แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เนติบัณฑิต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เนติบัณฑิต แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิแพ่ง ภาคสอง สมัยที่ 64

 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ในการสอบภาคสอง  สมัยที่  64  ปีการศึกษา  2554
วันอาทิตย์ที่  25  มีนาคม  2555
     
--------------------------

ข้อ  1.  โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง  ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท  ศาลแพ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องหมายเรียก  ให้ส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยภายใน  7  วัน  ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน  7  วัน  นับแต่วันส่งไม่ได้  หากไม่แถลงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง  วันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่  24  ธันวาคม  2554  เจ้าพนักงานศาลนำส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยโดยภริยาของจำเลยอายุ  21  ปี  และอยู่บ้านเดียวกันเป็นผู้รับ  ต่อมาวันที่  26  มกราคม  2555  จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลแพ่งสั่งรับคำให้การของจำเลย  นัดชี้สองสถาน  วันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องว่า  ศาลสั่งรับคำให้การของจำเลยไม่ชอบ  ทำให้เพิกถอนคำสั่ง  ถัดมาอีก  2  วัน  จำเลยจึงยื่นคำร้องว่าการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยในวันหยุดราชการไม่ชอบ  ขอให้ส่งใหม่

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งวินิจฉัยตามคำร้องของโจทก์และจำเลยอย่างไร

ธงคำตอบ
                การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด  โดยเจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  74  นั้น  มิได้กำหนดห้ามส่งในวันหยุดราชการ  ดังนั้น  การส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยในวันเสาร์  ซึ่งเป็นวันหยุดราชการจึงชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  3501/2545)  และตามมาตรา  76  วรรคหนึ่ง  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้คู่ความ  เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความ  หากได้ส่งให้แก่บุคคลใดๆ  ที่มีอายุเกินยี่สิบปี  ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือน  หรือสำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความ  ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ตามข้อเท็จจริงการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยโดยภริยาของจำเลยซึ่งอายุเกินยี่สิบปี  และอยู่ในบ้านเดียวกันเป็นผู้รับจึงชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  4293/2547)
                ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำให้การได้ภายใน  15  วัน  นับแต่วันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง  ปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่  24  ธันวาคม  2554  แต่ยื่นคำให้การเมื่อวันที่  26  มกราคม  2555  พ้นกำหนดระยะเวลา  15  วันแล้ว  ศาลแพ่งสั่งรับคำให้การของจำเลยไว้จึงไม่ชอบเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม  มาตรา  27
                ศาลแพ่งต้องสั่งตามคำร้องของโจทก์ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยและสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องใหม่

ข้อ  2.  นายศุกร์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์เป็นจำเลยที่  1  นายอาทิตย์เป็นจำเลยที่  2  อ้างว่า  จำเลยที่  1  ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่  2  ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่  2  โดยประมาทเลินเล่อ  ชนรถยนต์โจทก์เสียหาย  ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน  400,000  บาท  จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า  เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่  1  พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์  คดีถึงที่สุด  นายอาทิตย์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว  ต่อมานายอาทิตย์ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์เป็นจำเลยขอให้ชดใช้เงินที่นายอาทิตย์ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่นายศุกร์  นายเสาร์ให้การว่า  ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ  คำพิพากษาคดีก่อนไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยคดีนี้  และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ยกฟ้อง

                ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ทั้งสองข้อฟังขึ้นหรือไม่
             
ธงคำตอบ
                กรณีฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  148  นั้น  เป็นเรื่องที่ห้ามมิให้คู่ความซึ่งฟ้องร้องกัน  และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วกลับมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  เมื่อนายเสาร์และนายอาทิตย์ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน  เป็นแต่เคยถูกนายศุกร์ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนเท่านั้น  ดังนั้น  การที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์ในคดีหลังกรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจักต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ฟังไม่ขึ้น
                ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ที่ว่า  ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้น  คดีก่อนที่นายศุกร์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์และนายอาทิตย์เป็นจำเลย  แม้นายเสาร์และนายอาทิตย์จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม  ก็ต้องถือว่านายเสาร์และนายอาทิตย์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย  คำพิพากษาคดีก่อนจึงมีผลผูกพันนายเสาร์และนายอาทิตย์ในคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  145  วรรคหนึ่ง  เมื่อศาลในคดีก่อนวินิจฉัยว่า  เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายเสาร์  ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่านายเสาร์กระทำละเมิดโดยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ  (คำพิพากษาฎีกาที่  3954/2536, 9035/2538)  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ข้อ  3.  โจทก์ฟ้องว่า  โจทก์เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนางแดงมารดาตามคำสั่งศาล  นางแดงมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  จำเลยที่  1  บุตรอีกคนหนึ่งของนางแดงได้แจ้งความเท็จว่า  น.ส.3  เลขที่  305  สูญหายไปและจำเลยที่  1  ได้รับมอบอำนาจจากนางแดงให้ไปดำเนินการขอออกใบแทน  เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงได้ออกใบแทนให้  แล้วจำเลยที่  1  จดทะเบียนโอนขายที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  ดังกล่าวแก่จำเลยที่  2  โดยอ้างว่า  ได้รับมอบอำนาจให้ขายจากนางแดงซึ่งเป็นความเท็จ  ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายดังกล่าวออกจากรายการจดทะเบียนใน  น.ส.3  และให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวยังเป็นทรัพย์มรดกของนางแดงเพื่อโจทก์จะได้นำไปแบ่งปันกันในระหว่างทายาท  จำเลยทั้งสองให้การว่า  นางแดงได้มอบอำนาจให้จำเลยที่  1  ไปดำเนินการขอออกใบแทนและให้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่  2  จำเลยที่  2  จึงรับโอนมาโดยชอบที่ดินพิพาทย่อมมิใช่ทรัพย์มรดกของนางแดงอีกต่อไป  ก่อนตายนางแดงมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  อันเป็นทรัพย์มรดก  แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งให้จำเลยที่  1  ข้อให้ยกฟ้อง  และฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งปันที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  ให้แก่จำเลยที่  1  จำนวนหนึ่งในสองส่วน  ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา

                ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาชอบหรือไม่
             
ธงคำตอบ
                จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของนางแดงซึ่งตกทอดแก่ทายาทอันได้แก่โจทก์และจำเลยที่  1  แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งให้จำเลยที่  1  ขอให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางแดงแบ่งปันที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่  1  จำนวนหนึ่งในสองส่วน  ดังนี้  เป็นกรณีจำเลยที่  1  โต้แย้งสิทธิกับโจทก์  จำเลยที่  2  มิได้มีสิทธิทางแพ่งโต้แย้งกับโจทก์แต่อย่างใด  จำเลยที่  2  จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง  ฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  2  จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม  ไม่อาจพิจารณารวมไปกับฟ้องเดิมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคสาม  และมาตรา  179  วรรคสาม  (คำพิพากษาฎีกาที่  1644/2549)  ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  2  ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ
                สำหรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  นั้น  แม้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางแดงผู้ตายจะฟ้องเรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  ที่โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของนางแดงคืนจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท  โดยมิได้ฟ้องเรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  มาด้วยก็ตาม  แต่ฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  ที่เรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  จากโจทก์จำนวนหนึ่งในสองส่วนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางแดงเช่นเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องนั่นเอง  ฟ้องแย้งของจำเลยที่  1  ในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมและเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคสาม  และ  มาตรา  179  วรรคสาม  (คำพิพากษาฎีกาที่  1644/2549)  ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

ข้อ  4.  คดีแพ่งสามัญเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้  จำเลยที่  1  และที่  2  ให้การต่อสู้คดี  ส่วนจำเลยที่  3  ต้องยื่นคำให้การภายในวันที่  8  กุมภาพันธ์  2555  แต่ไม่ยื่น  ต่อมาวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  อันเป็นวันสืบพยาน  โจทก์และจำเลยทั้งสามมาศาล  จำเลยทั้งสามแถลงรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  คู่ความแถลงขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจากัน  ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาวันที่  20  มีนาคม  2555  ถึงวันนัด  โจทก์แถลงว่าไม่สามารถตกลงกันได้  ขอให้ศาลพิพากษาคดี  จำเลยที่  3  แถลงประสงค์จะต่อสู้คดี  ขออนุญาตยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่  3  ยื่นคำให้การ  และมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในเวลา  15  วัน  นับแต่ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้สิ้นสุดลง  จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่  3  ออกจากสารบบความ  และมีคำพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันชำระเงินตามฟ้อง

                โจทก์อุทธรณ์ว่า  ในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  จำเลยที่  3  มาศาลและแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้ตามฟ้องจริง  ศาลชั้นต้นจดคำแถลงของจำเลยที่  3  ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่  3  ได้ลงชื่อไว้ด้วย  ถือว่าจำเลยที่  3  ยื่นคำให้การแล้ว  ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีได้  โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด  การที่ศาลชั้นต้นเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาวันอื่นย่อมไม่ทำให้โจทก์ต้องมีหน้าที่ยื่นคำขออีก  หรือมิฉะนั้น  ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ก่อนว่าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่  3  ยื่นคำให้การโดยมิได้ไต่สวน  และมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่  3  จึงไม่ชอบ
                ให้วินิจฉัยว่า  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
                คำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  67  ว่าให้ทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลและมีรายการต่างๆ  ตามที่ระบุไว้  แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกคำแถลงของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่  3  ได้ลงชื่อไว้ก็ไม่ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่  3  เมื่อจำเลยที่  3  ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด  ถือว่าจำเลยที่  3  ขาดนัดยื่นคำให้การและโจทก์ต้องมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในเวลา  15  วันนับแต่ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้สิ้นสุดลง  แม้จำเลยที่  3  มาศาลก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง  แต่เมื่อศาลมิได้พิพากษาคดีในวันนั้น  ย่อมไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องยื่นคำขอดังกล่าว  เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือตามมาตรา  198  วรรคสอง  (คำพิพากษาฎีกาที่  911/2548)
                กรณีที่จำเลยที่  3  ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หากประสงค์จะต่อสู้คดีต้องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกที่มาศาล  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  วรรคหนึ่ง  แต่จำเลยที่  3  มาศาลครั้งแรกเมื่อวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  จำเลยที่  3  แถลงต่อศาลยอมรับว่าเป็นหนี้ตามฟ้อง  และมาศาลครั้งที่สองวันที่  20  มีนาคม  2555  จึงแถลงต่อศาลว่าประสงค์จะต่อสู้คดี  เห็นได้ว่าจำเลยที่  3  มิได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกที่มาศาลจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา  199  วรรคหนึ่ง  ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวนก่อนว่าจงใจขาดยื่นคำให้การหรือไม่  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ข้อ  5.  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยออกเช็คจำนวนเงิน  190,000  บาท  ชำระหนี้ค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่โจทก์  แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย  จำเลยให้การว่า  โจทก์หลอกลวงทำบิลรับของมาให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้  โดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าดังกล่าวจากโจทก์  เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้  และโจทก์เคยฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ศาลพิพากษายกฟ้อง  ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ  ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ  แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าจากโจทก์  เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  จำเลยฎีกาว่า  โจทก์จัดส่งอุปกรณ์ก่อสร้างไม่ครบถ้วนและมีความชำรุดบกพร่อง  โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง  กับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า  ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำโดยบรรยายรายละเอียดแห่งการเป็นฟ้องซ้ำมาด้วย

                ให้วินิจฉัยว่า  จำเลยจะฎีกาปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์  โจทก์หลอกลวงทำบิลรับของมาให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าตามฟ้องจากโจทก์  มิได้ให้การต่อสู้ว่า  โจทก์ส่งสินค้าให้จำเลยไม่ครบถ้วนและสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2628/2545)  แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม  ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาให้ได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  755/2545)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาดังกล่าวไม่ได้
                ฎีกาของจำเลยที่ว่า  ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำนั้น  จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว  แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ  จำเลยกลับมิได้อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้  เท่ากับจำเลยไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์โต้แย้งปัญหาดังกล่าวอีกต่อไป  ศาลอุทธรณ์จึงมิได้วินิจฉัย  การที่จำเลยหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาต่อมา  จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบให้ศาลอุทธรณ์  ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (คำพิพากษาฎีกาที่  8491/2553,  8414/2552)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้เช่นกัน

ข้อ  6.  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  ขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง  จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วเงินสัญญาใช้เงินที่โจทก์แอบถอนไปจำนวน  1,000,000  บาท  ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  เพราะเป็นเงินที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา  ต่อมาในระหว่างพิจารณา  จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์โดยขอให้ศาลสั่งโจทก์นำเงินจำนวน  500,000  บาท  มาวางศาล  โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า  เงินจำนวน  1,000,000  บาท  เป็นเงินของบุคคลภายนอกที่ฝากโจทก์ไว้  และโจทก์เบิกถอนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว  ขอให้ยกคำร้อง  ศาลทำการไต่สวน  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เงินจำนวน  1,000,000 บาท  ที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น  มีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินในนามของจำเลย  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ได้ถอนเงินจำนวน  1,000,000  บาท  ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไป

