมมนาวิ.แพ่ง (ภาคค่ำ) อ.อดุลย์ ขันทอง วันที่ 22 พ.ย 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70

ฎีกาเด่น ถอดไฟล์เสียง สัมมนาวิ.แพ่ง (ภาคค่ำ) อ.อดุลย์ ขันทอง 
วันที่ 22 พ.ย 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70
.............................


           ในคดีแพ่ง ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2539 ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและยกขึ้นอุทธรณ์แล้วแต่เมื่อผู้ร้องสอดมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และเมื่อผู้ร้องสอดฎีกาปัญหานี้อีกจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

            ในคดีอาญาปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชาและฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี โดยปรับบทว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานพยายามส่งออก ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยยังคงให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชา และฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี แต่ปรับบท เป็นว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานนำเข้า ให้ลงโทษฐานนำเข้าอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือนำยางกัญชา ของกลางจำนวนเดียวกันจากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินเพื่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยจำเลยครอบครองยางกัญชาจำนวนดังกล่าวต่อเนื่องกันจนกระทั่งถูกจับการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมียางกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าและพยายามส่งออกยางกัญชาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2539 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ก. จำเลยมียางกัญชา จำนวน 15 แท่ง น้ำหนัก 4,974 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข.จำเลย นำยางกัญชาตามข้อ ก. จากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบิน และ ค. หลังจากนั้น จำเลยส่งยางกัญชาซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ ก. และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามข้อ ข. ออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/2 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า "ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง..." เมื่อประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2551 จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59, 60 และ 65 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบ ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ตลอดทั้งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
      พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/5 วรรคสอง บัญญัติว่า "...หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้..." แสดงว่ากฎหมายกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้ง ส่วนการแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขในการเข้าปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ หากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ

คำวินิจฉัยคดีปกครอง 2560 ที่น่าสนใจ

คำวินิจฉัยคดีปกครอง 2560 ที่น่าสนใจ 

       คำวินิจฉัยที่ 5/2560  แม้สัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. กับการประปาส่วนภูมิภาค จะเป็นสัญญาทางปกครอง และสัญญาค้ำประกันของธนาคารโจทก์ต่อการประปาส่วนภูมิภาคที่ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ในการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาหลัก ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองด้วย แต่สัญญาค้ำประกันของจำเลยเป็นสัญญาที่จำเลยทำต่อธนาคารโจทก์เพื่อค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. หากผิดนัดไม่ใช้เงินแก่การประปาส่วนภูมิภาคจนเป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ต้องชำระหนี้แทน จำเลยจะชำระเงินให้แก่ธนาคารโจทก์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มิใช่สัญญาที่จำเลยทำกับการประปาส่วนภูมิภาคว่าหากธนาคารโจทก์ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. จำเลยจะเข้าชำระหนี้แทน สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันของผู้ค้ำประกันตามมาตรา ๖๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา แต่เป็นสัญญาที่จำเลยทำกับธนาคารโจทก์โดยยินยอมจะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโจทก์เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ซึ่งแยกออกได้จากสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ทำกับการประปาส่วนภูมิภาค และสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารโจทก์ทำต่อการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. อันเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเอกชน และมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความสัมพันธ์ของเอกชนในทางแพ่ง ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 9/2560 คดีที่เอกชนผู้ซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรรยื่นฟ้องเอกชนเจ้าของโครงการ จำเลยที่ ๑ หน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ หลีกเลี่ยงการขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินในโครงการ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ทั้งจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมโอนที่ดินส่วนที่เป็นถนนซึ่งเป็นภาระจำยอมของโครงการให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๒ รับจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในโครงการ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงไปขออนุญาตจัดสรรที่ดินและไม่ได้ตกลงจะให้บริการสาธารณูปโภคหรือจะให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ไม่เคยสัญญาหรือแสดงต่อสาธารณะว่าจะจัดให้โครงการเป็นหมู่บ้านจัดสรร และไม่ใช่ผู้จัดสรรที่ดิน ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิโอนที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การโอนและการจดทะเบียนโอนชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ข้อพิพาทอันเป็นประเด็นแห่งคดีในส่วนที่โจทก์ทั้งสาม ขอให้เพิกถอนการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือไม่ หากที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ ๑ มีข้อจำกัดสิทธิในการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลจะพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองรับจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันจะเป็นเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามซึ่งมีข้อจำกัดสิทธิในการโอนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อมูลความแห่งคดีในส่วนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินพิพาท และสิทธิของจำเลยที่ ๑ ในการโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของตน จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนข้อพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำบังคับให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในโครงการนั้น เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน


       คำวินิจฉัยที่ 12/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของมารดา เจ้าของที่ดิน น.ส. ๒ แต่จำเลยนำที่ดินบางส่วนของโจทก์ไปจัดสรรและออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. และไปขอออกเป็นโฉนดที่ดิน เมื่อโจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ออกให้ ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. และโฉนดที่ดินส่วนที่ทับ น.ส. ๒ ของโจทก์ จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูป จำเลยจึงมีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาทำการปฏิรูปได้ การขอออกโฉนดและการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าตามคำฟ้องและคำให้การคู่ความต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาก่อนตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป โดยไม่จำต้องวินิจฉัยการกระทำของหน่วยงานทางปกครองว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

     คำวินิจฉัยที่ 13/2560  คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 14/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีและยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่ารังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ทั้งแปลง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เอกสารสิทธิในที่ดินเป็นเอกสารสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถออกโฉนดที่ดินได้ เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มิชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ที่คัดค้านการออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่าสาเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการดำเนินการในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ อันเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัด จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 19/2560 คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญในระหว่างกระบวนการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุดโดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน เป็นการฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 22/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าโฉนดออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงทำบันทึกคืนโฉนดที่ดินให้กลับคืนเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบพบว่า โฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ การคืนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นการคืนโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้คืนโฉนด ให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนโฉนด และแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทให้เป็นเช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนได้ขอให้ถือว่าโฉนดที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินสูญหาย พร้อมทั้งให้ออกโฉนดใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) การเพิกถอนโฉนดชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง และไม่มีเหตุที่จะต้องคืนโฉนด เห็นว่าเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ถอดคำบรรยายเนติ วิ.แพ่ง ภาค4 อ.สมพงษ์ เหมวิมล 22 พ.ย 60 (ภาคค่ำ) เนติ ภาค2/70 ครั้งที่1

ถอดคำบรรยายเนติ วิ.แพ่ง ภาค4 อ.สมพงษ์ เหมวิมล  
 วันที่ 22 พ.ย 60 (ภาคค่ำ) เนติ ภาค2/70 ครั้งที่1



คำแนะนำการใช้งาน : เพียงเข้าระบบ +กดดาวน์โหลด ตามลิงค์ข้างต้น.



ฎีกา 5 ดาว ถอดคำบรรยายเนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ) วันที่ 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70

ฎีกา 5 ดาว ถอดคำบรรยายเนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ)
วันที่ 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70
--------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2551 (อ.เน้นออกสอบ) จำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาต่อไป แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 255 (1) (ข) จึงนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1)

.


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

ฎีกาการเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551 การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกวงแชร์ที่ ป. เป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ มีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกันด้วยหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับ ป. ที่เป็นนายวงแชร์ เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลและ ป. นายวงแชร์หลบหนีไป สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้

ฎีกา ถอดไฟล์เสียง เนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ) 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70

ฎีกา ถอดไฟล์เสียง เนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ)
วันที่ 22 พ.ย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70
-----------------
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2504 ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นโรงเรือนมี 2 ชั้น แม้ชั้นบนกับชั้นล่างมีทางเข้าต่างหากจากกัน และชั้นบนมี 11 ห้อง ใช้เป็นโรงแรม ชั้นล่างมี 4 ห้อง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบริวาร แต่มีสภาพเป็นโรงเรือนเพียงหลังเดียวไม่สามารถที่จะแยกจากกันได้ ผู้ร้องขับทรัพย์จะขอให้แยกยึดไม่ได้
การยื่นคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 (1) เป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่นำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วมีผู้มาร้องขัดทรัพย์ เจ้าหนี้ขอให้ศาลสั่งผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงินประกันต่อศาลได้ หาใช่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ที่จะขอเช่นนั้นไม่




ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559 แม้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ศาล หมวด 1 เขตอำนาจศาลได้บัญญัติเกี่ยวกับคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลว่าให้ฟ้องหรือร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ตามมาตรา 7 (1) แต่คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ ขอให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล มีผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดต่างขอให้ตั้งตนเป็นผู้อนุบาลด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้บังคับ ศ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรักษาเงินรายได้ของ ซ. ให้ส่งมอบเงินให้ ซ. โดย ศ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้อนุบาลแต่อย่างใดว่าไม่ยอมส่งมอบเงินรายได้ของคนไร้ความสามารถ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ศ. เป็นอีกคดีต่างหาก คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ใช่คำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้

พ.ร.บ.การเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552  พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 

หลักการชี้สองสถาน

 หลักการชี้สองสถาน คือ 
        ในกระบวนพิจารณาคดีของศาล เพื่อความสะดวกในการดำเนินคดี เมื่อศาลได้อ่านสำนวนคำฟ้องของโจทก์ และสำนวนคำให้การของจำเลยแล้ว ศาลจะมีแนวพิจารณา 2 ทาง คือ
           1. เมื่อโจทก์กล่าวหา = = > จำเลยยอมรับ = = > ศาลฟังได้ความแล้ว = = > จะรอตัดสินความ
          2. เมื่อโจทก์กล่าวหา = = > จำเลยปฏิเสธ = = > ศาลยังฟังไม่ได้ความ = = > จะนัดชี้สองสถาน

       การชี้สองสถาน คือ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล หลังมีการยื่นคำฟ้อง คำให้การ หรือคำให้ การแก้ฟ้องแย้งแล้ว เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลจะสั่งให้มีการชี้สองสถาน ซึ่งในวันนั้น ศาลจะดำเนินการ 4 เรื่อง คือ
         1. การกำหนดประเด็นข้อพิพาท ตาม ม.183 ว.1
         2. การกำหนดหน้าที่นำสืบ ตาม ม.84
         3. การกำหนดหน้าที่นำสืบก่อนหลัง ตาม ม.183 ว.1 ความท้าย
        4. การกำหนดวันสืบพยาน ตาม ม.184 ว.1

   ดังนั้น สรุปได้ว่าการชี้สองสถาน คือ การที่ศาลพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยหากมีข้อใดที่ฝ่ายโจทก์อ้างแล้วจำเลยไม่ยอมรับ ศาลจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานมาสืบ

ฎีกาใหม่ ถอดเทปเนติฯ* กฏหมายล้มละลาย (อ.ชีพ จุลมนต์) 21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาใหม่ ถอดเทปเนติฯ* กฏหมายล้มละลาย (อ.ชีพ จุลมนต์)
21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
คำพิพากษาฎีกาที่ 914/2559 (ฎีกาใหม่) มูลหนี้ตามคำพิพากษาถือเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และกรณีเช่นนี้คู่ความต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุด ดังนั้น แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ก็สามารถนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องให้ล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10781/2558 (ฎีกาใหม่) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 12340/2558 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ โดยตกลงเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 057-1-07973-9 ไว้กับโจทก์ สาขาพระรามที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ( MRR) บวก 1.75 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.2 ต่อปี ของยอดหนี้ในส่วนที่ไม่เกินวงเงิน ส่วนที่อยู่เกินวงเงินจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในวันเดียวกันจำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 4,400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวก 1.75 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.20 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เป็นงวดรายเดือนรวม 60 งวดไม่น้อยกว่างวดละ 89,700 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2553 งวดต่อไปชำระทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไปกำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 นอกจากนี้ในวันดังกล่าวจำเลยยังได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 189,300 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวก 1.79 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.2 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นงวดรายเดือนรวม 60 งวด ไม่น้อยกว่างวดละ 3,900 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2553 งวดต่อไปชำระทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไป กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในเดือน มิถุนายน 2558 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวและหนี้สินอื่น จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 68402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 5,189,300 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 11.45 ต่อปี หากผิดนัดหรือผิดสัญญายอมเสียดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัด หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยได้เบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันหลายครั้ง และเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาแล้วผิดนัด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 จากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น คำนวณยอดหนี้ดังกล่าวถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 6,174,835.69 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับจำเลยผิดนัดชำระ คำนวณยอดหนี้เงินกู้ทั้งสองฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,406,415.01 บาท รวมยอดหนี้ ทั้งสิ้น 11,581,250.70 บาทเมื่อหักกับราคาประเมินทรัพย์จำนองเป็นเงิน 6,409,500 บาท จำเลยยังมีหนี้โจทก์ 5,171,750.70 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้สองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยไม่ชำระหนี้ ทั้งไปเสร็จจากเคหะสถานที่เคยอยู่หรือหลบไปหรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยไม่เคยไปธนาคารโจทก์ สาขาธนาคารถนนพระรามที่ 3 ลายมือชื่อในใบสมัครเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย เป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินต่อหน้าพนักงานของโจทก์ นายณัฐกฤษ สว่างผล เป็นผู้ทำนิติกรรมกับโจทก์ จำเลยไม่เคยได้รับเงิน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หนี้ของโจทก์ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โจทก์ไม่สามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ จำเลยมิได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสมชาย เวศยาสิรินทร์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาทและทำสัญญากู้เงินจากโจทก์สองฉบับ ฉบับแรกเป็นเงิน 4,400,000 บาท ฉบับที่ 2 เป็นเงิน 189,300 บาท โดยได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้ว และจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนด 68402 ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันแก่โจทก์ และนับแต่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยได้เบิกเงินตามสัญญาไปจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันหลายครั้ง ซึ่งบัญชีของจำเลยได้เดินสะพัดเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ณ วันดังกล่าวเป็นเงิน 5,034,770.59 บาท หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นคำนวณหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,174,835.69 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่ สองจำเลยได้ผ่อนชำระให้แก่โจทก์บ้างไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ หลังจากนั้นก็ไม่ชำระ คำนวณหนี้เงินกู้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,406,415.01 บาท รวมยอดหนี้ทุกประเภทแล้วเป็นเงิน 11,581,250.70 บาท เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโจทก์มีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้สินคืนให้แก่โจทก์และดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ของโจทก์เบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่พยานได้ตรวจสอบเอกสารแห่งหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารที่โจทก์อ้างส่ง ประกอบกับโจทก์มีหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือยินยอมให้ธนาคารหักบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ หลักฐานการรับเงินกู้ และรายการบัญชีเอกสารหมาย จ. 4 ถึง จ.6 และ จ.11 ถึง จ. 13 มาแสดงโดยเฉพาะตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เอกสาร จ.4 จ.5 และ จ.6 มีลายมือชื่อจำเลยในฐานะผู้กู้เซ็นชื่อไว้ทุกแผ่น แผ่นแรกลงชื่อไว้ด้านบนและด้านล่าง เมื่อเปรียบเทียบดูลายมือชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายก็มีลีลาการลงคล้ายคลึงกัน ประกอบกับจำเลยเองให้การรับว่าหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 4 จ. 5 และ จ.6 จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของโจทก์แสดงว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวจริง ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ แต่จำเลยกลับเบิกความว่า เอกสารหมาย จ.4 จ.5 และจ.6 เป็นลายมือชื่อจำเลยที่ลงชื่อในกระดาษเปล่ามอบให้นายณัฐกฤษ สว่างผล ไปแตกต่างขัดแย้งกันกับคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือและรับฟังไม่ได้ ทั้งนี้เพราะจำเลยลงชื่อในกระดาษเปล่าจริง ย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะนำไปพิมพ์ปลอมข้อความซึ่งมีรายละเอียดมาก และตำแหน่งลายเซ็นผู้กู้จะตรงกับที่จำเลยลงชื่อไว้ สำหรับการรับเงินกู้และเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญากู้เงินระบุจำนวนเงินกู้และวิธีขอรับเงินกู้ โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันของจำเลยและของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตของจำเลย โดยโจทก์มีหลักฐานการรับเงินกู้เอกสารหมาย จ. 6 และรายการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.11 มาประกอบ นอกจากนี้ในวันทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ด้วยตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 หากจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยต้องไปจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบสามารถรับฟังได้แล้วว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้กับโจทก์ตามฟ้องโดยโจทก์ไม่จำต้องนำบุคคล ที่รู้เห็นในการทำสัญญาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญามาเบิกความยืนยันดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า ถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โจทก์จึงไม่สามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 10 บัญญัติว่า “….เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ…(2)กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาให้มาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งล้านบาทหรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลในจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแยกออกเป็น 2 กรณี คือ การสละหลักประกันกรณีหนึ่ง กับการตีราคาหลักประกันอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบรรยายมาในฟ้องแสดงความไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิบังคับเอาแก่หลักประกันเพื่อประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว โดยยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือประสงค์จะใช้สิทธิของตนบังคับเอาแก่หลักประกันนั้น โดยต้องบรรยายต่อไปว่าราคาหลักประกันที่ตีเมื่อหักกับหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ตามฟ้องโจทก์ใช้สิทธิ์เลือกบรรยายมาในฟ้องด้วยวิธีตีราคาหลักประกันหักกับหนี้ เงินยังขาดอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ไม่จำต้องบรรยายสละหลักประกันมาในฟ้องอีกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ครั้งแรกภริยาจำเลยรับหนังสือทวงถามไว้แทน ครั้งที่สองพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่า “ไม่มารับภายในกำหนด” ทั้งที่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไปยังภูมิลำเนาของจำเลยแห่งเดียวกันกับการส่งครั้งแรกอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการโดยชอบแล้ว แต่ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ เชื่อว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่สองด้วยแล้ว กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากทรัพย์จำนองซึ่งไม่พอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด จึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่สมควร


