แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใหม่ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใหม่ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ๒๕๖๐ - บรรพ ๖ มรดก (มาตรา ๑๕๙๙ - ๑๗๕๕)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ๒๕๖๐

บรรพ ๖ มรดก (มาตรา ๑๕๙๙ - ๑๗๕๕)


ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๑๕๙๙ - ๑๖๑๙)

หมวด ๑ การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก (มาตรา ๑๕๙๙ - ๑๖๐๓)


หมวด ๑
การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก
-------------------------
               มาตรา ๑๕๙๙  เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
               ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
               มาตรา ๑๖๐๐  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
               มาตรา ๑๖๐๑  ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
               มาตรา ๑๖๐๒  เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
               ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๖๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับแก่ทายาทของบุคคลนั้น
               มาตรา ๑๖๐๓  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม
               ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”
               ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”

                มาตรา ๑๖๐๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕



หมวด ๒ การเป็นทายาท (มาตรา ๑๖๐๔ - ๑๖๐๗)

หมวด ๒
การเป็นทายาท
-------------------------
               มาตรา ๑๖๐๔  บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
               มาตรา ๑๖๐๕  ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
               มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น
               มาตรา ๑๖๐๖  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
               (๑) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
               (๒) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
               (๓) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
               (๔) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
               (๕) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
               เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
               มาตรา ๑๖๐๗  การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม


หมวด ๓ การตัดมิให้รับมรดก (มาตรา ๑๖๐๘ - ๑๖๐๙)


หมวด ๓
การตัดมิให้รับมรดก
-------------------------
               มาตรา ๑๖๐๘  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง
               (๑) โดยพินัยกรรม
               (๒) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
               ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน
               แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
               มาตรา ๑๖๐๙  การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้
               ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทำตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๐๘ (๑) หรือ (๒) ก็ได้


หมวด ๔ การสละมรดกและอื่น ๆ (มาตรา ๑๖๑๐ - ๑๖๑๙)

หมวด ๔
การสละมรดกและอื่น ๆ
-------------------------
               มาตรา ๑๖๑๐  ถ้ามรดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๑๖๑๑  ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดังต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้วคือ
               (๑) สละมรดก
               (๒) รับมรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข
               มาตรา ๑๖๑๒  การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
               มาตรา ๑๖๑๓  การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
               การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้
               มาตรา ๑๖๑๔  ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้
               เมื่อได้เพิกถอนการสละมรดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่ง เพื่อให้ตนรับมรดกแทนที่ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้
               ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยังมีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้น หรือทายาทอื่นของเจ้ามรดก แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๑๖๑๕  การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
               เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
               มาตรา ๑๖๑๖  ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกได้มรดกมาดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๖๑๕ แล้ว ผู้ที่ได้สละมรดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมรดกมา ในอันที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา ๑๖๑๗  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น
               มาตรา ๑๖๑๘  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป
               มาตรา ๑๖๑๙  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้

                มาตรา ๑๖๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕
                มาตรา ๑๖๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕


ลักษณะ ๒ สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก (มาตรา ๑๖๒๐ - ๑๖๔๕)

หมวด ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๑๖๒๐ - ๑๖๒๘)

หมวด ๑
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
-------------------------
               มาตรา ๑๖๒๐  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
               ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
               มาตรา ๑๖๒๑  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้แสดงเจตนากำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น แม้ทายาทโดยธรรมคนใดจะได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนโดยธรรมของตนจากทรัพย์มรดกส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมจนเต็มอีกก็ได้
               มาตรา ๑๖๒๒  พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔
               แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้
               มาตรา ๑๖๒๓  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม
               มาตรา ๑๖๒๔  ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้
               มาตรา ๑๖๒๕  ถ้าผู้ตายเป็นผู้สมรสแล้ว การคิดส่วนแบ่งและการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นให้เป็นไปดังนี้
               (๑) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ในมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘ และโดยเฉพาะต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๕๑๓ ถึง ๑๕๑๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น
               (๒) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ นอกจากมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘
               มาตรา ๑๖๒๖  เมื่อได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖๒๕ (๑) แล้ว ให้คิดส่วนแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรม ดังต่อไปนี้
               (๑) ทรัพย์มรดกนั้นให้แบ่งแก่ทายาทตามลำดับและชั้นต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้
               (๒) ส่วนแบ่งอันจะได้แก่ทายาทในลำดับและชั้นต่าง ๆ นั้น ให้แบ่งในระหว่างบรรดาทายาทในลำดับและชั้นนั้น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ แห่งลักษณะนี้
               มาตรา ๑๖๒๗  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
               มาตรา ๑๖๒๘  สามีภริยาที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน


หมวด ๒ การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ (มาตรา ๑๖๒๙ - ๑๖๓๑)

หมวด ๒
การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรม
ในลำดับและชั้นต่าง ๆ
-------------------------
               มาตรา ๑๖๒๙  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
               (๑) ผู้สืบสันดาน
               (๒) บิดามารดา
               (๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
               (๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
               (๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
               (๖) ลุง ป้า น้า อา
               คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕
               มาตรา ๑๖๓๐  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
               แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามาดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
               มาตรา ๑๖๓๑  ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่



หมวด ๓ การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ (มาตรา ๑๖๓๒ - ๑๖๓๘)


ส่วนที่ ๑ ญาติ (มาตรา ๑๖๓๒ - ๑๖๓๔)

ส่วนที่ ๑
ญาติ
-------------------------
               มาตรา ๑๖๓๒  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๒๙ วรรคสุดท้าย การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับญาติให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑ แห่งหมวดนี้
               มาตรา ๑๖๓๓  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
               มาตรา ๑๖๓๔  ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๔ นั้น ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้
               (๑) ถ้ามีผู้สืบสันดานต่างชั้นกัน บุตรของผู้ตายซึ่งอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่
               (๒) ผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน
               (๓) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด


ส่วนที่ ๒ คู่สมรส (มาตรา ๑๖๓๕ - ๑๖๓๘)

ส่วนที่ ๒
คู่สมรส
-------------------------
               มาตรา ๑๖๓๕  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
               (๑) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
               (๒) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๓) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) แต่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
               (๓) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๔) หรือ (๖) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๕) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
               (๔) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด
               มาตรา ๑๖๓๖  ถ้าเจ้ามรดกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ภริยาเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันมีสิทธิได้รับมรดกตามลำดับชั้นและส่วนแบ่งดังระบุไว้ในมาตรา ๑๖๓๕ แต่ในระหว่างกันเองให้ภริยาน้อยแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ
               มาตรา ๑๖๓๗  ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต คู่สมรสฝ่ายนั้นมีสิทธิรับจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ตกลงไว้กับผู้รับประกันภัย แต่จำต้องเอาจำนวนเบี้ยประกันภัย เพียงเท่าที่พิสูจน์ได้ว่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ผู้ตายจะพึงส่งใช้เป็นเบี้ยประกันภัยได้ ตามรายได้หรือฐานะของตนโดยปกติไปชดใช้สินเดิมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรส แล้วแต่กรณี
               ถึงอย่างไรก็ดี จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนตามบทบัญญัติข้างต้นนั้น รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชำระให้
               มาตรา ๑๖๓๘  เมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้ลงทุนออกเงินในการทำสัญญา และตามสัญญานั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องได้รับเงินปีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ยังจะต้องได้รับเงินปีต่อไปตลอดอายุ ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ จำต้องชดใช้สินเดิมของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรสแล้วแต่กรณี สุดแต่ว่าได้เอาเงินสินเดิม หรือสินสมรสไปใช้ในการลงทุนนั้น เงินที่จะต้องชดใช้สินเดิมหรือสินสมรสดังว่านี้ ให้ชดใช้เท่าจำนวนเงินซึ่งผู้จ่ายเงินรายปีจะเรียกให้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อผู้จ่ายจะได้จ่ายเงินรายปีให้แก่คู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นต่อไป


หมวด ๔ การรับมรดกแทนที่กัน (มาตรา ๑๖๓๙ - ๑๖๔๕)

หมวด ๔
การรับมรดกแทนที่กัน
-------------------------
               มาตรา ๑๖๓๙  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) (๓) (๔) หรือ (๖) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
               มาตรา ๑๖๔๐  เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้
               มาตรา ๑๖๔๑  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) หรือ (๕) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป
               มาตรา ๑๖๔๒  การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
               มาตรา ๑๖๔๓  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
               มาตรา ๑๖๔๔  ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก
               มาตรา ๑๖๔๕  การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะรับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกบุคคลอื่น


ลักษณะ ๓ พินัยกรรม (มาตรา ๑๖๔๖ - ๑๗๑๐)

หมวด ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๑๖๔๖ - ๑๖๕๔)

หมวด ๑
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
-------------------------
               มาตรา ๑๖๔๖  บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้
               มาตรา ๑๖๔๗  การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
               มาตรา ๑๖๔๘  พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้
               มาตรา ๑๖๔๙  ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น
               ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น
               มาตรา ๑๖๕๐  ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดการทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕๓ (๒) แห่งประมวลกฎหมายนี้
               ถ้าการจัดการทำศพ ต้องชักช้าไปด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลผู้มีอำนาจตามความในมาตราก่อนกันเงินเป็นจำนวนอันสมควรจากสินทรัพย์แห่งกองมรดกเพื่อใช้ในการนี้ โดยให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องต่อศาลได้ในกรณีที่ไม่ตกลงหรือคัดค้านการกันเงินจำนวนนั้น
               กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เงินค่าใช้จ่าย หรือเงินที่กันไว้อันเกี่ยวกับการจัดการทำศพนั้น ให้กันไว้ได้แต่เพียงจำนวนตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตาย แต่จะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสิทธิของเจ้าหนี้ของผู้ตาย
               มาตรา ๑๖๕๑  ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ ๔
               (๑) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดก หรือตามเศษส่วน หรือตามส่วนที่เหลือแห่งทรัพย์มรดก ซึ่งมิได้แยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป และมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับทายาทโดยธรรม
               (๒) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ หรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น
               ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ
               มาตรา ๑๖๕๒  บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้ จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำคำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๗๗ และมาตราต่อ ๆ ไป แห่งประมวลกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว
               มาตรา ๑๖๕๓  ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้
               ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย
               พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตามมาตรา ๑๖๖๓ ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้
               มาตรา ๑๖๕๔  ความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น
               ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น