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร

ธงคำตอบ
                การขอคุ้มครองประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  ต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับการคุ้มครองในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  กรณีตามปัญหา  จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000,000  บาท  ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  โดยอ้างว่าเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา  จึงถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันตามฟ้องแย้งของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาได้  และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนว่าโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และเงินจำนวน  1,000,000  บาท  นั้น  ได้มีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ในนามของจำเลย  ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อโจทก์  และโจทก์ได้เบิกถอนเงินจำนวน  1,000,000 บาท  ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไป  ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว  และหากที่สุดศาลพิพากษาให้โจทก์แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  ตามฟ้องแย้ง  จำเลยก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ตามคำร้องของจำเลย  กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตามมาตรา  264  ดังนั้น  ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินจำนวน  500,000  บาท  มาวางศาลตามคำร้องของจำเลย  (คำพิพากษาฎีกาที่  5982/2549)

ข้อ  7.  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันใช้เงิน  500,000  บาทแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน  1  แปลงของจำเลยที่  1  เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้  ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทอดตลาด  เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดแก่จำเลยที่  1  โดยชอบ  แต่ไม่ส่งประกาศการขายทอดตลาดแก่จำเลยที่  2  โดยประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่  1  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  เวลา  9  นาฬิกา  และครั้งที่  2  วันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  เวลา  9  นาฬิกา  ในการขายทอดตลาดครั้งที่  1  ไม่มีผู้เสนอราคา  เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดไป  ต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่  2  จำเลยที่  2  ทราบประกาศขายทอดตลาดจากจำเลยที่  1  จึงไปร่วมการขายทอดตลาดครั้งนี้  มีผู้เสนอราคาสูงสุด  400,000บาท  ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้  จำเลยที่  2  คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี  โดยอ้างเหตุ  2  กรณี  คือ

                กรณีที่หนึ่ง  การขายทอดตลาดไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ตนทราบ  และกรณีที่สอง  ราคาที่ผู้เสนอราคาดังกล่าวต่ำเกินสมควร  ขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดไป  เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่า  จำเลยที่  2  ไม่มีสิทธิคัดค้านทั้งสองกรณีดังกล่าวและเคาะไม้ขายทอดตลาดแก่ผู้เสนอราคาสูงสุด  จำเลยที่  2  ยื่นคำคัดค้านต่อศาลชั้นต้น  ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้  อ้างว่า  เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                ให้วินิจฉัยว่า  คำคัดค้านของจำเลยที่  2  ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  306  บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งของศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่นนั้น  เมื่อที่ดินที่ขายทอดตลาดเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่  1  ไม่มีชื่อจำเลยที่  2  ในทะเบียน  จำเลยที่  2  จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดตามบทบัญญัติดังกล่าว  เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำต้องแจ้งการขายทอดตลาดในจำเลยที่  2  ทราบ  ข้อคัดค้านข้อนี้ของจำเลยที่  2  ฟังไม่ขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3798/2551)
                ส่วนการขายทอดตลาดครั้งที่  2  ที่เลื่อนมา  ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา  400,000  บาท  ได้เสนอราคาสูงสุด  ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์  จำเลยที่  2  คัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร  แม้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่  1  แต่จำเลยที่  2  เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งต้องร่วมรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิคัดค้านได้  ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  309  ทวิ  วรรคหนึ่ง  การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายไปโดยอนุมัติให้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยที่  2  จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา  296  วรรคสอง  ข้อคัดค้านข้อนี้ของจำเลยที่  2  ฟังขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  5321/2552)

ข้อ  8.  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์  3,000,000  บาท  ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  12  ต่อปี  และจำเลยที่  2  จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่  1  ต่อโจทก์  โดยมีข้อตกลงว่า  หากบังคับจำนองแล้วยังไม่พอชำระหนี้  จำเลยที่  2  ยอมให้โจทก์บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่  2  ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน  จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนตามสัญญา  จำเลยทั้งสองมีหนี้สินพ้นตัว  และเป็นหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน  3,500,000  บาท  ขอศาลมีคำสังพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย  ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำให้การ  ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การเมื่อสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จและจำเลยทั้งสองไม่มีพยานมาสืบ  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง  จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด

                ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่สั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การก็ดีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดก็ดี  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
                พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  13  บัญญัติให้ศาลออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้หรือจำเลยเพื่อทราบวันนั่งพิจารณาเท่านั้น  ไม่ได้บัญญัติว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การด้วย  ดังนั้น  ในคดีล้มละลายจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้  หากจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก็ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่สั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3026/2551)
                คดีสำหรับจำเลยที่  1  นั้น  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า  1,000,000  บาท  และหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน  ครบหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  9  ที่โจทก์อาจฟ้องล้มละลายได้  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่  1  เด็ดขาด  จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  14  แล้ว
                ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่  2  เนื่องจากโจทก์เป็นผู้รับจำนองจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.  2483  มาตรา  6  แต่ตามคำฟ้องมิได้กล่าวในฟ้องว่า  ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า  1,000,000  บาท  ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  10  (2)  ศาลชอบที่จะไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  ไว้พิจารณาตั้งแต่แรก  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2193/2550)  และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แม้จำเลยที่  2  ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้  ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  142  (5)  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย  พ.ศ.  2542  มาตรา  14  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่  2  เด็ดขาด  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ  9.  คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง  บริษัท  อังคาร  จำกัด  ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางให้มีการฟื้นฟูกิจการ  และให้ตั้งบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  และตั้งบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว  ปรากฏว่านายพุธเจ้าหนี้รายหนึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลา  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธ  นายพุธโต้แย้งต่อศาลล้มละลายกลางโดยอ้างว่า  การที่ตนยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลา  สืบเนื่องจากลูกหนี้มิได้ระบุชื่อและที่อยู่ของตนไว้ในบัญชีเจ้าหนี้  จึงเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้นายพุธเสนอคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย  ดังนั้น  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงควรรับคำขอรับชำระหนี้ของตนไว้พิจารณาต่อไป

                ให้วินิจฉัยว่า  หากกรณีเป็นดังที่นายพุธกล่าวอ้าง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธไว้พิจารณา  หรือไม่
             
ธงคำตอบ
                นายพุธต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  90/26  หากยื่นเกินกำหนดย่อมหมดสิทธิได้รับชำระหนี้  อย่างไรก็คดีนี้ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ  จึงต้องดำเนินการตามมาตรา  90/6  กล่าวคือต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่  และที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายพร้อมกับคำร้องขอ  เพราะหากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่ง  ตามมาตรา  90/20  วรรสี่และแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  90/24  วรรคสองและวรรคสาม  กับมาตรา  90/26  วรรคหนึ่ง  หากกรณีเป็นดังที่นายพุธกล่าวอ้างย่อมเป็นเหตุให้นายพุธไม่อาจทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ได้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธไว้พิจารณาได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  4636/2546,  1683/2552)

ข้อ  10.  พนักงานอัยการฟ้องนายดำเกิงต่อศาลแขวงดุสิต  ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับเกินหกพันบาท)  กับให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  ที่ลักไปแก่ผู้เสียหาย  และกำหนดโทษความผิดฐานยักยอกในคดีก่อนที่ศาลรอการกำหนดโทษนายดำเกิงไว้  นายแมนผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งประทับฟ้อง  ต่อมานายแมนได้รับการจ่ายสำนวนจากนายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตให้เป็นองค์คณะรับผิดชอบคดีนี้  นายแมนพิจารณาคดีเสร็จแล้วแต่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุก่อนทำคำพิพากษา  ถ้าปรากฏว่า

(ก)         นายมิตรตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาลงโทษนายดำเกิง  โดยกำหนดโทษในคดีหลังฐานลักทรัพย์  จำคุก  6  เดือน  กำหนดโทษคดีก่อนฐานยักยอก  จำคุก  5  เดือน  รวมเป็นจำคุก  11  เดือน  และให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000บาท  แก่ผู้เสียหาย  หรือ
(ข)        นายมิตรมีภารกิจสำคัญจนไม่อาจปฏิบัตราชการได้  จึงมอบหมายให้นายสมชายผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแขวงดุสิตทำคำพิพากษาแทน  นายสมชายจึงทำคำพิพากษาเหมือนข้อ  (ก)
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งและการพิจารณาคดีของนายแมน  กับกรณีตามข้อ  (ก)  และข้อ  (ข)  ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  หรือไม่

ธงคำตอบ
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  มีระวางโทษไม่เกินกำหนดตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (5)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำเกิงต่อศาลแขวงดุสิตได้  และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  43  พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดแทนผู้เสียหายได้  พนักงานอัยการจึงมีคำขอให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  ที่ถูกลักแก่ผู้เสียหายได้  แม้ทุนทรัพย์พิพาทเกิน  300,000  บาท  ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (4)  ดังนั้น  คำสั่งของนายแมนที่ให้ประทับฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์  ซึ่งไม่ใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี  ตามมาตรา  17  ประกอบมาตรา  24  (2)  ย่อมชอบด้วยกฎหมาย  และเมื่อนายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตจ่ายสำนวนให้นายแมนเป็นองค์คณะรับผิดชอบคดี  นายแมนย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา  17  การพิจารณาคดีของนายแมนจึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีตามข้อ  (ก)  เมื่อนายแมนซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่  เนื่องจากเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุหลังเสร็จการพิจารณาคดี  แต่ก่อนทำคำพิพากษา  ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  30  จำต้องแก้ปัญหาตามวิถีทางใน  มาตรา  29  (3)  กล่าวคือ  นายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต  หรือ  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  1  หรือผู้ทำการแทนต้องตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาด้วยตนเอง  จะมอบหมายให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลเดียวกันทำคำพิพากษาแทนไม่ได้เพราะมาตรา  29  (3)  ไม่ได้ให้อำนาจไว้  ซึ่งนายมิตรได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว  โดยนายมิตรตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาลงโทษความผิดฐานลักทรัพย์ในคดีหลังให้จำคุก  6  เดือน  และกำหนดโทษความผิดฐานยักยอกในคดีก่อนให้จำคุก  5  เดือน  รวมเป็นจำคุก  11  เดือน  เท่ากับศาลแขวงดุสิตลงโทษจำคุกคดีละไม่เกิน  6  เดือน  กับให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  แก่ผู้เสียหายอันเป็นการพิพากษาคดีที่ชอบด้วยมาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (4)  และ  (5)  แล้ว
กรณีตามข้อ  (ข)  การที่นายมิตรมีภารกิจสำคัญจนไม่อาจปฏิบัติราชการได้เป็นเหตุให้ทำคำพิพากษาด้วยตนเองไม่ได้  นายมิตรก็จะมอบหมายให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลเดียวกันทำคำพิพากษาแทนไม่ได้  ตามเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น  ดังนั้น  การที่นายมิตรมอบหมายให้นายสมชายผู้พิพากษาอาวุโสของศาลแขวงดุสิตทำคำพิพากษาแทน  จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  แม้นายสมชายจะทำคำพิพากษาเหมือนนายมิตรตามข้อ  (ก)  ทุกประการก็ตาม

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม-ธงคำตอบ วิแพ่ง เนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 65

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  ภาคสอง  สมัยที่  65  ปีการศึกษา  2556
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย
ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 
วันอาทิตย์ที่  31  มีนาคม  2556
------------------------------------



            ข้อ  1. (ก) นายเอกว่าจ้างนายโทให้สร้างถนนและรางระบายน้ำ  เป็นเงิน  800,000  บาท  สัญญาว่าจ้างทำที่ภูมิลำเนาของนายเอกที่จังหวัดลำปาง  ต่อมานายโทได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวให้แก่นายตรี  โดยมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้นายเอกทราบแล้ว  สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทำที่บ้านของนายตรีที่จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อนายโทสร้างถนนและรางระบายน้ำแล้วเสร็จ  นายตรีได้มีหนังสือถึงนายเอกขอรับเงินค่าก่อสร้าง  นายเอกปฏิเสธอ้างว่าได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่นายโทไปแล้ว  นายตรีจึงยื่นคำฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย  ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้อง

             (ข)  นายตรียื่นฟ้องนายจัตวาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ให้ชำระเงินตามเช็คที่นายจัตวาสั่งจ่าย  จำนวนเงิน  500,000  บาท  ในชั้นตรวจคำฟ้อง  ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า  คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์  ลายมือชื่อทนายโจทก์ผู้เรียง  และลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์  จึงไม่รับคำฟ้อง

              ให้วินิจฉัยว่า  ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องตาม  (ก)  และไม่รับคำฟ้องตาม  (ข)  ชอบหรือไม่

ธงคำตอบ

(ก)สัญญาว่าจ้างสร้างถนนและรางระบายน้ำระหว่างนายเอกกับนายโททำ  ณ  ภูมิลำเนาของนายเอกที่จังหวัดลำปาง  แม้นายโททำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างให้แก่นายตรี  แต่นายตรีก็เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของนายโทในอันที่จะบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจากนายเอกแทนนายโท  เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้น  ณ  ภูมิลำเนาของนายเอก  และนายเอกปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่นายตรี  จึงถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้นายตรีมีอำนาจฟ้องนายเอกเกิดขึ้น  ณ  ภูมิลำเนาของนายเอกซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดลำปาง  นายตรีจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  4  (1)(คำพิพากษาฎีกาที่  9430/2554)  ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องจึงไม่ชอบ

(ข) คำฟ้องคดีแพ่งไม่มีลายมือชื่อโจทก์  ไม่มีลายมือชื่อทนายโจทก์ผู้เรียง  และไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์  เป็นเพียงคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  67 (5) ศาลจังหวัดเชียงใหม่ชอบที่จะสั่งให้นายตรีแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อนโดยให้คืนหรือให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้บริบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนด  หากไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นได้  ตามมาตรา  18  วรรคสอง  การที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่รับคำฟ้องของนายตรีโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องดังกล่าวเสียก่อนจึงไม่ชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  5556/2543)




            ข้อ  2. โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย  จำนวนเงิน  3,000,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  จำเลยให้การว่า  เช็คพิพาทออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้พนัน  มูลหนี้ตามเช็คเป็นโมฆะ  ขอให้ยกฟ้อง  ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน  โดยจำเลยยอมชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน  2,400,000  บาท  โดยผ่อนชำระเป็น  24  งวด  งวดละเดือน  เดือนละ  100,000  บาท  หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด  ยอมให้โจทก์บังคับคดีชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบต่อปีนับแต่วันผิดนัดได้ทันที  ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) จำเลยอุทธรณ์ว่า  ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(ข) จำเลยยื่นคำร้องว่า  โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทมาแล้ว  ศาลพิพากษายกฟ้อง  ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมและพิพากษายกฟ้องโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า  อุทธรณ์ของจำเลยตาม  (ก)  ฟังขึ้นหรือไม่  และศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยตาม  (ข)  ได้หรือไม่

                                                                                      ธงคำตอบ

(ก) โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงชี้ขาดข้อพิพาท  ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมความยอมดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้  ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  เพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน  จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  142  ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง  การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  แม้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบต่อปี  เกินกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามคำขอของโจทก์  ก็หาเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่  (คำพิพากษาฎีกาที่  3191/2547  และ  1222/2549)  อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

(ข) จำเลยยื่นคำร้องว่า  ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมนั้น  เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  138  วรรคสอง  ที่ให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้  จำเลยจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลนั้น  ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลนั้นเองได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  5581/2549  และ  6915/2554)  ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย




            ข้อ  3. นายขาวฟ้องนายเขียวว่า  นายเขียวผิดสัญญาก่อสร้างบ้านพักที่ทำไว้กับนายเหลือง  ขอให้นายเขียวชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเหลือง  1,000,000  บาท  โดยนายขาวบรรยายฟ้องว่าได้รับมอบอำนาจจากนายเหลืองให้มาฟ้องคดีแทน  ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง  นายเขียวให้การว่า  นายเหลืองเป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา  ทำให้นายเขียวได้รับความเสียหาย  2,000,000  บาท  ขอให้ยกฟ้อง  และฟ้องแย้งขอให้นายเหลืองชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายขาวนำสืบก่อน  ก่อนวันสืบพยาน  10  วัน  นายขาวยื่นคำร้องว่า  ขณะยื่นคำฟ้องต่อศาลนั้น  นายเหลืองยังไม่ตัดสินใจว่าจะฟ้องนายเขียวหรือไม่  แต่นางแดงภริยานายเหลืองเกรงว่าคดีจะขาดอายุความจึงปลอมลายมือชื่อนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจที่ให้นายขาวฟ้องคดีนี้ไว้ก่อน  บัดนี้นายเหลืองได้ทราบเรื่องและเห็นด้วยกับการกระทำของนางแดง  และได้ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ให้ฟ้องนายเขียวแล้ว  จึงขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า  นายเหลืองได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่  นายเขียวรับสำเนาคำร้องแล้วไม่ค้าน  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้เป็นกรณีที่  1  แต่หากนายขาวไม่ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว  และต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว  พิพากษายกฟ้อง  เพราะเหตุลายมือชื่อนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม  พร้อมกันนั้นก็พิพากษาให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาให้แก่นายเขียว  ตามฟ้องแย้งตามที่ได้ความจากการนำสืบของนายเขียว  เป็นกรณีที่  2

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องในกรณีที่  1  และคำพิพากษาที่ให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งในกรณีที่  2  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                                                                              ธงคำตอบ

กรณีที่  1  ลายมือชื่อของนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจให้นายขาวฟ้องนายเขียวเป็นลายมือชื่อปลอม  การฟ้องคดีของนายขาวจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรก  การที่นายขาวขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า  ต่อมานายเหลืองได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่แล้ว  หาทำให้คำฟ้องที่เสียไปใช้ไม่ได้แล้วนั้นกลับคืนมาเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายได้ไม่  คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของนายขาวไม่ใช่เป็นการขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมให้บริบูรณ์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  179  วรรคสอง  (2)คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายขาวแก้ไขคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คำพิพากษาฎีกาที่  4181/2533)

กรณีที่  2  ลายมือชื่อของนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อปลอม  ย่อมถือได้ว่านายเหลืองไม่ได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดี  นายขาวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายเขียวแทนนายเหลือง  ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาเป็นคู่ความที่ฟ้องคดี  กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของนายเขียวย่อมตกไป  เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งด้วย  คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของนายเขียวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คำพิพากษาฎีกาที่  8387-8391/2553)




            ข้อ  4. คดีสามัญเรื่องหนึ่ง  จำเลยที่  1  และที่  2  ขาดนัดยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์  ศาลส่งคำบังคับให้จำเลยที่  1  และที่  2  โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลเมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  2550  ต่อมาวันที่  5  มกราคม  2551  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่  1  เพื่อขายทอดตลาด  วันที่  6  กันยายน  2551  จำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างเหตุว่า  ขณะโจทก์ฟ้องและส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่  2  จำเลยที่  2  ไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ  เพิ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่  20  สิงหาคม  2551  จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง  จำเลยที่  2  ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่  2  ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์  ลายมือชื่อจำเลยที่  2  ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอม  ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอ  ในวันนัดไต่สวนศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันยึดทรัพย์  ต้องห้ามไม่ให้ยื่นคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  จัตวา  ให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่  2  ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                                                                                   ธงคำตอบ

การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  จัตวา  กำหนดให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย  หรือนับจากกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง  หรือหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือมีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น  ซึ่งกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หมายถึงการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่  คดีนี้มีการยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  เพื่อบังคับตามคำพิพากษามิได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ดังนั้น  กำหนดเวลาหกเดือนจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยที่  2  ได้  การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับวันที่ได้ยึดทรัพย์ต้องห้ามตามมาตรา  199  จัตวา  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่  2  อ้างในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ว่า  ขณะโจทก์ฟ้องและส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยที่  2  นั้น  จำเลยที่  2  ไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ  เพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่  20  สิงหาคม  2551  จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง  อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่  2  ไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยที่  2  เพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้  จำเลยที่  2  จึงชอบที่จะยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง  คือ  นับแต่วันที่  20  สิงหาคม  2551  แต่จำเลยที่  2  ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่  6  กันยายน  2551  จึงมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว  ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่  2  จึงชอบแล้ว  (คำพิพากษาฎีกาที่  3153/2533  และ  2152/2536)




            ข้อ  5.  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแก่โจทก์จำนวน  350,000  บาท  จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม  จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้อง  และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า  ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม  และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าและเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  แต่คดีโจทก์ขาดอายุความ  พิพากษายกฟ้อง  โจทก์อุทธรณ์ว่า  ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ  จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า  คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ  พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  จำเลยฎีกาว่า

(ก)ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องโดยกล่าวเหตุผลไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาปัญหาดังกล่าว

(ข)ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ  โดยจำเลยขอถือเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาในข้อนี้

ให้วินิจฉัยว่า  จำเลยจะฎีกาในปัญหาตาม  (ก)  และ  (ข)  ได้หรือไม่

                                                                                   ธงคำตอบ

(ก) คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยฎีกาว่า  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้แล้ว  แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์  เนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความ  โดยจำเลยไม่จำต้องอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม  แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่า  คดีไม่ขาดอายุความ  หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อใด  อย่างไร  จำเลยก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ด้วย  แต่ปรากฏว่าคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยคงกล่าวแก้แต่เฉพาะประเด็นเรื่องอายุความที่โจทก์อุทธรณ์เท่านั้น  เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้  เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์  ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (คำพิพากษาฎีกาที่  7693/2550)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาตาม  (ก)  ไม่ได้

(ข) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น  จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  ที่จำเลยฎีกาว่า  คดีโจทก์ขาดอายุความ  โดยขอถือเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาในข้อนี้นั้น  ฎีกาของจำเลยข้อนี้มิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา  จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง  ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  6446/2552)  จำเลยจึงฎีกาปัญหาตาม  (ข)  ไม่ได้เช่นกัน




            ข้อ  6.  โจทก์ฟ้องจำเลยให้ส่งคืนสร้อยเพชร  1  เส้น  ราคา  10,000,000  บาท  โดยอ้างว่าจำเลยขอยืมไปแล้วไม่คืน  จำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดและฟ้องแย้งว่า  โจทก์ขายสร้อยเพชรเส้นดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา  10,000,000  บาท  โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนส่วนลดร้อยละ  3  เป็นจำนวน  300,000  บาท  ให้แก่จำเลยภายใน  3  เดือน  นับแต่วันซื้อขาย จำเลยชำระราคาทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้ว  แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่คืนเงินส่วนลด  ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน  300,000  บาท  ตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย  โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธความรับผิด  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า  โจทก์ขายสร้อยเพชรให้แก่จำเลยโดยไม่มีส่วนลด  พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย  โจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับ  ขณะคดีอยู่ระหว่างส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์และจำเลยเพื่อแก้  สำนวนความยังอยู่ที่ศาลชั้นต้น  ปรากฏว่า

(ก)โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า  จำเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาสร้อยเพชร  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยนำสร้อยเพชรมาวางศาลเพื่อป้องกันความเสียหาย

(ข)จำเลยยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในส่วนฟ้องแย้งว่า  โจทก์มีหนี้สินมากเพราะธุรกิจของโจทก์ล้มเหลว  โจทก์เหลือทรัพย์สินเพียงรถยนต์  1  คัน  ราคาประมาณ  300,000  บาท  และกำลังจะขาย  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้ก่อนพิพากษา

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว  มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์และจำเลย

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                                                                                    ธงคำตอบ

(ก) คำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยนำสร้อยเพชรมาวางศาลเพื่อป้องกันความเสียหาย  เป็นคำขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  และเป็นคำขอหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว  คดีจึงอยู่ในชั้นอุทธรณ์  อำนาจสั่งอยู่ที่ศาลอุทธรณ์  ศาลชั้นต้นต้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง  คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) คำขอของจำเลยที่ขอให้ยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้ก่อนพิพากษา  เป็นคำขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  254  (1)แม้จะเป็นคำขอในขณะที่คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  254  วรรคสุดท้าย  ประกอบมาตรา  144  (3)  ที่ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ก็ตาม  แต่เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์  300,000  บาท  ซึ่งเป็นคดีมโนสาเร่  กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งจะขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามมาตรา  254  ได้  คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน




            ข้อ  7.นายเช้าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน  1,000,000  บาท  ของนายบ่าย  และนายเช้ายังเป็นลูกหนี้เงินกู้ยืมจำนวน  1,000,000  บาท  ของนายเที่ยง  โดยนายเช้าและนายสายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง  ได้ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ให้ไว้ต่อนายเที่ยง  และหนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้ว  ส่วนนายสายเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน  1,000,000  บาท  ของนายเย็น  นายเย็นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน  1,500,000  บาท  ปรากฏว่า

(ก) นายเที่ยงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจำนวน  1,000,000  บาท  ก่อนเจ้าหนี้อื่น  นายเย็นยื่นคำคัดค้านว่า  นายเที่ยงยังมิได้ฟ้องนายเช้า  และนายเช้าก็มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  ขอให้ยกคำร้อง

(ข) นายบ่ายยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด  เพราะนายเช้าไม่มีทรัพย์สินใดอีก  นายเย็นยื่นคำคัดค้านว่า  นายเช้ามิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  ขอให้ยกคำร้อง

ศาลไต่สวนแล้ว  ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องและคำคัดค้าน

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของนายเที่ยงและนายบ่ายได้หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก) นายเที่ยงเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินกรรมสิทธิ์รวมแปลงดังกล่าว  แม้นายเช้ามิได้ถูกนายเที่ยงฟ้องและมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  นายเที่ยงก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในฐานะเจ้าหนี้จำนองในฐานะเจ้าหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน  ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  289  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  5753/2537  และ  1975/2551)

(ข) แม้นายเช้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว  แต่เมื่อนายเช้ามิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น  นายบ่ายจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่นายเย็นนำยึดที่ดินของนายสายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของนายเย็นได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  290  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  487/2552)




            ข้อ  8.  คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองชั่วคราว  และโจทก์นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  ไว้  เมื่อคดีเสร็จการพิจารณา  ศาลพิพากษายกฟ้อง  โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้อง  2  ฉบับ  ฉบับแรกอ้างว่า  หากจำเลยที่  1  ได้รับทรัพย์ที่ยึดคืนไป  จำเลยที่  1  อาจยักย้ายทรัพย์ที่ยึดไปให้พ้นอำนาจศาล  ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดไว้ก่อน  ฉบับที่สองอ้างว่า  จำเลยที่  2  มีพฤติการณ์จะโอนสิทธิทรัพย์สินโดยการฉ้อฉล  เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา  ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ไว้ก่อน

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

คำร้องของโจทก์ที่ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  ไว้ก่อนนั้น  เป็นกรณีที่โจทก์มุ่งหมายขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายยและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย  พ.ศ.2542  มาตรา  14  ศาลฎีกาจึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่  1  ไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาตามคำร้องฉบับแรกได้  (เทียบคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  1766/2531)

พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2483  มีบทบัญญัติเรื่องการขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้โดยเฉพาะตามมาตรา  17  แล้ว  โดยโจทก์อาจขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวได้ก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเท่านั้น  และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  มาตรา  19  วรรคหนึ่ง  บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดบรรดาทรัพย์สินของจำเลยได้  ดังนั้น  แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา  แท้จริงแล้วเป็นการขอศาลให้มีคำสั่งยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ไว้ก่อนพิพากษานั่นเอง  จึงนำบทบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์ของจำเลยก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  254  (1)มาใช้บังคับไม่ได้  ศาลฎีกาต้องมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่  2  ตามคำร้องฉบับที่สอง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3721/2535)




            ข้อ  9.บริษัทเอ  จำกัด  ลูกหนี้เป็นหนี้นายรวยในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตลิ่งชันจำนวน  20,000,000  บาทซึ่งศาลจังหวัดตลิ่งชันได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว  นอกจากนี้บริษัทเอ  จำกัด  ยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย  ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทเอ  จำกัด  และตั้งผู้ทำแผน  นายรวยยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน  20,000,000  บาท  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ  ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นายรวย  เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่  16  และได้รับชำระหนี้ร้อยละ  70 โดยให้ได้รับชำระหนี้งวดแรกหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว  1  ปี  เป็นจำนวนร้อยละ  10  และต่อไปทุกๆ  ปี  ปีละร้อยละ  5  จนกว่าจะครบ  ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติพิเศษยอมรับแผน  โดยในวันดังกล่าวนายรวยมิได้เข้าประชุม  ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  หลังจากนั้นนายรวยเห็นว่าการที่ตนจะได้รับชำระหนี้ตามแผนจะต้องใช้เวลานานและแผนกำหนดให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนของหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น  จึงต้องการให้ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งต่อไป

ให้วินิจฉัยว่า  นายรวยจะดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชันเพื่อนำมาชำระหนี้แก่ตนเป็นเงิน  20,000,000  บาท  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา  90/60  วรรคหนึ่ง  กำหนดให้แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว  ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ  ส่วนการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจริงย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

เมื่อมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่นายรวยนำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  นายรวยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว  ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดเงื่อนไขและกำหนดเวลาในการชำระหนี้ให้แก่นายรวยไว้ซึ่งต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว  แม้นายรวยจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้  นายรวยก็ต้องผูกพันในการที่จะได้รับชำระหนี้ตามแผน  นายรวยไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผน  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2125/2548)

อนึ่ง  นายรวยเจ้าหนี้ต้องห้ามมิให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา  90/12  (5)  นายรวยจึงไม่อาจดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชันเพื่อนำมาชำระหนี้แก่ตนได้


            ข้อ  10.  ในการบังคับคดีของศาลแพ่งคดีหนึ่ง  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  2  รายการ  คือ  ที่ดินราคา  400,000  บาท  กับรถยนต์ราคา  200,000  บาท  และอายัดเงิน  300,000  บาท  จากบุคคลภายนอกที่ถึงกำหนดชำระให้แก่จำเลย  ซึ่งต่อมาบุคคลภายนอกได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาไว้ที่ศาลแล้ว  ปรากฏว่านายแดงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์  นายขาวยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดและนายเขียวยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเงิน  300,000  บาท  ที่บุคคลภายนอกส่งมายังศาลตามหมายอายัด

นายสุเทพ  หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้  พิจารณาคำร้องทั้งสามฉบับแล้ว  มีคำสั่งอนุญาตให้นายแดงเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้  และมีคำสั่งให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดตามคำร้องของนายขาว  แต่ยกคำร้องของนายเขียวโดยวินิจฉัยว่า  การขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดจะมีได้ก็แต่เฉพาะการยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดเท่านั้น

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของนายสุเทพชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

ศาลแพ่งเป็นศาลที่ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  การที่นายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวสั่งคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีว่า  นายแดงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้หรือไม่  จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณามีคำสั่งได้  ตามมาตรา  24  (2)  และมาตรา  25  (คำพิพากษาฎีกาที่  3977/2553)

คำร้องขอของนายขาวที่ขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึด  ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อยนั้น  ซึ่งก็คือราคารถยนต์  200,000  บาท  จึงอยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  (4)

คำสั่งยกคำร้องขอของนายสุเทพที่ให้ปล่อยเงินที่ส่งมาตามหมายอายัด  เป็นการวินิจฉัยถึงอำนาจในการยื่นคำร้องว่านายเขียวมีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่  อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี  จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณามีคำสั่งได้  คำสั่งของนายสุเทพจึงไม่ชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  11417/2553)


ดังนั้น  คำสั่งเรื่องขอเฉลี่ยและคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยเงินที่อายัดของนายสุเทพจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  ส่วนคำสั่งเรื่องขอให้ปล่อยรถยนต์แก่นายขาวของนายสุเทพชอบด้วยกฎหมายแล้ว

วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม-ธงคำตอบ เนติ แพ่ง ภาคหนึ่ง สมัยที่ 65

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 65 ปีการศึกษา 2555
วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555
คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. ถึง 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย
---------------------------
ข้อ 1
นายเอกเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดของนายแดงอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 โดยไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาเมื่อต้นปี 2550 นายเอกสุขภาพไม่ดี จึงโอนการครอบครองให้นายโทซึ่งเป็นบุตรเข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเช่นกันส่วนนายแดงถึงแก่ความตายและนายดำซึ่งเป็นทายาทของนายแดงให้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทเมื่อกลางปี 2555 บัดนี้ นายดำต้องการเข้าอยู่อาศัยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่นายโทไม่ยอมออกโดยอ้างว่า ตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ นายดำจึงฟ้องขับไล่โดยอ้างว่า นอกจากนายโทครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ถึง 10 ปี แล้วเมื่อต้นปี 2554 ยังเกิดอุทกภัยเป็นเหตุให้นายโทต้องอพยพออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่าครึ่งปี และกลับเข้าครอบครองทำประโยชน์เมื่อเดือนธันวาคม 2554 นายโทจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อนายโทยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ นายโทย่อมไม่อาจยกการได้มาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายดำซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้
ให้วินิจฉัยว่า นายโทได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ และจะยกการได้มาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายดำได้หรือไม่

ธงคำตอบ
แม้ขณะที่นายดำจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อกลางปี 2555 นายโทได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเวลาประมาณ 5 ปี แต่นายโทผู้รับโอนมีสิทธินับเวลาที่นายเอกผู้โอนการครอบครองได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 ถือได้ว่านายโทครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว ส่วนการเกิดอุทกภัยเมื่อต้นปี 2554 ที่เป็นเหตุให้นายโทต้องอพยพออกไป จากที่ดินพิพาทนั้น ก็เป็นเรื่องที่นายโทผู้ครอบครองต้องขาดการยึดถือที่ดินพิพาทโดยไม่สมัคร แต่หลังจากนั้นเพียงกว่าครึ่ง
ปี นายโทได้กลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นการได้คืนภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันขาดการยึดถือ กรณีจึงอยู่ในบังคับมาตรา 1384 ที่มิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง นายโทจึงได้ครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี และได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 แล้ว
การที่นายดำจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อกลางปี 2555 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่นายโทได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว นายดำซึ่งได้กรรมสิทธิ์โดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิตลอดจนความรับผิดต่างๆ จากนายแดงเจ้ามรดก ย่อมมิใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองนายโทจึงมีสิทธิยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของตนขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายดำได้

ข้อ 2
นายดำซื้อเสื้อจำนวน 100 ตัว ราคาตัวละ 2,000 บาท จากนายแดงเพื่อมาขายในร้านของตน โดยตกลงว่าให้นายแดงส่งมอบเสื้อให้ก่อน 50 ตัว อีก 50 ตัว ที่เหลือให้ส่งมอบภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 และชำระราคาทั้งหมดในวันเดียวกัน นายแดงส่งมอบเสื้อ 50 ตัว ให้นายดำแล้ว ครั้งถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 นายแดงนำเสื้ออีก 50 ตัว ไปส่งมอบให้นายดำและขอรับชำระราคาทั้งหมด ปรากฏว่านายดำขายเสื้อได้น้อยทำให้เหลืออยู่จำนวนมาก นายดำจึงปฏิเสธไม่รับเสื้ออีก 50 ตัวที่นายแดงนำมาส่งและบอกสาเหตุให้นายแดงทราบ นายแดงจึงนำเสื้ออีก 50 ตัว ไปวางทรัพย์ไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี และเรียกให้นายดำชำระราคา 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 จนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่นายแดง นายดำบอกนายแดงว่าจะต้องนำเสื้อ 50 ตัวที่วาง
ทรัพย์ไว้ออกขายโดยนายดำยอมให้ขายในราคาตัวละ 1,500 บาท จะได้เงิน 75,000 บาท นำมาหักออกเสียก่อนและยินดีชำระเงิน 125,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ยให้แก่นายแดงเท่านั้น
ให้วินิจฉัยว่า นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระเงินได้จำนวนเท่าใด

ธงคำตอบ
นายแดงส่งมอบเสื้อให้นายดำครบถ้วนโดยนำไปวางทรัพย์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ภายในกำหนดเวลาที่ต้องชำระหนี้ นายแดงย่อมมีสิทธิได้รับชำระราคาจากนายดำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 486 เมื่อนายดำไม่ชำระราคาในวันดังกล่าวอันเป็นกำหนดเวลาตามวันแห่งปฏิทิน จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคสอง นายแดงในฐานะเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระราคา และเรียกเอาดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดนัดได้ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง การใช้สิทธิเรียกให้ชำระราคาเป็นการเรียกให้ชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง  ส่วนการเรียกให้ชำระหนี้ดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดจากการผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่การเรียกเอาค่าสินไหม
ทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 213 วรรคท้าย และมาตรา 215 ที่จะบังคับตามมาตรา 223 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่จะให้นายแดงบรรเทาความเสียหายด้วยการนำเสื้อ 50 ตัว ที่วางทรัพย์ไว้ออกขายแล้วนำเงินมาหักออกตามที่นายดำเสนอ นายแดงจึงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ

ข้อ 3
นายดำลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์รับส่งนายมุ่งมั่นนายจ้างไปทำงาน เลิกงานก็ขับรถส่งนายมุ่งมั่นกลับบ้าน เก็บรถเสร็จก็หมดหน้าที่ ระหว่างรออยู่ที่ทำงานนายมุ่งมั่นสั่งเด็ดขาดห้ามนายดำขับรถไปไหนโดยพลการ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553 นายดำได้ขับรถส่งนายมุ่งมั่นไปทำงานตามปกติ ขณะรออยู่ในที่ทำงาน นายดำได้แอบขับรถยนต์คันดังกล่าวไปหาเพื่อนสาว ระหว่างทางนายดำได้ขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ที่นายคมชัดขับ เป็นเหตุให้นายคมชัดถึงแก่ความตายทันที หลังเกิดเหตุ 10 วัน นายถนัด อายุ 18 ปี บุตรนอกกฎหมายที่นายคมชัดได้รับรองโดยพฤตินัยแล้ว ได้ไปเรียกร้องต่อนายดำกับนายมุ่งมั่นให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้นายคมชัดตาย แต่บุคคลทั้งสองบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษนายดำในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2553
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นายถนัดยื่นฟ้องนายดำกับนายมุ่งมั่นดังกล่าวให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือค่าใช้จ่ายในการทำศพซึ่งนายจ้างของนายคมชัดได้ช่วยออกให้ทั้งหมดแล้ว กับเรียกค่าขาดไร้อุปการะจนกว่านายถนัดจะบรรลุนิติภาวะ นายดำและนายมุ่งมั่นให้การว่า ไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามฟ้อง และคดีขาดอายุความแล้ว
ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายดำและนายมุ่งมั่น ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
เหตุรถยนต์ชนกัน ที่ทำให้นายคมชัดถึงแก่ความตายถือว่าเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายดำจึงเป็นการกระทำละเมิดที่นายดำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นายถนัด บุตรนอกกฎหมายที่นายคมชัดได้รับรองโดยพฤตินัยแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายคมชัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 นายถนัดย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพตามมาตรา 1649 วรรคสอง จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำศพตามมาตรา 443 ได้ และแม้นายจ้างของนายคมชัดจะได้จ่ายออกค่าทำศพให้ทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิของนายถนัดที่จะเรียกร้องจากนายดำผู้ทำละเมิดได้ ข้อต่อสู้ของนายดำและนายมุ่งมั่นฟังไม่ขึ้น
แม้นายถนัดจะมีสิทธิได้รับมรดกของนายคมชัดดังกล่าว แต่ไม่มีผลทำให้นายถนัดอยู่ในฐานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายคมชัด อันจะก่อให้เกิดสิทธิในค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 การที่นายคมชัดถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่านายถนัดต้องขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย นายถนัดจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ข้อต่อสู้ของนายดำและนายมุ่งมั่นฟังขึ้น
สำหรับข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความกรณีนายดำนั้น แม้ขณะยื่นฟ้องนายดำ นายถนัดจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวนายดำผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 1 ปี อันเป็นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาแก่นายดำ กรณีกระทำละเมิดและศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษนายดำแล้วก่อนนายถนัดฟ้องคดีแพ่ง อายุความฟ้องร้องคดีแพ่งจึงมีกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 คดีฟ้องนายดำจึงไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของนายดำฟังไม่ขึ้น
แต่ในกรณีฟ้องของนายมุ่งมั่น ขณะยื่นฟ้องเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เพราะอายุความที่ยาวกว่าตามมาตรา 448 วรรคสอง นั้น ใช้เฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ไม่ใช้สำหรับการฟ้องนายจ้างให้รับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง อันเป็นความผิดอาญาด้วยอีกชั้นหนึ่งข้อต่อสู้ของนายมุ่งมั่น จึงฟังขึ้น

ข้อ 4 
นายสดทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งจากนายรวยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แล้วนายสดปลูกบ้านหลังหนึ่งอยู่อาศัยในที่ดินนั้น ต่อมานายสดทำหนังสือสัญญาที่บ้านของตนตกลงขายบ้านหลังนี้ให้แก่นายใสเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย กำหนดไถ่ทรัพย์คืนในหนึ่งปี โดยนายสดยังคงพักอาศัยในบ้านที่ขายฝากตลอดมาจนครบกำหนดหนึ่งปี นายสดไม่ไถ่คืน และสัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายสดกับนายรวยครบกำหนดแล้วด้วย นายใสได้ขอเช่าที่ดินดังกล่าวกับนายรวย มีการทำหนังสือสัญญาให้นายใสเช่าที่ดินมีกำหนดห้าปี จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยถูกต้องจากนั้นนายรวยขอให้นายใสขนย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่นายสดเพิกเฉย นายใสจึงฟ้องคดีต่อศาล อ้างว่า
(1) นายใสเป็นเจ้าของบ้านที่รับซื้อฝากแล้ว ขอให้ขับไล่นายสดไปจากบ้าน
(2) นายใสเป็นผู้เช่าที่ดินจากนายรวยโดยชอบ สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายสดกับนายรวยระงับลงแล้ว นายสดอยู่ในที่ดินโดยละเมิดสิทธิของนายใส ขอให้ขับไล่นายสดออกไปจากที่ดิน
ให้วินิจฉัยว่า นายใสจะฟ้องขับไล่นายสดออกไปจากบ้านและที่ดินโดยอาศัยข้ออ้างทั้งสองประการได้หรือไม่

ธงคำตอบ
นายสดทำหนังสือสัญญาขายฝากบ้านให้แก่นายใสเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นการซื้อขายในลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491 นายใสผู้ซื้อจึงไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านที่รับซื้อฝากและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายสดออกจากบ้านพิพาทได้
นายใสทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านกับนายรวยโดยจดทะเบียนการเช่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่นายใสไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่า ส่วนนายสดอยู่ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าเดิม แม้สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายสดกับนายรวยระงับไปเพราะสิ้นกำหนดเวลาแล้ว และนายสดอยู่ต่อมาโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือว่าเป็นการละเมิดต่อนายรวยเจ้าของที่ดิน มิใช่การละเมิดต่อนายใสซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ นายใสจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายสดออกจากที่ดินพิพาทเช่นกัน
ดังนั้น นายใสจะฟ้องขับไล่นายสดออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยข้ออ้างทั้งสองประการไม่ได้(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 810/2546)

ข้อ 5
นายขาวทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท จากนายดำ ตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นายดำบอกให้นายขาวลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่มีการกรอกข้อความใดๆ โดยอ้างว่ายังยุ่งอยู่ นายขาวยินยอมเนื่องจากต้องการเงินมีนายเขียวผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมานายดำได้กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว 100,000 บาท และกรอกว่านายขายยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อครบกำหนดนายขาวไม่มีเงินชำระจึงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตีราคาตามท้องตลาด ซึ่งมีมูลค่าชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี พอดีให้แก่นายดำ แต่นายดำกลับนำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องให้นายขาวผู้กู้และนายเขียวผู้ค้ำประกันรับผิดชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย โดยอ้างว่านับแต่ทำสัญญานายขาวไม่เคยชำระหนี้แก่นายดำเลย นายขาวและนายเขียวให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นสัญญาปลอม เพราะขณะที่นายขาวลงชื่อสัญญาดังกล่าวยังไม่มีข้อความใดๆ และนายขาวชำระหนี้ทั้งหมดไปแล้ว นอกจากนี้นายดำยังคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่นายขาวเป็นเพียงชาวบ้านไม่ทราบกฎหมายและได้ชำระไป ขอให้ยกฟ้องของนายดำ และขอให้นายดำคืนราคารถยนต์ส่วนที่เป็นค่าดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เพราะข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นโมฆะ
ให้วินิจฉัยว่า นายขาวและนายเขียวต้องรับผิดต่อนายดำตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด และนายขาวสามารถเรียกคืนค่าดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วทั้งหมดตามฟ้องแย้งได้หรือไม่

ธงคำตอบ
สำหรับนายขาวนั้ แม้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินไม่มีการกรอกข้อความในสัญญา แต่เมื่อนายขาวกู้ยืมเงินจากนายดำจริง และนายดำก็กรอกจำนวนเงินตามที่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกรอกข้อความหลังจากที่นายขาวลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินแล้วไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายขาวผู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นายขาวจึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 5685/2548) แต่การที่ในสัญญาระบุให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 654 ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ส่วนหนี้ต้นเงินยังสมบูรณ์  (คำ
พิพากษาฎีกาที่ 1913/2537) เมื่อนายขาวชำระหนี้ดังกล่าวด้วยการโอนรถยนต์ให้แก่นายดำอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตามมาตรา 321 มิใช่กรณีตามมาตรา 653 วรรคสอง แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมก็รับฟังว่าชำระหนี้แล้วได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1178/2510) และหนี้นั้นย่อมเป็นอันระงับ นายดำไม่มีสิทธิเรียกให้นายขาวชำระหนี้ และ
นายเขียวผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากหนี้ที่ตนค้ำประกันระงับแล้ว
ส่วนฟ้องแย้งของนายขาวนั้น เมื่อหนี้ค่าดอกเบี้ยที่นายขาวชำระหนี้ไปแล้วทั้งหมดเป็นการคิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งตกเป็นโมฆะ จึงถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือชำระด้วยความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน (คำพิพากษาฎีกาที่ 6223/2544, 1759/2545) นายขาวจึงไม่สามารถเรียกคืนค่าดอกเบี้ยกรณีที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดตามฟ้องแย้งได้

ข้อ 6 
นายดินออกเช็คชนิดผู้ถือลงวันที่ล่วงหน้ารวม 2 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่นายน้ำ ฉบับแรกลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ฉบับที่สองลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 นายน้ำนำเช็คทั้งสองฉบับไปแลกเงินสดจากนายลมโดยลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คทั้งสองฉบับ เมื่อฉบับแรกถึงกำหนด นายลมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า บัญชีปิดแล้ว นายลมทวงถาม นายน้ำยอมใช้เงินตามเช็คเฉพาะฉบับแรกต่อมาเมื่อเช็คฉบับที่สองถึงกำหนด นายลมจึงฟ้องนายดินและนายน้ำให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คฉบับที่สองโดยมิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คก่อนฟ้อง นายดินให้การต่อสู้ว่า นายลมยังมิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คก่อนฟ้อง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนนายน้ำให้การต่อสู้ว่า นายน้ำลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าเช็คโดยไม่มีข้อความระบุว่าใช้ได้เป็นอาวัล จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็ค
ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายดินและนายน้ำ ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
ในกรณีฟ้องเรียกเงินตามเช็ค เมื่อบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้ปิดไปก่อนที่จะนำเช็คฉบับแรกไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารแม้นายลมจะนำเช็คฉบับที่สองไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ธนาคารก็จะปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบัญชีเงินฝากของนายดินที่ธนาคารถูกปิดแล้วตั้งแต่ก่อนเช็คฉบับแรกถึงกำหนด ย่อมแสดงได้ว่าธนาคารตามเช็คได้งดเว้นการใช้เงินตามเช็คของนายดินแล้ว นายลมจึงฟ้องบังคับให้นายดินและนายน้ำชำระเงินตามเช็คได้ โดยไม่จำต้องนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 (ข) (2), 989  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1865/2517,
755/2526, 3971/2526 และ 1494/2529) นายลมจึงมีอำนาจฟ้อง ข้อต่อสู้ของนายดินฟังไม่ขึ้น
การที่นายน้ำลงลายมือชื่อในด้านหน้าแห่งเช็คก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 939 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การรับอาวัลตามมาตรา 939 วรรคสองจึงไม่ต้องมีการเขียนข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัลอีก ข้อต่อสู้ของนายน้ำฟังไม่ขึ้น

