วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการถือกรรมสิทธิ์รวม และเพิกถอนการจดทะเบียนการขายเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถกระทำได้ ให้นำที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนหรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ขอตีมูลค่าที่ดินพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท และคืนเงินทุนให้โจทก์ 680,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
  เห็นว่า
สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012
   เมื่อพิจารณาสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ ข้อ 9 ที่ว่า "เจ้าของที่ดินเมื่อสิ้นสุดสัญญา หรือโครงการสิ้นสุด มีความประสงค์ที่จะขายที่ดินพิพาท ต้องแจ้งให้ผู้ร่วมโครงการทราบก่อนที่จะบอกขายแก่บุคคลภายนอกโครงการ" จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ให้สัญญา และเป็นผู้ออกเงินลงทุนในโครงการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว หากโจทก์ในฐานะผู้รับสัญญาไม่ดำเนินการจัดจำหน่ายดินลูกรัง หรือกีดกันหน่วงเหนี่ยวเมื่อลูกค้ามีใบสั่งซื้อให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหมดสิทธิในการดำเนินการในที่ดินพิพาททุกกรณีตามข้อ 6.1 และหากพบการฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์หรือบุคคลอื่นที่กระทำและโจทก์รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ตามข้อ 6.2.2
  แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว ส่วนโจทก์เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมากกว่าจำเลยที่ 1 ดังนั้น คำว่า "เจ้าของที่ดิน" ตามข้อ 9 จึงหมายถึง จำเลยที่ 1 ส่วนคำว่า "ผู้ร่วมโครงการ" หมายถึง โจทก์
  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทดังฎีกาโจทก์
   การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้นเป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม และมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่ประการใด
  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
    ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุนอีกจำนวน 680,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องให้แก่โจทก์ด้วยนั้น
   เห็นว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์เอกสารหมาย จ. 7 ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น