แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถามตอบ บทบรรณาธิการ ภาค1 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถามตอบ บทบรรณาธิการ ภาค1 แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม8


----------------------------


                  คำถาม  ธนาคารเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก หรือไม่
                   คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 7819/2552  การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 624/2553  การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ปรากฎว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปนั้นเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นจำเนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 10558/2553 การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินฝากประจำของโจทก์มาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ เป็นการกู้ยืมเงินโดยมีเงินฝากประจำเป็นหลักประกัน เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินฝากประจำมาหักกลบลบหนี้แล้วแต่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามยังคงคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ยังมิได้นำหนังสือรับรองสินเชื่อมาคืนให้จำเลยที่ 1 เช่นนี้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง เงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้กับจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จึงมิใช่เป็นการที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จัดการทรัพย์สินของตน การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานยักยอก


                    คำถาม  สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินโดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินการบังคับตามคำพิพากษาตามยอมต่อที่ดิน เพื่อมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้กู้บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้ จะเป็นความผิดหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  701/2553  จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับ และสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน


                   คำถาม   ขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์บรรทุกโทรทัศน์ที่ลักไป โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ลักมา เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  8396/2552  การกระทำความผิดฐานรับของโจร ผู้กระทำไม่จำต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ อ. นั่งซ้อนท้าย บรรทุกโทรทัศน์ของกลางไปที่อำเภอดอนสัก โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ อ. ลักมา ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสียอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรแล้ว


                  คำถาม  นำภาพถ่าย (ไม่ได้ใช้ต้นฉบับ) หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และยื่นฟ้องทายาทเจ้าของที่ดินตามโฉนดจะเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  9026/2553  โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาล เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ การที่จำเลยนำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นคำฟ้องบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการ กระทำของจำเลยแล้ว เพราะอาจต้องเสียที่ดินพิพาทไปจากการกระทำดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
                   เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารสิทธิปลอม ภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวที่จำเลยถ่ายสำเนามา จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอมด้วย  เมื่อจำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไปใช้อ้างเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องและคำฟ้องโดยรู้อยู่แล้วว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว
                     จำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวไปยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยต่างวันเวลากัน การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

                     คำถาม  ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า จะต้องผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนดังกล่าวหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  454/2552  สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา  ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท  เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต

                    คำถาม   การคืนเงินประกันการเช่าเป็นหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจะต้องรับผิดและปฏิบัติต่อผู้เช่าหรือไม่
             ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่ามีสิทธิขอให้บังคับผู้ให้เช่าส่งมอบค่าเช่าหลังจากโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่เช่าและเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระแก่ผู้ให้เช่าหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    (ก) คำพิพากษาฎีกาที่  1990/2552 โจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทมาจาก ป. โดยมีจำเลยเช่าตึกแถวดังกล่าวจาก ป. อยู่ก่อนแล้ว โดยจำเลยชำระเงินประกันความเสียหายจากการเช่าให้ ป. ใช้จำนวนหนึ่ง เงินประกันการเช่านี้เป็นเงินประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เช่าและผู้ให้เช่าเดิม แม้ระบุไว้ในสัญญาเช่าก็เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดระหว่างผู้ให้เช่าตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง การคืนเงินประกันการเช่าจึงไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าที่โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะต้องรับผิดและปฏิบัติตาม  เมื่อโจทก์ไม่ต้องรับผิดคืนเงินประกันการเช่า ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีสิทธินำเงินประกันการเช่าจำนวน 72,000 บาทมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์ได้
                     (ข) คำพิพากษาฎีกาที่  44/2553  ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 569 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า และผู้รับโอนย่อมรับไปทังสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วยนั้น ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม
                    คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2036 และที่ดินโฉนดเลขที่ 20279 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 76/4-7 ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อาคารพาณิชย์เลขที่ดังกล่าวจำเลยได้ให้นาย ก. เช่ามีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท โดยนาย ก. ได้วางเงินประกันความเสียหายจากการเช่าไว้แก่จำเลย จำนวน 200,000 บาท ดังนั้น โจทก์จึงได้รับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่จำเลยและนาย ก. ทำไว้ ต่อมาปรากฎว่าภายหลังจากที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว จำเลยยังได้รับค่าเช่าจากนาย ก. นอกจากนั้นการที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวมา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินประกันความเสียหายตามสัญญาเช่าดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเช่า ค่าประกันพร้อมดอกเบี้ย
                     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 569 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม3

