แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งฎีกาผู้ช่วย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งฎีกาผู้ช่วย แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙, ๓๖๖/๓

 

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : องค์ประกอบความผิด (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

ทบทวนเตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี 2567 -2568)


        ถ้าวัตถุแห่งการกระทําคือ “คน” ไม่ใช่ “ศพ” การกระทําก็ไม่ผิดมาตรา ๑๙๙ และไม่ผิดมาตรา ๓๖๖/๓

 

          ฎีกาที่ ๑๓๒๖๒/๒๕๕๘ วินิจฉัยว่า การที่จําเลยยกร่างชายที่หมดสติขึ้นรถกระบะแล้วนําฟางมาคลุมร่างกายแล้วจุดไฟเผารถกระบะ โดยเข้าใจผิดว่าชายนั้นถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จําเลยไม่ผิดมาตรา ๑๙๙ แม้จะกระทําไปโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อปกปิดเหตุแห่งการตาย (ทําไปเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่ารถถูกไฟไหม้และไฟคลอกคนในรถตาย)

          เหตุผล เพราะ “ขาดองค์ประกอบภายนอก” เนื่องจาก “วัตถุแห่งการกระทํา” ตามมาตรา ๑๔ คือ “ศพ” แต่ตามความจริงสิ่งที่ถูกเผาคือ “คน” ไม่ใช่ “ศพ” (ถือ “ความจริง” เป็นหลักในการวินิจฉัย)

           ข้อสังเกต จําเลยก็ไม่ผิดมาตรา ๓๖๖/๓ เพราะไม่ใช่การ “ทําลายศพ” แต่จําเลยผิดมาตรา ๒๑๗ และมาตรา ๒๙๑

คดีนี้ ศาลตัดสินว่าจําเลยผิด มาตรา ๒๑๗ เพราะเป็นรถกระบะของผู้อื่น และผิดมาตรา ๒๙๑ โดยไม่ผิดมาตรา ๒๘๘ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นมาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๒๙๑ ดังนี้

          การที่จําเลยจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้ว เป็นการกระทําโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มี เจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทําของจําเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจําเลยจักต้องมีตามวิสัยและ พฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงมีความผิดฐาน “กระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ตามมาตรา ๒๙๑


ย่อหลักกฎหมาย 

มาตรา ๑๙๙ เป็นกระทําไปโดย "มีเจตนาพิเศษ" เพื่อปกปิดเหตุแห่งการตาย

มาตรา ๓๖๖/๓  “ทําลายศพ” 


 คำบรรยายเนติ วิชา กฎหมายอาญา ม.๕๙-๑๐๖ อ.เกียรติขจรฯ เล่มที่ ๓ สมัยที่ ๗๗