ข้อ 7 
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสหาย มีนายหนึ่ง นายสอง และนายสามเป็นผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างฯ ตั้งขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ค้าอาหาร หลังจากดำเนินการไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี ห้างฯ เป็นหนี้นายวิชัยค่าซื้อไก่สดจำนวน 100,000 บาท และเป็นหนี้เงินกู้นายสมโชคอีกจำนวน 1,000,000 บาท ในการกู้ยืมเงินนี้ นายหนึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนและนายสมโชคเจ้าหนี้ได้ตกลงกันว่า หากห้างฯ ยังไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้นายสมโชค แม้นายหนึ่งจะได้ออกจากห้างฯ ไปแล้วก็ตาม แต่นายหนึ่งยังต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้ดังกล่าวต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ออกจากห้างฯ ต่อมานายหนึ่งได้ขายส่วนหุ้นลงทุนให้แก่นายสี่โดยได้ลงนามในสัญญาขายส่วนลงหุ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนต่อ
กระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนแล้วในวันที่ 1 มีนาคม 2553
ต่อมาห้างฯ ผิดนัดชำระหนี้ นายวิชัยและนายสมโชคจึงนำคดีมาฟ้องในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ให้นายหนึ่งรับผิดในหนี้ค้างชำระ นายหนึ่งต่อสู้ว่า ไม่ต้องรับผิดต่อนายวิชัยเพราะนายหนึ่งได้ออกจากห้างฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ อีก และต่อสู้นายสมโชคว่า ข้อตกลงว่าแม้นายหนึ่งได้ออกจากห้างฯ ไปแล้วนายหนึ่งยังคงต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้ต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี เป็นข้อตกลงขยายอายุความจึงตกเป็นโมฆะ
ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายหนึ่งต่อนายวิชัยและนายสมโชครับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 บัญญัติว่า "ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากห้างหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน” กำหนดนับสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 หมายถึงนับจากวันที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนต่อกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่วันทำสัญญาออกจากห้างหุ้นส่วน และไม่ใช่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (คำพิพากษาฎีกาที่ 5011/2547) การที่นายหนึ่งได้ออกจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสหาย โดยขายส่วนลงหุ้นให้แก่นายสี่ และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 เมื่อนายวิชัยเจ้าหนี้มาฟ้อง
เรียกให้นายหนึ่งรับผิดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จึงเกินกำหนดระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนต่อกระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 1068 แล้ว นายหนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายวิชัย ข้อต่อสู้ของนายหนึ่งต่อ
นายวิชัยจึงรับฟังได้
บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 มิใช่เป็นเรื่องอายุความและไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่กรณีจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2613/2523) เมื่อมีข้อตกลงระหว่างนายหนึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนกับนายสมโชคว่า แม้นายหนึ่งจะได้ออกจากห้างฯ ไปแล้ว นายหนึ่งยังคงรับผิดในหนี้ของห้างฯ ต่อไปอีก 5 ปี ข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ระหว่างผู้ตกลง เมื่อนายสมโชคเจ้าหนี้มาฟ้องเรียกให้นายหนึ่งรับผิดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้าปี นายหนึ่งจึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้กับนายสมโชคได้ ข้อต่อสู้ของนายหนึ่งต่อนายสมโชคจึงรับฟังไม่ได้

ข้อ 8
นายเดือนกับนางจันทร์จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่แต่ละคนมีอายุ 15 ปี โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาฝ่ายของตนแล้ว เมื่อนางจันทร์มีอายุเกือบ 17 ปี ก็มีครรภ์และคลอดบุตรคนแรก คือ นายดำ แล้วมีบุตรอีก 2 คน คือ นายเหลืองและนายเขียว ต่อมานายดำมีนายสมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และนายเหลืองมีนายสีเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อนายเดือนตาย นายเดือนมีทรัพย์มรดก 300,000 บาท หากปรากฏว่านายเขียวและบิดามารดาของนายเดือนตายก่อน นายเดือน และก่อนที่นายเดือนตาย นายดำได้ปลอมพินัยกรรมว่านายเดือนทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่นายดำทั้งหมด ส่วนนายเหลืองสละมรดกโดยชอบ
ให้วินิจฉัยว่า บุคคลใดบ้างมีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนายเดือน และได้รับคนละเท่าใด

ธงคำตอบ
นายเดือนกับนางจันทร์จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่แต่ละคนมีอายุ 15 ปี แม้จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาฝ่ายของตนแล้วก็ตาม ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เพราะการสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว การสมรสจึงตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 1503 แต่เมื่อศาลยังมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรส จนนางจันทร์มีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ การสมรสจึงสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรสตามมาตรา 1504 วรรคสอง
ทายาทโดยธรรมของนายเดือนได้แก่ นายดำ นายเหลือง ผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) และนางจันทร์คู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง เท่านั้น ส่วนนายเขียวกับบิดามารดาของนายเดือนตายก่อนนายเดือน ย่อมไม่มีสภาพบุคคลที่จะรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง นายดำ นายเหลือง และนางจันทร์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละส่วนเท่ากันตามมาตรา 1635 (1)
นายดำปลอมพินัยกรรมของนายเดือน นายดำจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (5) ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดก่อนนายเดือนตาย นายสมบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายดำและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง จึงรับมรดกแทนที่นายดำได้ ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643
นายเหลืองสละมรดกของนายเดือน นายสีเป็นบุตรบุญธรรมของนายเหลืองถือว่าเป็นผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ย่อมสืบมรดกได้ตามสิทธิของนายเหลืองตามมาตรา 1615 วรรคสอง
ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนายเดือนจึงได้แก่ นางจันทร์ นายสมตามส่วนของนายดำ และนายสีตามส่วนของนายเหลืองคนละ 100,000 บาท

ข้อ 9
  บริษัทกิฟท์ จำกัด สั่งซื้อเข็มกลัดโลหะจำนวน 100,000 ชิ้น ราคาชิ้นละ 100 บาท จากบริษัทมอนโร จำกัดประเทศฝรั่งเศส บริษัทมอนโร จำกัด ส่งสินค้าดังกล่าวโดยบรรจุเข็มกลัดลงในกล่องจำนวน 100 กล่อง และว่าจ้างให้บริษัทชิปเมนต์ จำกัด เป็นผู้ขนส่งจากท่าเรือต้นทางมาท่าเรือปลายทางที่ประเทศไทย โดยมีเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส และในใบตราส่งระบุเข็มกลัดโลหะบรรจุกล่องจำนวน 100 กล่อง บรรจุในตู้สินค้า มีบริษัทกิฟท์ จำกัดเป็นผู้รับตราส่ง เมื่อเรือสินค้าของบริษัทชิปเมนต์ จำกัด มาถึงท่าเรือกรุงเทพ บริษัททำแทน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทชิปเมนต์ จำกัด ในประเทศไทย ได้ว่าจ้างบริษัทเอ็มเอ็ม จำกัด ขนถ่ายเข็มกลัดโลหะขึ้นจากเรือ เพื่อส่งมอบให้แก่
บริษัทกิฟท์ จำกัด ผู้รับตราส่ง ปรากฏว่า กล่องที่บรรจุสินค้าเปียกน้ำเปื่อยยุ่ย 5 กล่อง เข็มกลัดโลหะขึ้นสนิมใช้การไม่ได้ทั้ง 5 กล่อง สาเหตุเกิดจากตู้สินค้าที่บรรจุกล่องเข็มกลัดโลหะมีรูรั่วที่หลังคา น้ำฝนไหลเข้าตู้สินค้าผ่านทางรูรั่ว และรูรั่วมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า บริษัทกิฟท์ จำกัด ผู้รับตราส่ง เรียกร้องให้บริษัทชิปเมนต์ จำกัด บริษัททำแทน จำกัด และบริษัทเอ็มเอ็ม จำกัด ร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดของเข็มกลัดโลหะจำนวน 5 กล่อง เป็นเงิน 500,000 บาท
ให้วินิจฉัยว่า  บริษัทชิปเมนต์ จำกัด บริษัททำแทน จำกัด และบริษัทเอ็มเอ็ม จำกัด จะต้องรับผิดต่อ
บริษัทกิฟท์ จำกัด หรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ
การที่เข็มกลัดโลหะเสียหายเนื่องจากน้ำฝนไหลเข้าตู้สินค้าผ่านทางรูรั่วที่หลังคาตู้สินค้าทำให้เข็มกลัดโลหะขึ้นสนิมใช้การไม่ได้ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เข็มกลัดโลหะอยู่ในความดูแลของบริษัทชิปเมนต์ จำกัด ผู้ขนส่งบริษัทชิปเมนต์ จำกัด จึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้าดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล
พ.ศ. 2534 มาตรา 39
การขนส่งเข็มกลัดโลหะมีเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ซึ่งผู้ขนส่งเป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งทำการตรวจนับและบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้วและเมื่อขนสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทาง ผู้ขนส่งจะเป็นผู้เปิดตู้เพื่อทำการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้เพื่อเตรียมส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง การที่เข็มกลัดโลหะขึ้นสนิมใช้การไม่ได้เกิดจากการที่หลังคาตู้ที่ใช้บรรจุสินค้ามีรูรั่วขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากได้มีการตรวจสอบสภาพตู้สินค้าก่อนนำมาบรรจุสินค้าย่อมพบรูรั่วนี้ได้โดยง่าย การที่ผู้ขนส่งไม่ได้
จัดเตรียมตู้สินค้าให้ดีเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่รับขน แต่กลับนำตู้สินค้าที่ชำรุดมีรูรั่วมาใช้บรรจุสินค้า เป็นความบกพร่องของผู้ขนส่งที่ละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรจุภายในตู้นั้นได้ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 60 (1) บริษัทชิปเมนต์ จำกัด ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในความเสียหายของเข็มกลัดโลหะต่อบริษัทกิฟท์ จำกัด ผู้รับตราส่งเต็มตามจำนวนที่เรียกร้อง ไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1273/2554)
สำหรับบริษัททำแทน จำกัด ไม่ได้รับมอบหมายจากบริษัทชิปเมนต์ จำกัด ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่เป็นเพียงตัวแทนผู้ขนส่งในการติดต่อว่าจ้าง บริษัทเอ็มเอ็ม จำกัด ให้ขนถ่ายเข็มกลัดโลหะเพื่อส่งมอบแก่บริษัทกิฟท์ จำกัด ผู้รับตราส่ง เพื่อให้การรับขนของผู้ขนส่งตัวการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี บริษัททำแทน จำกัดจึงไม่ใช่ผู้ขนส่งอื่นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทกิฟท์ จำกัด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4277/2540)
ส่วนบริษัทเอ็มเอ็ม จำกัด เป็นเพียงผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง ไม่ได้รับมอบหมายให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเล จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งอื่นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทกิฟท์ จำกัด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3879/2525)

ข้อ 10
นายปานผลิตแชมพูสมุนไพรที่มีส่วนผสมของดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งดอกอัญชันออกจำหน่าย โดยใช้
เครื่องหมายการค้าว่า “ปานแก้ว” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าแชมพูสระผม นายไฝ เจ้าของร้านสะดวกซื้อรับสินค้าแชมพูสระผมของนายปานมาจำหน่ายในร้าน ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวขายดีและเป็นที่รู้จักของลูกค้าพอสมควร ต่อมานายไฝ จึงผลิตน้ำสมุนไพรและขนมชั้นที่มีส่วนผสมของดอกอัญชันมาวางจำหน่ายในร้านของตนโดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ปานแก้ว” ที่มีลักษณะของเครื่องหมายเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของนายปาน และจัดโต๊ะตั้งสินค้าของตนรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันและติดกันกับที่วางจำหน่ายสินค้าแชมพูสระผมของนายปาน ปรากฏว่าลูกค้าที่มาซื้อแชมพูสระผมของนายปานก็ซื้อสมุนไพรและขนมชั้นของนายไฝไปด้วยเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ให้วินิจฉัยว่า นายปานจะฟ้องนายไฝขอบังคับให้ห้ามนายไฝกระทำละเมิด และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายไฝตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้หรือไม่

ธงคำตอบ
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44  ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น ดังนี้ เมื่อนายปานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ปานแก้ว” ไว้สำหรับใช้กับสินค้าแชมพูสระผม ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านี้สำหรับสินค้าแชมพูสระผมเท่านั้น การที่นายไฝใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ปานแก้ว” เช่นเดียวกับนายปาน แต่ใช้กับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้น อันเป็นสินค้าคนละจำพวกแตกต่างกับสินค้าแชมพูสระผม ซึ่งนายปานไม่ใช่ผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ปานแก้ว” สำหรับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้น การที่นายไฝใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้น ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของนายปานตามมาตรา 44 ดังกล่าว และถือว่าสำหรับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้นนั้น นายปานไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธินั้นได้ ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น” และการกระทำของนายไฝที่นำสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้นซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ปานแก้ว” เหมือนกับของนายปานและวางจำหน่ายรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันและติดกันกับที่วางจำหน่ายแชมพูสระผมสมุนไพรของนายปาน ย่อมเป็นการทำให้ผู้มาซื้อสินค้าแชมพูสระผมของนายปานเพราะนิยมในสินค้า
แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรของนายปาน คิดว่าน้ำสมุนไพรและขนมชั้นที่มีส่วนผสมของดอกอัญชันที่ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกันและอยู่ติดกันเป็นสินค้าของนายปาน อันเป็นการกระทำเพื่อลวงผู้ซื้อเข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า โดยไม่จำกัดว่าสินค้าที่ทำขึ้นจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้น เนื่องจากการลวงขายนอกจากจะเป็นการลวงในวัตถุแล้ว ยังรวมถึงการลวงในความเป็นเจ้าของสินค้าด้วย การกระทำของนายไฝจึงเป็นการละเมิดด้วยการลวงขายสินค้า นายปานจึงมีสิทธิฟ้องห้ามนายไฝกระทำละเมิดด้วยการลวงขายดังกล่าว และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา 46 วรรคสอง

คำถาม ธงคำตอบ วิอาญา เนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 65

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  ภาคสอง  สมัยที่  65  ปีการศึกษา  2555
วันอาทิตย์ที่  7  เมษายน  2556
-------------------------------