หมวด ๒ แบบพินัยกรรม (มาตรา ๑๖๕๕ - ๑๖๗๒)


หมวด ๒
แบบพินัยกรรม
-------------------------
               มาตรา ๑๖๕๕  พินัยกรรมนั้น จะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
               มาตรา ๑๖๕๖  พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้
               มาตรา ๑๖๕๗  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้
               บทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้
               มาตรา ๑๖๕๘  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ
               (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
               (๒) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
               (๓) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
               (๔) ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
               มาตรา ๑๖๕๙  การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้น จะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ เมื่อมีการร้องขอเช่นนั้น
               มาตรา ๑๖๖๐  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ
               (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
               (๒) ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
               (๓) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
               (๔) เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
               มาตรา ๑๖๖๑  ถ้าบุคคลผู้เป็นทั้งใบ้และหูหนวกหรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นแบบเอกสารลับ ให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานซึ่งข้อความว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตนแทนการให้ถ้อยคำดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖๖๐ (๓) และถ้าหากมีผู้เขียนก็ให้เขียนชื่อกับภูมิลำเนาของผู้เขียนพินัยกรรมนั้นไว้ด้วย
               ให้กรมการอำเภอจดลงไว้บนซองเป็นสำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ปฏิบัติตามข้อความในวรรคก่อนแล้ว แทนการจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม
               มาตรา ๑๖๖๒  พินัยกรรมซึ่งได้ทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับนั้น กรมการอำเภอจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมจะเรียกให้กรมการอำเภอส่งมอบพินัยกรรมนั้นแก่ตนในเวลาใด ๆ กรมการอำเภอจำต้องส่งมอบให้
               ถ้าพินัยกรรมนั้นทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง ก่อนส่งมอบพินัยกรรม ให้กรมการอำเภอคัดสำเนาพินัยกรรมไว้แล้วลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ สำเนาพินัยกรรมนั้นจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่
               มาตรา ๑๖๖๓  เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้
               เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
               พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
               ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ หรือมิฉะนั้น จะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน
               มาตรา ๑๖๖๔  ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมซึ่งทำขึ้นตามมาตราก่อนนั้นย่อมสิ้นไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้
               มาตรา ๑๖๖๕  เมื่อผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐ จะให้เสมอกับลงลายมือชื่อได้ ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนในขณะนั้น
               มาตรา ๑๖๖๖  บทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พยานผู้ที่จะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐
               มาตรา ๑๖๖๗  เมื่อคนในบังคับไทยจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ พินัยกรรมนั้นอาจทำตามแบบซึ่งกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมบัญญัติไว้ หรือตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ก็ได้
               เมื่อทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ อำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอตามมาตรา ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑, ๑๖๖๒, ๑๖๖๓ ให้ตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้ คือ
               (๑) พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย กระทำการตามขอบอำนาจของตน หรือ
               (๒) พนักงานใด ๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้น ๆ ที่จะรับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้
               มาตรา ๑๖๖๘  ผู้ทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความในพินัยกรรมนั้นให้พยานทราบ เว้นแต่กฎหมายจะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๑๖๖๙  ในระหว่างเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหาร จะทำพินัยกรรมตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๘ มาตรา ๑๖๖๐ หรือมาตรา ๑๖๖๓ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านั้น ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ
               บทบัญญัติวรรคก่อนให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารทำพินัยกรรมในต่างประเทศในระหว่างที่ปฏิบัติการเพื่อประเทศในภาวะการรบหรือการสงครามในต่างประเทศโดยอนุโลม และในกรณีเช่นว่านี้ ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย
               ถ้าผู้ทำพินัยกรรมตามความในสองวรรคก่อนนั้นป่วยเจ็บหรือต้องบาดเจ็บ และอยู่ในโรงพยาบาล ให้แพทย์แห่งโรงพยาบาลนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอหรือพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย แล้วแต่กรณีด้วย
               มาตรา ๑๖๗๐  บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้
               (๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
               (๒) บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
               (๓) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
               มาตรา ๑๖๗๑  เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน
               ถ้าบุคคลนั้นเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานอื่น ๆ
               มาตรา ๑๖๗๒  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และต่างประเทศ มีอำนาจและหน้าที่เท่าที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้น ๆ ที่จะออกกฎกระทรวง เพื่อให้การเป็นไปตามประมวลกฎหมายบรรพนี้ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น

                มาตรา ๑๖๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕
                มาตรา ๑๖๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๕
                มาตรา ๑๖๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๙


หมวด ๓ ผลและการตีความแห่งพินัยกรรม (มาตรา ๑๖๗๓ - ๑๖๘๕)

หมวด ๓
ผลและการตีความแห่งพินัยกรรม
-------------------------
               มาตรา ๑๖๗๓  สิทธิและหน้าที่ใด ๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรม ให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ภายหลัง
               มาตรา ๑๖๗๔  ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมมีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นสำเร็จเสียก่อนเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันไร้ผล
               ถ้าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาเงื่อนไขสำเร็จ
               ถ้าเงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่ตกเป็นอันไร้ผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ
               แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่า ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคก่อนนั้น ให้ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ก็ให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมนั้น
               มาตรา ๑๖๗๕  เมื่อพินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน ผู้รับประโยชน์ตามข้อความแห่งพินัยกรรมนั้นจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นจนกว่าจะถึงเวลาที่เงื่อนไขสำเร็จ หรือจนกว่าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขตกเป็นอันพ้นวิสัยก็ได้
               ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะตั้งผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเสียเอง และเรียกให้ผู้ร้องนั้นวางประกันตามที่สมควรก็ได้
               มาตรา ๑๖๗๖  พินัยกรรมจะทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ หรือจะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ได้
               มาตรา ๑๖๗๗  เมื่อมีพินัยกรรมก่อตั้งมูลนิธิขึ้นตามมาตราก่อน ให้เป็นหน้าที่ของทายาทหรือผู้จัดการมรดก แล้วแต่กรณี ที่จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
               ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วมิได้ร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้
               มาตรา ๑๖๗๘  เมื่อมูลนิธิใดซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมได้ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้ว ให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่งผู้ทำพินัยกรรมจัดสรรไว้เพื่อการนั้น ตกเป็นของนิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๑๖๗๙  ถ้าจัดตั้งมูลนิธิขึ้นไม่ได้ตามวัตถุที่ประสงค์ ให้ทรัพย์สินตกทอดไปตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
               ถ้าพินัยกรรมไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือพนักงานอัยการ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ให้ศาลจัดสรรทรัพย์สินนั้นให้แก่นิติบุคคลอื่นซึ่งปรากฏว่ามีวัตถุที่ประสงค์ใกล้ชิดที่สุดกับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม
               ถ้าหากว่าจัดสรรทรัพย์สินอย่างนี้ไม่ได้ก็ดี หรือว่ามูลนิธินั้นตั้งขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผล
               มาตรา ๑๖๘๐  เจ้าหนี้ของผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งก่อตั้งมูลนิธินั้นได้เพียงเท่าที่ตนต้องเสียประโยชน์เนื่องแต่การนั้น
               มาตรา ๑๖๘๑  ถ้าทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมนั้น ได้สูญหาย ทำลาย หรือบุบสลายไป และพฤติการณ์ทั้งนี้เป็นผลให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน หรือได้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนทรัพย์สินนั้น ผู้รับพินัยกรรมจะเรียกให้ส่งมอบของแทนซึ่งได้รับมานั้น หรือจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๑๖๘๒  เมื่อพินัยกรรมทำขึ้นเป็นการปลดหนี้หรือโอนสิทธิเรียกร้อง พินัยกรรมนั้นมีผลเพียงจำนวนซึ่งคงค้างชำระอยู่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               ถ้ามีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ปลดให้หรือสิทธิเรียกร้องที่โอนไปนั้น ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้รับพินัยกรรมและให้ใช้มาตรา ๓๐๓ ถึง ๓๑๓, ๓๔๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมจะต้องกระทำการหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานั้น ๆ แล้ว บุคคลผู้ต้องจัดการตามพินัยกรรมหรือผู้รับพินัยกรรมจะกระทำการหรือดำเนินการนั้น ๆ แทนผู้ทำพินัยกรรมก็ได้
               มาตรา ๑๖๘๓  พินัยกรรมที่บุคคลทำให้แก่เจ้าหนี้คนใดของตนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มิได้ทำขึ้นเพื่อชำระหนี้อันค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนนั้น
               มาตรา ๑๖๘๔  เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด
               มาตรา ๑๖๘๕  ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดผู้รับพินัยกรรมไว้โดยคุณสมบัติที่ทราบตัวแน่นอนได้ ถ้ามีบุคคลหลายคนทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ดังนั้นได้ ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนปันเท่า ๆ กัน

                มาตรา ๑๖๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕
                มาตรา ๑๖๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕


หมวด ๔ พินัยกรรมที่ตั้งผู้ปกครองทรัพย์ (มาตรา ๑๖๘๖ - ๑๖๙๒)

หมวด ๔
พินัยกรรมที่ตั้งผู้ปกครองทรัพย์
-------------------------
               มาตรา ๑๖๘๖  อันว่าทรัสต์นั้น จะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใด ๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดีหรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น
               มาตรา ๑๖๘๗  ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือแก่ผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นแก่บุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น
               การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นี้ ห้ามมิให้ตั้งขึ้นเป็นเวลาเกินกว่ากำหนดแห่งการเป็นผู้เยาว์ หรือกำหนดที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกำหนดที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๑๖๘๘  การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นั้น ในส่วนที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย
               มาตรา ๑๖๘๙  นอกจากบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่มีความสามารถบริบูรณ์ จะรับตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ก็ได้
               มาตรา ๑๖๙๐  ผู้ปกครองทรัพย์นั้น ย่อมตั้งขึ้นได้โดย
               (๑) ผู้ทำพินัยกรรม
               (๒) บุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง
               มาตรา ๑๖๙๑  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในพินัยกรรม ผู้ปกครองทรัพย์จะทำพินัยกรรมตั้งบุคคลอื่นให้ทำการสืบแทนตนก็ได้
               มาตรา ๑๖๙๒  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ในส่วนที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ได้รับมอบไว้ ผู้ปกครองทรัพย์มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ปกครองตามความหมายในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้

