แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ อ.เอื้อน ขุนแก้ว(ภาคปกติ) 3 ธ.ค 62 สมัยที่72


สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ สมัยที่72  

อ.เอื้อน ขุนแก้ว(ภาคปกติ) 3 ธ.ค 62 

----------------

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2549 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2545 ส่วนศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และตั้งผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 และต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 ดังนี้ เมื่อหนี้คดีนี้อันเกิดจากมูลละเมิดเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และแผนพื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/62 และไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (4)

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3443/2545 การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเป็นสิทธิของโจทก์ เพียงแต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง(1) ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อน การที่โจทก์ไม่ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ศาลไม่อาจสอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ยื่นคำให้การแล้วได้นั้น ศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียได้ แต่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นคำให้การไม่ได้เพราะมาตรา 175 วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าเป็นการถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องโดยยื่นเป็นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล ดังนั้น คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นต้องสั่งอนุญาตเพราะเป็นคนละส่วนกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมดและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เพราะเหตุทิ้งฟ้อง


           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง

           คำพิพากษาฎีกาที่ 5230/2560 เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา และภายหลังศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวของจำเลย
           ต่อมาศาลยกเลิกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และจำเลยทำนิติกรรมหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลยังมิได้มีคำสั่งให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวมีผลต่อไป จำเลยย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนเองตามปกติได้

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2546 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 (1) ประกอบมาตรา 90/12 (4) เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ถือว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/79 แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่า มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26
           ผู้ร้องอ้างว่า ลูกหนี้ผิดสัญญา จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกหนี้ ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามมาตรา 90/12 (4) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา 90/13 หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นในการฟื้นฟูกิจการ คดีนี้เมื่อมูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและลูกหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 ถือได้ว่าการจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13 (1) ศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12 (4)


-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์* ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดททุกวัน.... รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate