วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

                     คำถาม  ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม  ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง  จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบตาม    
ป.พ.พ. มาตรา  1656  หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา  1656  วรรคแรก  หมายความว่า  ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน  และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ  ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน  และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น  เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้  ดังนั้น  การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง  ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1705  ไปในทันที  แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม  ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
                     
                     คำถาม  หลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมมิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้  จะถือเป็นหลักฐานในการกู้ยืมได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  4537/2553  สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก  อยู่ที่ว่า  มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้  ดังนั้น เมื่อเอกสารมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้  แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง  แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน  จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้แล้ว
                     
                     คำถาม  ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศรีษะจำเลยแต่ยังคงนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน  จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้าน  อีก 2 ชั่วโมงต่อมา  จำเลยกลับไปฆ่าผู้ตาย  จะอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย  ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน  และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว  ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ  จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว  เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่  แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว  และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง  จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา  แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
                     
                       คำถาม  การเรียกและริบเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานอัยการซึ่งไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวนช่วยเหลือในทางคดีโดยสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ผู้อื่นถูกดำเนินคดีอาญาและยังไม่มีการให้เงินแก่กัน  ฉะนั้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา  143  หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  661/2554  มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่านาย ธ.  ไม่ใช่อัยการเข้าของสำนวนในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานชิงทรัพย์  จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว  และยังไม่ได้มีการให้เงินแก่กัน  จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้น
                       เห็นว่า   การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีอาญา  แม้อัยการ ธ.  จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตาม  ก็ถือว่านาย ธ.  เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นาย ร.  แล้ว  การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว
                       
                        คำถาม  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  112/2554  การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได  จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้  เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์  และแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้  แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วย  จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้  ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  192 วรรคสาม
                         
                         คำถาม  ซื้อสุราต่างประเทศในห้างสรรพสินค้า  โดยเอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้า   แล้วชำระเงินตามราคาน้ำปลา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                         คำพิพากษาฎีกาที่  3935/2553   จำเลยซื้อสินค้าในห้างคาร์ฟู  โดยเอาสุราต่างประเทศ 12 ขวด  ราคา  3.228 บาท  ของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลาและใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้าในลัง  จากนั้นจำเลยนำน้ำปลาอีก 1 ลัง  วางทับแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานของผู้เสียหายตามราคาน้ำปลาสองลังเป็นเงิน  420  บาท  แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว  การที่จำเลยนำลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลาจนพนักงานมอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้จำเลยไปเป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ การเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น  พนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ให้ดูเปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2542)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น