วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 13


.........................................


                   คำถาม   เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้อื่นและใช้ก้อนหินขว้างผู้อื่นนั้น แต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาแตก จะถือเป็นการกระทำโดยพลาดอันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ และหากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผลจะเป็นอย่างไร
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 2277/2554   จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณบ้านผู้เสียหายทั้งสองและใช้ก้อนหินขว้างผู้เสียหายทั้งสองแต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบี้องหลังคาแตก  การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองและฐานบุกรุกเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
                  คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า ก้อนหินที่ขว้างไปถูกกระเบื้องหลังคาแสดงว่าเป็นเพราะพลาดไปถูกหลังคา มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงถือเอาเจตนาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 ด้วยไม่ได้  แม้อาจกระทำโดยประมาทแต่การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
                 
                  คำถาม    ผู้เช่าทำพินัยกรรมยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่ผู้อื่น โดยสัญญาเช่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ ต่อมาผู้เช่าตาย สิทธิการเช่าจะตกทอดแก่ผู้รับพินัยกรรมหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 9201/2551   สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา ซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน อันเป็นหนี้เหนือบุคคล หาใช่เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินหรือเป็นทรัพยสิทธิไม่ และการเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว  เมื่อผู้เช่าตาย สิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลงและไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาท  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าหรือไม่  เพราะหากมีข้อตกลงก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าแก่บุคคลภายนอกในระหว่างที่ผู้เช่ามีชีวิตอยู่  ซึ่งอาจทำได้ตาม ป.พ.พ. มาครา 544 เท่านั้น  ดังนั้น พินัยกรรมของ ท. ที่ยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่โจทก์เกี่ยวกับที่ดินที่เช่าและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป จำเลยที่ 1 ย่อมพิจารณาให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้เช่าที่ดินแต่ละแปลงต่อไปได้
                 
                  คำถาม    เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่ผู้จำนอง ทำให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้ไม่อาจรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ได้  จะมีผลให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่  และหากสัญญาค้ำประกันระบุว่าผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิดจากการกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าว  ข้อตกลงนั้นบังคับได้หรือไม่
                  คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  8370/2551   การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่ ว. อาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฎว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ข้อ 5  ระบุว่า  “การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ต่อไป และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใด ๆ ไป  เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใด ๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกัน”  อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่ ว. แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว
                   
                    คำถาม   การได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้น  การนับระยะเวลาการใช้ทางหากที่ดินภารยทรัพย์มีการโอนต่อ ๆ กันมา จะต้องเริ่มนับระยะเวลาการใช้ทางใหม่ทุกครั้งหรือไม่
                    คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 10002/2551   โจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยต้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม  แม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม  แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสองต่างก็ทราบดีและไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน  สิทธิในอันที่จะใช้ทางพิพาทและระยะเวลาในการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหรือหยุดลงไม่  ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาท จึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว
                   
                     คำถาม   เจ้าของรวมในที่ดินจะจำหน่าย (ขาย) กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นได้หรือไม่  เจ้าของรวมคนอื่นจะมีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1454/2551   โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 83631 แก่บริษัท ม. โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทดังกล่าว  แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย  ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาะติดพันก็ได้” และความในวรรคสองบัญญัติว่า “แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน”  การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน  ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่สามารถกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสอง
                     ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ” การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. เพื่อให้บริษัทดังกล่าวมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม  จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ที่จะกระได้  ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 6 ก็บัญญัติให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 1 หามีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ไม่
                     
                      คำถาม     กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยอนุมัติขายที่ดินของบริษัทให้แก่กรรมการเองและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน  ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะฟ้องกรรมการและบุคคลภายนอกได้หรือไม่ และจะฟ้องให้โอนที่ดินคืนแก่บริษัทหากโอนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 10878/2551   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทได้  การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินของบริษัทให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย  เป็นการกระทำโดยทุจริตสมคบกันเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัทมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท เมื่อบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการได้ แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัท บ.
                       ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินคืนให้แก่บริษัทหากโอนคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินนั้นเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสองด้วย
                       
                         คำถาม   ผู้จะซื้อนำที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายมาทำสัญญายกให้ผู้อื่นโดยระบุให้ผู้รับต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาที่ผู้จะซื้อมีต่อผู้ขาย โดยไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างผู้ขายกับผู้รับ  ต่อมาผู้ขายบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายโดยไม่ชอบ ผู้รับจะมีอำนาจฟ้องผู้ขายหรือไม่
                         คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                         คำพิพากษาฎีกาที่ 5948/2554   ที่ดินพิพาทเดิม ป. ตกลงทำสัญญาซื้อขายให้ ล. อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ระบุให้ ล. จะต้องชำระราคาให้ครบถ้วนและดำเนินการออกเอกสารสิทธิที่ดินเสียก่อน มีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายมิใช่ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และการส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายถือว่า ล. ผู้จะซื้อครอบครองที่ดินแทน ป. ผู้จะขายเป็นการชั่วคราว  เมื่อ ล. นำที่ดินพิพาทมาทำสัญญายกให้โจทก์โดยระบุให้โจทก์ต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ ล. มีต่อ ป.  อันมีลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้  การที่โจทก์รับมอบการครอบครองมาจาก ล. ย่อมเป็นการครอบครองแทน ป. ชั่วคราวเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่าง ป. กับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 350  โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญาและไม่อาจอ้างได้ว่า ป. บอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครองครองที่ดินพิพาทจึงมิใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้อง
                     
                        คำถาม    เจ้าของที่ดินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาล แต่เจ้าของที่ดินยังคงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินต่อมาจะถือว่าผู้ร้องครอบครองโดยความสงบหรือไม่ และจะมีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 3864/2554   ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องในคดีขอแสดงสิทธิในที่ดินพิพาท  เป็นเพียงโต้เถียงสิทธิกัน ทั้งเมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ฟ้องขับล่าผู้ร้อง  คงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา  สิทธิครอบครอบของผู้ร้องหาได้ถูกกำจัดให้ออกไปไม่  จึงมิใช่เป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของผู้ร้องอันจะถือว่าผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

                        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด  ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อไป ทั้งไม่มีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องด้วย  เมื่อนับแต่ผู้คัดค้านได้สิทธิในที่ดินพิพาทวันที่ 13 สิงหาคม 2533  จนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลชั้นต้นครั้งหลังวันที่ 25 มิถุนายน 2544  เป็นเวลาเกิน 10 ปี  ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น