แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาฎีกาเด่น แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาฎีกาเด่น แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท

คำพิพากษาฎีกาที่ 642/2559

            คำพิพากษาฎีกาที่ 642/2559 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556 การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558 สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
           ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา

ฎีกาที่ 3839/2560 - พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 มาตรา 25 (4)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3839/2560 "... คำขอบังคับส่วนนี้ มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขาย รวมราคาซื้อขายเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดี จึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)"


วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุ ป.อ. มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท ดังกล่าวรวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ฎีกาคดีจัดการมรดก กับ คดีมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558)

คดีจัดการมรดก กับ คดีมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558 คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
         ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น ถอดไฟล์เสียง สัมมนาวิ.แพ่ง (ภาคค่ำ) อ.อดุลย์ ขันทอง วันที่ 22 พ.ย 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70

ฎีกาเด่น ถอดไฟล์เสียง สัมมนาวิ.แพ่ง (ภาคค่ำ) อ.อดุลย์ ขันทอง 
วันที่ 22 พ.ย 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70
.............................


           ในคดีแพ่ง ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2539 ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและยกขึ้นอุทธรณ์แล้วแต่เมื่อผู้ร้องสอดมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และเมื่อผู้ร้องสอดฎีกาปัญหานี้อีกจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

            ในคดีอาญาปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชาและฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี โดยปรับบทว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานพยายามส่งออก ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยยังคงให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชา และฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี แต่ปรับบท เป็นว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานนำเข้า ให้ลงโทษฐานนำเข้าอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือนำยางกัญชา ของกลางจำนวนเดียวกันจากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินเพื่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยจำเลยครอบครองยางกัญชาจำนวนดังกล่าวต่อเนื่องกันจนกระทั่งถูกจับการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมียางกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าและพยายามส่งออกยางกัญชาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2539 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ก. จำเลยมียางกัญชา จำนวน 15 แท่ง น้ำหนัก 4,974 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข.จำเลย นำยางกัญชาตามข้อ ก. จากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบิน และ ค. หลังจากนั้น จำเลยส่งยางกัญชาซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ ก. และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามข้อ ข. ออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/2 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า "ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง..." เมื่อประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2551 จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59, 60 และ 65 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบ ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ตลอดทั้งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
      พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/5 วรรคสอง บัญญัติว่า "...หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้..." แสดงว่ากฎหมายกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้ง ส่วนการแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขในการเข้าปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ หากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ

ฎีกา 5 ดาว ถอดคำบรรยายเนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ) วันที่ 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70

ฎีกา 5 ดาว ถอดคำบรรยายเนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ)
วันที่ 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70
--------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2551 (อ.เน้นออกสอบ) จำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาต่อไป แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 255 (1) (ข) จึงนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1)

.


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

ฎีกาการเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551 การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกวงแชร์ที่ ป. เป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ มีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกันด้วยหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับ ป. ที่เป็นนายวงแชร์ เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลและ ป. นายวงแชร์หลบหนีไป สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พ.ร.บ.การเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552  พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปี 2556

 คำพิพากษาฎีกาเด่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปี 2556
------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2556 
โจทก์เป็นผู้ผลิตและขายหนังสือพิมพ์จีน จำเลยประกอบกิจการการบินขนส่งผู้โดยสารด้วยเครื่องบินโดยสาร จำเลยมีจดหมายขอสั่งซื้อหนังสือพิมพ์จีนจากโจทก์เพื่อให้การบริการด้านข่าว สารแก่ผู้โดยสาร โจทก์เริ่มส่งหนังสือพิมพ์แก่จำเลยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2548 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ทุกวันสิ้นเดือนเพื่อเรียกเก็บเงินค่าหนังสือ พิมพ์ของเดือนนั้น ๆ รวม 550,774.80 บาท ต่อมาจำเลยได้ออกตั๋วโดยสารเครื่องบินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์รวม 37 ฉบับ คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ 446,814.80 บาท คดีนี้ เอกสารที่เกี่ยวกับข้อตกลงการซื้อขายหนังสือพิมพ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ ปรากฏว่าได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้กันไว้อย่างไรนับแต่วันแจ้งหนี้ (วางบิล) แต่จำเลยให้การต่อสู้ว่าอายุความฟ้องคดีนี้เริ่มนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งพนักงานบัญชีของโจทก์เป็นพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านก็ยอมรับตาม นั้น จึงถือว่าโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป การประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศด้วยอากาศยานของจำเลย เป็นธุรกิจบริการที่สาระสำคัญอยู่ที่การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ คือ ไม่เพียงแต่ต้องตรงเวลา ปลอดภัย และสะดวกเป็นหลักเท่านั้น แต่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการด้านอื่น ๆ ของผู้โดยสารให้ได้มากที่สุดด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ในการแข่ง ขันกับสายการบินอื่น ๆ และเพื่อที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกในครั้งต่อไป ซึ่งการให้การบริการแก่ผู้โดยสารในด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างทำการบินหรือ ระหว่างรอรับบริการ เช่นด้วยหนังสือพิมพ์ก็ต้องนับว่าเป็นไปเพื่อการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ โดยสารที่กำลังใช้บริการของจำเลยด้วยไม่มากก็น้อย ทั้งตามถ้อยคำในกฎหมายมิได้แสดงนัยไว้ว่ากิจการของฝ่ายลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทำ ให้นั้นต้องเป็นกิจการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้วย ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2556 
การพักงานที่เป็นโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยต้องเป็นการ พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง การที่จำเลยพักงานโจทก์ 7 วัน และหักค่าจ้างโจทก์ไว้ร้อยละ 50 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรอการสอบสวนหาข้อเท็จจริงการกระทำผิดของโจทก์จึงไม่ใช่ การลงโทษทางวินัย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่าพนักงานต้องไม่ทำการทะเลาะวิวาทหรือใช้ กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกันในบริเวณบริษัท เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์ทำร้ายร่างกาย พ. ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยชกที่ใบหน้า ปาก และศีรษะ แสดงว่าโจทก์ไม่มีความยำเกรงต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2556 
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ย.636/2544 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรียึดที่ดิน 4 แปลง ที่จังหวัดชลบุรี ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาด ศาลอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดิน มีการประกาศกำหนดวันขายทอดตลาด 3 ครั้ง ตามประกาศขายทอดตลาดโดยยึดถือประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องนโยบายการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการขายทอดตลาดครั้งแรกกำหนดราคาเริ่มต้นร้อยละ 80 ของราคาประเมิน ขายแยกแปลง กำหนดไว้แปลงละ 440,000 บาท มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์และ ส. เข้าร่วมประมูลสู้ราคา ส. ให้ราคาสูงสุดแปลงละ 2,500,000 บาท ผู้แทนจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว คัดค้านอ้างว่าราคาต่ำไป จึงงดการขาย ครั้งที่สองกำหนดราคาแปลงละ 2,500,000 บาท ไม่มีผู้ใดเข้าสู้ราคาจึงงดการขาย ก่อนกำหนดขายทอดตลาดครั้งที่สามมีประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องนโยบายการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการขายทอดตลาดครั้งที่สามเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาเริ่มต้นร้อยละ 50 ของราคาประเมิน มีผู้แทนโจทก์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวเสนอราคาแปลงละ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาด หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือให้โจทก์ดำเนินการรับโอนที่ดินทั้งสี่ แปลง ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอด ตลาดต่อศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ยื่นคำขอรับเงินค่าซื้อที่ดินคืนและขอค่าเสียหาย ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้คืนเงินที่ซื้อแก่โจทก์ แต่ยกคำร้องในส่วนค่าเสียหาย ซึ่งโจทก์ได้รับคืนเงินค่าซื้อที่ดินแล้ว ฎีกาโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เพียงใด เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปตามประกาศของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนโยบายการขายทอดตลาดทั้ง 2 ฉบับ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงเคาะไม้ให้โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้เมื่อโจทก์ วางเงินค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีจด ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ หากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้ โจทก์ก็สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินและขอรับเงินจากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ ตามคำพิพากษาได้ แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับ คดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว เมื่อลูกหนี้เดิมซึ่งถูกยึดทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดซึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยวินิจฉัยว่า ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการตี ความประกาศของกรมบังคับคดีจนเป็นผลเสียแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้า พนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิด กฎหมายให้โจทก์เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่อย่างใด หลังจากโจทก์ประมูลซื้อทรัพย์สินได้ วันดังกล่าวโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี มีเงื่อนไขให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งในข้อ 5 ของสัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าหากศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีนี้ได้ชี้ ขาดลงต่อมาภายหลังว่าที่ดินนั้นไม่ใช่ของจำเลยหรือเพราะเหตุอื่น ๆ ก็ดี อันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ สัญญาซื้อขายนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินที่ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) ได้ชำระไว้ ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) จะไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด อันมีผลให้โจทก์ผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน 4 แปลงนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อีก ทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่โจทก์จัดทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแบบ พิมพ์ที่ผู้ซื้อทุกรายจะต้องทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช่ลูกหนี้ของโจทก์ ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถวางข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดใน เรื่องดอกเบี้ยและค่าเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นไว้ในหนังสือสัญญาซื้อขายนี้ ได้ กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 ตามที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด หนังสือสัญญาซื้อขายจึงไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องแก่โจทก์ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการโอนได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2556 
การฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่ฝ่ายโจทก์ หาได้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองซึ่งฟ้องแย้งด้วยไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2556 
โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบลในตำแหน่งนัก วิชาการศึกษา ระดับ 3 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 ประกอบมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และกฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2538) ข้อ 2 ประกอบมติคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้มีความผูกพันกัน ตามกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญา จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ จำเลยเข้ารับราชการเป็นพนักงานของโจทก์และปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายตลอดมา การที่โจทก์จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นการให้เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานของจำเลยในฐานะที่ เป็นพนักงานของโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้รับผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็น พนักงานของโจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครนายกจะตรวจสอบพบว่าจำเลยเป็น ผู้ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความประสงค์ ของโจทก์ในการรับบุคคลเข้ารับราชการอันเป็นเหตุให้โจทก์เลิกจ้างหรือให้ จำเลยพ้นจากราชการได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมี สิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์คืนจากจำเลย ไม่ เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้ รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2556 
แม้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้จำเลย แต่ตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เมื่อสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงจำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างหรือ ประโยชน์อื่นใดแก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์มีต่อจำเลย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยก่อน สัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556
จำเลย ที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถ จักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนาย จ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคน ไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มี ผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะ เวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15171/2556 
ส. นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 ที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษา จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานการศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 (1) (2) และ (3) แม้เครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจะมิใช่ทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ยืมมาใช้ในราชการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 644 การที่จำเลยที่ 4 ปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 4 ยืมเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุมาใช้ราชการ แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13687/2556 
สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10 ที่ ค. ผู้ตายค้ำประกันบริษัท ล. จำกัด ผู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารจำเลย ระบุว่า ข้อ 2 ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 4 ในกรณีที่ผู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดนัด ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะต่อสู้ให้ธนาคารบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิด ถ้าธนาคารมิได้รับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยินยอมชำระหนี้ที่ค้างโดยพลันถึงแม้การดำเนินการเช่นนั้นธนาคารจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก่อนก็ตาม และถึงแม้จะมิได้เรียกร้องหรือฟ้องร้องผู้ค้ำประกันร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชี ดังนี้ ผู้ตายเป็นเจ้าหนี้จำเลยในเงินฝากประจำ 3 เดือน และจำเลยเป็นหนี้ผู้ตายตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งผู้ตายและจำเลยต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระ เมื่อผู้ค้ำประกันตายความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ระงับสิ้นไป ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยวิธีหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยมีสิทธินำเงินฝากของผู้ตายหักชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13298/2556 
พยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งนำน้ำมันเตาตามใบส่งของไปให้แก่บริษัท ท. จากการกระทำทุจริตของคนขับรถของจำเลยที่ 1 และโดยที่สัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในการกระทำของคนขับรถ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และเมื่อคดีฟังได้ว่าเป็นกรณีที่มีการทุจริตกันจึงเข้าข้อยกเว้นของบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 624 ซึ่งไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความการฟ้องเรียกร้องตามข้อยกเว้นดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 ประกอบมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13215/2556
เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระและไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำหนดโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงเป็นอันเลิกกัน การที่กรรมการโจทก์มีหนังสือแจ้ง น. ภายหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วมีใจความว่า ตามที่ น. แจ้งความประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 485/10 โฉนดที่ดินเลขที่ 424 ตำบลคลองถนน อำเภอสายไหม กรุงเทพมหานคร ในโครงการสะพานใหม่วิลล์นั้น โจทก์ตกลงจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ น. ในราคา 1,040,000 บาท หาก น. พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เท่านั้น หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำสนองรับคำเสนอของ น. แต่เป็นคำสนองที่มีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอบางส่วนของ น. ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 359 วรรคสอง น. ไม่สนองรับคำเสนอดังกล่าวโดยการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด คำเสนอของโจทก์ย่อมสิ้นผลไป ไม่ก่อให้เกิดข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างโจทก์กับ น. กรณีมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13140/2556 
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่ไม่ตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ของ บ. ตามหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่ ขก 0010/022 ลงวันที่ 22 เมษายน 2547 อันมีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของ บ. เป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 14 คนได้พ้นสภาพจากการเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ไปด้วย คณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือจึงยังมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือทั้งสิบสี่คนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ มอบอำนาจให้ บ. และหรือ ส. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ จึงเป็นเสียงข้างมากตามบทบัญญัติมาตรา 71 แห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าว หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11096/2556
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด การขาย และลูกค้าสัมพันธ์ ในเวลาเดียวกันโจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท อ. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันและมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 บริษัท อ. ย่อมต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย โจทก์กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งเสริมการค้าขายของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์กระทำการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 2 ให้การว่า กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 (ค่าผ่อนบ้านและที่ดินกับค่าเช่าซื้อรถ) ไม่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้าน จึงไม่มีปัญหาว่าคดีในส่วนนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่ การที่โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556 
ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2556 
ระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสมกำหนดว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างนำเงินในส่วนของตนเข้าสมทบในกองทุนเงินสะสม ลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนเงินสะสมก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสม การที่จำเลยจัดตั้งกองทุนสะสมจึงเป็นการก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยกับลูกจ้าง โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินสะสมโดยอาศัยสิทธิที่โจทก์เป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสมไม่ใช่การใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10045/2556 
หลังจากโจทก์ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จ. ลูกจ้างของโจทก์ยังคงปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานขับรถและได้รับค่าจ้างอัตราเดิมต่อเนื่องตลอดมาโดยเป็นลูกจ้างของ อ. ซึ่งเคยเป็นกรรมการของโจทก์ กรณีเป็นการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างจากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลมาเป็น อ. ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่โจทก์เลิกจ้าง จ.



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556
ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่ มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ใน ขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริง ลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2556 
บริษัท ย. มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง เป็นกรณีจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัท ย. ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์แทนบริษัท ย. ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556 
สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2556 
โจทก์ ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินส่วนต่างของราคาที่เกินไป อันสืบเนื่องมาจากที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายมิได้ส่งมอบรถให้ตรงตามรุ่นตามความ ประสงค์ของผู้ซื้อโดยมีผลต่างราคากันอยู่เป็นเงิน 94,000 บาท กรณีดังกล่าวย่อมไม่ถือว่าเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปดังกล่าวเป็นเงินที่ จำเลยได้มาเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย ได้ อันจะถือได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ตกแก่จำเลยซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียก ร้องเอาเงินคืนจากจำเลยเสียภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 และกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่ บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉล ไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริม ทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้ จากการพิจารณาคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19491/2556
โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โดยตกลงว่าหาก ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โจทก์ยินยอมให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างหักเงินได้ส่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. เพื่อชำระหนี้แทน ส. เมื่อ ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงหักค่าจ้างของโจทก์ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556 
โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดินซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18346/2556 
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการที่ ห. กับ ส. สมคบกันโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ และขอให้เพิกถอนสัญญาระหว่าง ห. กับ ส. และจำเลยเสีย คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เพราะโจทก์มีคำขอ ให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย หาใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใดที่ทำขึ้นอันเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องขอเรียกทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18343/2556 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท แต่ยกข้อต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อโจทก์จึงตกแก่จำเลยผู้สั่งจ่าย