                มาตรา ๑๙๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๕๐
                มาตรา ๑๖๘๘ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๔๘


หมวด ๕ การเพิกถอนและการตกไปแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม (มาตรา ๑๖๙๓ - ๑๖๙๙)

หมวด ๕
การเพิกถอนและการตกไป
แห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม
-------------------------
               มาตรา ๑๖๙๓  ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้
               มาตรา ๑๖๙๔  ถ้าจะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วยพินัยกรรมฉบับหลัง การเพิกถอนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อพินัยกรรมฉบับหลังนั้นได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้
               มาตรา ๑๖๙๕  ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับแต่ฉบับเดียว ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ
               ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับหลายฉบับ การเพิกถอนนั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้กระทำแก่ต้นฉบับเหล่านั้นทุกฉบับ
               มาตรา ๑๖๙๖  ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป
               วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ
               มาตรา ๑๖๙๗  ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น
               มาตรา ๑๖๙๘  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
               (๑) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
               (๒) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้
               (๓) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม
               (๔) เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป
               มาตรา ๑๖๙๙  ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดิน แล้วแต่กรณี



หมวด ๖ ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม (๑๗๐๐ - ๑๗๑๐)

หมวด ๖
ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรม
หรือข้อกำหนดพินัยกรรม
-------------------------
               มาตรา ๑๗๐๐  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิต หรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน
               ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดังกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่าง ๆ ได้อยู่ในขณะที่การจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ
               ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย
               มาตรา ๑๗๐๑  ข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตราก่อนนั้นจะให้มีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ก็ได้
               ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลธรรมดา ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนมีระยะเวลาอยู่ตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นนิติบุคคล ให้มีระยะเวลาเพียงสามสิบปี
               ถ้าได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ กำหนดนั้นมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
               มาตรา ๑๗๐๒  ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันไม่มีเลย
               ข้อกำหนดห้ามโอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
               บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย
               มาตรา ๑๗๐๓  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ
               มาตรา ๑๗๐๔  พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
               พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่
               มาตรา ๑๗๐๕  พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๕๒, ๑๖๕๓, ๑๖๕๖, ๑๖๕๗, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑ หรือ ๑๖๖๓ ย่อมเป็นโมฆะ
               มาตรา ๑๗๐๖  ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะ
               (๑) ถ้าตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเองโดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม หรือแก่บุคคลภายนอก
               (๒) ถ้ากำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจที่จะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม แต่ผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรมลักษณะเฉพาะนั้น อาจกำหนดโดยให้บุคคลใดคนหนึ่งเป็นผู้ระบุเลือกเอาจากบุคคลอื่นหลายคน หรือจากบุคคลอื่นหมู่ใดหมู่หนึ่ง ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมระบุไว้ก็ได้
               (๓) ถ้าทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ หรือถ้าให้บุคคลใดคนหนึ่งกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ
               มาตรา ๑๗๐๗  ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่น ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย
               มาตรา ๑๗๐๘  เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่ก็ได้ แต่หากผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ต่อมาเกินหนึ่งปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมพ้นจากการข่มขู่แล้ว จะมีการร้องขอเช่นว่านั้นไม่ได้
               มาตรา ๑๗๐๙  เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้น พินัยกรรมนั้นก็จะมิได้ทำขึ้น
               ความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้น บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมได้ก่อขึ้น
               แต่พินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น
               มาตรา ๑๗๑๐  คดีฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดดังนี้
               (๑) สามเดือนภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ในกรณีที่โจทก์รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมมีชีวิตอยู่ หรือ
               (๒) สามเดือนภายหลังที่โจทก์ได้รู้เหตุเช่นนั้นในกรณีอื่นใด
               แต่ถ้าโจทก์ไม่รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมอันกระทบกระทั่งถึงส่วนได้เสียของตน แม้ว่าโจทก์จะได้รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ก็ดี อายุความสามเดือนให้เริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น
               แต่อย่างไรก็ดี ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นสิบปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมตาย

                มาตรา ๑๗๐๒ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๔๘


ลักษณะ ๔ วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก (มาตรา ๑๗๑๑ - ๑๗๕๒)

หมวด ๑ ผู้จัดการมรดก (มาตรา ๑๗๑๑ - ๑๗๓๓)

หมวด ๑
ผู้จัดการมรดก
-------------------------
               มาตรา ๑๗๑๑  ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล
               มาตรา ๑๗๑๒  ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้
               (๑) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง
               (๒) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง
               มาตรา ๑๗๑๓  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
               (๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
               (๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
               การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
               มาตรา ๑๗๑๔  เมื่อศาลตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อการใดโดยเฉพาะ ผู้นั้นไม่จำต้องทำบัญชีทรัพย์มรดก เว้นแต่จะจำเป็นเพื่อการนั้น หรือศาลสั่งให้ทำ
               มาตรา ๑๗๑๕  ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้
               เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้
               มาตรา ๑๗๑๖  หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว
               มาตรา ๑๗๑๗  ในเวลาใด ๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย แต่ต้องเป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามรดกตายแล้วสิบห้าวัน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งความถามไปยังผู้ที่ถูกตั้งเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ก็ได้
               ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความมิได้ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้งความนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิเสธ แต่การรับเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จะทำภายหลังหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
               มาตรา ๑๗๑๘  บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
               (๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
               (๒) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
               (๓) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
               มาตรา ๑๗๑๙  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
               มาตรา ๑๗๒๐  ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐๙ ถึง ๘๑๒, ๘๑๙, ๘๒๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้โดยอนุโลม และเมื่อเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ใช้มาตรา ๘๓๑ บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา ๑๗๒๑  ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้
               มาตรา ๑๗๒๒  ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล
               มาตรา ๑๗๒๓  ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก
               มาตรา ๑๗๒๔  ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก
               ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย
               มาตรา ๑๗๒๕  ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร
               มาตรา ๑๗๒๖  ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
               มาตรา ๑๗๒๗  ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
               แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
               มาตรา ๑๗๒๘  ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน
               (๑) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
               (๒) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา ๑๗๒๖ ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
               (๓) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น
               มาตรา ๑๗๒๙  ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้
               บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย
               บุคคลซึ่งจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ตามมาตรา ๑๖๗๐ จะเป็นพยานในการทำบัญชีใด ๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้
               มาตรา ๑๗๓๐  ให้นำมาตรา ๑๕๖๓, ๑๕๖๔ วรรค ๑ และ ๒ และ ๑๕๖๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในระหว่างทายาทกับผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมและในระหว่างศาลกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง
               มาตรา ๑๗๓๑  ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้
               มาตรา ๑๗๓๒  ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา ๑๗๓๓  การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๓๒ นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว
               คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง



หมวด ๒ การรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงินและการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก (มาตรา ๑๗๓๔ - ๑๗๔๔)

หมวด ๒
การรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน
และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก
-------------------------
               มาตรา ๑๗๓๔  เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น
               มาตรา ๑๗๓๕  ทายาทจำต้องบอกทรัพย์มรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก
               มาตรา ๑๗๓๖  ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ
               ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น ฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ อนึ่ง ผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก
               มาตรา ๑๗๓๗  เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย
               มาตรา ๑๗๓๘  ก่อนแบ่งมรดก เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ทายาทคนหนึ่ง ๆ อาจเรียกให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้จนถึงเวลาแบ่งมรดก
               เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทคนอื่นได้
               มาตรา ๑๗๓๙  ให้ชำระหนี้ที่กองมรดกค้างชำระตามลำดับต่อไปนี้ และตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยบุริมสิทธิ โดยต้องไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่บรรดาเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิพิเศษตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และบรรดาเจ้าหนี้ที่มีประกันโดยการจำนำหรือการจำนอง
               (๑) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก
               (๒) ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก
               (๓) ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่
               (๔) ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้และคนงาน
               (๕) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก
               (๖) หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก
               (๗) บำเหน็จของผู้จัดการมรดก
               มาตรา ๑๗๔๐  เว้นแต่เจ้ามรดกหรือกฎหมายจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ตามลำดับต่อไปนี้
               (๑) ทรัพย์สินนอกจากอสังหาริมทรัพย์
               (๒) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจัดสรรไว้ชัดแจ้งในพินัยกรรมว่าสำหรับชำระหนี้ถ้าหากว่ามีทรัพย์สินเช่นนั้น
               (๓) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งทายาทโดยธรรมชอบที่จะได้รับในฐานะเช่นนั้น
               (๔) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยมีเงื่อนไขว่า ผู้นั้นต้องชำระหนี้ของเจ้ามรดก
               (๕) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะทั่วไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑
               (๖) ทรัพย์สินเฉพาะอย่างซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะเฉพาะดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑
               ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดสรรไว้ตามความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ให้เอาออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้ โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
               มาตรา ๑๗๔๑  เจ้าหนี้กองมรดกคนใดคนหนึ่ง จะคัดค้านการขายทอดตลาดหรือการตีราคาทรัพย์สินดังระบุไว้ในมาตราก่อน โดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเองก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ได้ร้องคัดค้านแล้ว ยังได้กระทำการขายทอดตลาด หรือตีราคาไป จะยกการขายทอดตลาดหรือตีราคานั้นขึ้นยันต่อเจ้าหนี้ผู้ร้องคัดค้านแล้วนั้นหาได้ไม่
               มาตรา ๑๗๔๒  ถ้าในการชำระหนี้ซึ่งค้างชำระอยู่แก่ตน เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้รับตั้งในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ ให้เป็นผู้รับประโยชน์ในการประกันชีวิต เจ้าหนี้คนนั้นชอบที่จะได้รับเงินทั้งหมด ซึ่งได้ตกลงไว้กับผู้รับประกัน อนึ่ง เจ้าหนี้เช่นว่านั้น จำต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมรดกก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนอื่น ๆ พิสูจน์ได้ว่า
               (๑) การที่ผู้ตายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยวิธีดังกล่าวมานั้นเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และ
               (๒) เบี้ยประกันภัยเช่นว่านั้น เป็นจำนวนสูงเกินส่วนเมื่อเทียบกับรายได้หรือฐานะของผู้ตาย
               ถึงอย่างไรก็ดี เบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนเข้ากองมรดกนั้นต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับประกันชำระให้
               มาตรา ๑๗๔๓  ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมโดยลักษณะทั่วไปไม่จำต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรมลักษณะเฉพาะเกินกว่าจำนวนทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ
               มาตรา ๑๗๔๔  ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกและผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้และส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน


หมวด ๓ การแบ่งมรดก (มาตรา ๑๗๔๕ - ๑๗๕๒)

หมวด ๓
การแบ่งมรดก
-------------------------
               มาตรา ๑๗๔๕  ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา ๑๓๕๖ ถึงมาตรา ๑๓๖๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้
               มาตรา ๑๗๔๖  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย หรือข้อความในพินัยกรรมถ้าหากมี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้เป็นทายาทด้วยกันมีส่วนเท่ากันในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
               มาตรา ๑๗๔๗  การที่ทายาทคนใดได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด หรือประโยชน์อย่างอื่นใดจากเจ้ามรดกโดยการให้ หรือโดยการอย่างอื่นใด ซึ่งทำให้โดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่นั้น หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของทายาทคนนั้น ต้องเสื่อมเสียไปแต่โดยประการใดไม่
               มาตรา ๑๗๔๘  ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แล้วก็ดี
               สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
               มาตรา ๑๗๔๙  ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้
               แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่ง หรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้
               มาตรา ๑๗๕๐  การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
               ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา ๘๕๐, ๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา ๑๗๕๑  ภายหลังที่ได้แบ่งมรดกกันแล้ว ถ้าทรัพย์สินทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทายาทคนใดคนหนึ่งได้รับตามส่วนแบ่งปันนั้น หลุดมือไปจากทายาทคนนั้นเนื่องจากการรอนสิทธิ ทายาทคนอื่น ๆ จำต้องใช้ค่าทดแทน
               หนี้เช่นว่านั้น เป็นอันระงับเมื่อมีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น หรือการรอนสิทธิเป็นผลเนื่องมาจากความผิดของทายาทผู้ถูกรอนสิทธิ หรือเนื่องมาจากเหตุซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแบ่งปัน
               ทายาทคนอื่น ๆ ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่ทายาทผู้ถูกรอนสิทธิตามส่วนแห่งส่วนแบ่งของตน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ย ซึ่งทายาทผู้ถูกรอนสิทธิจะต้องออกกับเขาด้วยนั้นออกเสีย แต่ถ้าทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัว ทายาทคนอื่น ๆ ต้องรับผิดในส่วนของทายาทคนนั้นตามส่วนเฉลี่ยเช่นเดียวกัน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ยซึ่งทายาทผู้ที่จะได้รับค่าทดแทนจะต้องออกแทนทายาทผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นออกเสีย
               บทบัญญัติในวรรคก่อน ๆ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ
               มาตรา ๑๗๕๒  คดีฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการรอนสิทธิตามมาตรา ๑๗๕๑ นั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่เมื่อถูกรอนสิทธิ



ลักษณะ ๕ มรดกที่ไม่มีผู้รับ (มาตรา ๑๗๕๓)

ลักษณะ ๕
มรดกที่ไม่มีผู้รับ
-------------------------
               มาตรา ๑๗๕๓  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน


ลักษณะ ๖ อายุความ (มาตรา ๑๗๕๔ - ๑๗๕๕)


ลักษณะ ๖
อายุความ
-------------------------
               มาตรา ๑๗๕๔  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
               คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
               ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
               ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
               มาตรา ๑๗๕๕  อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

