แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา วิ.อาญา ภาค3-4 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกา วิ.อาญา ภาค3-4 แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.อาญา ภาค3-4 อ.ธานีฯ (ภาคปกติ) 28 พ.ย 62 สมัยที่72


ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.อาญา ภาค3-4 สมัยที่72

อ.ธานีฯ (ภาคปกติ) 28 พ.ย 62  ครั้งที่1



-------------------------


       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2870/2524 คำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186  โดยต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ และเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545 ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะกรณีที่เหตุเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีของศาล ขณะที่ผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยอยู่ในภาวะถูกกดดันเป็นอย่างมาก การที่จำเลยกล่าวข้อความว่า "ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" และเมื่อ ผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังกล่าวต่ออีกว่า "ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" เป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้ง หาใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังไม่ จึงไม่เป็นหมิ่นประมาท
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แม้ศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8910/2549 คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยกับ ส. ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 264, 268, 180 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งโจทก์ได้ฟ้องแล้ว คดีนี้โจทก์นำการกระทำของจำเลยในคดีอาญาเรื่องก่อนมาฟ้องจำเลยอีก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งแตกต่างกัน แต่มูลคดีนี้ก็มาจากการกระทำอันเดียวกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2492 คดีอาญา ผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์มา แต่ตัวโจทก์ไม่มาและโจทก์ไม่ได้ร้องขอเลื่อนคดี ศาลได้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว อัยยการจะนำคดีมาฟ้องใหม่หาได้ไม่ เพราะในคดีก่อนศาลยกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีพะยานมาสืบ ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการพิพากษายกฟ้อง โดยโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้สมฟ้อง เป็นการพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธิฟ้องร้องได้ระงับสิ้นไปตาม ป.ม.วิ.อาญา มาตรา 39 (4)


        ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด การกระทำไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุที่ไม่ต้องรับโทษ ให้ศาลยกฟ้อง ข้อที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 185 แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น ศาลก็อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
         คำพิพากษาฎีกาที่ 11119/2558** การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้น และพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
        ศาลมีอำนาจพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนทั้งหมด การที่ศาลชั้นต้นสั่งคดี มีมูลแทนที่จะสั่งยกฟ้องโจทก์เสียในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นเพียงแต่ให้รับฟ้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น แต่ในชั้นพิจารณาเมื่อปรากฏจากพยานหลักฐานชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ ตาม มาตรา 185 (ฎ.644/36) และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 185 ได้ แม้จะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11119/2558 การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำนั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
        การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจาก เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่าโจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่ รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามที่เรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม


-----------------------------------

โจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรี
โจทก์ร่วม พันเอกสุรพล จันทราสา
จำเลย นางประทุม พระโพนดก กับพวก
ป.อ. แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต มาตรา 329 (1)
ป.วิ.อ. เหตุยกฟ้อง ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา พันเอกสุรพล ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326, 83 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยการบันทึกอักษร หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 919 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ด้านทิศตะวันออกติดที่ดินนางกิ่งแก้วด้านทิศใต้ติดลำห้วยสาธารณะ เมื่อปี 2533 ทางราชการได้ตัดถนนสายสระบุรี - ปากยาว ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้ที่ดินถูกแบ่งเป็นสองส่วน โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดลำห้วยสาธารณะเป็นที่ดินแปลงเล็กเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดิน ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2550 โจทก์ร่วม ได้ซื้อที่ดินของนางกิ่งแก้วซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงเล็กของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และเมื่อโจทก์ร่วมทราบว่ามีที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ร่วมที่ซื้อมาจากนางกิ่งแก้ว โจทก์ร่วมจึงติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมขาย ต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์ร่วมอ้างว่าได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางกิ่งแก้ว และถูกจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าไปรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมคัดค้านและฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์ร่วมคัดค้านการออกโฉนด
ที่ดินดังกล่าว และให้โจทก์ร่วมรื้อถอนรั้วและปรับที่ดินให้มีสภาพคงเดิม กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

        คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ตามวันเวลาที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเขียนและส่งข้อความลงชื่ออินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บบอร์ดสำนักงานเลขานุการกองบัญชาการทหารสูงสุด ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน เว็บไซต์โทรโข่ง (torakhong.org) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน
เว็บไซต์ 1111.go.th ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน และเว็บไซต์แคร์แดด (caredad.net) ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ลงข้อความทำนองว่าโจทก์ร่วมใช้อิทธิพลข่มขู่ให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดิน ทำให้จำเลยทั้งสามเดือดร้อนเกรงกลัวต่ออิทธิพลของโจทก์ร่วม มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรก
ตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นมาวินิจฉัย เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำนั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ร่วม ฟังไม่ขึ้น

        มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความอันเป็นการใส่ความโจทก์ในเว็บไซต์ตามฟ้อง เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้น วินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาท โจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วมเป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่า โจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามที่เรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ได้วินิจฉัยโดยละเอียดและแสดงเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

(พิทักษ์ คงจันทร์ - สรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย - ฐานันท์ วรรณโกวิท)

ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ - ย่อ/ตรวจ


       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2550 ฎีกาของจำเลยไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา โดยเหตุที่ฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามคำนิยามในมาตรา 1 (3) แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา ฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 158 (7) ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 แห่ง ป.วิ.อ.
 -----------------------------


แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 (กลุ่ม วิ.แพ่ง-วิ.อาญา) อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งรายข้อ ท่องพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียดที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate