แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา ถอดเทปไฟล์เสียงเนติ ตั๋วเงิน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา ถอดเทปไฟล์เสียงเนติ ตั๋วเงิน แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ฎีกา ถอดเทปไฟล์เสียงเนติฯ วิชา ตั๋วเงิน อ.ประทีป เฉลิมภัทรกุล (ภาคปกติ) 16 ก.ค 61 สัปดาห์ที่9 สมัยที่71

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิชา ตั๋วเงิน 
อ.ประทีป เฉลิมภัทรกุล (ภาคปกติ) 16 ก.ค 61 สัปดาห์ที่9 สมัยที่71
-------------

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
    มาตรา 917*  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
    เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
    อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

มาตรา 918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2518 โจทก์นำเช็คของธนาคาร ท.จำนวนเงิน 84,000 บาท ซึ่ง ซ.เป็นผู้สั่งจ่ายฝากเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารจำเลย จำเลยส่งเช็คฉบับนั้นไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ท. แต่ธนาคาร ท.ปฏิเสธการจ่ายเงินและส่งเช็คฉบับนั้นคืน ต่อมาพนักงานของจำเลยได้คืนเช็คฉบับนั้นให้แก่ผู้ที่พนักงานของจำเลยไม่เคยรู้จักมาก่อนซึ่งมาอ้างว่าเป็นลูกจ้าง ของโจทก์ไป โดยไม่ตรวจสอบดูหลักฐาน ย่อมเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น จำเลยก็ต้องรับผิดในการกระทำของพนักงานของตน แต่การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเท่ากับจำนวนเงินที่ปรากฏในเช็คฉบับนั้น นอกจากการที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่ายังห่างไกลต่อการที่คาดหมายได้ว่า โจทก์จะสามารถฟ้องเรียกเงินจาก ซ.ได้เต็มตามจำนวนเงินในเช็คนั้นแล้ว ตามฟ้องโจทก์ได้อ้างแต่เพียงว่าโจทก์ต้องเสียหายเพราะโจทก์ต้องสูญเสียเช็คฉบับนั้นสำหรับที่จะใช้เป็นหลักฐาน ในการฟ้อง ซ.ไปเท่านั้น กรณีจึงยังเป็นความเสียหายที่ห่างไกลต่อเหตุ ทั้งธนาคารจำเลยนำสืบฟังได้ว่า เมื่อโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีแล้วเพียง 6 วัน โจทก์ก็ทราบว่าเช็คฉบับนั้นถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงยังมีทางที่โจทก์จะขอนำสืบพยานบุคคลแทนเช็คที่สูญหายไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ฉะนั้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เสียหายไปแล้วเป็นเงิน 84,000 บาท เท่าจำนวนเงินในเช็คเนื่องจากการที่โจทก์ต้องสูญเสียเช็คพิพาทไปนั้น จึงยังห่างไกลต่อความเป็นจริงมาก ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างค่าเสียหายประการอื่น ๆ ถ้าหากจะมีโจทก์ก็มิได้ฟ้องเรียกร้องมาศาลจึงต้องยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3243/2530 โจทก์มีอาชีพเป็นพ่อค้าย่อมจะทราบถึงวิธีการเรื่องเช็คเป็นอย่างดีว่า การรับเช็คโดยไม่รู้จักตัวผู้สั่งจ่ายนั้นย่อมเป็นการเสี่ยงเพราะไม่มีโอกาสทราบฐานะการเงินของผู้สั่งจ่ายได้ ฉะนั้น การที่โจทก์รับเช็คซึ่งผู้มีชื่อนำมาแลกเงินโดยไม่ได้ให้ผู้นั้นสลักหลังเช็คเอาไว้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยทั้งไม่ได้นำมาเบิกความอธิบายถึงวิธีการที่ผู้มีชื่อได้รับเช็คมาพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพิรุธ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คแก่ตนได้.
หมายเหตุ  อาจารย์ให้ข้อสังเกตว่าฎีกาฉบับนี้อ้างหลักสุจริต*

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2536 เช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนให้แก่กันโดยการส่งมอบเมื่อโจทก์ได้รับเช็คไว้ในครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 แม้โจทก์จะสลักหลังโอนเช็คให้แก่บริษัท ท.และบริษัทท. นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้ ซึ่งถือว่าบริษัท ท. เป็นผู้เสียหายในขณะเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับเช็คคืนมา โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ทรงในการที่จะบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ จึงมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คเพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้จึงไม่ระงับไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคสาม