แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายแพ่ง หนี้ มรดก ที่ดิน เพิกถอนการโอน

 

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายแพ่ง 

เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี ๒๕๖๗ -๒๕๖๘)


ประเด็นปัญหา "ผู้ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนการโอนได้อย่างไร"

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๑/๒๕๑๙ โจทก์เป็นบุตรของ ร. ซึ่งเกิดจาก ส. มารดา ก่อน ส. ถึงแก่กรรม ส. ได้ทําพินัยกรรมยกที่พิพาทให้ ร. และโจทก์ โดยระบุให้ ร. เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมา ร. สมรสกับจำเลย และ ร. ได้ลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไว้ ในฐานะผู้จัดการมรดก ก่อน ร. ถึงแก่กรรม ร. ไม่ได้ทําสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกับโจทก์ เพียงแต่ได้ทําหนังสือแสดงเจตนาว่าจะแบ่งทรัพย์ของตนให้แก่บุตร และให้โจทก์ลงชื่อไว้ในหนังสือนั้นด้วยเท่านั้น แล้ว ร. ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาส่วนของตนคืนได้เสมอ โดยไม่มีอายุความฟ้องร้อง เว้นแต่กรณี จะต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๓ ฟ้องของโจทก์ มิใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗ และมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก

 

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๙๐/๒๕๓๘ ต. ทําสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาท และทําสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ แม้ ต่อมา ต. ให้จำเลยร่วมที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมที่ ๒ และจำเลยร่วมที่ ๒ โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โดยรู้อยู่แล้วว่า ต. ได้ทําสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ แต่จำเลยร่วมที่ ๑ ไม่ใช่ลูกหนี้ของจำเลยที่ ๒ เพราะจำเลยร่วมที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ ๒ ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ วรรคแรกได้

ต. ทําสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ต. เพียงแต่ทําสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับ จำเลยร่วมที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลยร่วมที่ ๑ ทั้งมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จำเลยร่วมที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๒ ได้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยร่วมที่ ๑ กับจำเลยร่วมที่ ๒ ได้

 

สรุป ทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่บุคคลหนึ่งเอาที่ดินไปโอนให้แก่บุคคลภายนอก มีปัญหาว่าผู้ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนการโอนได้อย่างไร

 ปัญหานี้มีหลักกฎหมายที่อาจนํามาพิจารณาได้ ๓ ลักษณะ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ เรื่องผู้มีสิทธิจดทะเบียนได้ก่อน มาตรา ๑๓๓๖ เรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืน และมาตรา ๒๓๗ เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลต้องเข้าให้ถูกว่าเป็นมาตราใดจึงจะตอบถูก

          ที่คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าววินิจฉัยว่ากรณีนี้ไม่เข้ามาตรา ๒๓๗ แสดงว่าเป็น กรณีที่ไม่ใช่หนี้หรือไม่มีหนี้ผูกพันจึงไม่นํามาตรา ๒๓๗ ซึ่งอยู่ในบทบัญญัติบรรพ ๒ ว่าด้วยหนี้มาใช้บังคับเพื่อเพิกถอนการฉ้อฉลไม่ได้


วิเคราะห์แนวการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแพ่ง ⭐

 กฎหมายแพ่งมีประเด็นที่เริ่มเรื่องมา ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ธงคำตอบ มักจะออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         ข้อสังเกต "เป็นกรณีที่ท่านอาจารย์ให้ ข้อคิดว่า เพื่อให้มีความเข้าใจว่ากรณีตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ เป็นเรื่องหนี้หรือไม่ และให้สามารถนํากฎหมายมาใช้ในการวินิจฉัยได้ถูกต้องตรงตามเรื่องที่พิพาทกัน"

 


อ้างอิง คำบรรยายเนติฯ วิชา หนี้ อ.ไพโรจน์ วายุภาพ สมัยที่ ๗๗



เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายแพ่ง หนี้ มรดก

          


เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

  กฎหมายกฎหมายแพ่ง หนี้ มรดก (สอบ ปี 2567 -2568)



                     คำถาม  หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้กู้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ผู้ให้กู้จะฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันได้ทันทีหรือไม่

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ


เจาะหลักการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา  ⭐ ⭐ ⭐ ⭐ ⭐

 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้

2.  ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย 

3.  แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับเจ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม  💥💥

4.  เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย 

5. ดังนั้น หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว เจ้าหนี้จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ



 

https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam



"ทำแบบเดิมๆ อ่านแบบเดิมๆ ยังสอบไม่ได้ หรือเกือบได้ ต้องหาวิธีปรับวิธีใหม่"