วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ฎีกาใหม่ เตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา : วิอาญา มาตรา218 , 44/1

 

ฎีกาใหม่ เตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา


              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2566 สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ร้อง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว 

              การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ 

              ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยศาลตั้งให้ ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อจำเลยเป็นบุพการีของผู้ร้อง และมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น 

              ดังนั้น การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง จึงเป็นการไม่ชอบ 

              ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง



แนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐

กลุ่มมาตรา 218 , 219 , 219 ตรี , 220 , 221 (ออกสอบเสมอ 1 ข้อ* แม่นตัวบท ได้คะแนนมากกว่าครึ่ง)

1. ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง 

2.  การที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ร้อง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

3. ประเด็นแนวข้อสอบซ้อนสองชั้น ที่มักจะถาม คือ

"การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาจะสั่งอย่างไร"

        คำตอบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


        วิเคราะห์ปัญหาในการวินิจฉัย คือ เราจะเกิดความสงสัยว่าศาลใดมีอำนาจสั่งรับฎีกา / ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาได้หรือไม่ / หรือว่า ต้องให้ศาลฎีกาสั่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้ตอบผิดธง ผิดประเด็น


เก็บตกหลักกฎหมายจากฎีกา 💥💥💥💥💥

1.  ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

     ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

2.  ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง

     มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น 


https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น