ข้อ  1.พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายคงเป็นจำเลยฐานยักยอกเงินจำนวน  300,000  บาท  ของนายมั่นผู้เสียหาย  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  352  ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้  นายคงให้การปฏิเสธ  ระหว่างพิจารณา  นายมั่นยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต  ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  นายคงมีความผิดตามฟ้อง  จำคุก  6  เดือน  นายคงยื่นอุทธรณ์ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์  นายมั่นถึงแก่ความตาย
(ก)นายทองยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมั่นขอเข้าดำเนินคดีต่างนายมั่นโจทก์ร่วมผู้ตาย  กรณีหนึ่ง
(ข)นางนกภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายคงแล้ว  ผู้ร้องและทายาททุกคนไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นายคงต่อไป  ขอถอนคำร้องทุกข์  อีกกรณีหนึ่ง
ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะสั่งคำร้องของนายทองตามข้อ  (ก)  และคำร้องของนางนกตามข้อ  (ข)  กับคดีอย่างไร

ธงคำตอบ
(ก) นายมั่นผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้วตายลง  แม้นายทองผู้ร้องจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมั่นโจทก์ร่วมก็ตาม  แต่นายทองผู้ร้องมิใช่ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาของผู้ตาย  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  29  ที่จะดำเนินคดีต่างนายมั่นโจทก์ร่วมผู้ตายต่อไปได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  2242/2533,  คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  13/2534)  ศาลชอบที่จะสั่งยกคำร้องของนายทองผู้ร้อง
(ข) การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิ  ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  126  วรรคหนึ่ง  บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้  สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน  และในกรณีผู้ร้องทุกข์ตาย  สิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท  เมื่อตามคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของนางนก ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นผู้ตายได้ความว่า  บรรดาทายาททุกคนของนายมั่นไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นายคงอีกต่อไป  และขอถอนคำร้องทุกข์  ดังนั้น  นางนกผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นผู้ตายจึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้  แม้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์  และเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามมาตรา  39  (2)  (คำสั่งศาลฎีกาที่  372/2549)  ศาลชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีนี้เสียจากสารบบความ

ข้อ  2.นายขาวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายดำโดยกล่าวหาว่า  วันเกิดเหตุขณะที่นายขาวยืนอยู่บริเวณหน้าบ้านของนายขาว  นายดำเดินเข้ามาทำร้ายนายขาวและเอาสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ของนายขาวไป  ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายดำได้ตามหมายจับ  และแจ้งข้อหาชิงทรัพย์กับแจ้งสิทธิตามกฎหมายชั้นจับกุมให้นายดำทราบ  นายดำรับสารภาพ  และแจ้งว่าได้เก็บสร้อยคอทองคำของนายขาวไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในบ้านของนายดำ เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกคำให้การของนายดำไว้ในบันทึกการจับกุมและยึดสร้อยคอทองคำเป็นของกลาง  ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาชิงทรัพย์และแจ้งสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ต้องหาพึงมีในชั้นสอบสวนให้นายดำทราบ  จากการสอบสวนได้ความว่า นอกจากนายดำแล้วยังมีนายเขียวและนายเหลืองร่วมกระทำความผิดด้วย  แต่นายเขียวและนายเหลืองหลบหนีไปได้  เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้วมีความเห็นว่า  ควรสั่งฟ้องนายดำฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำในความผิดฐานดังกล่าว
(ก) นายดำให้การปฏิเสธโดยต่อสู้ว่า  ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานมิได้แจ้งข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ให้นายดำทราบมาก่อน  เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนายดำในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  120  ขอให้ยกฟ้อง  ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายดำฟังขึ้นหรือไม่
(ข) ศาลจะรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายดำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

ธงคำตอบ
(ก) การสอบสวนเป็นเพียงการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา  เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ  และการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  134  เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใด  แม้เดิมเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาหนึ่ง  แต่เมื่อการสอบสวนปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานอื่น  ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานนั้นมาแล้วแต่แรก  ดังนั้น  แม้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่นายดำฐานชิงทรัพย์  แต่เมื่อพนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าการกระทำความผิดของนายดำเข้าองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ  โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องนายดำในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ได้  ข้อต่อสู้ของนายดำฟังไม่ขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  256/2553)
(ข) คำให้การในชั้นจับกุมของนายดำที่ว่า  ได้ทำร้ายร่างกายนายขาวและเอาสร้อยคอทองคำของนายขาวไปจริง  เป็นถ้อยคำที่ถือได้ว่าเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับขณะที่ตนถูกจับ  แม้กฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  84  วรรคท้าย  แต่กฎหมายก็มิได้ห้ามศาลนำมาใช้เป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย  ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  78  วรรคสอง  ศาลจึงรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายดำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  7245/2554)

ข้อ  3.  เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุมนายสมบัติได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน  จำนวน  100  เม็ด  นำส่งพันตำรวจโทโชคชัยพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จากการสอบสวนขยายผลนายสมบัติให้การซัดทอดว่าได้ร่วมกับนายสมชายจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน  พันตำรวจโทโชคชัยแจ้งให้ร้อยตำรวจโทบุญส่งทราบ  ร้อยตำรวจโทบุญส่งจึงวางแผนให้นายสมบัติโทรศัพท์จากสถานีตำรวจนครบาลบางเขนสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายสมชายอีก  จำนวน  100  เม็ด  โดยตกลงส่งมอบสิ่งของกันที่หน้าบ้านพักของนายสมชายในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไทในวันเดียวกัน  เมื่อร้อยตำรวจโทบุญส่งกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งแอบซุ่มดูการล่อซื้อเห็นนายสมบัติล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว  จึงร่วมกันเข้าไปจับกุมนายสมชายที่หน้าบ้านพักทันที  พร้อมยึดได้ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและเมทแอมเฟตามีนที่ได้จากการล่อซื้อเป็นของกลาง  ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นบ้านพักของจำเลย  ร้อยตำรวจโทบุญส่งได้บอกกับนายสมชายว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จะได้รับโทษเบาลง นายสมชายจึงนำเมทแอมเฟตามีนที่ตนซุกซ่อนไว้ภายในบ้านมามอบให้ร้อยตำรวจโทบุญส่งยึดไว้เป็นของกลาง  หลังจากนั้นจึงนำตัวนายสมชายพร้อมของกลางทั้งหมดมาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน  ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายสมชายเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท  1
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องนายสมชายจำเลยหรือไม่
(ข) การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งพูดจูงใจให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้ภายในบ้านมามอบให้เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลางในขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
(ก) เจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำผิดของนายสมบัติก่อนแล้วจึงสอบสวนขยายผล  นายสมบัติให้การซัดทอดว่าได้ร่วมกับจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน  การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งวางแผนให้นายสมบัติโทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยอีกจนจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท  จึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่นายสมบัติโทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลพญาไท  ซึ่งเป็นท้องที่ที่ทำการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางและจับกุมจำเลยได้  พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน  ดังนั้น  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนย่อมมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  19  วรรคหนึ่ง  (3)  การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ  พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา  120  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  4337/2554)
(ข) การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมจำเลย  ได้บอกจำเลยว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จะได้รับโทษเบาลงนั้น  เป็นการพูดในขณะที่ปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งของผิดกฎหมายที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย  แม้จะเป็นการพูดจูงใจในทำนองว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลงก็ไม่ถึงขั้นเป็นการให้คำมั่นสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  135  จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คำพิพากษาฎีกาที่  1542/2540)

ข้อ  4.(ก)  นายอาทิตย์ขับรถยนต์ชนรถยนต์ที่นายจันทร์ขับ  เป็นเหตุให้นายอาทิตย์และนายอังคารซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่นายจันทร์ขับได้รับอันตรายสาหัส  พนักงานอัยการเห็นว่านายจันทร์เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียว  จึงเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  300  ศาลชั้นต้นประทับฟ้อง  นายจันทร์ให้การปฏิเสธ  ต่อมานายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ในข้อหาเดียวกันอีก  และนายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์ว่า  นายอาทิตย์กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายอังคารได้รับอันตรายสาหัส  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  300  เช่นกัน  ทั้งสองคดีหลังศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง  แต่นายอาทิตย์และนายอังคารโจทก์ในสองคดีหลังต่างยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์  ศาลชั้นต้นอนุญาต  พร้อมกับมีคำสั่งในสองคดีหลังว่า  กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์  จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องสองคดีหลังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข)  หากกรณีตาม  (ก)  นายอาทิตย์ไม่ได้ฟ้องนายจันทร์  คงมีเพียงคดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์เท่านั้น  ซึ่งปรากฏว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  โจทก์  ทนายโจทก์  และจำเลยมาศาล  ศาลชั้นต้นมิได้ให้นายอังคารโจทก์นำพยานเข้าไต่สวน  เพียงแต่สอบถามข้อเท็จจริงแล้วนายอังคารโจทก์แถลงข้อเท็จจริงให้ทราบ  ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา  ส่วนนายอาทิตย์จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงและแถลงขอให้ลงโทษสถานเบา  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษนายอาทิตย์จำเลยไปทันทีในวันเดียวกัน
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
                (ก) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  162  วรรคหนึ่ง  (1)  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)  คือไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์  แม้พนักงานอัยการจะฟ้องนายจันทร์ไว้แล้ว  นายอาทิตย์เป็นผู้เสียหายก็ยังมีอำนาจฟ้องนายจันทร์เป็นคดีใหม่ได้อีก  และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน  อีกทั้งเป็นการฟ้องนายจันทร์ในข้อหาเดียวกันด้วย  ศาลชั้นต้นจึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตามบทบัญญัติดังกล่าว  แต่คดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์  แม้เป็นการฟ้องในข้อหาเดียวกันกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ก็ตาม  แต่จำเลยทั้งสองคดีไม่ใช่จำเลยคนเดียวกัน  จึงไม่ต้องด้วยมาตรา  162  วรรคหนึ่ง  (1)  ที่ศาลชั้นต้นจะจัดการตามอนุมาตรา  (2)  จึงต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน  ดังนั้น  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องคดีที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์นั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ให้งดไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องคดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้อง  นายอาทิตย์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                (ข) ตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา  มาตรา  162  วรรคสอง  ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้อง  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ  ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา  การที่ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากนายอังคารโจทก์ซึ่งแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบโดยมีการบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  เมื่อนายอาทิตย์จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นต้องสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องนายอาทิตย์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว  ถ้าศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จไปในวันนั้น  ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามมาตรา  173  วรรคสอง  และ  172  วรรคสอง  โดยสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ  อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง  และถามคำให้การจำเลย  หากจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานก็ได้  การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปทันทีในวันเดียวกันโดยมิได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนดังกล่าว  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                ข้อ  5.พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2556  เวลากลางวัน  จำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกบผู้เสียหายไปโดยทุจริต  เหตุเกิดที่แขวงลาดพร้าว  เขตลาดพร้าว  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335  วรรคแรก  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี  และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท  จำเลยให้การปฏิเสธ  ก่อนสืบพยาน  โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุเป็นว่า  เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว  เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร  โดยอ้างว่าเสมียนพิมพ์ผิดพลาด  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง  ยกคำร้อง
                ให้วินิจฉัยว่า
                (ก)โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องทันทีได้หรือไม่
                (ข)หากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 6,000 บาท  แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด   2  ปี  โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน  ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  196  โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องทันทีไม่ได้  และในกรณีเช่นนี้จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  227  และ  228  ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความมาบังคับใช้โดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  15  ไม่ได้  เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2229/2533)
                (ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2556  เวลากลางวัน  จำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกบผู้เสียหายไปโดยทุจริต  แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335  วรรคแรก  ก็ตาม  แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า  เหตุเกิดในเวลากลางคืน  ศาลจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา  335  ดังกล่าวไม่ได้คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  193  ทวิ  เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  1  ปี  และปรับ  6,000  บาท  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้  โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้  เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  10589/2553)

                ข้อ  6.ร้อยตำรวจโทธรรมสืบทราบว่านายแดงซึ่งศาลได้ออกหมายจับในคดีชิงทรัพย์หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านเลขที่  22  ของนายดำน้องชายนายแดง  จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายค้นบ้านหลังดังกล่าว  ศาลออกหมายค้นให้ตามคำร้องขอ  เมื่อร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกไปถึงบ้านนายดำ  พบว่านายแดงหลบหนีเข้าไปในบ้านเลขที่  23  ซึ่งตามทะเบียนบ้านมีนายแดงมีเจ้าบ้าน  ร้อยตำรวจโทธรรมได้แสดงตัวแต่นายแดงได้ปิดประตูไม่ยอมให้เข้าบ้าน  ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกตามเข้าไปจับนายแดง  นายแดงไม่ยอมเปิดประตูอ้างว่าจะมอบตัวในวันหลัง  ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกกระแทกประตูจนเปิดออกแล้วเข้าไปจับกุมนายแดงไว้ได้  ส่วนสิบตำรวจตรีพรเห็นนายเหลืองบุตรนายแดงกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนอยู่ในบ้านดังกล่าว  จึงเข้าจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
                ให้วินิจฉัยว่า  การตรวจค้นและจับกุมนายแดงและนายเหลืองชอบหรือไม่

ธงคำตอบ
                การจับในที่รโหฐานนั้น  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  81  บัญญัติว่า  ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม  ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน  เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอันนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน  ส่วนการค้นในที่รโหฐานนั้นตามมาตรา  92  วรรคหนึ่ง  (5)  หากผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน  และการจับนั้นมีหมายจับเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นและจับได้  การจับนายแดงย่อมกระทำได้ เนื่องจากนายแดงผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และมีหมายจับนายแดงตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว  ในการจับปรากฏว่านายแดงหลบหนีเข้าไปในบ้านแล้วปิดประตูไม่ยอมให้ร้อยตำรวจโทธรรมกับพวกเข้าไปจับ  ร้อยตำรวจโทธรรมกับพวกย่อมมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปในบ้านนั้น  การที่ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกกระแทกประตูบ้านจนเปิดออกแล้วเข้าไปจับนายแดงไว้ได้  นับว่าเป็นกรณีจำเป็นที่ร้อยตำรวจโทธรรมเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นมีอำนาจกระทำได้ตามมาตรา  94  วรรคสอง  เพราะเป็นการใช้กำลังอันเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งเรื่อง  (คำพิพากษาฎีกาที่  1035/2536,  6403/2545)  การตรวจค้นบ้านและจับกุม  นายแดงจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                เมื่อขณะตรวจค้นสิบตำรวจตรีพรเห็นนายเหลืองกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนในบ้านของนายแดงซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า  สิบตำรวจตรีพรย่อมมีอำนาจจับกุมนายเหลืองได้ตามมาตรา  98  (2)  การตรวจค้นและจับกุมนายเหลืองจึงชอบแล้วเช่นกัน

                ข้อ  7.  โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างทำของจำนวน  500,000  บาท  จากจำเลย  ตามภาพถ่ายสัญญาจ้างก่อสร้างท้ายฟ้อง  จำเลยให้การว่า  โจทก์ทำงานผิดพลาดหลายประการ  จำเลยจึงยังจ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้  แต่เมื่อมีการเจรจาประนอมข้อพิพาท  โจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันได้  ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การ  ทำให้หนี้เดิมตามคำฟ้องระงับสิ้นไปแล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  ขอให้ยกฟ้อง
                ให้วินิจฉัยว่า
                (ก) คดีมีประเด็นข้อพิพาท  และภาระการพิสูจน์อย่างไร
                (ข) ถ้าโจทก์ไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การไว้เลย  จำเลยจะนำสืบสำเนาหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแทนต้นฉบับได้หรือไม่
                (ค) โจทก์จะขอนำสืบพยานบุคคลว่าหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                (ก) คดีมีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า  โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่  จำเลยมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  84/1  เพราะจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวส่วนข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องนั้น  จำเลยมิได้ยกขึ้นปฏิเสธในคำให้การตามมาตรา  177  วรรคสอง  ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว  จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท
                (ข) ภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบไปท้ายคำให้การ  มีผลเท่ากับได้ส่งสำเนาเอกสารนั้นให้โจทก์และศาลล่วงหน้าถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  90  วรรคหนึ่ง  แล้ว  โจทก์มีหน้าที่ต้องคัดค้านการมีอยู่และความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารนั้นต่อศาลก่อนการนำสืบเอกสารดังกล่าวเสร็จตามมาตรา  125  วรรคหนึ่ง  เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านไว้  จำเลยจึงนำสืบสำเนาเอกสารนั้นแทนต้นฉบับได้ตามมาตรา  93  (4)
                (ค) การที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ  จึงมีผลห้ามมิให้โจทก์คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  125  วรรคสาม  โจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานทุกชนิดรวมทั้งพยานบุคคลว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับไม่ได้

                ข้อ  8.ร้อยตำรวจตรีเขียวได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสืบสวนหาข่าวที่ร้านอาหารกินด่วน  ซึ่งสืบทราบว่าเป็นแหล่งที่ผู้ค้ายาเสพติดชอบมาชุมนุม  ร้อยตำรวจตรีเขียวแต่งกายนอกเครื่องแบบสังเกตเห็นนายหนึ่งและนายสองมีพฤติการณ์น่าสงสัย  จึงไปนั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะใกล้กับโต๊ะของบุคคลทั้งสอง  ได้ยินนายหนึ่งพูดกับนายสองว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่บ้านนายสอง  ร้อยตำรวจตรีเขียวรายงานต่อพันตำรวจโทเหลือง  ต่อมาร้อยตำรวจตรีเขียวยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ออกหมายค้นบ้านนายสอง  แล้วพันตำรวจโทเหลืองและร้อยตำรวจตรีเขียวนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านนายสอง  พบนายหนึ่งและนายสอง  เมื่อตรวจค้นบ้านพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน  10,000  เม็ด  ซุกซ่อนอยู่  จึงจับกุมนายหนึ่งและนายสองพร้อมกับยึดยาเสพติดเป็นของกลางและดำเนินคดีแก่ทั้งสองคนในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  ชั้นพิจารณา  พันตำรวจโทเหลืองผู้จับกุมเป็นพยานเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบร้อยตำรวจตรีเขียวเนื่องจากร้อยตำรวจตรีเขียวต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นและหลบหนีไปต่างประเทศ  โดยโจทก์เพียงนำสืบอ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวที่ให้การเรื่องที่นายหนึ่งพูดกับนายสองดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพนักงานสอบสวน  นายหนึ่งและนายสองโต้แย้งว่า  เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลจากการลักลอบดักฟังซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ต้องห้ามมิให้รับฟัง  เช่นเดียวกับคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวซึ่งเป็นพยานบอกเล่า  ต้องห้ามมิให้รับฟังเช่นกัน
                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะอาศัยเมทแอมเฟตามีนของกลาง  และคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังลงโทษนายหนึ่งและนายสองได้หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ
                เมื่อการค้นได้เมทแอมเฟตามีนของกลางเกิดจากข้อมูลที่ร้อยตำรวจตรีเขียวได้ยินจากการสนทนาของนายหนึ่งและนายสองในร้านอาหารซึ่งเป็นสถานที่ที่บุคคลทั่วไปย่อมเข้าไปได้  ประกอบกับร้อยตำรวจตรีเขียวปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา  ซึ่งมีมูลกรณีให้สั่งได้โดยชอบ  การที่นายหนึ่งและนายสองสนทนากันโดยไม่ระมัดระวังและร้อยตำรวจตรีเขียวได้ยิน  จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจตรีเขียว  ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางได้มาจากการค้นของเจ้าพนักงานตามหมายค้นของศาล  กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ  ทั้งมิได้อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  226/1  แต่อย่างใด  ศาลย่อมรับฟังเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานได้
                ส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวนั้น  แม้ว่าจะเป็นพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  226/3  วรรคหนึ่ง  แต่เมื่อร้อยตำรวจตรีเขียวหลบหนีไปต่างประเทศไม่อาจมาเบิกความได้  จึงมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถได้ตัวพยานสำคัญมาเบิกความต่อศาล  ทั้งมีเหตุอันสมควรเนื่องจากมีเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้รับฟังได้  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  226/3  วรรคสอง  (2)  ศาลย่อมรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวได้
                อย่างไรก็ตาม  ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่าดังกล่าว  แม้ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง  และไม่ควรเชื่อพยานบอกเล่าโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย  แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวร้อยตำรวจตรีเขียวมาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากหลบหนีคดี  อันเป็นพฤติการณ์พิเศษ  ทั้งโจทก์ยังมีเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานประกอบมาสนับสนุน  ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังลงโทษนายหนึ่งและนายสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  227/1

                ข้อ  9.  ข้อเท็จจริงในสำนวนสอบสวนโดยย่อความว่า  เมื่อคืนวันศุกร์ที่  15  มีนาคม  2556  เวลา  22  นาฬิกาเศษ  ผู้ต้องหาที่  1  ถึงที่  15  และที่หลบหนีไปอีก  5  คน  ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  ได้แต่งตัวอำพรางตนเองโดยสวมชุดสีดำ  มีหมวกไหมพรมปิดหน้าร่วมปรึกษากันเพื่อที่จะเข้าปล้นทรัพย์ในโรงงานผลิตอาหารกระป๋องของบริษัทอิสระอุตสาหกรรม  จำกัด  และเพื่อที่จะไปฆ่านายเกษมเจ้าของโรงงานดังกล่าวเสีย  เหตุเกิดที่แขวงบางขุนนนท์  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร  แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาทั้ง  15  คน  ได้ในขณะที่ประชุมปรึกษาหารือกัน  ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทุกคนรับสารภาพและได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
                ให้ท่านในฐานะพนักงานอัยการร่างคำฟ้องเพื่อฟ้องผู้ต้องหาทุกคนในความผิดฐานซ่องโจร  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  83  และมาตรา  210  (ให้ร่างเฉพาะใจความในคำฟ้องเท่านั้น)

ธงคำตอบ
                ร่างคำฟ้องความผิดฐานซ่องโจร  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  83  และ  มาตรา  210
ตัวอย่างคำฟ้อง
                ข้อ  1.เมื่อวันที่  15  มีนาคม  2556  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  จำเลยที่  1  ถึงที่  15  กับพวกอีก  5  คน  ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันโดยบังอาจสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  ประชุมปรึกษากันเพื่อทำการปล้นทรัพย์และฆ่าผู้อื่น  ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค  2  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  และเป็นความผิดที่มีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป  อันเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจร
                เหตุเกิดที่แขวงบางขุนนนท์  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร
                ข้อ  2.ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง  ข้อ  1.  เจ้าพนักงานจับจำเลยที่  1  ถึงที่  15  ได้ทำการสอบสวนแล้ว  จำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ  ระหว่างสอบสวน  จำเลยที่  1  ถึงที่  15  ไม่ได้ถูกควบคุมตัวโดยได้รับการปล่อยชั่วคราว  ได้ส่งตัวจำเลยที่  1  ถึงที่  15  มาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว
                ขอให้ลงโทษจำเลยที่  1  ถึงที่  15  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  210  และ  83
                                                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                                                ลงชื่อ_________________โจทก์

ข้อ  10.นายเก่ง  กิจการดี  ในฐานะผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทกิจการดี  จำกัด  ออกเงินทดรองจำนวน  10  ล้านบาท  เพื่อวางมัดจำการทำสัญญาจะซื้อที่ดินที่จังหวัดภูเก็ตที่ตกลงซื้อขายกันในราคา  100  ล้านบาท  นายเก่งต้องการให้บริษัทซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อตั้งเพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดสามารถรับโอนที่ดินจากผู้ขายโดยตรงไม่ต้องโอนผ่านตนเอง
ดังนี้  ให้ท่านร่างหนังสือเชิญประชุมตั้งบริษัทกิจการดี  จำกัด  ที่มีวาระการประชุมครบถ้วน  โดยเฉพาะให้ครอบคลุมการซื้อขายที่ดินให้มีการโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ขายไปยังบริษัทโดยตรงไม่ต้องโอนผ่านนายเก่ง

ธงคำตอบ
หนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
บริษัทกิจการดี  จำกัด
วันที่______เดือน___________พ.ศ._____
เรื่อง       ขอเชิญประชุมตั้งบริษัท
เรียน       ท่านผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัทกิจการดี  จำกัด
                ด้วยผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทเรียบร้อยแล้ว  และบัดนี้ได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัทครบตามจำนวนที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงตกลงให้มีการประชุมตั้งบริษัทในวันที่_____เดือน_____________พ.ศ._____เวลา__________ณ_______________ ตามระเบียบวาระการประชุม  ดังต่อไปนี้
1.             พิจารณาตั้งข้อบังคับของบริษัท
2.             พิจารณาให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้  และค่าใช้จ่ายซึ่งจำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัท
3.             พิจารณาเรื่องหุ้น
4.             พิจารณาเลือกตั้งกรรมการชุดแรกของบริษัท  และกำหนดอำนาจกรรมการ
5.             พิจารณาเลือกตั้งผู้สอบบัญชี  และกำหนดค่าสินจ้าง
6.             เรื่องอื่นๆ  (ถ้ามี)

จึงเรียนมาเพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน