วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พากษา : การค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน

เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พากษา


                    คำถาม   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานได้หรือไม่   

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้                

                     คำพิพากษาฎีกาที่  8722/255ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  93 บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ” แสดงว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าจุดที่จำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนเป็นบริเวณหน้าสนามเด็กเล่นอยู่บทถนนสุทธาวาส ส่วนซอยโรงถ่านอยู่ริมคลองวัดโล่ หรือคลองชลประทาน แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และ และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยมีท่าทางพิรุธนอกจากจำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนสุทธาวาสเท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันสมควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง 

                      

แนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐

1. หลักกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  93 บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ” 

        1.1 หลักสำคัญ ที่จะต้องพิจารณาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในคำถาม และตามแนวฎีกาที่นำมาออกสอบ คือ

          กรณีใด ที่จะค้นบุคคลได้ .....ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด

2.  แสดงว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว 

3. การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวบุคคล จึงขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวบุคคลดังกล่าว จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันสมควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ 

4. ดังนั้น การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น