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น ถอดเทปเนติฯ* วิ.แพ่ง ภาค1(อ.อำนาจ พวงชมภู) 21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาเด่น ถอดเทปเนติฯ* วิ.แพ่ง ภาค1(อ.อำนาจ พวงชมภู)
วันที่  21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
------------------------------

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๖๑/๒๕๓๕ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องนั้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้น อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์เพียงสั่งว่า “รวม” จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ (๑) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จไปแล้ว การที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์แต่อย่างใด เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี
ข้อสังเกต มาตรา ๑๓๑ (๑) นี้ใช้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาด้วย ดังนั้น คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ถ้ามีการยื่นคำขอต่อศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลชั้นฎีกาก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตหรือ ยกคำขอตามมาตรา ๑๓๑ (๑) เช่นกัน


           คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๐๔/๒๕๔๐ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การได้ ถ้าข้ออ้างตามฟ้องแย้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ศาลย่อมจะต้องรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๘ แล้ว ย่อมเกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่ความแพ้หรือชนะกัน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ (๒) และมาตรา ๑๓๓ บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ ๒ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559


      คำถาม ถ้าผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตายพร้อมกัน ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์นั้นตกแก่ใคร?

       คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้ (ป.พ.พ. ม.4, ม.374, ม.889, ม.1599)

ผู้เสียหายความผิดฐานปลอมเอกสาร - เจาะฎีกา ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

 เจาะฎีกา ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
 วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
----------------


ความผิดฐานปลอมเอกสาร
        คุณธรรมทางกฎหมายนอกจากมุ่งคุ้มครองประชาชนหรือรัฐมิให้ได้รับความเสียหายจากการปลอมหรือใช้เอกสารปลอมแล้วยังคุ้มครองเอกชนด้วย หากเอกชนคนใดได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสาร เอกชนคนนั้นย่อมเป็นผู้เสียหาย

ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่ออาจไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารก็ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้รับความเสียหายจากการใช้เอกสารปลอมนั้น หรือเป็นผู้รู้เห็นยินยอมในการปลอมลายมือชื่อนั้น เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๘/๒๕๔๒ คดีนี้มีผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้ถือบัตรเครดิตในใบบันทึกรายการขาย แล้วจำเลยนำใบบันทึกรายการขายปลอมนั้นไปเบิกเงินจากธนาคาร จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฐานฉ้อโกง ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ไม่ใช่ผู้ถือบัตรที่ถูกปลอมลายมือชื่อ เพราะกรณี นี้ผู้ถือบัตรไม่รู้เรื่องว่ามีคนปลอมลายมือชื่อของตน ดังนั้น หากธนาคารจ่ายเงินให้แก่จำเลยตามใบบันทึกรายการขายปลอมไป ธนาคารก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น เอง จะเรียกเก็บเงินที่ทดรองจ่ายไปจากผู้ถือบัตรไม่ได้ ผู้ถือบัตรจึงไม่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว

การลงลายมือชื่อ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่อจะอนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงแทนกันไม่ได้ หากไปลงลายมือชื่อแทนกันถือว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เป็นการปลอมเอกสารแล้ว แต่เจ้าของลายมือชื่อที่อนุญาตหรือยินยอมให้ผู้อื่นลงลายมือชื่อแทนตนไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ผู้ลงลายมือชื่อแทนจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๖๔

  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๖/๒๕๕๐ จำเลยกับพวกร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแสดงต่อผู้เสียหายและหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า ภ. เป็นเจ้าของรถยนต์ตามสมุดใบคู่มือจดทะเปียนรถยนต์จริง จนผู้เสียหายยอมรับจำนำและจ่ายเงินให้จำเลยไป ลักษณะการกระทำตามข้อเท็จจริง ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อฉ้อโกง ว. และ ว. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหาย แม้มีการทำสัญญาจำนำก็เป็นผลสืบเนื่องจากการหลอกลวงของจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายส่งมอบเงิน อันเป็นทรัพย์สินให้ ดังนั้น สัญญาจำนำจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ หาเป็นเหตุให้ ว, ซึ่งเป็นผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นมิใช่ผู้เสียหายไม่ ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๕๒/๒๕๔๕ จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ช. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทในคำขอจดทะเบียนบริษัท แล้วนำคำขอนั้นไปยืนต่อนายทะเบียน เพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังกล่าว โดยถอนชื่อผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการ บริษัทออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความเป็นผู้แทนนิติบุคคลของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยเฉพาะในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม (ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่มีผู้เสียหายเพราะเจ้าของลายมือชื่อ ยินยอม) ผู้ร้องอาจจะไม่ถูกหลอกลวงเลยก็เป็นผู้เสียหายได้เพราะผลของการกระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมมันมีผลโดยตรงกับผู้ร้อง

ฎีกาใหม่ ถอดคำบรรยายเนติ วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
 วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
----------------------

ผู้เสียหาย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557 การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3987/2557 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามปกติโจทก์ร่วมจ่ายเงินค่าซื้อข้าวโพดหวานให้เกษตรกรภายใน 7 วัน ถึง 15 วัน นับแต่วันที่ซื้อ หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขอรับเงินก่อนภายใน 1 ถึง 2 วัน จะต้องขายลดสิทธิการรับเงิน โดยเกษตรกรต้องแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมเอกสารเสนอเพื่อขออนุมัติกับกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก่อน เมื่ออนุมัติแล้ว ม. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมจะสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตนเองจ่ายไปก่อน การจ่ายเงินของ ม. ดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนตัวของ ม.ทั้งสิ้นหาใช่เงินของโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจาก ม. ไม่ แม้ ม. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ม. ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขายลดสิทธิที่เป็นกำไรเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์ร่วมยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าให้ ม. จ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนเพื่อมิให้ผิดหลักการการจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบไม่ให้เสียระบบการจ่ายเงินนั้นไม่สมเหตุสมผล ทั้งไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง


ฎีกาเด่น* ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาเด่น ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
--------------

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๗๕/๒๕๕๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ประกอบอาชีพ รับจ้างขนส่งสินค้า ได้รับมอบสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. เพื่อนำไปส่งให้แก่ร้าน ห. ลูกค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. จึงเป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. และได้ความจาก ม. พนักงานของห้างหุ้นส่วน ฮ. พยานโจทก์ว่า ร้าน ห. ได้สั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วจึงจะชำระเงิน แสดงว่าการส่งมอบสินค้าดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ยังไม่แน่นอน เพราะต้องให้ลูกค้าตรวจสอบก่อน หากใช่ตามที่ต้องการตกลงซื้อขายกันแล้วจึงจะชำระเงิน เมื่อสินค้าดังกล่าวยังไม่มีการชำระราคา และยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่ร้าน ห. กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจึงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. การที่มีผู้โทรศัพท์มาหลอกลวง ส. ซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และมารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวงในความผิดฐานฉ้อโกงได้
ในคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ผู้ว่าจ้างส่งสินค้าถ้ามีผู้หลอกลวงผู้รับจ้างขนส่งคือ ป ให้มารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงได้ และในอีกหลายคดีที่มีผู้เสียหาย ได้หลายคนโดยเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น คดีเรื่องเช่าซื้อรถยนต์มีการเบียดบังหรือลักรถที่เช่าซื้อไป ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เป็นผู้เสียหายได้ ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ครอบครองก็เป็นผู้เสียหายได้ หรือคดีที่มีการทำร้ายร่างกายหลายๆ คน ดังนั้นต่างคน ต่างเป็นผู้เสียหาย สิทธิของผู้เสียหายแต่ละคนก็ว่ากันไป
เพราะฉะนั้นในคำพิพากษาฎีกานี้ ผู้ที่ถูกหลอกลวงคือ ผู้รับจ้างขนสินค้าแต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าของสินค้าซึ่งไม่ได้ถูกหลอกลวงแต่ได้รับความเสียหายจากความผิดฐานนี้ก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๕๘/๒๕๔๑ การที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทำสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม. ที่ธนาคาร ก. ออกให้แก่จำเลย สูญหายไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานก็เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานออกหลักฐานนำไปขอสมุด คู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ใหม่จากธนาคาร ก. เท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยนำสมุดคู่ฝากเงิน ออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม มอบให้เพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจากสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะว่าการแจ้งความเท็จอันเป็นเหตุให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหายนั้นเจ้าหนี้ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากเอกสาร ดังกล่าวได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงว่า ไปกู้ยืมเงินแล้วให้บัตรเอทีเอ็มไว้เป็นประกัน และเพื่อการชำระหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไปกดเงินเอาจากบัตรเอทีเอ็มและเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ ดังนั้นถ้าลูกหนี้ไปแจ้งว่าบัตรเอทีเอ็มหายเจ้าหนี้ซึ่งถือบัตรเอทีเอ็มไว้เพื่อบังคับชำระหนี้ก็จะเบิกเงินไม่ได้เพราะบัตรเอทีเอ็มถูกยกเลิกใช้ไม่ได้ก็จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔/๒๕๓๓*** รับเงินค่าสินค้าไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม ถ้าเบียดบังโจทก์ร่วมก็เป็นผู้เสียหาย เมื่อจำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วไม่ส่งมอบตามหน้าที่ก็เป็นความผิดฐานยักยอกโจทก์ร่วมก็จะเป็นผู้เสียหาย


วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560