------------------------


                          คำถาม  การบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปเพียงเท่าที่คิดว่าพอกับที่ลูกหนี้เป็นหนี้ โดยไม่ได้เอาทรัพย์สินอื่นที่มีค่ามากไปด้วย จะถือว่ามีเจตนาทุจริตหรือไม่
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                         คำพิพากษาฎีกาที่  674/2554  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยกับพวกเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บและบังคับเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเท่าที่คิดว่าพอกับค่าจ้างที่ผู้เสียหายเป็นหนี้พวกจำเลยอยู่เท่านั้นไม่ได้ เอาทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีค่ามากไปด้วยก็ตาม  แต่การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย

                        คำถาม  การใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่กระสุนไม่ลั่นและผู้นั้นได้วิ่งหลบหนีไป  หากผู้กระทำตามไปยิงอีกจะยังถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายอีกหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6370/2554  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัดแล้ว อ. ได้ชักอาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ก่อนจริง พฤติการณ์ของ อ. เช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 เห็นว่า อ. ได้ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแก่ตน ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิป้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ อ. 1 นัด ในทันทีทันใด แม้กระสุนจะลั่นหรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธยิง อ. แต่กระสุนปืนไม่ลั่นแล้ว อ. ได้วิ่งหลบหนีไป เช่นนี้ เหตุที่จำเลยที่ 1 จะป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไป การที่จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตาม อ. ไป แล้วยิงต่อสู้กับ อ. อีกเช่นนี้ เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการที่ อ. ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ก่อนอันถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งหลังจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

                       คำถาม  หนังสือสัญญาซื้อขายระยุว่า ราคาส่วนที่เหลือ อ. ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าปรากฏว่าผู้ขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อบางส่วนเหลือที่ดินส่วนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนอีก  หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินส่วนที่เหลือติดต่อกันกว่า 10 ปี จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3878/2554  หนังสือสัญญาซื้อขายอาคารพาณิชย์และที่ดินข้อ 3 ระบุว่า ผู้ซื้อต้องชำระราคาแก่ผู้ขายในวันทำสัญญาจำนวน 600,000 บาท และข้อ 5 สำหรับราคาอาคารพาณิชย์และที่ดินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 2,100,000 บาท ผู้ซื้อต้องชำระในวันรับโอนกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์และที่ดินดังกล่าวตามสัญญานี้ โดยผู้ขายจะเป็นผู้นำผู้ซื้อไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ผู้ซื้อต้องไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ขายแสดงว่าหนังสือสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพราะในวันทำสัญญามีการชำระราคาที่ดินและอาคารเพียงบางส่วนเท่านั้นราคาส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคาร
                      โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยเนื้อที่รวม 24  ตารางวา เหลือที่ดินที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนอีกจำนวน 4 ตารางวา ซึ่งจำเลยยังคงประสงค์ให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาและมิได้บอกเลิกสัญญา สัญญาซื้อขายอาคารและที่ดินจึงยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยอยู่ การครอบครองที่ดินจำนวน 4 ตารางวา ของจำเลยย่อมเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาและเป็นเพียงการที่จำเลยครอบครองแทนโจทก์ซึ่งยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 4 ตารางวาเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือครองครองแก่โจทก์ว่าจะไม่ครอบครองที่ดินจำนวน 4 ตารางวา  แทนโจทก์ต่อไป จึงมิใช่การครองครอบโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จำเลยจะครองครองที่ดินจำนวน 4 ตารางวา นับติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

                      คำถาม   ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว หากไปตกลงจะซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินในโฉนดจะมีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 6468/2554  การแสดงเจตนาเป็นเจ้าของที่จะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382  นั้น ต้องเป็นการแสดงเจตนาเป็นเจ้าของตลอดระยะสิบปีที่ได้ครอบครองติดต่อกัน เมื่อครบสิบปีแล้วผู้ครองครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ครอบครองไปโดยผลของกฎหมาย เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบว่ามีบ้านจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วถึง 22 ปี จึงมีการเจรจาที่จะให้จำเลยรับซื้อที่ดินพิพาท ดังนั้น แม้จะฟังว่าการที่จำเลยตกลงจะซื้อที่ดินพิพาทเป็นการยอมรับในกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์แต่ก็เป็นการยอมรับหลังจากที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่จำเลยได้รับโดยผลของกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

                      คำถาม  การที่ลูกหนี้ให้สิทธิแก่ธนาคารเจาหนี้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้เพื่อหักใช้หนี้ได้ทันทีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ถือเป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันอาจเข้ารับช่วงได้ หลังจากชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 697 หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  125/2554  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันอาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี  จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหน้าที่แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งหมายความว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ด้วยตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคสอง โดยสิทธินั้นเป็นสิทธิที่เจ้าหนี้จะบังคับเอาจากลูกหนี้ได้เช่นเดียวกับสิทธิจำนอง สิทธิจำนา จึงจำกัดเฉพาะสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้นและถ้าเจ้าหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธินั้นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าตนต้องเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าบริษัทลูกหนี้ให้สิทธิโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของตนที่มีอยู่ 1,500,000 บาท เพื่อหักให้หนี้ได้ทันทีที่บริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้  จึงเท่ากับว่าโจทก์มีสิทธิหักกลบลบหนี้เหนือเงินฝากจำนวนนั้นของลูกหนี้ ไม่ใช่สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันอาจเข้ารับช่วงหลังจากชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีก  การที่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยที่ 1 หลังจากบริษัทดังกล่าวถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเกือบ 9 ปี นั้น เป็นสิทธิที่โจทก์จะกระทำได้ตามปกติในอายุความเรียกร้องของตน โดยจำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเป็นข้อโต้แย้งได้เพราะไม่ใช่การกระทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจนไม่อาจรับช่วงสิทธิที่โจทก์มีอยู่เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 697 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความผิด

                        คำถาม  ที่งอกริมตลิ่งกับที่ชายตลิ่ง ต่างกันอย่างไร
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 589/2554  ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง ลักษณะของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ต่ำกว่าที่ดินของจำเลยร่วม 3 ถึง 5 เมตร ไม่มีลักษณะเป็นที่งอกซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเป็นที่งอก ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินจำเลยร่วมตามธรรมชาติ แต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินเพราะกระแสน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินและข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดแม่น้ำในฤดูน้ำปีปกติน้ำยังท่วมถึงทุกปีจึงเป็นที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) แม้จำเลยจะครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่จะอ้างสิทธิดังกล่าวขึ้นยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 จำเลยจึงต้องรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท

                      คำถาม  ครอบครองที่ดินโดยเข้าใจว่าเป็นของตนเอง  แต่ความจริงเป็นของผู้อื่น จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่  และหากผู้มีชื่อในโฉนดจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไป ระหว่างผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ กับบุคคลภายนอกใครมีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่ากัน
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3866/2554  จำเลยและ ส. เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบุคคลในครอบครัว เพราะได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจาก ม. น้องสาวของจำเลยเจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยกับ ส. พร้อมด้วยครอบครัวได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ได้รับการยกให้เมื่อปี 2526 ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวของจำเลยเข้าใจมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยการครอบครองของจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่การครอบครองอย่างปรปักษ์เพราะการครอบครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นนั้นเห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยไม่ หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแล้ว แต่ความเป็นจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่เมื่อจำเลยกับครอบครัวร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
                       โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินกับบ้านพิพาทจาก ม. มีราคาสูงถึง 2,800,000 บาท และโจทก์ก็ทราบจาก ม. แล้วว่า ม. ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง โจทก์ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าญาติของ ม. เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใคร โดยการไปซักถามจาก พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ พ. ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท แต่ก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นทั้งที่มีโอกาสกระทำได้โดยง่าย กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงย่อมยกสิทธิขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยไม่สุจริตได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย