แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาวิแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาวิแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยาย เนติฯ* วิ.แพ่ง ภาค 1 อ.อำนาจ (ภาคปกติ) สัปดาห์ที่1 สมัยที่72



สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

 ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ* วิ.แพ่ง ภาค 1  สมัยที่72 

อ.อำนาจ พวงชมภู (ภาคปกติ) 26 พ.ย 62 สัปดาห์ที่1

----------------------------


                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2535 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยศาลอุทธรณ์จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องนั้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้นอย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์สั่งเพียงว่า "รวม" จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(1) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จไปแล้ว การที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยย่อมจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วหากต่อมาในชั้นพิจารณาและพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีก็พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 การบังคับคดีจะต้องเป็นไปตามคำพิพากษา รายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจดไว้ในวันทำคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์จำเลยและจำเลยร่วมนั้น แม้จะมีถ้อยคำที่แตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็ไม่มีผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าข้อความที่ศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอน จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2543 โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างและให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน อ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การก่อสร้างขยายท่าอากาศยานทำให้เกิดฝุ่นละออง ประชาชนและโจทก์ทั้งสิบหกสูดฝุ่นละอองทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง และมีผลต่อการระบายน้ำในหมู่บ้านทำให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพอนามัยและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหกดังนี้ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบหกได้รับอันตรายแก่ร่างกายสุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหกเสียหายด้วยประการใด ๆโจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 ได้ หรืออาจเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากรัฐในกรณีที่ได้รับความเสียหายอันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่ม สนับสนุนหรือดำเนินการโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) หรือหากเป็นกรณีจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์ทั้งสิบหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดีเสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบหก โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ หรือหากผู้ทำละเมิดทำละเมิดต่อเนื่องกันไม่ยอมหยุดโจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ทำละเมิดหยุดทำละเมิดเสียก็ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 420
                   การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานจึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานได้
                   เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกไม่อาจจะพิพากษาให้ได้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบหกเสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 131 (2) การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งสิบหกทั้งหมดจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2550 โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรีไม่ถูกต้องตรงกับความจริง ขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยชอบ และโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ปี 2502 ตลอดมาจนกระทั่งทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่ในทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรีก็ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินย่อมทำให้ที่ดินพิพาทมีได้เพียงสิทธิครอบครองซึ่งไม่อาจอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้เช่นเดียวกัน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิได้ย้อนกลับไปเป็นของ ป. หรือของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
                   เมื่อตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจพิพากษาให้ได้ ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ไม่ต้องรอให้จำเลยยื่นคำให้การหรือให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบเสียก่อน

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5071/2549 แม้ศาลจะยกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 ที่บัญญัติไว้ว่าให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงชื่อศาลที่พิพากษา ชื่อคู่ความทุกฝ่าย รายการแห่งคดี เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมก็ตาม แต่ในชั้นตรวจคำฟ้อง เมื่อปรากฏจากคำฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจจะพิพากษาให้ได้เช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 (จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่ใช่คู่สัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) แล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และการที่โจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งในคำฟ้องย่อมถือว่าทราบคำพิพากษาแล้วด้วย หาจำต้องสั่งรับฟ้องก่อนแล้วกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาและอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังก่อนดังที่โจทก์ฎีกาไม่
                   เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษายกฟ้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก แม้จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป


                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2553 ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2555 สัญญาเช่ามีคำมั่นว่าก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ข้อความดังกล่าวไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงยังไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า ซึ่งเมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไป ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น กรณีถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
                   ในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งรับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่าให้ยกเสีย ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่จำต้องสั่งรับฟ้องไว้ก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสีย



-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate