ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 15
-----------------------------------
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1422/2554 จำเลยที่ 1 เปิดดูเอกสารภายในซองเอกสาร ได้เห็นใบรับรองเงินฝากแล้วจึงใส่ซองปิดผนึก และเขียนชุดใบนำส่งเอกสาร แม้ใบรัรองเงินฝากจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีข้อความเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่เป็นถ้อยคำในทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีตัวเลขบัญชีของจำเลยที่ 2 มีจำนวนเงินระบุว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานกับธนาคารโจทก์ร่วมมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี เชื่อว่าสามารถเข้าใจได้ว่าใบรับรองเงินฝากดังกล่าวเป็นใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 รู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยวิสัยของผู้ที่ทำงานกับธนาคารมานานย่อมทราบว่า จำเลยที่ 2 ไม่น่าจะมีเงินฝากธนาคารโจทก์ร่วมมาถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นเอกสารปลอม
ใบรับรองเงินฝากมีข้อความว่าจำเลยที่ 2 มีเงินฝากในธนาคารโจทก์ร่วมมีกำหนดจ่ายคืนสามารถเปลี่ยนมือได้ แบ่งแยกและซื้อขายได้ จึงเป็นเอกสารที่แสดงให้ผู้อื่นเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเงินฝากตามจำนวนในเอกสารฝากไว้กับโจทก์ร่วมและสามารถรับเงินฝากคืนจากโจทก์ร่วม สามารถเปลี่ยนมือแบ่งแยกและซื้อขายได้ด้วย จึงเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ใบรับรองเงินฝากดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิ
การที่จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าใบรับรองเงินฝากเป็นเอกสารสิทธิปลอมแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมจัดส่งเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวไปต่างประเทศ โดยผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ในธุรกิจของโจทก์ร่วมด้วยการปิดผนึกซองเขียนชุดใบนำส่งเอกสารการของธนาคารโจทก์ และใบนำส่งไปรษณีย์มอบให้แก่พนักงานโจทก์ร่วมผู้มีหน้าที่จัดส่งเอกสารตามวิธีการจัดส่งเอกสารในธุรกิจโจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการลงมือใช้หรืออ้างเอกสารที่เกิดจากกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ แม้เอกสารสิทธิปลอมจะปิดผนึกอยู่ในซองและพนักงานผู้จัดส่งเอกสารของโจทก์ร่วมตรวจเห็นพิรุธจนพบว่าเอกสารสิทธิที่จัดส่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมก่อนที่เอกสารจะส่งถึงผู้รับในต่างประเทศ ก็เป็นการใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมเป็นความผิดสำเร็จ โดยไม่ต้องรอผลของการใช้หรืออ้างว่าผู้รับหรือผู้ถูกอ้างจะได้รับเอกสารสิทธิปลอมที่จัดส่งไป เพราะจำเลยที่ 1ได้ใช้หรืออ้างเอกสาร การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถือได้ว่ากระทำไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม
ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
คำถาม ผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนหรือสมัครใจวิวาท จะอ้างการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3238/2554 จำเลยที่ 1 กับพวกได้เข้าร่วมต่อสู้ชกต่อยกับผู้เสียหายด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน ทั้งยังได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทต่อสู้กับผู้เสียหาย อันเป็นการสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะการป้องกันโดยชอบจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายโดยที่ตนเองและผู้อื่นไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมต่อสู้ทำร้ายกับอีกฝ่าย
การที่จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนพกลูกซองเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายชีวิตคนได้เล็งยิงไปยังด้านหลังของผู้เสียหาย ย่อมส่อเจนาให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
คำถาม การนำบุคคลที่อยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งแม่น้ำถือว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4091/2554 แม้การเข้าไปทำร้ายผู้ตายในตอนแรก จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ร่วมรู้เห็นหรือสมคบกับ ส. บ. ค. หรือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เข้าไปเตะผู้ตายเพียงครั้งเดียว ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้ตายก็ตาม แต่เหตุการณ์ทำร้ายผู้ตายดังกล่าวได้ยุติลงและขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นไม่ได้สติไปโยนลงแม่น้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการนำผู้ตายซึ่งอยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งน้ำเช่นนั้น ย่อมไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องจมน้ำตาย จำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย
คำถาม ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยหรือไม่ หากครอบครองโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง แต่ความจริงเป็นที่ดินของผู้อื่น ผู้ครอบครองได้สิทธิ์หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3866/2554 จำเลยและ ส. เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบุคคลในครอบครัว เพราะได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจาก ม. น้องสาวของจำเลยเจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยกับ ส. พร้อมด้วยครอบครัวได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ได้รับยกให้เมื่อปี 2526 ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวของจำเลยเข้าใจมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย การครอบครองของจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่การครอบครองปรปักษ์ เพราะการครองครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยไม่ หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแล้ว แต่ความเป็นจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ เมื่อจำเลยกับครอบครัวร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินกับบ้านพิพาทจาก ม. มีราคาสูงถึง 2,800,000 บาท และโจทก์ก็ทราบจาก ม. แล้วว่า ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง โจทก์ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าญาติของ ม. เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใคร โดยการไปซักถามจาก พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ พ. ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นทั้งที่โอกาสกระทำได้โดยง่าย กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงย่อมยกสิทธิขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยไม่สุจริตได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
คำถาม ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองหรือไม่ หากผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4436/2545 การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล. และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกันแล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 817/2521 การที่จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2 เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1 สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 เป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่าอาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา 702 ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709 แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง ก็จำนองได้ ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น