แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาอาญา เนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาอาญา เนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สรุปฎีกา กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

ฎีกาเด่น* กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 
อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิ.ย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

.......................

คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๙๐๕/๒๕๔๘ การจะถือว่าความผิดใดได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ ต้องปรากฏว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์ บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดในราชอาณาจักรที่บริเวณ ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ แต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๔๕/๒๕๕๒ จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชัก ธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม กรณีต้องด้วย ปอ. มาตรา ๕ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ได้กระทำตลอดไปในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือน เป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิด

        ข้อสังเกต การกระทำความผิดตามมาตรา ๕ วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในการ ตระเตรียมหรือการพยายามกระทำผิดใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้น จะทำนอกราชอาณาจักรถ้าผู้กระทำนั้นได้กระทำไปตลอดแล้วผลก็จะเกิดในราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบของมาตรา ๕ วรรคสอง แล้วดังนั้นไม่ต้องไปพิจารณามาตรา ๗ และ ๘ เพราะกรณีของมาตรา ๗ และ ๘ นั้นไม่ได้ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร แต่เป็นการต้องรับโทษในราชอาณาจักรสำหรับการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร