แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กฎหมายปกครอง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กฎหมายปกครอง แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำวินิจฉัยคดีปกครอง 2560 ที่น่าสนใจ

คำวินิจฉัยคดีปกครอง 2560 ที่น่าสนใจ 

       คำวินิจฉัยที่ 5/2560  แม้สัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. กับการประปาส่วนภูมิภาค จะเป็นสัญญาทางปกครอง และสัญญาค้ำประกันของธนาคารโจทก์ต่อการประปาส่วนภูมิภาคที่ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ในการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาหลัก ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองด้วย แต่สัญญาค้ำประกันของจำเลยเป็นสัญญาที่จำเลยทำต่อธนาคารโจทก์เพื่อค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. หากผิดนัดไม่ใช้เงินแก่การประปาส่วนภูมิภาคจนเป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ต้องชำระหนี้แทน จำเลยจะชำระเงินให้แก่ธนาคารโจทก์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มิใช่สัญญาที่จำเลยทำกับการประปาส่วนภูมิภาคว่าหากธนาคารโจทก์ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. จำเลยจะเข้าชำระหนี้แทน สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันของผู้ค้ำประกันตามมาตรา ๖๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา แต่เป็นสัญญาที่จำเลยทำกับธนาคารโจทก์โดยยินยอมจะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโจทก์เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ซึ่งแยกออกได้จากสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ทำกับการประปาส่วนภูมิภาค และสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารโจทก์ทำต่อการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. อันเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเอกชน และมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความสัมพันธ์ของเอกชนในทางแพ่ง ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 9/2560 คดีที่เอกชนผู้ซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรรยื่นฟ้องเอกชนเจ้าของโครงการ จำเลยที่ ๑ หน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ หลีกเลี่ยงการขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินในโครงการ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ทั้งจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมโอนที่ดินส่วนที่เป็นถนนซึ่งเป็นภาระจำยอมของโครงการให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๒ รับจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในโครงการ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงไปขออนุญาตจัดสรรที่ดินและไม่ได้ตกลงจะให้บริการสาธารณูปโภคหรือจะให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ไม่เคยสัญญาหรือแสดงต่อสาธารณะว่าจะจัดให้โครงการเป็นหมู่บ้านจัดสรร และไม่ใช่ผู้จัดสรรที่ดิน ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิโอนที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การโอนและการจดทะเบียนโอนชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ข้อพิพาทอันเป็นประเด็นแห่งคดีในส่วนที่โจทก์ทั้งสาม ขอให้เพิกถอนการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือไม่ หากที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ ๑ มีข้อจำกัดสิทธิในการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลจะพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองรับจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันจะเป็นเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามซึ่งมีข้อจำกัดสิทธิในการโอนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อมูลความแห่งคดีในส่วนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินพิพาท และสิทธิของจำเลยที่ ๑ ในการโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของตน จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนข้อพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำบังคับให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในโครงการนั้น เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน


       คำวินิจฉัยที่ 12/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของมารดา เจ้าของที่ดิน น.ส. ๒ แต่จำเลยนำที่ดินบางส่วนของโจทก์ไปจัดสรรและออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. และไปขอออกเป็นโฉนดที่ดิน เมื่อโจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ออกให้ ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. และโฉนดที่ดินส่วนที่ทับ น.ส. ๒ ของโจทก์ จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูป จำเลยจึงมีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาทำการปฏิรูปได้ การขอออกโฉนดและการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าตามคำฟ้องและคำให้การคู่ความต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาก่อนตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป โดยไม่จำต้องวินิจฉัยการกระทำของหน่วยงานทางปกครองว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

     คำวินิจฉัยที่ 13/2560  คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 14/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีและยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่ารังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ทั้งแปลง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เอกสารสิทธิในที่ดินเป็นเอกสารสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถออกโฉนดที่ดินได้ เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มิชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ที่คัดค้านการออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่าสาเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการดำเนินการในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ อันเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัด จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 19/2560 คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญในระหว่างกระบวนการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุดโดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน เป็นการฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 22/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าโฉนดออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงทำบันทึกคืนโฉนดที่ดินให้กลับคืนเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบพบว่า โฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ การคืนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นการคืนโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้คืนโฉนด ให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนโฉนด และแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทให้เป็นเช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนได้ขอให้ถือว่าโฉนดที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินสูญหาย พร้อมทั้งให้ออกโฉนดใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) การเพิกถอนโฉนดชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง และไม่มีเหตุที่จะต้องคืนโฉนด เห็นว่าเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม