วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น* ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาเด่น ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
--------------

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๗๕/๒๕๕๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ประกอบอาชีพ รับจ้างขนส่งสินค้า ได้รับมอบสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. เพื่อนำไปส่งให้แก่ร้าน ห. ลูกค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. จึงเป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. และได้ความจาก ม. พนักงานของห้างหุ้นส่วน ฮ. พยานโจทก์ว่า ร้าน ห. ได้สั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วจึงจะชำระเงิน แสดงว่าการส่งมอบสินค้าดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ยังไม่แน่นอน เพราะต้องให้ลูกค้าตรวจสอบก่อน หากใช่ตามที่ต้องการตกลงซื้อขายกันแล้วจึงจะชำระเงิน เมื่อสินค้าดังกล่าวยังไม่มีการชำระราคา และยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่ร้าน ห. กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจึงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. การที่มีผู้โทรศัพท์มาหลอกลวง ส. ซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และมารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวงในความผิดฐานฉ้อโกงได้
ในคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ผู้ว่าจ้างส่งสินค้าถ้ามีผู้หลอกลวงผู้รับจ้างขนส่งคือ ป ให้มารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงได้ และในอีกหลายคดีที่มีผู้เสียหาย ได้หลายคนโดยเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น คดีเรื่องเช่าซื้อรถยนต์มีการเบียดบังหรือลักรถที่เช่าซื้อไป ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เป็นผู้เสียหายได้ ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ครอบครองก็เป็นผู้เสียหายได้ หรือคดีที่มีการทำร้ายร่างกายหลายๆ คน ดังนั้นต่างคน ต่างเป็นผู้เสียหาย สิทธิของผู้เสียหายแต่ละคนก็ว่ากันไป
เพราะฉะนั้นในคำพิพากษาฎีกานี้ ผู้ที่ถูกหลอกลวงคือ ผู้รับจ้างขนสินค้าแต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าของสินค้าซึ่งไม่ได้ถูกหลอกลวงแต่ได้รับความเสียหายจากความผิดฐานนี้ก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๕๘/๒๕๔๑ การที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทำสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม. ที่ธนาคาร ก. ออกให้แก่จำเลย สูญหายไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานก็เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานออกหลักฐานนำไปขอสมุด คู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ใหม่จากธนาคาร ก. เท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยนำสมุดคู่ฝากเงิน ออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม มอบให้เพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจากสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะว่าการแจ้งความเท็จอันเป็นเหตุให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหายนั้นเจ้าหนี้ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากเอกสาร ดังกล่าวได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงว่า ไปกู้ยืมเงินแล้วให้บัตรเอทีเอ็มไว้เป็นประกัน และเพื่อการชำระหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไปกดเงินเอาจากบัตรเอทีเอ็มและเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ ดังนั้นถ้าลูกหนี้ไปแจ้งว่าบัตรเอทีเอ็มหายเจ้าหนี้ซึ่งถือบัตรเอทีเอ็มไว้เพื่อบังคับชำระหนี้ก็จะเบิกเงินไม่ได้เพราะบัตรเอทีเอ็มถูกยกเลิกใช้ไม่ได้ก็จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔/๒๕๓๓*** รับเงินค่าสินค้าไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม ถ้าเบียดบังโจทก์ร่วมก็เป็นผู้เสียหาย เมื่อจำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วไม่ส่งมอบตามหน้าที่ก็เป็นความผิดฐานยักยอกโจทก์ร่วมก็จะเป็นผู้เสียหาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น