                มาตรา ๑๗๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕


เหตุผลในการประกาศใช้


พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๘ วรรคสอง บัญญัติว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จำต้องแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๐ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๕ ซึ่งให้ศาลมีอำนาจอนุญาตให้ชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ทำการสมรสได้โดยบัญญัติให้ชายหญิงซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลทำการสมรสได้ก่อนอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส นอกจากนี้ได้พิจารณาเห็นว่า มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๐ และวรรคสองของมาตรา ๑๓๗ เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิสตรี สมควรยกเลิกเสีย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๒๘ วรรคสอง บัญญัติว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จำต้องแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๒๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่หนึ่งร้อยคน และมีบทบัญญัติควบคุมการเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนถูกหลอกลวงแล้ว สมควรกำหนดห้ามมิให้บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นถึงหนึ่งร้อยคนและเสนอขายหุ้น หรือหุ้นกู้ต่อประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ หมวด ๔ เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสมบูรณ์ของการหมั้นและผลของการหมั้น การคุ้มครองคู่สมรสที่วิกลจริต การจัดการสินสมรส การแยกสินสมรสและรวมสินสมรส การสมรสที่เป็นโมฆะ เหตุหย่า ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรในกรณีมีการหย่า บทสันนิษฐานความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร การฟ้องปฏิเสธความเป็นบุตร การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร การฟ้องให้รับเด็กเป็นบุตร อำนาจปกครอง การเป็นผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ การจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ผู้ปกครอง และบุตรบุญธรรมนั้น ยังไม่สอดคล้องและไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและบทบัญญัติหลายประการล้าสมัย ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๓๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๒๑ ให้ยกเลิกการกำหนดอัตราส่วนการถือหุ้น และจำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด และเพื่อให้การแปรสภาพบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เป็นไปโดยความสมัครใจ ในกรณีที่บริษัทจำกัดประสงค์จะชี้ชวนให้ประชาชนร่วมลงทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องขายฝากมีบทบัญญัติยังไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้มีการเอาเปรียบผู้ขายฝากโดยการกำหนดสินไถ่ที่สูงเกินควร เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา รวมทั้งในกรณีที่ถึงกำหนดเวลาไถ่ผู้ซื้อฝากมักจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้มีการไถ่จนเป็นเหตุให้ผู้ขายฝากต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปโดยไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ เห็นควรปรับปรุงระยะเวลาในการใช้สิทธิไถ่ในสัญญาขายฝากให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้บัญญัติให้หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสะสม เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มให้ลูกจ้าง หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้าง โดยให้รวมความถึง สิทธิของเสมียน คนใช้ และคนงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓ เดิมด้วย โดยกำหนดลำดับบุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากร ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และจำนวนเงินสูงสุดของบุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๔๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ประเภทของสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวนเงินในการกู้ยืมเงินที่ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำนวนเงินที่เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าคัดสำเนาเอกสารตามที่ปรากฏในบทบัญญัติที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด รวมถึงจำนวนเงินรางวัลหรือค่าธรรมเนียมที่บุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินหายต้องชำระให้แก่ผู้เก็บได้หรือแก่ส่วนราชการที่รับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๙๑๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัทของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีการลาออกของหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด และการลาออกของกรรมการบริษัทจำกัด กำหนดเวลาที่การลาออกมีผล ตลอดจนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในผลทางกฎหมาย และการนำผลทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวไปใช้อ้างอิง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่บทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๕ มาตรา ๑๔๔๖ มาตรา ๑๔๔๗/๑ วรรคสาม มาตรา ๑๕๑๖ (๑) และมาตรา ๑๕๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และหลักการห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศที่เคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๕๐๑๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนซึ่งกำหนดให้สามารถก่อตั้งทรัสต์เพื่อเป็นเครื่องมืออีกประการหนึ่งที่จะทำให้ธุรกรรมในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขข้อติดขัดบางประการในการระดมทุนและในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๑๑๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางมาตราสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชนและก่อให้เกิดความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และความล่าช้าต่อการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ นอกจากนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวและเพื่อให้การดำเนินกิจการค้าในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนและบริษัทมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑๑๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้สามีภริยาอยู่ต่างหากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย การนับวันที่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา และการกลับมีอำนาจปกครองบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมนั้น ยังไม่สอดคล้องและไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗๑๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ในการที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้เท่านั้น โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติปรากฏว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม มักจะอาศัยอำนาจต่อรองที่สูงกว่าหรือความได้เปรียบในทางการเงินกำหนดข้อตกลงอันเป็นการยกเว้นสิทธิของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือให้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น กรณีจึงส่งผลให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องล้มละลายอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๘๑๖
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการค้ำประกันและจำนองเพื่อให้มีความเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน สมควรกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ รวมทั้งสามารถทำข้อตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ หากเป็นสถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘๑๗
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้บัญญัติให้สามารถนำสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครอง จึงสมควรแก้ไขให้สิทธิตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเหนือสิทธิเรียกร้องที่นำมาเป็นหลักประกัน ตกไปเป็นของผู้รับโอนเมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นไปเช่นเดียวกับสิทธิจำนอง จำนำ หรือค้ำประกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๐๑๘
หมายเหตุ :- สืบเนื่องจากรายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๖ จาก ๑๙๐ ประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการประกอบธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรการเร่งรัดการดำเนินการการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานและการบริการในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรายงานผลของธนาคารโลกแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นความยุ่งยากและซับซ้อนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รวมทั้งขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ และระเบียบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีความสำคัญในกฎหมายบางฉบับอันจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่ออันดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในการประเมินของธนาคารโลกครั้งต่อไป รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มโอกาสในการเป็นแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๑๔๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๙๘/๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๑๘๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๖ กันยายน ๒๕๓๓
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๑/๘ เมษายน ๒๕๓๕
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๓/หน้า ๕๖/๘ เมษายน ๒๕๓๕
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๑/๙ เมษายน ๒๕๔๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑/๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๑๐ ก/หน้า ๑/๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
               ๑๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๑๗ ก/หน้า ๑/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
               ๑๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๓ ก/หน้า ๑๔/๑๒ กันยายน ๒๕๕๐
               ๑๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๒/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
               ๑๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๑๒/๓ มีนาคม ๒๕๕๑
               ๑๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๕ ก/หน้า ๕/๗ มีนาคม ๒๕๕๑
               ๑๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๗๗ ก/หน้า ๑๔/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
               ๑๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๖๓ ก/หน้า ๓๐/๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘
               ๑๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐๔ ก/หน้า ๔๙/๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
               ๑๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๔๙/๔ เมษายน ๒๕๖๐