แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาถอดเทปเนติ ภาคค่ำ วิ.แพ่ง ภาค 2 อ.จรรยา จีระเรืองรัตนา สมัยที่71 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาถอดเทปเนติ ภาคค่ำ วิ.แพ่ง ภาค 2 อ.จรรยา จีระเรืองรัตนา สมัยที่71 แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ฎีกาถอดเทปเนติ ภาคค่ำ วิ.แพ่ง ภาค 2 อ.จรรยา จีระเรืองรัตนา สมัยที่71

ฎีกาห้องบรรยาย* วิ.แพ่ง ภาค 2 สมัยที่71
 อ.จรรยา จีระเรืองรัตนา   (อ.ออกสอบเนติฯ71**)  สัปดาห์ที่6 (ภาคค่ำ) 




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2511 จำเลยไปอยู่ที่ประเทศอินเดียก่อนโจทก์ฟ้อง โจทก์นำเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่บ้านโจทก์ซึ่งเป็นสำนักทำการห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลย และคนของโจทก์เป็นผู้รับหมายไว้แทน ตลอดจนมีการปิดหมายนัดพิจารณาที่บ้านดังกล่าวยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ทราบฟ้องและการพิจารณาของศาล
คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยกล่าวว่า จำเลยไปอยู่ที่ประเทศอินเดียยังมิได้กลับประเทศไทยจึงไม่ทราบการถูกฟ้องและการพิจารณาของศาลถือว่าได้กล่าวถึงเหตุที่ขาดนัดโดยละเอียดชัดแจ้งแล้ว
คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยกล่าวว่าตามคำให้การที่จำเลยยื่นควรชนะโจทก์ได้ เพราะความจริงเป็นเรื่องโจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนกันยังไม่เลิก โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าหุ้นคืนถือว่าได้กล่าวถึงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลแล้ว
พฤติการณ์ที่จำเลยไปอยู่ที่ประเทศอินเดียก่อนโจทก์ฟ้องจนถึงวันที่ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยมายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่จำเลยก็ยังมิได้กลับเมื่อจำเลยทราบว่าถูกฟ้อง ก็ทำใบมอบอำนาจต่อกงสุลใหญ่ ณเมืองกัลกัตตา ให้ผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ถือได้ว่ากรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ (อ้างฎีกาที่ 42/2506)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2519 เมื่อยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องโดยชอบแล้ว จะถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาไม่ได้
จำเลยเจ็บป่วยไม่สามารถยื่นคำของให้พิจารณาใหม่ได้ภายในระยะเวลา 15 วันนับจากวันที่ได้รับคำบังคับนั้น ถือได้ว่าเป็นเพราะพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ เมื่อจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วันนับจากจำเลยหายป่วย จึงกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2542 จำเลยระบุในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เพียงว่า หากจำเลยได้มีโอกาสยื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้ว ย่อมทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปเพราะความจริงแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่ถึงจำนวนตามฟ้องของโจทก์ โดยจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องในส่วนใดอย่างไรทั้งไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่าหากพิจารณาใหม่แล้วศาลอาจพิพากษาให้ผิดแผกแตกต่างจากที่ได้ พิพากษาไปแล้ว คำร้อง ของ จำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง การที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้จะต้องให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เสียก่อนเมื่อคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยขาดองค์ประกอบสำคัญที่ศาลจะพึงรับไว้ได้และศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องแล้วกรณีจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2545 คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยบรรยายแต่เหตุที่จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และมีเฉพาะข้อความในช่วงท้ายเท่านั้นที่ระบุว่า หากจำเลยต่อสู้คดีเชื่อว่ายอดหนี้ที่กล่าวในคำบังคับต้องลดน้อยลงอย่างแน่นอน เพราะหากตรวจสอบอย่างดีแล้วจะพบดอกเบี้ยที่โจทก์คิดคำนวณไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้อ้างหรือแสดงเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด อย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่าศาลได้พิจารณาคดีใหม่จำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดี คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 จัตวา วรรคสอง
ศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง(3) ได้บัญญัติไว้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกของศาลแล้วไม่มาศาลตามกำหนดนัด ให้ศาลมีคำสั่งโดยไม่ชักช้าว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วให้ศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว อันเป็นวิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้นที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาในกรณีที่จำเลยไม่มาศาล กระบวนพิจารณาต่อจากนั้น จึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม(1) โดยอาศัยมาตรา 204 และมาตรา 206 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่มาศาลและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม(1) ไปเลย โดยไม่ได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2536 จำเลยไม่ทราบเรื่องที่ถูกฟ้องเพราะจำเลยขายบ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมให้แก่ ช. ไป และได้ย้ายไปอยู่บ้านของภรรยาแล้ว และไม่ได้รับการติดต่อ จาก ช. เรื่องที่จำเลยถูกฟ้อง เนื่องจาก ช. ไม่ทราบที่อยู่ใหม่ของจำเลย และจำเลยไม่ได้ไปที่ บ้านเดิมอีกเลย กรณีถือได้ว่าจำเลยมิได้จงใจ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา คำร้องของ จำเลยระบุว่า การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา เพราะจำเลยไม่เคยได้รับหมายเรียก และสำเนาคำฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์ รวมทั้งคำบังคับ เนื่องจากโจทก์นำไปส่งที่บ้าน ที่จำเลยขายไปแล้ว ถือได้ว่าคำขอของจำเลย แสดงเหตุแห่งการล่าช้าอันเนื่องมาจากพฤติการณ์ นอกเหนือที่จำเลยไม่อาจรู้ได้ ทำให้ไม่สามารถยื่น คำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งคำบังคับให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1297/2510 คำขอของจำเลยกล่าวว่า เพราะโจทก์ส่งหมายเรียกหมายนัดตลอดจนคำบังคับ ณ ที่ดินซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีมาแต่ต้น ถือได้ว่าคำขอของจำเลยได้แสดงเหตุแห่งการล่าช้าอันเนื่องมาจากพฤติการณ์นอกเหนือ ซึ่งจำเลยไม่อาจรู้ได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายใน 15 วันนับแต่วันส่งคำบังคับให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2547 คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยอ้างเหตุแห่งการขาดนัดว่าโจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 138 ไม่ได้เพราะบ้านของจำเลยรื้อถอนไปแล้ว โจทก์รู้หรือควรรู้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 168/11 โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำบังคับโดยประกาศหนังสือพิมพ์ จำเลยจึงไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีและไม่ได้จงใจขาดนัด เช่นนี้ แม้ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจะเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่จำเลยต้องบรรยายให้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์นั้นได้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ยื่นคำขอภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ได้สิ้นสุดลงหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม)
ส่วนข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลนั้นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างว่า หากจำเลยเข้าต่อสู้คดีแล้วจำเลยชนะโจทก์อย่างแน่แท้ และศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์ ผลของคำพิพากษาจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเพราะมูลหนี้ตามฟ้องไม่ใช่มูลหนี้ที่แท้จริง เป็นเพียงการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบมิใช่ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลเพราะมิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนใด ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบประการใด เพราะเหตุใด ทั้งเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า หากศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาใหม่แล้วศาลอาจพิจารณาให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม และเป็นผลให้จำเลยชนะคดีได้ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2595/2529 คำร้องขอพิจารณาใหม่กล่าวแต่เหตุที่จำเลยมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาไม่ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลเพื่อให้เห็นว่าหากมีการพิจารณาใหม่จำเลยเอาชนะคดีได้คำขอจำเลยไม่ชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา208วรรคท้ายศาลชอบที่จะยกคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2545 คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยบรรยายแต่เหตุที่จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และมีเฉพาะข้อความในช่วงท้ายเท่านั้นที่ระบุว่า หากจำเลยต่อสู้คดีเชื่อว่ายอดหนี้ที่กล่าวในคำบังคับต้องลดน้อยลงอย่างแน่นอน เพราะหากตรวจสอบอย่างดีแล้วจะพบดอกเบี้ยที่โจทก์คิดคำนวณไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้อ้างหรือแสดงเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด อย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่าศาลได้พิจารณาคดีใหม่จำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดี คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 จัตวา วรรคสอง
ศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง(3) ได้บัญญัติไว้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกของศาลแล้วไม่มาศาลตามกำหนดนัด ให้ศาลมีคำสั่งโดยไม่ชักช้าว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วให้ศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว อันเป็นวิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้นที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาในกรณีที่จำเลยไม่มาศาล กระบวนพิจารณาต่อจากนั้น จึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม(1) โดยอาศัยมาตรา 204 และมาตรา 206 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่มาศาลและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม(1) ไปเลย โดยไม่ได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2550 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 (เดิม) (ปัจจุบัน มาตรา 199 จัตวา, 207) คำขอให้พิจารณาใหม่ ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากาษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 ด้วยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2540 ซึ่งการส่งคำบังคับมีผลใช้ได้วันที่ 22 ธันวาคม 2540 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 1 มีนาคม 2544 จึงเป็นการล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ถูกคนร้ายยิงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2520 จนร่างกายพิการต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ตามวัดแถบภาคอีสานเป็นเวลาหลายปี จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและทราบว่าศาลออกคำบังคับแล้ว อันเป็นการอ้างเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่งคำบังคับเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวมาในคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่เท่าใด เพื่อให้ทราบว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับกำหนด 15 วัน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นได้ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าและเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้น คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2515 จำเลยซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณา และศาลพิพากษาให้แพ้คดี ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ในคำขอนั้นมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล เพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไร คงกล่าวแต่เพียงว่า ถ้าจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดี จำเลยก็มีโอกาสชนะคดีได้เท่านั้น คำขอเช่นนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 208 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลจะสั่งให้มีการพิจารณาใหม่ได้
ปัญหาที่ว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 208 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง โจทก์ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้
(วรรคสอง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 28/2515)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2510 จำเลยผู้ขาดนัดพิจารณายื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ครั้งแรกไม่ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและศาลสั่งยกคำขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นฉบับที่ 2 บรรยายแต่ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและขอให้ถือเหตุที่ได้ขาดนัดตามที่กล่าวในคำขอฉบับแรกเป็นส่วนประกอบของคำขอฉบับหลังได้ ไม่จำเป็นจะต้องบรรยายซ้ำอีก (อ้างฎีกาที่ 1472/2492)
จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ครั้งแรกอ้างเหตุไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ศาลสั่งยกคำขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดยทำให้ถูกต้องย่อมทำได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 (อ้างฎีกาที่1309/2494)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2536 ปัญหาว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้ การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(3) เป็นกรณีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(3) จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ครั้งหนึ่งแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง เพราะคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่มีข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องใหม่โดยทำให้ถูกต้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับให้จำเลย ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับไว้พิจารณา เดิมจำเลยมี ส. เป็นทนายความ ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 กรกฎาคม 2530 เวลา 9.00 น. แต่ตามวันเวลาดังกล่าวส.มีกิจธุระซึ่งส. เพิ่งทราบในคืนวันที่ 1 กรกฎาคม 2530ส. จึงแจ้งให้ ก. ทนายความสำนักงานเดียวกันทราบเมื่อวันที่2 กรกฎาคม 2530 เวลา 7.30 น. ขอให้ ก. ว่าความแทนและได้แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยแต่งตั้ง ก. เป็นทนายความ แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ก. ต้องว่าความในคดีอื่นซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว ก.จึงให้จำเลยไปรอที่บริเวณประชาสัมพันธ์ของศาลชั้นต้น ส่วน ก.ไปว่าความคดีอื่นก่อน จำเลยไม่ทราบว่าประชาสัมพันธ์ของศาลได้ประกาศเรียกคู่ความแล้ว จึงไม่ได้แถลงให้ศาลทราบ เมื่อ ก.ว่าความคดีอื่นเสร็จแล้วได้ไปที่ห้องพิจารณา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ดังนี้ จำเลยและทนายได้ไปศาลก่อนศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณา แต่เหตุที่ไม่เข้าไปในห้องพิจารณาคดีเพราะจำเลยไม่ทราบว่าได้มีการประกาศเรียกคู่ความแล้ว ส่วนทนายจำเลยก็ต้องว่าความคดีอื่นก่อน จำเลยจึงไม่จงใจขาดนัดพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2538 คำร้องขอพิจารณาใหม่ที่ยื่นมานั้นถ้าศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าเป็นคำร้องที่ไม่กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งสาเหตุที่ขาดนัดและข้อคัดค้านคำชี้ขาดตัดสินของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา208วรรคสองศาลก็มีอำนาจสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้และเมื่อมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียแล้วก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องให้แก่อีกฝ่ายเพื่อคัดค้านหรือไม่อีก จำเลยทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอพิจารณาใหม่ฉบับแรกแล้วได้ยื่นคำร้องฉบับที่2อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้คำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยสมบูรณ์ตามกฎหมายแม้คำร้องฉบับที่2จะต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันกับฉบับแรกก็ตามแต่จำเลยก็ต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนด15วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2559 จำเลยทั้งสองทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยเหตุว่าตามคำร้องมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โดยอธิบายเหตุแห่งการขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการที่ล่าช้า เพื่อให้คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง กรณีดังกล่าวมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสองสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับที่สองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 หรือคำร้องฉบับที่สอง แม้จะมีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรก และจำเลยทั้งสองใช้ชื่อคำร้องว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เพิ่มเติมก็ตาม แต่คำร้องฉบับที่สองก็คือคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั่นเอง และระยะเวลาการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง คือภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ หรือในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ค้นพบคำบังคับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 จึงถือว่าวันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำวันดังกล่าวมาใช้คำนวณระยะเวลา ดังนั้น เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง
คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง จะต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้ากว่ากำหนดตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอฉบับแรกวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งแต่เพียงเหตุที่จำเลยทั้งสองได้ขาดนัดยื่นคำให้การตามคำร้องขอข้อ 1 และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลว่าจำเลยทั้งสองมีทางชนะคดีโจทก์ตามคำร้องขอข้อ 2 เท่านั้น ส่วนเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้าจำเลยทั้งสองมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้นโดยมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันจะทำให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ศาลจึงไม่อาจไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองฉบับแรกได้จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยบรรยายชัดแจ้งซึ่งเหตุทั้งสามประการตามบทกฎหมายดังกล่าว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2547 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10870/2553 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าบ้านซึ่งโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น ไม่มีสภาพเป็นบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้ คงมีเพียงเสาบ้านเท่านั้นและจำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว จึงไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่เจ้าพนักงานศาลนำไปส่ง ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แม้จำเลยจะยื่นคำขอโดยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา ก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนว่าเป็นไปตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247