แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา5ดาว ปี57 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา5ดาว ปี57 แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาอาญา เจาะวลีฎีกาเด่น* ปี 2557



 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2557
ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีที่ความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ บทบัญญัติของมาตรานี้มิใช่เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่จะต้องระบุในคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา186 (7) การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 20 ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7) ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2557

ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่ศาลจะต้องระบุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2557
ป.อ. มาตรา 1 (11) คำว่า "กลางคืน" หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายเมื่อระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ดังนั้น เวลาเกิดเหตุตามฟ้องของโจทก์คือ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกของวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ถึงเวลา 24 นาฬิกา ของวันเดียวกัน และเวลา 0.01 นาฬิกา ของวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไปแล้ว จนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นของวันเดียวกัน จึงเป็นเวลากลางคืนของวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2555 ติดต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557
แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2557
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยต่างวันเวลากัน ฟ้องของโจทก์จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละช่วงเวลา เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดฐานดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง แม้จำเลยจะกระทำความผิดดังกล่าวโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนแต่ละครั้ง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งที่จัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จในวันเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีเจตนากระทำความผิดต่างวันเวลากัน ก็ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5653/2557
พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มิใช่บทความผิดแต่เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นฟ้องร้องกรรมการบริษัท เรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือระงับการกระทำดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง และความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311 ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 311 อันเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 อีก



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8412/2557
พวกของจำเลยได้ร่วมกับจำเลยหามผู้เสียหายขึ้นไปในห้องบนชั้นสองเพื่อที่จะข่มขืนกระทำชำเรามาตั้งแต่แรก ครั้นจำเลยข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและออกจากห้องลงไปชั้นล่าง พวกของจำเลยเดินขึ้นมาและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อทันทีในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยกับพวกรู้กันโดยให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนแรก พวกของจำเลยเป็นคนที่สอง ถือได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8159/2557
การใช้เอกสารปลอมเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ฐานหนึ่ง แม้มาตรา 268 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 ... ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ก็ตาม แต่มิใช่จะถือว่าเป็นความผิดฐานเดียวกันกับความผิดนั้น ๆ เมื่อโจทก์บรรยายการกระทำความผิดในฐานนี้มาในคำฟ้อง แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. เฉพาะมาตรา 264 มิได้ระบุมาตรา 268 ด้วย จะถือว่าความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามที่พิจารณาได้ความหาได้ไม่ คำฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้ บ. เคยทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของตนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หลังจากที่พี่สาวของโจทก์ปลดจำนองแล้ว แต่เมื่อขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของ บ. ความเสียหายเกิดจากการร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงเกิดขึ้นแก่ บ. เท่านั้น โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10895/2557
สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุกาณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช. ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้ ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557
การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15450/2557
คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กรณีฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในครั้งหลังจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่อย่างไรเพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษต่อได้ จึงนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11898/2557
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557
การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18297/2557
คดีอาญาที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และจำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97